ชาวจีน ๕ กลุ่มภาษาในประเทศไทย
ประเทศไทยและประเทศจีนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมายาวนานนับตั้งแต่อดีต พ่อค้าต่างไปมาค้าขายกัน และระหว่างราชสำนัก ของทั้ง ๒ ประเทศ ก็มีคณะทูตจากไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนมาโดยตลอด ชาวจีนที่เข้ามารับใช้ราชสำนักไทย รวมทั้งพ่อค้า ที่เข้ามาค้าขายในประเทศไทย ต่างได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ชาวจีนอยู่ในประเทศไทยอย่างมีความสุขราวกับอยู่ในประเทศของตน แต่ภายหลังจากราชวงศ์ชิงได้ยึดครองแผ่นดินจีนแล้ว กลับเห็นว่า ชาวจีนที่อพยพออกนอกประเทศหรือที่รู้จักกันดีว่า ชาวจีนโพ้นทะเล เป็นกลุ่มที่ไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติของราชสำนักชิง จึงทำให้ราชสำนักชิง ซึ่งดูแคลนชาวจีนโพ้นทะเลอยู่แล้ว เพิ่มความไม่พอใจ เห็นว่า ชาวจีนกลุ่มนี้เป็นศัตรูของประเทศจีน และคาดโทษไว้หากกลับเข้าสู่ประเทศจีนอีก นอกจากนั้น ทางการจีนยังให้ตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนโพ้นทะเลกับจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย หลังสงครามฝิ่นของจีน ประชาชนประสบความทุกข์ยาก จนต้องละทิ้งถิ่นฐาน ออกไปทำงานในต่างแดนมากขึ้น อีกทั้งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ บรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตกได้ใช้กำลังบีบบังคับให้ราชสำนักจีน ยกเลิกการห้ามออกทะเลของชาวจีน และอนุญาต ให้มีการรับสมัครแรงงานจีน เพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ชาวจีนจึงได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งแตกต่างจากช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิง ในขณะนั้น บ้านเมืองจีนระส่ำระสายมาก จึงส่งผลกระทบต่อคณะทูตไทยที่เดินทางไปถวายเครื่องราชบรรณาการในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนขาดสะบั้นลง โดยราชสำนักไทยถือว่า การส่งเครื่องราชบรรณาการครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย และออกประกาศยกเลิกการส่งคณะทูตไปเจริญพระราชไมตรีนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นต้นมา (ประกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑) ซึ่งประกาศนี้เป็นประกาศอันดับที่ ๓๐๙ แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนไม่เหมือนเดิม แต่การพัฒนาประเทศในทุกมิติ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๑๑ - พ.ศ. ๒๔๕๓) ได้กลายเป็นเหตุผลหนึ่ง ของการอพยพแรงงานจีนเข้ามารับจ้างใช้แรงงานเพื่อขุดคลอง สร้างทางรถไฟหรือถนน ชาวจีนที่เข้ามาประเทศไทยก่อนหน้านี้ บางคนที่สามารถยกระดับตัวเองเข้าสู่สังคมระบบศักดินาของไทยในยุคแรกๆ หรือที่เรียกกันว่า จีนเก่า ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์แต่งตั้งเป็นขุนนางจนบุตรหลานทั้งหมดกลายเป็นคนไทย สำหรับชาวจีนใหม่ซึ่งอพยพเข้ามา ในช่วงที่จีนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ค.ศ. ๑๙๑๑) บางกลุ่มได้ก่อความวุ่นวายจนรัฐบาลไทยไม่พอใจ และส่งกลับไปประเทศจีน แต่กลุ่มที่ตั้งใจทำมาหากินในประเทศไทย ก็จะต้องยอมรับกฎเกณฑ์อยู่ในกรอบของกฎหมายไทย และปฏิบัติตามกฎระเบียบและบรรทัดฐานของสังคมไทย
ชาวจีนที่อพยพเข้าสู่ประเทศไทยหลังสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งอยู่ในช่วงที่ประเทศไทย กำลังมีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคม มีการตัดถนนมากมาย ทั้งในเมืองหลวง และเมืองสำคัญอื่นๆ รวมทั้ง สร้างทางรถไฟ จากเมืองหลวงสู่ภูมิภาค ทำให้ชาวจีนที่ใช้แรงงานกระจายออกสู่ภูมิภาคมากขึ้น ส่วนมากมักตั้งบ้านเรือนอยู่สองข้างทางรถไฟ จนทำให้เกิดเป็นเมืองหลายแห่ง และช่วยชาวพื้นถิ่นในการสร้างบ้านแปงเมืองให้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเห็นได้ว่า ทุกตำบล อำเภอ จังหวัดในประเทศไทยล้วนแต่มีชาวจีนอาศัยอยู่ จนมีบุตรหลานมากมาย ซึ่งในปัจจุบันก็คือ ชาวไทยเชื้อสายจีน เกือบทั้งหมดใช้ชื่อ และนามสกุลไทย บางนามสกุลก็อาจเชื่อมโยงไปถึงแซ่เดิมได้ แต่บางนามสกุลก็เปลี่ยนไป โดยสิ้นเชิง | |
ชาวจีนเป็นชาติพันธุ์ที่ยึดมั่นในเรื่องสายโลหิต บ้านเกิด และอาชีพอย่างเหนียวแน่น แม้ว่าจะอพยพไปอยู่ในถิ่นใด ก็ต้องอยู่รวมตระกูลแซ่เดียวกัน บ้านเกิดเดียวกัน และอาชีพเดียวกัน หลักฐานที่พบ เช่น สมาคมเตชะสัมพันธ์ (ตระกูลแซ่แต้) สมาคมกิ๊กเอี๊ย สมาคมฮงสูน สมาคมแต้เอี๊ยของชาวแต้จิ๋ว ในด้านอาชีพก็มีสมาคมการค้าเฉพาะอาชีพในกลุ่มของตน หลักฐานดังกล่าว พบในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ๆ ของภูมิภาค เช่น สมาคมฮากกาที่อุบลราชธานี สมาคมไหหลำที่นครราชสีมา ทั้งหมดล้วนเป็นสาขาของสมาคมศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ |
ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ (พ.ศ. ๒๔๕๓ - พ.ศ. ๒๔๖๘) ตรงกับช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศจีน จึงเกิดความวุ่นวายขึ้นในประเทศ ทำให้ชาวจีนที่อพยพมาก่อนแล้ว จำนวนมาก ไม่ต้องการกลับไปประเทศจีนอีก อีกทั้งในสมัยรัชกาลที่ ๖ ไทยมีนโยบายผสมกลมกลืนชาวจีนให้เป็นชาวไทย อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการออกพระราชบัญญัติสัญชาติ ใน พ.ศ. ๒๔๕๖ หรือกฎหมายเกี่ยวกับโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๖๑ ซึ่งครอบคลุมถึงโรงเรียนจีนในประเทศทั้งหมด หรือการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่พ่อค้าชาวจีน อย่างไม่เคยถือปฏิบัติมาก่อน รวมทั้งการเปิดโอกาสให้บุตรหลานชาวจีนได้มีบทบาทในทางการเมือง โดยออกกฎหมายเลือกตั้ง ให้พลเมืองที่มีบิดาเป็นคนต่างด้าวสามารถเป็นผู้แทนราษฎรได้ แม้ว่าวิธีการผสมกลมกลืนชาวจีนให้เป็นชาวไทย อาจส่งผลกระทบ ต่อชาวจีนบางกลุ่ม แต่ก็เป็นผลดีต่อชาวจีนอีกกลุ่ม ดังนั้นจึงมีบางกลุ่มที่ไม่ประสงค์จะกลับคืนสู่ประเทศแม่ ต่อมา จีนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ (ค.ศ. ๑๙๔๙) ความไม่สงบสุขในจีนยิ่งเพิ่มขึ้นในทุกหนทุกแห่ง จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ชาวจีน ที่อพยพมา ส่วนใหญ่ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย โดยไม่คิดจะกลับไปประเทศจีนอีกเลย
ตามประเพณีของชาวจีน การสืบทอดวงศ์ตระกูลและการศึกษาของผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของครอบครัว เพราะชาวจีนถือว่า ความรู้จะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่วงศ์ตระกูลและธุรกิจการค้า และแนวคิดสำคัญคือ ชาวจีนโพ้นทะเลทุกคน ต้องมีที่ทำมาหากิน ต้องมีสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา บุตรต้องมีที่ศึกษา และเมื่อตายต้องมีสุสานฝังกาย จากแนวคิดดังกล่าว จึงมีสมาคมชาวจีน โรงเรียนจีน ศาลเจ้า และสุสานเกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยแต่ละกลุ่มภาษาจะมีสมาคม ศาลเจ้า และสุสาน เป็นของตนเอง เช่น สมาคมแต้จิ๋วก็มีศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง ที่ถนนทรงวาด มีโรงเรียนเผยอิง ซึ่งตั้งอยู่ติดกับศาลเจ้า และมีสุสานวัดดอน เป็นของตนเอง สมาคมไหหลำก็มีศาลเจ้าเจียวเอ็งที่บางรัก และโรงเรียนหยกหมิ่นกงเสวีย ที่สุรวงศ์
จากที่กล่าวมานี้เห็นได้ว่า ศาสนสถานที่มีมาพร้อมกับความเชื่อของชาวจีนในยุคแรกนั้น คือ ศาลเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้าง ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเต๋า และความเชื่อพื้นถิ่น ด้วยเหตุที่วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวจีนแผ่นดินใหญ่นั้นมีความเชื่อในเรื่องศาสนาเต๋า และคำสอนของขงจื๊อ ที่แทรกซึมเข้าสู่ชีวิตความเป็นอยู่ จนได้ผสมผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และกลายเป็นแนวทาง ในการดำรงชีวิต ที่สืบต่อกันมาเป็นประเพณี เมื่ออพยพเข้าสู่ประเทศไทย ความเชื่อและรูปแบบในการดำรงชีวิตดังกล่าว ก็ถูกนำมาสู่ประเทศไทยด้วย ทำให้ดูเหมือนว่า ชาวจีนโพ้นทะเลได้สร้างสังคมเล็กๆ เฉพาะกลุ่มของตน แล้วรวมเป็นสังคมจีนขนาดใหญ่ในเมืองไทย