กลุ่มอาการของโรค
ภายหลังได้รับเชื้อ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะไม่แสดงอาการใดๆ เลย ระยะฟักตัวของโรคอยู่ระหว่าง ๔ - ๑๐ วัน ผู้ที่มีอาการไข้ จะเป็นอาการนำร่วมกับอาการทั่วไปที่เกิดได้กับหลายๆ โรค โดยมีลักษณะอาการแบบไข้เฉียบพลันที่ไม่ทราบสาเหตุ บางรายที่ป่วยรุนแรงจะมีอาการเด่นเฉพาะที่ในแต่ละระบบของร่างกาย กลุ่มอาการและอาการเด่นเฉพาะที่ตามระบบต่างๆ แบ่งได้เป็น ๒ ระยะตามพยาธิกำเนิด (pathogenesis) คือ
ระยะที่ ๑ ระยะติดเชื้อในกระแสโลหิต
ระยะนี้อยู่ระหว่างวันที่เริ่มมีไข้จนถึงวันที่ ๗ ของโรค ผู้ป่วยมีไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ร่วมกับอาการทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อทั่วไป ตาแดง ปวดท้อง หากไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ระยะนี้อาจนานถึง ๒ สัปดาห์ หลังจากนั้น ร่างกายจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน และกำจัดเชื้อออกจากเลือดไปได้เอง
ระยะที่ ๒ ระยะปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน เมื่อเริ่มเข้าสัปดาห์ที่ ๒ ของโรค เชื้อจะถูกกำจัดหมดไปจากเลือด แต่การอักเสบของอวัยวะต่างๆ จะดำเนินต่อไป ไข้เริ่มลดต่ำลง ระยะนี้ พบอาการต่างๆ ที่เด่นชัดมากขึ้นในระบบต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งความผิดปกติ ของการทำงานของตับ ไต ระบบประสาท และระบบกล้ามเนื้อ ระยะนี้อาจนานถึง ๓๐ วัน |
|
อาการที่แสดงออกในระบบต่างๆ มีดังนี้ หัวใจและระบบการไหลเวียน ภาวะความดันโลหิตต่ำพบได้บ่อยโดยอาจพบได้ถึงร้อยละ ๕๐ ส่วนใหญ่อาการดีขึ้นภายหลังการรักษาด้วยน้ำเกลือ ในรายที่อาการรุนแรงจะมีการอักเสบของหัวใจ ทั้งที่กล้ามเนื้อและเยื่อบุหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ |
ระบบการหายใจ อาการส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง เช่น ไอมีเสมหะเล็กน้อย เจ็บกล้ามเนื้อหน้าอก ในรายที่รุนแรงจะมีเนื้อปอดอักเสบทั่วไป มีเลือดออกในถุงลมเป็นหย่อมๆ มักเกิดที่ปอดกลีบล่าง เนื่องจากมีเลือดมาเลี้ยงมากกว่าปอดกลีบบน บางครั้งไอเป็นเลือด มีน้ำและเลือดท่วมเนื้อปอด จนเกิดภาวะการหายใจล้มเหลว จึงต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ |
ระบบทางเดินปัสสาวะและไต
ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีความผิดปกติในการทำงานของไต หรือเกิดการอักเสบของเนื้อไต การตรวจปัสสาวะพบไข่ขาวบ่อยๆ พร้อมเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ซึ่งอาจสับสนกับโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ในรายที่อาการรุนแรง ปัสสาวะจะออกน้อย และมีไตวายเฉียบพลันได้ ซึ่งเป็นผลร่วมกันจากการที่เลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ เนื่องจากความดันโลหิตต่ำ และร่างกายขาดน้ำ จากไข้สูง
ระบบทางเดินอาหาร
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ประมาณครึ่งหนึ่งมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองร่วมด้วย โดยเริ่มเกิดขึ้นในวันที่ ๔ - ๗ ของการเป็นไข้ บางรายอาการเหลืองอาจเป็นได้อีกหลายสัปดาห์หลังไข้ลด การตรวจร่างกายอาจพบตับโตและเกิดการอักเสบ การตรวจเลือดพบระดับเอนไซม์ของตับขึ้นสูง แต่มักไม่เกิน ๕ เท่าของระดับปกติ ส่วนม้ามโตพบน้อย
ระบบกล้ามเนื้อ
ผู้ป่วยมีอาการปวดเมื่อยและกดเจ็บที่กล้ามเนื้อทั่วตัว โดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่องทั้งสองข้าง ถือเป็นอาการเด่นที่ส่อว่า อาจเป็นโรคฉี่หนู อาจตรวจพบระดับเอนไซม์ของกล้ามเนื้อสูงขึ้นในเลือด ซึ่งแสดงถึงการอักเสบของกล้ามเนื้อ
ระบบประสาทและไขสันหลัง
อาการปวดศีรษะพบบ่อยโดยเฉพาะในขณะที่มีไข้ขึ้นสูง ต้นคออาจแข็งเกร็ง ความรู้สึกตัวลดลง
ระบบโลหิต
อาจพบจุดเลือดออกใต้ผิวหนังได้ ผู้ป่วยซีดลงจากการเสียเลือดและเม็ดเลือดถูกทำลายเร็วขึ้น
ระยะแรกของไข้ ผู้ป่วยอาจมีตาแดง (conjunctival suffusion) หรือปื้นเลือดออกที่ตาขาว (subconjunctival haemorrhage) ซึ่งหายได้เอง ส่วนผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ (uveitis) อาจพบตามมาภายหลัง และเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดได้
ผู้ป่วยโรคฉี่หนูประมาณร้อยละ ๘๐ - ๙๐ มีอาการไม่รุนแรง อาการหายได้เองแม้ไม่ได้รับการรักษา ในรายที่มีอาการรุนแรง และเกิดร่วมกับระบบต่างๆ ได้แก่ ไข้สูง ตาและตัวเหลืองมาก ไตวาย ไอเป็นเลือด การหายใจล้มเหลว เรียกว่า กลุ่มอาการไวล์ (Weil’s syndrome) พบประมาณร้อยละ ๑๐ ของผู้ป่วยทั้งหมด และมีอัตราตายร้อยละ ๕ - ๔๐ ถึงแม้จะได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีก็ตาม การรักษาภาวะแทรกซ้อนต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ และต้องมีเครื่องมือในการล้างไต หรือเครื่องช่วยหายใจ