บุคคลสำคัญที่นำกิจการการพิมพ์ตัวอักษรไทยเข้ามาในเมืองไทยคือ หมอแดน บีช บรัดเลย์ ซึ่งคนไทยเรียกว่า หมอแบรดเลย์ หรือบรัดเลย์ (Dr. Dan Bach Bradley M.D.) หมอบรัดเลย์ เกิดวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๕๑ ได้ออกเดินทางจากสหรัฐอเมริกาพร้อมกับภรรยาจากเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซท สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.๒๓๗๗ โดยเรือใบ ใช้เวลาหกเดือนจึงมาถึงเมืองสิงคโปร์ หมอบรัดเลย์ และคณะมิชชันนารีอเมริกัน ได้พักอยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลาหกเดือน รอให้คลื่นลมสงบ ระหว่างพักอยู่นั้นได้ศึกษาภาษาไทยไปบ้าง และได้ศึกษาคุ้นเคยกับแท่นพิมพ์ที่ทำด้วยไม้ไปด้วย แล้วจึงลงเรือเข้ามาในประเทศไทย
คณะมิชชันนารีได้มอบให้หมอบรัดเลย์นำเอาแท่นพิมพ์ที่ทำด้วยไม้และแผ่นหินที่ทำมาจากเมืองเบงกอลเครื่องหนึ่ง และตัวพิมพ์ซึ่งมีตัวพิมพ์อักษรไทยอยู่ด้วย นำเข้ามาในกรุงเทพฯ ด้วยเรือใบ ได้มาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๗๘ คณะมิชชันนารีใช้เวลาในการติดตั้ง และเตรียมการพิมพ์นานพอสมควร กว่าจะจัดพิมพ์หนังสือไทยออกมาได้เป็นครั้งแรก ตามบันทึกหมอบลัดเลย์เขียนไว้ว่า ในวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๗๙ บาทหลวง ชาร์ลส โรบินสัน ได้ส่งหนังสือฉบับหนึ่งที่พิมพ์ด้วยตัวอักษรไทยมาให้หมอบรัดเลย์แยกถ้อยคำ นับว่าหนังสือฉบับนี้เป็นหนังสือไทยฉบับแรกที่พิมพ์ขึ้นในเมืองไทย ผู้เป็นช่างพิมพ์คือบาทหลวงโรบินสัน และผู้จัดพิมพ์คงเป็นหมอบรัดเลย์ หนังสือเล่มแรกที่พิมพ์นั้นเป็นจุลสาร หนา ๘ หน้า เป็นเรื่องบัญญัติสิบประการของคริสต์ศาสนาพิมพ์จำนวน ๑,๐๐๐ ฉบับ
คณะมิชชันนารีได้ส่งช่างพิมพ์อเมริกันคนแรกเข้ามาประจำในเมืองไทยคือ นายโรเบิร์ต ดี.ดาเวนพอร์ต (Robert D. Davenport) เดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒ กรกฎาคมปีเดียวกัน และในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๘๐ เรือใบเจมมะดิลดา ได้นำแท่นพิมพ์ทำด้วยโลหะยี่ห้อโอทีส (Otis) หนึ่งแท่น และยี่ห้อสแตนดิง (Standing) หนึ่งแท่น พร้อมด้วยกระดาษ ๑๐๐ รีม จากเมืองสิงคโปร์เข้ามาในกรุงเทพฯ ทำให้โรงพิมพ์มิชชันนารีมีทั้งช่างพิมพ์และเครื่องพิมพ์พร้อมที่จะพิมพ์งานได้อย่างดี กระดาษที่ใช้พิมพ์นั้นตอนแรกเริ่มพวกมิชชันนารีสั่งผ่านเข้ามาจากสิงคโปร์ แต่บางคราวกระดาษขาดมือบาทหลวงโรบินสันได้ทดลองให้ใช้กระดาษที่ผลิตจากเมืองจีนมาใช้พิมพ์แทน ซึ่งมีราคาถูกกว่ากระดาษจากประเทศตะวันตกเท่าตัว แต่คุณภาพทางการพิมพ์ไม่ดีเท่า อย่างไรก็ดีได้มีการใช้กระดาษที่ผลิตในประเทศตะวันออกพิมพ์หนังสือหลายเล่ม
ใน พ.ศ.๒๓๘๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จ้างโรงพิมพ์มิชชันนารีอเมริกัน พิมพ์หมายประกาศห้ามสูบฝิ่น จำนวน ๙,๐๐๐ ฉบับ นับว่า เป็นเอกสารทางราชการของไทยชิ้นแรกที่ได้จัดพิมพ์ขึ้น ทางโรงพิมพ์ต้องใช้เวลาพิมพ์อยู่เดือนเศษจึงเสร็จ กระดาษที่ใช้พิมพ์ก็เป็นกระดาษที่ผลิตในเอเชีย
สำหรับตัวพิมพ์ที่นำมาจากสิงคโปร์ตอนแรก เมื่อใช้งานก็ย่อมสึกหรอลงไป จำเป็นต้องสั่งหล่อเพิ่มเติมจากสิงคโปร์เข้ามาใช้งาน แต่ตัวพิมพ์ที่สั่งหล่อจากต่างประเทศมักไม่มีความถูกต้องแน่นอน และไม่สมบูรณ์ ต้องชี้แจงแก้ไขกันมาก การอธิบายกันโดยจดหมายทำได้ยาก ทางคณะมิชชันนารีจึงได้ส่งคณะไปสั่งทำแม่ทองแดงที่เมืองปีนัง และนำไปหล่อเป็นตัวพิมพ์ที่เมืองมะละกา โดยการควบคุมของนายแซมมวลไดเออร์ (Samuel Dyer) ช่างหล่อตัวพิมพ์ของคณะลอนดอนมิชชันนารี เมืองปีนัง แต่ก็ยังได้ตัวพิมพ์ไม่ถูกต้อง ไม่ได้ตัวครบสมบูรณ์ จึงได้คิดที่จะหล่อตัวพิมพ์ขึ้นเองในเมืองไทย โดยส่งเครื่องมือสำหรับหล่อตัวพิมพ์จากสิงคโปร์ คณะมิชชันนารีได้นำเครื่องมือเหล่านั้น เข้ามาดำเนินการหล่อตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นในเมืองไทยได้สำเร็จใน พ.ศ.๒๓๘๔ รูปตัวพิมพ์ที่หล่อได้ในเมืองไทยมีรูปร่างสวยงามกว่าตัวพิมพ์ที่ซื้อมาจากสิงคโปร์ และสามารถย่อขนาดให้เล็กลงกว่าตัวเดิมมาก
หมอบรัดเลย์เป็นผู้ที่ดำเนินการริเริ่มธุรกิจทางการพิมพ์ขึ้นในเมืองไทยมากมายหลายอย่างเช่น ใน พ.ศ.๒๓๘๕ ได้พิมพ์ปฏิทินตามสุริยคติเป็นภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก และพิมพ์หนังสือคัมภีร์ครรภรักษา ซึ่งเป็นหนังสือทางวิชาการแพทย์
ต่อมาวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๘๗ ได้ออกหนังสือพิมพ์เป็นฉบับแรกขึ้น ในเมืองไทย ชื่อ บางกอกรีคอร์ดเดอร์ (Bangkok Recorder) ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า จดหมายเหตุอย่างสั้น ออกเดือนละสองครั้ง ไม่มีผู้เป็นเอดิเตอร์ ทำอยู่ได้ปีเดียวก็เลิกกิจการไป และออกใหม่อีกในพ.ศ.๒๔๐๗ เป็นรายเดือนๆ ละฉบับ โดยมีหมอบรัดเลย์เป็นบรรณาธิการ เป็นหนังสือที่บรรจุสารคดี และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศ
พ.ศ.๒๔๐๒ หมอบรัดเลย์ได้นำแท่นพิมพ์หิน (Lithographic Press) เข้ามาใช้งานเป็นครั้งแรกในเมืองไทย
พ.ศ.๒๔๐๔ หมอบรัดเลย์ได้ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือนิราศลอนดอนของหม่อมราโชทัยมาจัดพิมพ์จำหน่าย นับว่า เป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์ในการพิมพ์หนังสือครั้งแรกในประเทศไทย และได้จัดพิมพ์หนังสือด้วยตัวอักษรลาวขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย
พ.ศ.๒๔๐๕ พิมพ์หนังสือกฎหมายสยาม พ.ศ.๒๔๐๗ พิมพ์เรื่องสามก๊ก และพงศาวดาร หมอบรัดเลย์ได้จัดพิมพ์หนังสือวรรณคดีออกมาหลายเรื่อง และจัดพิมพ์หนังสือสารคดีเป็นจำนวนมาก หนังสือหลายเล่ม เป็นหนังสือที่หมอบรัดเลย์แปลและแต่งเอง หนังสือที่หมอบรัดเลย์ผลิตออกมา ได้เข้าเล่มเป็นรูปหนังสือเล่มแบบที่ผลิตในปัจจุบัน ซึ่งนับว่า เป็นของใหม่ในเมืองไทย เพราะแต่เดิมหนังสือไทยมีลักษณะเป็นสมุดพับกลับไปกลับมาเรียกว่า สมุดไทย เป็นการเขียนคัดลอกกันลงบนสมุดข่อย อาจเป็นสมุดข่อยดำ หรือข่อยขาว แต่เล่มหนังสือที่หมอบรัดเลย์ผลิตขึ้น เป็นหนังสือที่มีการเย็บเล่ม เข้าปกแบบหนังสือฝั่ง จึงเรียกว่า สมุดฝรั่ง
โรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ตอนแรกตั้งอยู่ใต้ถุนบ้านของคณะมิชชันนารี บนที่เช่าของเจ้าพระยาพระคลัง (ต่อมาได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์) อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ริมคลอง หน้าวัดประยูรวงศ์ ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ ได้ย้ายไปอยู่หลังป้อมวิชัยประสิทธิ์ปากคลองบางหลวง โรงพิมพ์มีชื่อว่า โรงพิมพ์มิชชันนารีอเมริกัน (American Missionary Association Press) ธุรกิจทางการพิมพ์ที่หมอบรัดเลย์ดำเนินการ จะเห็นได้จากแผ่นโฆษณาของหมอบรัดเลย์ที่จะคัดมาให้ดูดังนี้ และจะได้เห็นสำนวนการเขียนภาษาไทยของหมอบรัดเลย์ด้วย
โรงพิมพ์
โรงพิมพ์ที่ได้ตีหนังสือจดหมายเหตุนี้ ตั้งอยู่ริมป้อมปากคลองบางกอกใหญ่หลังวังกรมหลวง วงษาธิราชสนิท ถ้าผู้ใดปรารถนาจะให้ตีพิมพ์หนังสือ ฤาหนังสืออังกฤษ จะเป็นเนื้อความมากน้อยประการใด ขอเชิญท่านมาพูดกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าปรารถนาจะรับจ้างตีพิมพ์หนังสือต่างๆ ราคาค่าจ้างนั้น จะรับให้ถูกกว่าแต่ก่อนมาก ถ้าฎีกาต่างๆ ด้านยาวเท่ากับแผ่นกระดาษน้ำซ่ม ถ้าตีเต็มหน้าข้างหนึ่ง ถ้าต้องการแต่พันหนึ่ง จะคิดเอาราคาพันละ ๑๕ บาทเท่านั้น อนึ่ง หนังสืออังกฤษที่เรียกว่า โบ็ดโน็ดนั้น เป็นหนังสือที่เรียกว่า เอ็นเตร์แลชิปปิงบิล ถ้าจะเอาแค่ ๓๐๐ ก็เป็น ๑๐๐ ละ ๔ บาท ถ้าเอาถึง ๑,๐๐๐ เป็นร้อยละกึ่งตำลึง อนึ่งหนังสือบิลเลดิง ถ้าเอาแค่ ๓๐๐ เป็นร้อยละ ๕ บาทถ้าต้องการถึง ๑,๐๐๐ จะเอาร้อยละ ๑๐ สลึง อนึ่ง ถ้าเป็นหนังสือก๊าดเป็นร้อยละ ๕ บาท
การผูกหนังสือ
อนึ่ง การที่ผูกหนังสือเป็นเล่ม สมุดอังกฤษ เท่ากับกฎหมายที่ขายอยู่ทุกวันนี้ ถ้าหุ้มหนังล้อม เป็นเล่มละกึ่งตำลึง ถ้าขลิบหนังเป็นเล่มละ ๖ สลึง ถ้าเอามากกว่า ๑๐ เล่มขึ้นไปก็จะลดราคาเอาแค่เล่มละบาท ถ้าเป็นเล่มเล็กกว่ากฎหมาย ก็จะลดราคาเอาตามเล็กตามใหญ่พอสมควร
การแปลหนังสือ
คำไทยหรืออังกฤษแปล ถ้าร้อยคำเป็นราคา ๒๐ สลึง ถ้ามากกว่า ๑,๐๐๐ คำ จะคิดเอา ๑๐ คำ เป็น ๔ เซ็น จนถึง ๒,๐๐๐ คำ จะเอาพอสมควร พอตกลงกันได้
หนังสือขาย
หนึ่งที่โรงพิมพ์นั้น มีหนังสือขายต่างๆ คือ หนังสือหัดพูดคำอังกฤษจบละ ๘ สลึง และหนังสือจินดามะณีนั้นเล่มละ ๑ บาท หนังสือกฎหมายไทย ๕๕ เล่ม สมุดไทยทำเป็นสองเล่ม อังกฤษขายเป็นราคาจบละ ๑๓ บาทสลึง และหนังสือพระราชพงศาวดารไทย ๔๒ เล่ม สมุดไทยทำเป็นสองเล่มอังกฤษ ขายจบละ ๑๐ บาท สองสลึง และพงศาวดารฝรั่งเศสย่อ ขายเล่มละสองสลึง และมีกระดาษสมุดเปล่าต่างๆ ขายเล่มละบาทบ้าง เล่มละสองสลึงบ้าง เฟื้องหนึ่งบ้าง หลายอย่างต่างๆ เชิญท่านทั้งหลายมาหาข้าพเจ้าที่โรงพิมพ์
ข้าพเจ้าผู้มีชื่อว่า ดี.บี.บลัดเล นั้นเทอญ
หมอบรัดเลย์ในตอนหลังได้ใช้ชีวิตในเรื่องการพิมพ์เกือบทั้งสิ้น โดยแทบจะพูดได้ว่า เลิกอาชีพแพทย์ และได้ออกจากคณะมิชชันนารี มาดำเนินการทางด้านการพิมพ์ และทำหนังสือพิมพ์ จนในปี พ.ศ. ๒๔๐๙ นายโอบะเร กงสุลฝรั่งเศส ได้ฟ้องหมอบรัดเลย์ในฐานะเอดิเตอร์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ต่อนายฮูต กงสุลอเมริกัน ฐานตีพิมพ์โฆษณาหมิ่นประมาท โดยกล่าวหาว่า กงสุลฝรั่งเศสได้ขอให้รัฐบาลไทย เอาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ออกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี และเรื่องอื่นๆ อีกซึ่งไม่เป็นความจริง ทำให้กงสุลฝรั่งเศสต้องอับอายคนทั้งปวง ทำให้คนทั้งหลายเกลียดชังตน ขอเรียกค่าเสียหาย ๑,๕๐๐ เหรียญ ศาลกงสุลอเมริกันได้สืบพยานและตัดสิน ในที่สุดให้หมอบรัดเลย์เสียค่าทำขวัญให้แก่กงสุลฝรั่งเศสเป็นเงิน ๙๐๐ เหรียญ และต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลต่างๆ อีก ลดให้แล้วเป็นเงิน ๔๘ เหรียญ ๗๕ เซ็นต์
เมื่อมาเมืองไทยหมอบรัดเลย์นำภรรยามาด้วย และได้รับลูกของมิชชันนารีด้วยกันเป็นบุตรบุญธรรมคนหนึ่ง เมื่อมาแวะที่สิงคโปร์ และเมื่อมาอยู่ในพระนครหมอบรัดเลย์ และภรรยา มีลูกอีก ๒ คน รวมเป็น ๓ คน เป็นหญิงทั้งสิ้น นางบรัดเลย์อายุสั้น ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๓๘๘ ด้วยโรควัณโรคและศพได้ฝังอยู่ในเมืองไทย ในปี พ.ศ. ๒๓๙๐ หมอบรัดเลย์กลับไปอเมริการะยะหนึ่ง โดยพาบุตรและบุตรบุญธรรมกลับไปอเมริกาด้วยทั้ง ๓ คน และได้กลับมาเมืองไทยอีกในปี พ.ศ. ๒๓๙๓ หมอบรัดเลย์ได้ภรรยาใหม่มาคนหนึ่ง ซึ่งได้มาดูแลหมอบรัดเลย์ตอนแก่ตัวลง กับภรรยาใหม่นี้ ได้มีบุตรชายด้วยกันคนหนึ่งคือ คอร์เนลิอุส บี บรัดเลย์ (Cornelius) หมอบรัดเลย์ได้ถึงแก่กรรมในเมืองไทย เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๔ ศพฝังที่สุสานโปรเตสแตนต์ ที่ใกล้โรงงานยาสูบ ถนนตก ซึ่งยังมีอยู่จนทุกวันนี้