คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก (World Health Organization Expert Committee) ได้จำแนกสาเหตุของความพิการทางการแพทย์ไว้ ดังนี้
๑. ความพิการแต่กำเนิด
อาจมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ เช่น โรคอัมพาตกล้ามเนื้อลีบ ปัญญาอ่อน ตาบอด หูหนวก หรืออาจมีสาเหตุที่ไม่ใช่จากกรรมพันธุ์ เช่น มารดาติดเชื้อหัดเยอรมันในระยะตั้งครรภ์ ๓ เดือนแรก มารดากินยาแก้แพ้ แก้ปวด หรือยาคลายอารมณ์เครียดระหว่างตั้งครรภ์ รวมทั้งสาเหตุที่เกิดจากความผิดปกติต่าง ๆ ในระหว่างคลอด
๒. โรคติดต่อ
เช่น โปลิโอ เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค เยื่อบุสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส ปัญญาอ่อนเนื่องจากมารดาติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ในระยะ ๓ เดือนแรก
๓. โรคที่ไม่ติดต่อ
เช่น โรคกระดูกผุเป็นหนอง โรคข้ออักเสบ ปวดหลัง กระดูกสันหลังโก่งหรือคด หูหนวก หูตึง ตาบอด เบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคลมชัก
๔. โรคจิต
เช่น โรคประสาทซึมเศร้า โรคประสาทชนิดย้ำคิดย้ำทำ โรคประสาทชนิดโฟเบีย (phobia เป็นความกลัวที่ผิดปกติ)
๕. โรคพิษสุราเรื้อรัง
และการติดสารเสพย์ติดต่าง ๆ
๖. ภยันตรายและการบาดเจ็บ
เกิดจากการได้รับอุบัติเหตุต่างๆ เช่น จากการสัญจร ทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ จากอาวุธที่เป็นอันตราย ยาอันตรายบางชนิด น้ำยาเคมีต่างๆ จากเมล็ดผลไม้บางชนิด หรือของเล่นหลุดเข้าไปในจมูกหรือหลอดลม
๗. ภาวะทุพโภชนาการ
คือ การขาดสารอาหารที่ทำให้ตาบอด หรือพัฒนาการทางสมองช้า
๘. สาเหตุอื่นๆ
เช่น ภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้อม เช่น การได้รับพิษไอปรอทเรื้อรัง หรือการได้ยินเสียงอึกทึกเป็นประจำ การรักษาพยาบาลที่ไม่ถูกวิธี การฆ่าตัวตายแต่ไม่ตาย เป็นต้น