Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การพิมพ์สมัยอยุธยา

Posted By Plookpedia | 30 มิ.ย. 60
2,018 Views

  Favorite

แม้จะไม่มีสิ่งพิมพ์ใดๆ เหลือมาให้เห็นเป็นหลักฐานว่า มีการพิมพ์หนังสือ โดยเครื่องพิมพ์ ในสมัยอยุธยา แต่ก็มีเอกสารประกอบหลายชิ้นที่กล่าวถึงการพิมพ์ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาชาติ เช่น

  • ในปี พ.ศ.๒๒๐๕ (ค.ศ.๑๖๖๒) สังฆราชชื่อ ลาโน (Mgr. Laneau) ซึ่งเป็นท่านหนึ่งในบรรดามิชชันนารีคาทอลิกที่เข้ามาสอนศาสนา ในสมัยนั้น ได้แต่งและพิมพ์หนังสือคำสอนทางคริสต์ศาสนา จำนวน ๒๖ เล่ม หนังสือไวยากรณ์ไทยและบาลี ๑ เล่ม และพจนานุกรมไทยอีก ๑ เล่ม

    สังฆราชลาโนได้สร้างศาลาเรียนขึ้นในที่พระราชทาน ที่ตำบลเกาะมหาพราหมณ์ ตอนเหนือกรุงศรีอยุธยา ทั้งยังได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่โรงเรียนนี้นัยว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพอพระทัยการพิมพ์ตามวิธีฝรั่งของสังฆราชลาโน ถึงกับทรงโปรดฯ ให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้น ที่เมืองลพบุรี เป็นส่วนของหลวงอีกโรงหนึ่งต่างหาก
  • พ.ศ.๒๒๑๓ (ค.ศ.๑๖๗๐) มิชชันนารีชื่อ ปิแอร์ ลองกรัว (Pierre Langrois) คิดจัดตั้งโรงพิมพ์ เพื่อพิมพ์หนังสือไทย เพราะเห็นว่า กระดาษในประเทศไทยราคาถูกมาก และค่าจ้างคนงานก็ถูก จึงขอให้ทางฝรั่งเศสจัดส่งช่างแกะตัวพิมพ์มาให้ เพื่อพิมพ์คำสอนทางคริสต์ศาสนาเป็นภาษาไทย
  • พ.ศ.๒๒๑๗ (ค.ศ.๑๖๗๔) บาทหลวงลังคลู อาส์ มีจดหมายบอกบุญไปยังหัวหน้ามิชชันนารีต่างประเทศในกรุงปารีส กล่าวถึงเรื่องการพิมพ์เป็นใจความว่า"ถ้าท่านอยากได้รับส่วนแบ่งในการช่วยเผยแผ่พระศาสนาคริสตังให้แพร่หลายในเมืองไทยแล้ว ขอท่านได้โปรดช่วยซื้อหาเครื่องพิมพ์ส่งมาให้สักเครื่องหนึ่งเถิด มิซซังเมืองไทยนี้จะได้มีโรงพิมพ์สำหรับพิมพ์หนังสือเหมือนกับที่เขาทำกันแล้วในเมืองมะนิลา เมืองคูอา และเมืองมะเกานั้น"

 

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)

 

  • พ.ศ.๒๒๒๙ (ค.ศ.๑๖๘๖) ออกพระวิสุทธ์สุนทร (ปาน) ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกญาโกษาธิบดี เป็นราชทูตที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงส่งไปให้เจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส มีเรื่องปรากฏในหนังสือประชุมพงศาวดารภาค ๕๙ เรื่อง โกศาปานไปฝรั่งเศส ว่า ราชทูตได้ไปดูโรงพิมพ์หลวงของฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในความดูแลของเมอร์ซิเออร์ เดอครามวาซี ช่วงนั้นเป็นฤดูหนาว ทางผู้จัดการโรงพิมพ์ต้องตั้งเตาไฟไว้ในที่ต่างๆ เพื่อราชทูตจะได้ดูการพิมพ์โดยสะดวกสบาย เมื่อราชทูตได้ดูการเรียงพิมพ์ ได้เห็นช่างเรียงหยิบตัวพิมพ์จากช่องที่เก็บตัวพิมพ์มาเรียงในรางเหล็กที่ถือไว้ในมือซ้าย รวดเร็วจนดูแทบไม่ทัน ราชทูตหยิบตัวพิมพ์ออกมาพิเคราะห์ดูเป็นตัวๆ พร้อมกับซักถามวิธีหล่อตัวพิมพ์ และวัสดุที่ใช้ทำ ดูการเข้าจัดกรอบพิมพ์ ดูแท่นพิมพ์ เวลานั้นโรงพิมพ์หลวงของฝรั่งเศสมีแท่นพิมพ์ ๑๒ แท่น มีช่างพิมพ์ประจำแท่นละ ๒ คน ราชทูตดูแล้วกล่าวว่า ทำง่ายเสียจริง ดูเหมือนราชทูตจะทำได้เหมือนกัน แล้วได้ลองพิมพ์ดู ปรากฏว่า พิมพ์ออกมาได้งามเหมือนที่ช่างพิมพ์พิมพ์ จึงเกิดความพอใจมาก ราชทูตได้ดูวิธีผสมหมึก วิธีจัดทำลูกหมึกสำหรับกลิ้งไปมาบนแผ่นกระดาษ และได้ซักถามวิธีทำกระดาษตั้งแต่ต้น จนกระทั่งใช้พิมพ์ได้ สรุปความว่า วันนั้นราชทูตได้ดู เข้าใจในวิธีพิมพ์ วิธีพับกระดาษรวมเข้าเล่ม และเย็บใส่ใบปกเสร็จ จนกระทั่งเป็นหนังสือเล่ม ใช้อ่านกันได้ ทั้งยังได้ดูตัวพิมพ์ที่ทำไว้ของหลายชาติหลายภาษา เช่น ตัวพิมพ์อักษรกรีก และตัวพิมพ์อักษรอาหรับที่ทำขึ้นใหม่ ราชทูตได้สอบถามว่า "ไม่ได้ทำจำเพาะตัวหนังสือฝรั่งดอกหรือ ถ้าอย่างนี้ ตัวหนังสือไทยเห็นจะพิมพ์ขึ้นได้เหมือนกันกระมัง" เมอร์ซิเออร์เดอ ครามวาซี ตอบว่า "ไม่ว่าภาษาอะไร ถ้าตั้งใจอยากทำจริงๆ ก็ทำได้ทั้งนั้น ตัวพิมพ์ภาษาไทยก็คงทำไม่ยาก หากราชทูตจะไปตั้งโรงพิมพ์ขึ้นเองในเมืองไทยก็คงทำได้ง่าย"
  • ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงเป็นที่แน่นอนว่า มีคนไทยที่มีโอกาสได้เห็นโรงพิมพ์ และวิธีการดำเนินงานทางการพิมพ์ และมีความคิดว่า หนังสือไทยก็น่าจะนำมาพิมพ์ได้ แม้จะไม่มีหลักฐานทางกายภาพยืนยันว่า มีการพิมพ์ในสมัยอยุธยา แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า มีคนไทยในสมัยอยุธยาที่ได้รู้จักการพิมพ์แล้ว
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow