Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อัตราตาย

Posted By Plookpedia | 15 มี.ค. 60
4,351 Views

  Favorite

อัตราตาย

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและรักษาไม่ทันมักเสียชีวิตภายใน ๒๔ - ๗๒ ชั่วโมง อัตราตายเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ ๕ - ๗ ปัจจุบันอาจลดต่ำลง เป็นร้อยละ ๒ หรือต่ำกว่า ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก อัตราตายจะสูงขึ้นถึงร้อยละ  ๒๐
 


สาเหตุการตายที่สำคัญ คือ ไตวาย มีโพแทสเซียมในเลือดสูง และระบบการหายใจล้มเหลว แต่หากแก้ไขสาเหตุทั้ง ๓ อย่างนี้ได้ ผู้ป่วยก็มีโอกาสรอดชีวิตได้สูง ปัจจัยทำนายผลการรักษาที่สำคัญมากมี ๒ ข้อ 

ข้อแรก คือ ความรวดเร็วในการได้รับยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม การได้รับยาช้าเกินไปอาจเนื่องจากวินิจฉัยโรคฉี่หนูได้ช้า หรือผู้ป่วยมารับการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบัน เมื่อโรคดำเนินไปจนมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ มากแล้ว ระยะเวลาระหว่างวันแรกที่เริ่มป่วย จนถึงวันที่ได้รับยาต้านจุลชีพที่ถูกต้อง จึงมีผลต่อการรักษามาก เพราะโรคนี้หายได้เร็วภายใน ๓ - ๕ วัน ถ้าได้รับยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมภายหลังการเจ็บป่วยไม่เกิน ๓ - ๕ วัน 

ข้อที่ ๒ คือ สภาพความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกายที่จะทนต่อการใช้เครื่องมือที่ช่วยแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และประคับประคองไปจนกว่าจะผ่านพ้นภาวะแทรกซ้อนเหล่านั้น ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว ได้แก่ ภาวะไตวาย ซึ่งต้องใช้วิธีฟอกไต ภาวะเลือดออกในปอด จนระบบการหายใจล้มเหลวซึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดปริมาตร ระยะเวลาที่จะผ่านพ้นภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เหล่านี้ใช้เวลา ๗ - ๑๔ วัน ซึ่งร่างกายผู้ป่วยต้องสามารถทน และรับการช่วยเหลือได้นานพอ ปัจจัยทำนายผลการรักษาข้ออื่นๆ ได้แก่ การติดเชื้อสำทับในโรงพยาบาล ความพร้อมของเครื่องมือกู้ชีพ และหออภิบาล ตลอดจนความชำนาญของบุคลากรต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอดและไต ถึงแม้ว่าความรุนแรงหรือการปล่อยพิษของเชื้อก่อโรคเลปโทสไปเรอาจไม่เท่ากันทุกสายพันธุ์ แต่ไม่น่าเป็นปัจจัยสำคัญ ที่มีผลกระทบต่อการรักษามากนัก การทราบปัจจัยในการทำนายผลการรักษา จะช่วยให้สถานพยาบาลแต่ละแห่ง พัฒนาการรักษาโรคฉี่หนูให้ได้ผลดีขึ้น และมีอัตราตายน้อยที่สุด หรือไม่มีเลย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow