มีคำกล่าวภาษาลาตินบทหนึ่งกล่าวไว้ดังนี้ "Ubi societas, ibi jus" ซึ่งมีความหมายว่า "ที่ไหนมีสังคม ที่นั่นมีกฎหมาย" กล่าวคือ เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะในลักษณะที่ถาวร ก็จะต้องมีกฎเกณฑ์ที่ถือปฏิบัติกันในสังคมนั้นๆ เพื่อให้มนุษย์สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างปกติสุข กฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ มีทั้งกฎเกณฑ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร และกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งต่างก็มีลักษณะบังคับให้คนในสังคมนั้นๆ ต้องปฏิบัติตาม
ในสังคมระยะแรกเริ่มนั้น กฎเกณฑ์ที่มีอยู่ไม่สลับซับซ้อนดังเช่นสังคมปัจจุบัน การควบคุมความประพฤติของคนในสังคมจะอาศัยขนบธรรมเนียมปรเพณี ซึ่งรู้จักกันโดยทั่วไป เป็นกฎเกณฑ์ง่ายๆ ที่เกิดขึ้นมาจากเหตุผลธรรมดาตามสามัญสำนึกของชาวบ้าน เป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่มีอยู่ในมนุษย์ กฎหมายก็คือ กฎเกณฑ์ทางศีลธรรม และจารีตประเพณีของชุมชนนั้นๆ
ต่อมาเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป จารีตประเพณีเดิม ย่อมไม่เพียงพอที่จะช่วยแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อน จึงจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรออกมา เพื่อแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ ไป มีการใช้เหตุผลชั่งตรอง เพื่อชี้ขาดข้อพิพาท เกิดเป็นหลักกฎหมายต่างๆ มีกระบวนการบัญญัติกฎหมายที่เป็นกิจจะลักษณะ ฉะนั้น กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในสังคมสมัยใหม่ จึงมีทั้งกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร และกฎหมายที่ปรากฎอยู่ในรูปของจารีตประเพณี
ในสังคมไทยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน และมีกฎหมายที่ใช้เป็นแบบแผนควบคู่กับสังคมไทยมาโดยตลอด โดยได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสังคมไทยในแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งอาจจะแบ่งประวัติศาสตร์กฎหมายไทยเป็นช่วงเวลา เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงโดยสังเขป ดังนี้
๑. ช่วงที่เป็นกฎหมายไทยแท้ๆ
กฎหมายในช่วงนี้เป็นกฎหมายที่มาจากจารีตประเพณีดั้งเดิมของไทย เป็นกฎเกณฑ์ง่ายๆ ที่มีมาในสังคมไทยแต่ดั้งเดิม จนถึงสมัยสุโขทัย
๒. ช่วงกฎหมายไทยที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย
ได้แก่ กฎหมายในสมัยอยุธยาเรื่อยมา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนที่จะรับกฎหมายสมัยใหม่จากตะวันตก กฎหมายแม่บทที่ประเทศไทยได้รับมาจากอินเดียโดยผ่านมาทางมอญก็คือ "คัมภีร์พระธรรมศาสตร์" ซึ่งเป็นหลักกฎหมายในการปกครองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข ในขณะเดียวกัน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปโดยความถูกต้อง สอดคล้องกับหลักของพระธรรมศาสตร์ พระมหากษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดินอาจจะออกกฎเกณฑ์มาเพิ่มเติมที่เรียกว่า "ราชศาสตร์" จากการที่พระองค์ทรงวินิจฉัยมูลคดีต่างๆ แล้วรวบรวมเป็นกฎหมายพื้นฐานของแผ่นดิน
๓. ช่วงที่ไทยรับระบบกฎหมายสมัยใหม่จากตะวันตก
ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยในช่วงนี้ เริ่มต้นเมื่อประเทศสยามได้มีการปฏิรูปประเทศใน สมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และปรับปรุงระบบกฎหมายให้ทันสมัย โดยอาศัยแบบอย่างจากตะวันตก โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ ตั้งกระทรวงยุติธรรม ตั้งโรงเรียนกฎหมาย และจัดให้มีการร่างประมวลกฎหมายขึ้น ตามระบบกฎหมายของประเทศทางภาคพื้นยุโรปที่เรียกว่า ระบบซีวิลลอว์ (civil law) นับเป็นการพัฒนาระบบกฎหมายของไทยให้ทันสมัยไปอีกก้าวหนึ่ง
ความเป็นมาทางด้านประวัติศาสตร์กฎหมายแสดงให้เห็นได้ว่า กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในสังคมไทยนั้น ได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป แม้ถึงคราวที่ต้องปรับเปลี่ยนระบบกฎหมายตามแบบตะวันตก ก็ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้กฎหมายที่รับมาเหมาะสมกับสังคมไทย ในขณะเดียวกันก็มิได้ละทิ้งแนวความคิดตามธรรมเนียมประเพณีเดิมของไทย กฎหมายบางเรื่อง จึงยังคงแสดงถึงความคิดแบบไทย เช่น การห้ามฟ้องบุพการีของตนที่เรียกว่า คดีอุทลุม หรือการกำหนดโทษอาญาให้หนักขึ้นในกรณีของการฆ่าบุพการี เหล่านี้เป็นต้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการนำจารีตประเพณีมาช่วยแก้ปัญหาในทางแพ่งนั้นประมวลกฎหมายแพ่ง ฯ ที่ร่างขึ้น ก็ได้บัญญัติรับรองไว้ว่า กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติที่จะยกมาปรับกับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ซึ่งเป็นการนำกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรมาใช้ควบคู่กันไป
การเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมายในสังคมไทยที่สำคัญอีกช่วงหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และมีการออกกฎหมายต่อมาอีกมากมาย ทั้งในรูปของพระราชบัญญัติ และกฎหมายในลำดับรอง
การจะกล่าวถึงกฎหมายกับสังคมไทยให้เห็นภาพรวมได้เด่นชัด ต้องกล่าวถึงการจัดลำดับชั้นของกฎหมาย เริ่มตั้งแต่กฎหมายแม่บทคือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายในลำดับรองลงไปเพื่อให้เห็นถึงความเกี่ยวโยง ดังนี้
ลำดับชั้นของกฎหมายดังกล่าวมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด รองลงมาคือ พระราชบัญญัติ และพระราชกำหนด รองลงมาอีก คือพระราช กฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ จนถึงประกาศและคำสั่งต่างๆ ตามลำดับชั้น โดยถือหลักว่า กฎหมายที่อยู่ในลำดับล่างจะไปขัดหรือแย้งกับกฎหมายที่อยู่ในลำดับต้นไม่ได้ ฉะนั้นกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงเป็นแม่บทที่ใช้เป็นหลักในการปกครองของประเทศ ถ้าหากปรากฏว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ โดยองค์กรที่จะทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดว่า กฎหมายฉบับใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็คือ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
สำหรับผู้มีอำนาจในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญได้แก่ บุคคล หรือคณะบุคคล ที่มีอำนาจอันสูงสุด และแท้จริงในรัฐ ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นผู้ตรารัฐธรรมนูญขึ้น โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร
พระราชบัญญัติ
เป็นกฎหมายที่ออกโดย ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีรัฐสภาทำหน้าที่ออกกฎหมายนี้ โดยผู้ที่สามารถจะเสนอร่างพระราชบัญญัติให้รัฐสภาพิจารณา ได้แก่
กฎหมายของบ้านเมือง โดยทั่วไปจะปรากฏในรูปพระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมายฉบับสำคัญๆ ของไทย ก็ได้ประกาศใช้โดยพระราชบัญญัติ อันได้แก่
นอกจากประมวลกฎหมายสำคัญๆ ดังกล่าวมาแล้ว การดำรงชีวิตของคนในสังคม ยังต้องเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติต่างๆ อีกหลายฉบับ ซึ่งจะได้ยกเป็นตัวอย่างต่อไป
พระราชกำหนด
เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งอาจเรียกว่า กฎหมายบริหารบัญญัติ การออกกฎหมายประเภทนี้ถือว่า เป็นการออกกฎหมายในกรณีพิเศษที่ถือเป็นข้อยกเว้น เพราะโดยทั่วไปแล้ว ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจออกกฎหมายโดยตรง การออกกฎหมายเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติโดยเฉพาะ สำหรับเหตุผลพิเศษที่ฝ่ายบริหารสามารถออกพระราชกำหนด ได้มีอยู่ ๒ กรณีคือ
๑. ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
๒. ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมาย เกี่ยวด้วยภาษีอากร หรือเงินตรา ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน พระราชกำหนดที่ฝ่ายบริหารออกมาถือว่า มีผลบังคับเพียงชั่วคราวเฉพาะเรื่องเท่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องเสนอขออนุมัติต่อรัฐสภา ถ้ารัฐสภาอนุมัติ พระราชกำหนดนั้นจะมีผลบังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป แต่ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติ พระราชกำหนดนั้นจะตกไป แต่การที่พระราชกำหนดใช้บังคับต่อไปไม่ได้นั้น ไม่มีผลกระทบกระเทือนกิจการ ที่ได้เป็นไป ในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น
นอกจากพระราชกำหนด ซึ่งฝ่ายบริหารสามารถออกได้เองแล้ว ฝ่ายบริหารยังสามารถออก "กฎหมายลำดับรอง" ได้ ถ้าหากกฎหมายที่เป็นแม่บท คือ รัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติ ให้อำนาจไว้
กฎหมายลำดับรอง
ได้แก่ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งต่างๆ กฎหมายลำดับรองนี้ ฝ่ายบริหารจะบัญญัติได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายลำดับต้นที่เป็นแม่บทให้อำนาจไว้เท่านั้น ถ้าหากฝ่ายบริหารออกมาเกินขอบเขตที่กฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ กฎหมายลำดับรองนั้น ย่อมเป็นอันใช้บังคับไม่ได้