Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประกาศสงกรานต์

Posted By Plookpedia | 08 มี.ค. 60
4,455 Views

  Favorite

ประกาศสงกรานต์ 

เรื่องความในประกาศสงกรานต์นี้ คนไทยในสมัยก่อนให้ความสนใจ และเชื่อถือกันมาก เนื่องจากยังมีความรู้และการศึกษาน้อย และไม่มีเครื่องมือสื่อสารที่จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าในเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ และวันสำคัญต่างๆ เหมือนเช่นในปัจจุบัน ดังนั้น ประกาศสงกรานต์ประจำปีของทางราชการจึงมีสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพกสิกรรม และข้อความในประกาศสงกรานต์จะสื่อถึงเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ในบ้านเมืองภายในปีนั้นๆ เสมือนเป็นคำทำนายที่บอกให้ทราบเกี่ยวกับเรื่องน้ำ อาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง ในอนาคต ข้อความในประกาศสงกรานต์ ประกอบด้วย นางสงกรานต์และองค์ประกอบอื่นๆ ของนางสงกรานต์ วันมหาสงกรานต์ วันเนา วันเถลิงศก เกณฑ์พิรุณศาสตร์ เกณฑ์ธาราธิคุณ เกณฑ์ธัญญาหาร เกณฑ์นาคให้น้ำ ตลอดจนเกณฑ์วันมงคล และวันอัปมงคล เรื่องต่างๆ มีคำทำนายสรุปได้ดังนี้

 

นางสงกรานต์  

ในแต่ละปีนางสงกรานต์จะมาไม่ซ้ำกัน และจะผ่านมาในเวลาที่แตกต่างกัน ประทับบนพาหนะในอากัปกิริยาไม่เหมือนกัน สิ่งที่นางสงกรานต์กิน และสิ่งที่ใช้ถือเป็นอาวุธก็จะต่างกันไป ความแตกต่างกันดังกล่าวมานี้ มีส่วนสัมพันธ์กับคำทำนาย ที่จะบอกถึงสถานการณ์ของบ้านเมือง รวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย โดยเชื่อกันว่า

ถ้านางสงกรานต์ยืนลืมตามาบนหลังพาหนะ ประชาชนจะเดือดร้อนด้วยโรคภัยไข้เจ็บ
ถ้านางสงกรานต์นั่งลืมตามาบนหลังพาหนะ จะเกิดเหตุเภทภัยในบ้านเมือง ประชาชนจะเจ็บป่วยล้มตายกันมาก
ถ้านางสงกรานต์นอนลืมตามาบนหลังพาหนะ ประชาชนทั่วไปจะอยู่ร่มเย็นเป็นสุข
ถ้านางสงกรานต์นอนหลับตามาบนหลังพาหนะ  ผู้ปกครองประเทศ พระมหากษัตริย์ เจ้าเมืองจะเจริญรุ่งเรือง

วันมหาสงกรานต์  

มีคำทำนายที่เกี่ยวกับวันมหาสงกรานต์ไว้ ดังนี้

ถ้าวันอาทิตย์ เป็นวันมหาสงกรานต์ ปีนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหารเสียหาย เรือกสวนไร่นาไม่เจริญงอกงาม
ถ้าวันจันทร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ ปีนั้นท้าวพระยา นางพระยา และเสนาบดีทั้งหลายจะเรืองอำนาจ
ถ้าวันอังคาร เป็นวันมหาสงกรานต์ ปีนั้นจะเกิดอันตรายมีพิบัติภัยกลางเมือง เกิดเพลิงไหม้ โจรผู้ร้ายชุกชุม จะเกิดความไข้ร้ายแรง
ถ้าวันพุธ เป็นวันมหาสงกรานต์ ปีนั้นท้าวพระยาจะได้บรรณาการจากต่างเมือง แต่จะแพ้ลูกอ่อนนัก
ถ้าวันพฤหัสบดี เป็นวันมหาสงกรานต์ ปีนั้นพระสงฆ์ราชาคณะจะเดือดเนื้อร้อนใจ ท้าวพระยาจะเรืองอำนาจยิ่งใหญ่
ถ้าวันศุกร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ ปีนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ จะมีฝนชุก พายุรุนแรง ผู้น้อยจะได้ชัย ประชาชนจะเจ็บตายกันมาก
ถ้าวันเสาร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ จะเกิดอันตรายกลางเมือง โจรผู้ร้ายชุกชุม จะเกิดเพลิงไหม้ และความไข้ร้ายแรง

วันเนา   

มีคำทำนายกล่าวไว้ว่า

ถ้าวันอาทิตย์ เป็นวันเนา ข้าวในนาจะตายฝอย คนต่างชาติต่างภาษาจะเข้ามาสู่บ้านเมืองจำนวนมาก ท้าวพระยาจะหนักใจ
ถ้าวันจันทร์ เป็นวันเนา เกลือจะแพง นางพระยาจะร้อนใจนัก และมักจะเกิดความไข้ต่างๆ
ถ้าวันอังคาร เป็นวันเนา ข้าวปลาอาหาร หมากพลูจะแพง อำมาตย์มนตรี เสนาบดีจะเรืองอำนาจ
ถ้าวันพุธ เป็นวันเนา ข้าวจะแพง ประชาชนจะทุกข์ร้อน คนเป็นหม้ายจะพลัดที่อยู่
ถ้าวันพฤหัสบดี เป็นวันเนา ผลไม้จะแพง ราชสกุลทั้งหลายจะร้อนใจนัก
ถ้าวันศุกร์ เป็นวันเนา จะเกิดเพลิงไหม้กลางเมือง ข้าวจะตายฝอย น้ำน้อยกว่าทุกปี พืชพันธุ์ธัญญาหารจะแพง สมณะชีพราหมณ์จะร้อนใจ ขุนนางจะต้องโทษ
ถ้าวันเสาร์ เป็นวันเนา ข้าวปลาแพง ข้าวได้ผลน้อย น้ำน้อย

วันเถลิงศก   

มีคำทำนายดังนี้

ถ้าวันอาทิตย์ เป็นวันเถลิงศก ท้าวพระยาจะเรืองอำนาจ และมีชัยชนะศัตรูทั่วทุกทิศ
ถ้าวันจันทร์ เป็นวันเถลิงศก นางพระยา นางสนม และบริวารทั้งหลายจะมีความสุขเพียบพร้อมด้วยสมบัตินานา
ถ้าวันอังคาร เป็นวันเถลิงศก อำมาตย์ มนตรี เสนาบดีจะอยู่เป็นสุข แม้จะต่อยุทธ์ด้วยหมู่ปัจจามิตรก็จะมีชัยชนะทุกเมื่อ
ถ้าวันพุธ เป็นวันเถลิงศก ราชปุโรหิต ราชบัณฑิต โหราจารย์จะมีความสุขสำราญถ้วนหน้า
ถ้าวันพฤหัสบดี เป็นวันเถลิงศก สมณพราหมณาจารย์ จะปฏิบัติชอบด้วยธรรมอันประเสริฐ
ถ้าวันศุกร์ เป็นวันเถลิงศก พ่อค้าวาณิชไปค้าขายต่างเมืองก็จะได้ผลกำไรเงินทอง จะมีความสุขมากมาย
ถ้าวันเสาร์ เป็นวันเถลิงศก ทแกล้วทหารทั้งปวงประกอบไปด้วยความสุข รู้วิชาการต่างๆ แม้ต่อยุทธ์ด้วยข้าศึกศัตรูก็มีชัยชนะทุกเมื่อ

เกณฑ์พิรุณศาสตร์   

เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ บอกให้ทราบเรื่องจำนวนฝนที่จะตกในระหว่างปีว่า มีจำนวนเท่าใดที่ตกในจักรวาล ในป่าหิมพานต์ ในมหาสมุทร และในโลกมนุษย์ การรู้ปริมาณน้ำฝนที่จะตกในแต่ละปีมีความสำคัญสำหรับคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ต้องอาศัยน้ำฝน เพื่อการทำไร่ทำนา การได้รู้ปริมาณน้ำฝนล่วงหน้าเป็นประโยชน์มาก ใช้เป็นข้อมูล เพื่อวางแผน สำหรับการกำหนดให้ถูกต้องว่า สมควรปลูกพืชชนิดใด ในช่วงเวลาใด เพื่อให้ทันเวลาที่น้ำฝนจะตกลงมาในปีนั้นๆ

เกณฑ์ธาราธิคุณ 

เป็นการบอกถึงปริมาณน้ำฝนที่จะตกในโลก เพื่อให้รู้ว่า ในระหว่างปี โลกจะมีน้ำมากหรือน้อยเพียงใด ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นข้อมูล ในการปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารให้พอดีกับปริมาณน้ำที่จะมีในโลก หากเป็นปีที่มีน้ำน้อยก็จะเลือกปลูกเฉพาะพืชที่มีความทนแล้งสูง ไม่ต้องการน้ำมากนัก หากมีน้ำมากก็จะปลูกพืชที่ชอบน้ำ

เกณฑ์ธัญญาหาร  

เป็นคำทำนายที่จะบอกจำนวนข้าว ปลา พืชพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงในโลกตลอดปีว่า จะมีความอุดมสมบูรณ์ เจริญงอกงามดี แห้งแล้ง หรือเกิดโรคระบาด ล้มตาย เสียหายมากหรือน้อยเป็นไปตามส่วนแห่งคำทำนาย

เกณฑ์นาคให้น้ำ 

เป็นเกณฑ์หนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำนวนน้ำในโลกแต่ละปี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับจำนวนนาคให้น้ำ เพราะในปีหนึ่งๆ นั้น นาคให้น้ำมีจำนวนมากหรือน้อยไม่เท่ากัน ทำให้น้ำในโลกแต่ละปีไม่เท่ากัน ซึ่งจะมีคำทำนายเกี่ยวกับจำนวนนาคให้น้ำในแต่ละปี ดังนี้

ปีชวด มีนาคให้น้ำ ๓ ตัว ทำนายว่า ต้นปีและกลางปีฝนตกน้อย ปลายปีฝนตกมาก
ปีฉลู มีนาคให้น้ำ ๕ ตัว ทำนายว่า ฝนตกพอดีตลอดปี
ปีขาล มีนาคให้น้ำ ๓ ตัว ทำนายว่า ต้นปีฝนตกพอดี กลางปีฝนตกน้อย ปลายปีฝนตกมาก
ปีเถาะ มีนาคให้น้ำ ๒ ตัว ทำนายว่า ต้นปีฝนตกพอดี กลางปีฝนตกน้อย ปลายปีฝนตกมาก
ปีมะโรง มีนาคให้น้ำ ๓ ตัว ทำนายว่า ต้นปีฝนตกมาก กลางปีฝนตกพอดี ปลายปีฝนตกน้อย
ปีมะเส็ง มีนาคให้น้ำ ๑ ตัว ทำนายว่า ต้นปีฝนตกมาก กลางปีฝนตกพอดี ปลายปีฝนตกน้อย
ปีมะเมีย มีนาคให้น้ำ ๕ ตัว ทำนายว่า ฝนตกพอดีตลอดปี
ปีมะแม มีนาคให้น้ำ ๓ ตัว ทำนายว่า ฝนตกพอดีตลอดปี
ปีวอก มีนาคให้น้ำ ๒ ตัว ทำนายว่า ต้นปีฝนตกน้อย กลางปีฝนตกพอดี ปลายปีฝนตกมาก
ปีระกา มีนาคให้น้ำ ๔ ตัว ทำนายว่า ต้นปีฝนตกน้อย ปลายปีฝนตกมาก
ปีจอ มีนาคให้น้ำ ๗ ตัว ทำนายว่า ต้นปีฝนตกน้อย กลางปีฝนตกพอดี ปลายปีฝนตกมาก
ปีกุน มีนาคให้น้ำ ๕ ตัว ทำนายว่า ต้นปีฝนตกพอดี กลางปีฝนตกน้อย ปลายปีฝนตกพอดี

เกณฑ์วันต่างๆ  

ในแต่ละปีจะมีวันที่ประชาชนส่วนใหญ่อยากรู้อยากจดจำ เพื่อใช้ประกอบพิธีมงคลต่างๆ วันที่ถือกันว่าเป็นวันดี เหมาะแก่การจัดงาน หรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ คือ วันอธิบดี และวันธงชัย ส่วนวันที่ถือว่า เป็นวันไม่ดี เป็นอัปมงคล ห้ามจัดงานหรือกระทำพิธีต่างๆ คือ วันอุบาทว์ และวันโลกาวินาศ วันดังที่กล่าวมานี้ ในแต่ละปีจะมีกำหนดไม่ตรงกัน  

การคำนวณหาเกณฑ์วันต่างๆ 

มีผู้คิดค้นไว้หลายตำรา จะขอยกตัวอย่างวิธีการคำนวณไว้พอสังเขป  ดังนี้

ถ้าจะหาวันอธิบดีของปีใด ให้เอาพุทธศักราชของปีนั้นตั้ง แล้วหารด้วย ๗ เหลือเศษเท่าใด เศษคือ วันอธิบดี แต่ถ้าหารลงตัว ให้ใช้เลข ๗  คือวันเสาร์ เป็นวันอธิบดี    

ถ้าจะหาวันธงชัยของปีใด ให้เอาเลขวันอธิบดีของปีนั้นตั้ง แล้วคูณด้วย ๓ ได้ผลลัพธ์ให้บวกด้วย ๒ แล้วหารด้วย ๗ เหลือเศษเท่าใด เศษคือ วันธงชัย ถ้าหารลงตัวให้ใช้วิธีเดียวกับข้างต้น

ถ้าจะหาวันอุบาทว์ของปีใด ให้เอาเลขวันอธิบดีของปีนั้นตั้ง แล้วคูณด้วย ๓ ได้ผลลัพธ์ให้บวกด้วย ๑ แล้วหารด้วย ๗ เหลือเศษเท่าใด เศษคือ วันอุบาทว์ ถ้าหารลงตัวใช้วิธีเดียวกับข้างต้น

ถ้าจะหาวันโลกาวินาศ ให้เอาเลขวันอธิบดีของปีนั้นตั้ง แล้วบวกด้วย ๒ หารด้วย ๗ เหลือเศษเท่าใด เศษคือ วันโลกาวินาศ ถ้าหารลงตัว ใช้วิธีเดียวกับข้างต้น

 

นางสงกรานต์อัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่พร้อมด้วยเทพบริวาร


ประกาศสงกรานต์ประจำปีของหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีข้อความที่ให้รายละเอียดมาก โดยจัดส่งเป็นหนังสือออกจากกรุง ไปยังหัวเมืองต่างๆ ดังตัวอย่างประกาศสงกรานต์ จุลศักราช ๑๑๗๕ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๕๖ ซึ่งส่งไปยังเมืองนครศรีธรรมราช มีข้อความดังต่อไปนี้

"หนังสือ เจ้าพระยาอัคคมหาเสนาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุสมุหพระกลาโหม มาถึง พระยาศรีธรรมโศกราชชาติเดโชไชยมหัยสุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระโหราธิบดีโหรมีชื่อ ทำฎีกามหาสงกรานต์ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ศุภมัสดุวรพุทธศาสนา สองพันสามร้อยห้าสิบห้าพระวรรษา กาลกำหนดเจตมาศ สุกรปักษ์ เอการัศมี ดิถีระวิ วาระตัททิวากาล เพลาเช้าย่ำรุ่งแล้วสองชั่วโมง บรมเทพทินกร เสร็จจากมีนราษีประเวศสู่เมษราษี ทางโคณะวิถีใกล้พระเมรุราช ขณะนั้น มีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทรงนามชื่อว่า ทุงษมหาสงกรานต์ มาแต่จาตุมหาราชิกา กระทำกฤษดาภิมณฑ์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม ทรงอาภรณ์อันแล้วด้วยแก้ว ปถมราช พระหัตถ์ขวาทรงสังข์ พระหัตถ์ซ้ายทรงจักร ภักษาหารผลอุทุมพร เสด็จโคจรยืนไปเหนือหลังครุฑพาหนะ เป็นมัคคนายกนำอมระคะณาเทพดาแสนโกฏิ ประชุมชวนกันมารับพระเศียรท้าวกบิลมหาพรหม อันใส่พานทองประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลี ที่เขาไกรลาส แดนหิมพานตะประเทศ ขณะนั้นเทพดาทำคาระวาดุษฎี ชำระสุคนธวิเลปะนะบูชายาควิธีอันควรด้วยดีตามวิไสยจารีตโบราณแล้ว ก็แห่ทักษิณาวัฏ เขาพระสุเมรุราชคำรบหกสิบนาฑีแล้ว ก็เชิญเข้าไว้ในถ้ำคันธุลีดังเก่า จึงเทพดาเจ้านำมาซึ่งลดาวัลย์อันชื่อฉมุนาค ใส่สุวรรณภาชนะทอง เอาไปล้างในอโนดาดสระเจ็ดแถว เถาฉมุนาคก็ละลายออกไปดั่งน้ำมันเนย แล้วพระเวศณุกรรมเทวะบุตร จึ่งนฤมิตรโรงอันหนึ่งชื่อ ภัควดี ให้หมู่เทพนิกร อัปษรกันยาเข้านิสีทนาการนั่งพร้อมกัน จึงสมาทานรักษาศีลเอาน้ำฉมุนาค เป็นทักขิณาทานแจกกันสังเวยทุกๆ องค์ ก็ชวนกันชื่นชมโสมนัส เดชะกุศลผลได้กระทำนั้น ก็บรรเทาโทษ แห่งมหาสงกรานต์ ให้อันตรธานสูญไป ความเจริญทีฆายุศิริสมบัติก็มีแก่เทพดาทั้งปวง ระวิวาระเป็นวันมหาสงกรานต์ จันทวาระเป็นวันเนา ภุมวาระเป็นวันเถลิงศก ฤๅพระยาวัน ครั้น ณ วันเดือนห้า ขึ้นสิบสามค่ำเพลาบ่ายสี่โมง สิ้นกะปิสังวัจฉระ เป็นกุกกุฏสังวัจฉระ จุลศักราชขึ้นเป็นพันร้อยเจ็ดสิบห้า ปีระกานักษัตรเบญจศก เนาวันหนึ่งเป็นสงกรานต์สามวัน ผลทำนาย พสุสงกรานต์ อจินตสงกรานต์ สามัญสงกรานต์ เป็นสามประการ อธิบายเป็นสามัญ โลกทั่วทุกประเทศในสกุลชมพูทวีป เกณฑ์พิรุณสารทพระจันทร์เป็นอธิบดี นาคราชสี่ตัวบันดานให้ฝนห้าร้อยห่า อุบัติดลบังเขาจักรวาร สองร้อยห่า อรัญญิกาปิ หิมพานต์ร้อยห้าสิบห่า มหาสมุทรร้อยห่า มนุษย์โลกห้าสิบห่า ฝนต้นมือมัธยม กลางมือปลายมืออุดม เกณฑ์ดี นาดอนทรามพอดี เกณฑ์ธัญญาหารออกเศษสุกรชื่อ ลาภะ เข้ากล้าในภูมินาได้ผลสิบส่วนเสียส่วนหนึ่ง ธัญญาหารผลาหารมัจฉมังษาหารอุดม ครั้น ณ วันเดือนห้าขึ้นสิบสามค่ำเช้าสามโมงหกบาตเสร็จการพระราชพิธีศก เจ้าพนักงานชำระพระเครื่องต้น จะได้ตั้งเครื่องพระมุรธาภิเศก ชีพ่อพราหมณ์จะได้ถวายน้ำกรดน้ำสังข์ ขอเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมนารถบรมบพิธพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าที่สรงสนาน ทรงเครื่องพระมุรธาภิเศกตามราชประเพณี สมเด็จบรมกษัตริย์สืบๆ มา เพื่อทรงพระจำเริญพระราชศิริสวัสดิพิพัฒมงคลเมทนีดลสกลสัตรูไกษย และให้ผเดียงพระสงฆ์ราชาคณะ เจ้าอธิการ และราษฎร ให้รู้จงทั่วตามรับสั่ง ครั้นหนังสือมาถึงนี้วันใด ก็ให้กระทำตามจงทุกประการ หนังสือมา ณ วันเสาร์ เดือนสี่ แรมสิบเอ็ดค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๔ ปีวอกจัตวาศก"

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระราชดำริว่า ประกาศสงกรานต์แบบเก่านั้น มีข้อความเกี่ยวกับคำทำนายเหมือนอย่างหมอดูมากไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขข้อความในประกาศสงกรานต์ขึ้นมาใหม่ บอกแต่เพียงว่า วันนั้นเป็นวันสงกรานต์ วันเนา วันเถลิงศก ดังข้อความในตัวอย่างประกาศสงกรานต์ ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๒๑๙ พุทธศักราช ๒๔๐๐ มีความว่า

"มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย แลราษฎรในกรุงฯ นอกกรุงฯ ให้รู้ทั่วกันว่า ในปีมะเส็ง นักษัตรนพศกนี้ ณ วันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ เป็นวันมหาสงกรานต์ วันอาทิตย์แรม ๓ ค่ำ เป็นวันเนา วันจันทร์แรม ๔ ค่ำ เป็นวันเถลิงศก เป็นวันนักขัตฤกษ์พิเศษเพียง ๓ วัน ให้ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย แลราษฎรในกรุงฯ นอกกรุงฯ ทำบุญให้ทาน ในเขตมหาสงกรานต์นี้ เหมือนอย่างเคยทำมาแต่ก่อน

ปีมะเส็งนพศกนี้ พุทธศักราช ๒๔๐๐ นับตั้งแต่วันเสาร์ เดือน ๖ แรมค่ำ ๑ ไป เป็นปีที่ ๗ ในรัชกาลประจุบันนี้ มหาศักราช ๑๗๗๙ จุลศักราช ๑๒๑๙ ตั้งแต่วันอาทิตย์ เดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ ไป

ปีนี้ ไม่มีอธิกมาส แลอธิกวาร จะมีสุริยคาธครั้งหนึ่งในเดือน ๑๐ สิ้นเดือนจะมีจันทรุปราคาครั้งหนึ่งในเดือน ๘ กลางเดือน

ณ วันเสาร์ เดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ วันหนึ่ง วันพุธ เดือน ๑๐ แรม ๑๓  ค่ำวันหนึ่ง เป็นวันที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

ประกาศมา ณ วันพุธ เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ ปีมะโรงนักษัตรอัฐศก"

ประกาศสงกรานต์ดังกล่าวข้างต้น ไม่เป็นที่นิยมของประชาชนส่วนใหญ่ เนื่องจากขาดความสำคัญเกี่ยวกับวัน ที่จะใช้ในการประกอบพิธีมงคล และเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศที่บอกเรื่องน้ำมากน้ำน้อย ในสมัยต่อมา ประกาศสงกรานต์จึงนิยมทำเป็นภาพปฏิทิน บอกวัน เดือน ปี ทั้งทางสุริยคติและทางจันทรคติ ในภาพมีนางสงกรานต์ประทับมาบนหลังพาหนะ แวดล้อมด้วยขบวนแห่เทวดานางฟ้าเชิญเศียรท้าวกบิลพรหม ผู้ที่แห่นำหน้าจะขี่สัตว์ และถือธงบอกชื่อปี ชื่อสัตว์ในพวก ๑๒ นักษัตร มีภาพนาคพ่นน้ำ หรือนาคให้น้ำตามจำนวนนาคที่มีในปีนั้น ตอนล่างมีข้อความบอกประกาศสงกรานต์ประจำปี ดังตัวอย่าง เป็นภาพปฏิทินประกาศสงกรานต์ประจำปีเถาะ พุทธศักราช ๒๕๔๒ และข้อความในประกาศสงกรานต์ ดังนี้

"ปีเถาะ (ธาตุไม้ มนุษย์ผู้หญิง) เอกศก จุลศักราช ๑๓๖๑ ทางจันทรคติ เป็นอธิกมาส ทางสุริยคติ เป็นปกติสุรทิน

วันที่ ๑๔ เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ตรงกับ ณ วันพุธ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๕๘ นาที ๕๘ วินาที

นางสงกรานต์ ทรงนามว่า มณฑาเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จยืนมาเหนือหลัง คัทรภะ (ลา) เป็นพาหนะ

วันที่ ๑๖ เมษายน เวลา ๑๕ นาฬิกา ๐ นาที ๐ วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น ๑๓๖๑ ปีนี้ วันพฤหัสบดีเป็นวันธงชัย วันอาทิตย์เป็นวันอธิบดี วันพุธเป็นวันอุบาทว์ วันอังคารเป็นวันโลกาวินาศ

ปีนี้ วันศุกร์เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก ๖๐๐ ห่า ตกในเขาจักรวาล ๒๔๐ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๑๘๐ ห่า ตกในมหาสมุทร ๑๒๐ ห่า ตกในโลกมนุษย์ ๖๐ ห่า นาคให้น้ำ ๑ ตัว

เกณฑ์ธัญญาหารได้เศษ ๐ ชื่อ ปาปะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล ๑ ส่วน เสีย ๙ ส่วน

เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปถวี (ดิน) น้ำงามพอดี"

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow