เชื้อก่อโรคฉี่หนู
เชื้อก่อโรคฉี่หนู คือ แบคทีเรียในสกุล (genus) เลปโทสไปรา (Leptospira) วงศ์ (family) เลปโทสไปราเซอี (Leptospiraceae) และอันดับ (order) สไปโรคีทาเลส (Spirochaetales) แบคทีเรียชนิดนี้มีรูปร่างยาวเรียว เป็นเกลียว มีขนาดยาวประมาณ ๖ - ๒๐ไมโครเมตร กว้าง ๐.๕ ไมโครเมตร ปลายด้านหนึ่งหรือทั้งสองข้างขดงอเป็นรูปตะขอ เคลื่อนที่โดยอาศัยการหมุนของสายเล็กๆ ที่เรียกว่า แส้เซลล์ (flagella) ซึ่งยื่นจากปลายทั้งสองข้างของตัวเชื้อข้างละ ๑ เส้น เพื่อโบกพัดให้ตัวเชื้อมุดฝังเข้าไปในเนื้อเยื่อได้ เชื้อสามารถเจริญเติบโตช้าในบรรยากาศที่มีออกซิเจนน้อย การศึกษาในหลอดทดลองพบว่า เชื้อสามารถเปลี่ยนแปลงสารก่อภูมิต้านทาน (antigenic drift) ที่ผิวได้บ้าง เพื่อหลบเลี่ยงจากการทำลายโดยภูมิต้านทานของมนุษย์
เนื่องจากตัวเชื้อมีขนาดเล็กมาก จึงมองเห็นได้ยากด้วยกล้องจุลทรรศน์ทั่วไป ต้องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (electron microscope) หรือกล้องจุลทรรศน์ดาร์กฟีลด์ (darkfield microscope) | |
ในสภาวะที่เหมาะสม เช่น ในน้ำหรือดินที่มีความชื้นพอเหมาะ อุณหภูมิประมาณ ๒๘ - ๓๐ องศาเซลเซียส และมีค่าพีเอช (pH) อยู่ระหว่าง ๗.๒ - ๗.๖ เชื้อเลปโทสไปเร (leptospire) สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์ถึงเป็นเดือน |
ปัจจุบันความก้าวหน้าในด้านการแยกเชื้อ สามารถทำได้โดยการตรวจความแตกต่างของยีน หรือปฏิกิริยาระหว่างเชื้อกับน้ำเหลือง เมื่อแบ่งเชื้อเลปโทสไปเรที่ก่อโรค โดยใช้ความแตกต่างของยีน สามารถแบ่งออกได้ถึง ๗ สปีชีส์ (species) โดยเชื้อที่ก่อโรคฉี่หนู ที่พบบ่อย อยู่ในสปีชีส์เลปโทสไปรา อินเทอร์โรแกนส์ และมีเชื้อก่อโรคมากกว่า ๒๕๐ สายพันธุ์หรือซีโรวาร์ (serovar) โดยสายพันธุ์ที่พบบ่อยในระหว่างการระบาดในประเทศไทย ได้แก่ อิกเทอโรเฮมอร์ราจิอี (Icterohaemorrhagiae) บาตาวิอี (Bataviae) เซจโร (Sejroe) และบราติสลาวา (Bratislava) สายพันธุ์ที่ก่อโรคในท้องที่บางแห่ง จะแตกต่างกันออกไปได้
เมื่อเชื้อออกมาสู่แหล่งน้ำ จะมีชีวิตอยู่ในน้ำได้นานหลายเดือน โดยเฉพาะน้ำจืด และน้ำที่เป็นด่างอ่อนๆ ในท้องร่อง หรือในโคลน ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า ๒๒ องศาเซลเซียส จากนั้นจะแพร่กระจายไปปนเปื้อนน้ำที่ไหลผ่านมา