วัดจีน ทำด้วยอิฐ
วัดอังกฤษ ทำด้วยปูน
วัดญี่ปุ่น ทำด้วยหิน
วัดแขกทมิฬ ทำด้วยอะไร
กลอนท่องสนุกๆ แต่แฝงข้อความรู้ไว้ รวมทั้งผูกเป็นปริศนาชวนให้เด็กขบคิดข้างต้นนี้ เด็กๆ ในอดีต ซึ่งปัจจุบัน เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ไปแล้ว คงจะคุ้นเคย คำตอบที่ถูกต้องจะเป็นเช่นไร คงต้องขอให้ท่านผู้รู้จริงเฉลย
มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ชาวจีนได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยาตลอดมา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ชาวจีนมีความสามารถพิเศษในด้านการค้าขาย และช่วยชาวพื้นถิ่นสร้างบ้านแปงเมืองจนเจริญรุ่งเรือง ดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
สิ่งหนึ่งที่ชาวจีนให้ความสำคัญนอกเหนือจากที่ทำกิน คือ สถานศึกษาของบุตรหลาน สุสานฝังกาย และสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา
ศาสนสถานที่ชาวจีนสร้างขึ้นในระยะแรก คือ ศาลเจ้า ต่อมาเมื่อมีผู้คนมาอยู่หนาแน่นขึ้น จึงกลายเป็นชุมชน หรือแหล่งรวมชาวจีน เช่น ย่านเยาวราช ชาวจีนที่เยาวราชมีสำนักพระโพธิสัตว์กวนอิมเป็นศูนย์รวมความเชื่อ และด้วยความเลื่อมใสศรัทธาของชาวจีน ในเวลาต่อมาสำนักพระโพธิสัตว์กวนอิมจึงได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นวัด ชื่อ หย่งฮกอำ และเปลี่ยนเป็น หย่งฮกยี่ ต่อมาได้รับพระราชทานชื่อภาษาไทยว่า วัดบำเพ็ญจีนพรต วัดนี้นับเป็นวัดจีนแห่งแรก ในประเทศไทย ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวจีน
ปัจจุบันมีชาวจีนอาศัยอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก มีวัดและสำนักสงฆ์ที่ปรากฏอยู่ในทะเบียนวัด และทะเบียนสำนักสงฆ์ฝ่ายจีน ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น ๑๗ แห่ง
วัดจีนเป็นวัดที่สร้างจากคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนานิกายมหายานที่รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๑๑ - พ.ศ. ๒๔๕๓) โดยชาวจีนย่านเยาวราชได้ร่วมแรงร่วมทุนทรัพย์ในการสร้าง วัดบำเพ็ญจีนพรต (หย่งฝูซื่อ) หรือที่ชาวจีนแต้จิ๋วเรียกกันว่า หย่งฮกยี่ ตั้งอยู่ที่ถนนเจริญกรุงใกล้กับวัดเล่งเน่ยยี่ โดยพัฒนาจาก สำนักพระโพธิสัตว์กวนอิม (กวนอินอัน) ที่มีอยู่เดิมที่เยาวราช
ความจริงแล้วมีหลักฐานทางโบราณคดีอ้างอิงว่า ชาวจีนอพยพเข้ามาเมืองไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงสมัยอยุธยาจึงได้อยู่รวมกันเป็นชุมชน และจากข้อมูลนครบาลในสมัยรัชกาลที่ ๕ ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ชาวจีนอพยพในสมัยนั้น มีทั้งหมด ๕ กลุ่มภาษา คือ ชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวจีนกวางตุ้ง ชาวจีนไหหลำ ชาวจีนแคะ (ฮากกา) และชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งแต่เดิมอยู่กันเป็นกลุ่มๆ แยกกันอย่างชัดเจน โดยมีศาลเจ้าซึ่งสร้างขึ้นจากคติความเชื่อทางศาสนาเต๋าเป็นศูนย์กลาง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ รัฐบาลได้จัดระบบการปกครองใหม่ ประกอบกับความเจริญของบ้านเมืองในทุกๆ ด้าน ชาวจีนแต่ละกลุ่มภาษาจึงต่างแยกย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานตามความต้องการ โดยอยู่อาศัยปะปนกับชาวจีนกลุ่มภาษาอื่นบ้าง หรือชาวไทยบ้าง อย่างไรก็ดี ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยต่างอยู่อย่างมีความสุขเหมือนกับอยู่ในประเทศของตน ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยกับประเทศจีนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาโดยตลอด อีกทั้งชาวไทยไม่เคยถือว่า ชาวจีนในไทยเป็นชาวต่างชาติ ชาวจีนอพยพที่สามารถยกระดับตัวเองเข้าสู่ระบบศักดินาต่างก็มีบุตรหลานจนกลายเป็นคนไทย สำหรับชาวจีนที่เป็นพ่อค้า แม้บุตรหลานจะกลายเป็นคนไทยไปมาก แต่ก็ยังเหลือร่องรอยให้สืบค้นถึงความเป็นจีนได้บ้าง เพราะยังมีการปฏิบัติพิธีกรรมทางความเชื่อ และเทศกาลตามประเพณี ทั้งที่วัดจีนและศาลเจ้า
วัดจีนในประเทศไทยมีนิกายตามแบบอย่างจีน กล่าวคือ ในวัดหนึ่งๆ แม้จะเน้นนิกายสุขาวดี (จิ้งถู่จง) เป็นหลัก แต่วิธีปฏิบัติกิจของสงฆ์ยังให้ความสำคัญกับนิกายเซน (ฉานจง) อย่างมาก ส่วนในด้านพิธีกรรมก็ให้ความสำคัญกับนิกายวัชรยาน หรือตันตระ (มี่จง) บ้าง นอกจากนั้น ในประเทศจีน ตอนปลายสมัยราชวงศ์หยวนถึงต้นราชวงศ์หมิง (ค.ศ. ๑๓๖๘ - ค.ศ. ๑๖๔๔) ความเชื่อซานเจี้ยว หรือสามศาสนา ของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน เป็นที่นิยมกันมากทางตอนใต้ของจีน ความเชื่อนี้เป็นการรวมพระพุทธศาสนา ศาสนาเต๋า และศาสนาขงจื๊อเข้าด้วยกัน (ความจริงศาสนาขงจื๊อยังไม่เป็นที่ยอมรับกันทั้งหมดว่า เป็นศาสนา เพราะเน้นไปในเรื่องปรัชญามากกว่า แต่ทางศาสนาเรียกว่า หรูเจี้ยว แปลว่า ศาสนาขงจื๊อ) วัดของความเชื่อซานเจี้ยวจะตั้งรูปเคารพ ทั้งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทางพระพุทธศาสนานิกายมหายาน เทพเจ้าทางศาสนาเต๋า เช่น ไท้ซั่งเหล่าจวิน พระเจ้าเง็กเซียนฮ่องเต้ และเทพเจ้าทางศาสนาขงจื๊อ เช่น ปรมาจารย์ขงจื๊อ เทพกวนอู หรือเทพเหวินชาง
ศาสนสถานของชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนา ศาสนาเต๋า และศาสนาขงจื๊อ ล้วนมีผังของสถาปัตยกรรมและอาคาร ที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ผังแบบอาคาร ๔ หลังประกอบกัน (ซื่อเหอเอี้ยน) ของสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ และผังแบบอาคาร ๓ หลังประกอบกัน (ซานเหอเอี้ยน) ของสถาปัตยกรรมขนาดกลาง สำหรับสิ่งประดับหลังคาและส่วนต่างๆ ของอาคารก็แตกต่างกัน ตามความเชื่อเรื่องสิริมงคลในแต่ละศาสนา อาคารของศาสนสถานก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ผังของศาสนสถานก็อาจปรับเปลี่ยนไปตามพื้นที่ที่เป็นภูเขา หรือพื้นราบด้วย สำหรับอาคารของศาสนสถานของชาวจีน ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน แต่อาคารหลักต้องประกอบไปด้วย
๑. อาคารหน้าหรืออาคารเทียนหวางเตี้ยน หรือวิหารเทพแห่งสวรรค์
๒. อาคารต้าสยงเป่าเตี้ยน หรือพระอุโบสถ เป็นอาคารหลักของวัดสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ๓ องค์ (ต้าสยง แปลว่า ผู้มีบารมี เป่า แปลว่า ของวิเศษ รัตนะ) คือ วิหารประดิษฐานพระประธานของวัด
๓. อาคารหลัง หรือโฮ่วเตี้ยน บางแห่งสร้างเป็น ๒ ชั้น สำหรับจัดเป็นวิหารบูรพาจารย์ และวิหารพระโพธิสัตว์ต่างๆ
๔. อาคารประกอบด้านซ้ายและด้านขวาของวัด โดยจัดเป็นห้องสมุด ห้องประชาสัมพันธ์ ห้องธุรการ และห้องอื่นๆ
ปัจจุบันประเทศไทยมีวัดจีนและสำนักสงฆ์รวมทั้งสิ้น ๑๗ แห่ง ดังนี้
๑. วัดโพธิ์แมนคุณาราม (ถนนสาธุประดิษฐ์ กรุงเทพฯ)
๒. วัดมังกรกมลาวาส (ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ)
๓. วัดบำเพ็ญจีนพรต (ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ)
๔. วัดหมื่นพุทธเมตตาคุณาราม (จังหวัดเชียงราย)
๕. วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ ๒) (จังหวัดนนทบุรี)
๖. วัดโพธิ์เย็น (จังหวัดกาญจนบุรี)
๗. วัดฉื่อฉาง (จังหวัดสงขลา)
๘. วัดโพธิทัตตาราม (จังหวัดชลบุรี)
๙. วัดเทพพุทธาราม (จังหวัดชลบุรี)
๑๐. วัดทิพยวารีวิหาร (ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ)
๑๑. วัดมังกรบุปผาราม (จังหวัดจันทบุรี)
๑๒. วัดเมตตาธรรมโพธิญาณ (จังหวัดกาญจนบุรี)
๑๓. วัดจีนประชาสโมสร (จังหวัดฉะเชิงเทรา)
๑๔. วัดเล่งจิ๋วเจงเสี่ย (เขตดินแดง กรุงเทพฯ)
๑๕. สำนักสงฆ์สุธรรม (เขตบางแค กรุงเทพฯ)
๑๖. สำนักสงฆ์กวงเม้งเจงเสี่ย (เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ)
๑๗. สำนักสงฆ์กั๊กฮึ้งเนี่ยมฮุกลิ้ม (เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ)