Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พาหะนำโรคและการติดต่อ

Posted By Plookpedia | 08 มี.ค. 60
5,237 Views

  Favorite

พาหะนำโรคและการติดต่อ

สัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ คือ หนู กระรอก และสัตว์กัดแทะอื่นๆ รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น แมว สุนัข วัว ควาย สุกร กวาง เชื้อก่อโรคจะแพร่กระจายวนเวียนอยู่ในสัตว์ต่างๆ ได้มากถึง ๑๖๐ ชนิด โดยมากสัตว์เหล่านี้ ได้รับเชื้อเลปโทสไปเรมาตั้งแต่วัยอ่อน แต่จะไม่เจ็บป่วย โดยเชื้อไปหลบและแบ่งตัว ที่หลอดไต แล้วถูกขับออกมา พร้อมกับน้ำปัสสาวะเป็นระยะๆ หรือตลอดเวลาได้นานหลายเดือน ซึ่งต่างจากมนุษย์ที่เวลาป่วยจะมีเชื้อออกมาในปัสสาวะไม่เกิน ๖๐ วันก็จะหมดไป บางครั้งการอพยพของสัตว์ที่เป็นพาหะ ทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ไกลยิ่งขึ้น การระบาดที่จังหวัดนครราชสีมา และบุรีรัมย์พบว่า เกิดจากการที่หนูจำนวนมากอพยพหนีน้ำท่วมเข้ามาในนาข้าว ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อของน้ำในนาข้าว และในแหล่งน้ำที่ชาวบ้านลงไปจับปลา

หนูเป็นสัตว์พาหะนำโรคฉี่หนู โดยเชื้อถูกขับออกมาพร้อมน้ำปัสสาวะ

 

การติดต่อของโรคแบ่งเป็น ๒ แบบ ดังนี้

การติดต่อโดยตรง  

คือ การสัมผัสโดยตรงกับเชื้อก่อโรคในปัสสาวะของสัตว์ พบได้บ่อยในผู้มีอาชีพที่ต้องคลุกคลีกับสัตว์ ที่เป็นพาหะ เช่น สัตวแพทย์ คนงานในไร่ปศุสัตว์ คนงานในโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งการสัมผัสกับรกหรือลูกสัตว์ ที่แท้งออกมา และมีเชื้อปนเปื้อน หรือการถูกสัตว์กัดแทะ ที่มีเชื้อ กัดที่ผิวหนัง ก็ทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน

 

การสัมผัสกับรกของสัตว์ที่คลอดออกมา และมีเชื้อปนเปื้อน

 

การติดต่อโดยอ้อม  

คือ การสัมผัสกับแหล่งน้ำหรือดินเปียกชื้นที่ปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะของสัตว์พาหะ เป็นการติดต่อที่พบได้บ่อย หลังฤดูฝน หรือเมื่อเกิดสภาวะน้ำท่วม

 

การเกิดสภาวะน้ำท่วมขัง ทำให้น้ำปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ

 

 

เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนัง เยื่อบุนัยน์ตา ในจมูก หรือในช่องปาก การรับประทานอาหารดิบ ที่ปนเปื้อนเชื้อ การดื่ม หรือสำลักน้ำ ที่ปนเปื้อนเชื้อ จะเปิดโอกาสให้เชื้อชอนไชผ่านเยื่อบุช่องปากหรือหลอดอาหารส่วนต้นได้ เชื้อจะถูกทำลาย เมื่อสัมผัสกับกรดในกระเพาะอาหาร โรคนี้เคยมีการระบาดที่ประเทศอิตาลีในฤดูร้อน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ สาเหตุเนื่องมาจาก นักท่องเที่ยวและประชาชนดื่มน้ำพุที่ปนเปื้อนเชื้อ โรคนี้จะไม่ติดต่อจากคนสู่คน แต่เชื้ออาจผ่านเข้าสู่ทารกในครรภ์ หรือทารกติดเชื้อจากการดูดน้ำนมมารดาที่เป็นโรค

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow