สงกรานต์ เป็นวันสำคัญตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณและถือสืบเนื่องตลอดมา สมัยก่อนถือเอา วันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย เป็นวันทำบุญใหญ่ มีการจัดงานเฉลิมฉลอง และการเล่นสนุกสนานต่างๆ
ในปัจจุบันปฏิทินหลวงกำหนดให้ วันที่ ๑๓ เมษายน ถึงวันที่ ๑๕ เมษายน ของทุกปี เป็นวันเทศกาลสงกรานต์ และเป็นวันหยุดราชการประจำปี ๓ วัน ชาวไทยจึงต่างถือกันว่า เป็นเทศกาลสำคัญ มีกิจกรรมหลายอย่าง ที่ชาวพุทธนิยมปฏิบัติกันจนเป็นประเพณี ได้แก่
การทำบุญตักบาตร หรือการนำอาหารคาวหวานไปถวายพระที่วัด เพื่อสืบทอดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และเพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้รู้จักการเสียสละ ทำให้จิตใจผ่องใส
การทำบุญอัฐิ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญู
การปล่อยนกปล่อยปลา ให้ความเป็นอิสระ เพื่อให้ชีวิตพ้นจากภัยพิบัติหรืออันตรายทั้งปวง
การสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ เพื่อให้ตนเองได้รับความเป็นสิริมงคล มีชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุข
การรดน้ำขอพรบุพการี ญาติผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุที่เคารพนับถือ เพื่อแสดงความสำนึกในพระคุณของบุพการี แสดงความเคารพ และความมีน้ำใจไมตรี
การขนทรายเข้าวัด การก่อพระเจดีย์ทราย เพื่อทำบุญให้วัดมีทรายไว้ใช้ในการก่อสร้าง หรือซ่อมแซมเสนาสนะ
การเล่นรดน้ำให้แก่กัน หรือการเล่นสาดน้ำกันเอง เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างญาติและมิตรสหาย
การละเล่นรื่นเริง มหรสพต่างๆ เพื่อความสามัคคี และความสนุกสนานร่วมกัน
ประเพณีสงกรานต์มีความหมายและความสำคัญมากขึ้น เมื่อทางราชการกำหนดให้วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และวันที่ ๑๔ เมษายน เป็นวันครอบครัว
วันสงกรานต์จึงเป็นวันที่แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ความสามัคคี ความรักความผูกพันเกื้อกูลเอื้ออาทรต่อกัน เป็นวันที่มีการเล่นนักขัตฤกษ์กันอย่างรื่นเริงสนุกสนาน เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันในโอกาสต้อนรับวันขึ้นปีใหม่
สงกรานต์เป็นประเพณีสำคัญของไทยที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ มักใช้คู่กับคำว่า ตรุษ โดยนิยมเรียกรวมกันว่า ตรุษสงกรานต์ หรือวันตรุษสงกรานต์ ซึ่งที่ถูกต้อง ตรุษ แปลว่า ตัด ในที่นี้หมายถึง วันตัดปี หรือวันสิ้นปี โดยกำหนดเวลาทางจันทรคติ ตรงกับวันแรม ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันสิ้นปีเก่า ส่วนวันสงกรานต์นั้น สมัยโบราณถือว่า เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นคำว่า ตรุษ กับ สงกรานต์ ระยะเวลาจึงต่างกัน แต่เมื่อนิยมนำคำทั้งสองมาเรียงต่อกัน และเรียกรวมว่า ตรุษสงกรานต์ หรือวันตรุษสงกรานต์ จึงหมายถึง วันที่สิ้นสุดปีเก่าก้าวเข้าสู่ปีใหม่ กำหนดเป็นวันนักขัตฤกษ์ มีการจัดงานทำบุญเฉลิมฉลองเป็นเทศกาลประจำปี เป็นการแสดงความยินดีที่ได้มีชีวิตผ่านพ้นมาด้วยความปลอดภัย ในรอบปีหนึ่ง ประจวบกับเป็นช่วงเวลาที่หมดฤดูทำนา คนไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และนับถือพระพุทธศาสนา เมื่อว่างเว้นจากการทำงานในไร่นา มีเวลาว่างอยู่ จึงกำหนดให้วันสงกรานต์เป็นวันทำบุญพิเศษ จัดเป็นงานใหญ่ มีกิจกรรมหลายอย่างที่ต้องจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนถึงวันสงกรานต์ ได้แก่ การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้สะอาด จัดหาเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชุดใหม่ สำหรับสวมใส่ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในโอกาสเปลี่ยนศักราชใหม่ และจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ สำหรับทำอาหารคาวหวานไปถวายพระที่วัด เป็นการทำบุญที่มีอานิสงส์ ทำให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์ และมีกินมีใช้ตลอดปี
เมื่อถึงวันสงกรานต์ ทุกครอบครัวต่างก็ตื่นแต่เช้า ชำระร่างกายให้สะอาดหมดจด และแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ แล้วนำอาหารคาวหวานที่เตรียมไว้ ไปทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระที่วัด และยังทำบุญอื่นๆ อีกหลายอย่าง ที่นิยมกันเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ การทำบุญอัฐิ อุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว การปล่อยนกปล่อยปลา ไถ่ชีวิตสัตว์ มีโค กระบือ เป็นต้น เป็นการให้ความเป็นอิสระ ให้ชีวิต การขนทรายเข้าวัด ก่อพระเจดีย์ทราย หรือเรียกสั้นๆ ว่า ก่อพระทราย เพื่อให้ทางวัดได้มีทรายไว้ใช้สำหรับการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ และที่ขาดไม่ได้คือ การสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ ตลอดจนรดน้ำบุพการี ญาติผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุที่เคารพนับถือ รวมทั้งการเล่นสาดน้ำกันเอง หรือรดน้ำให้แก่กัน และมีการละเล่นพื้นเมืองต่างๆ เป็นการสนุกสนานรื่นเริงร่วมกัน
การทำบุญและการละเล่นในวันสงกรานต์ ซึ่งกำหนดให้เป็นวันเฉลิมฉลองเล่นนักขัตฤกษ์สงกรานต์นั้น แต่ละท้องถิ่นอาจมีแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม เช่น ในต่างจังหวัดตามหมู่บ้านในชนบทอาจกำหนดวันทำบุญเลี้ยงพระ และวันสรงน้ำพระให้เป็นคนละวันกัน ทำให้มีโอกาสเล่นสงกรานต์ได้หลายแห่งในแต่ละปี บางแห่งนิยมจัดขบวนพระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง หรือประจำถิ่นออกแห่ไปรอบๆ หมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสสรงน้ำพระพุทธรูป และทำบุญไปพร้อมๆ กัน ทำให้วัดได้รับเงินบริจาค เพื่อนำไปทำนุบำรุงเสนาสนะอีกด้วย การจัดงานวันสงกรานต์แต่ละแห่งจะแตกต่างกันไป เช่น
ในกรุงเทพฯ มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ออกจากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพระราชวังบวรสถานมงคล บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ประดิษฐานในขบวนรถบุปผชาติแห่ไปตามถนนต่างๆ ข้ามสะพานพระพุทธยอดฟ้า ไปยังฝั่งธนบุรีถึงวงเวียนใหญ่ แล้วกลับมาประดิษฐาน ณ ท้องสนามหลวง ให้ประชาชนสรงน้ำร่วมกับมีงานรื่นเริงต่างๆ
ในจังหวัดเชียงใหม่ อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัด เช่น พระพุทธสิหิงค์ จากวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร แห่ไปตามถนนสายต่างๆ ในตัวเมืองเชียงใหม่ แล้วนำไปประดิษฐานให้ประชาชนสรงน้ำ
จังหวัดอื่นๆ จัดงานตามประเพณีของตน บางแห่งนิยมจัดให้มีการละเล่นพื้นเมือง เช่น ชักเย่อ มอญซ่อนผ้า ขี่ม้าส่งเมือง ปิดตาตีหม้อ ลิงชิงหลัก บางแห่งมีการเล่นเพลงยาว ลำตัด รำวง และมีการประกวดนางสงกรานต์ด้วย
ประเพณีสงกรานต์ในลักษณะเดียวกันนี้ แม้แต่ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น พม่า ลาว เขมร ก็มีเช่นเดียวกัน