Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความเป็นมาและความสำคัญ

Posted By Plookpedia | 08 มี.ค. 60
4,286 Views

  Favorite

ความเป็นมาและความสำคัญ

ก่อน พ.ศ. ๒๔๒๖ ได้มีการเผยแพร่กลุ่มอาการของผู้ป่วยหลายราย ที่มีหน้าที่ทำความสะอาดท่อระบายน้ำเสีย และการเจ็บป่วย ที่มีอาการเดียวกับโรคฉี่หนูแบบรุนแรง ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๒๙ อะดอล์ฟ ไวล์ (Adolf Weil) แพทย์ชาวเยอรมัน ที่เมืองไฮเดลแบร์ก (Heidelberg) ประเทศเยอรมนี ได้อธิบายกลุ่มอาการของโรคนี้อย่างละเอียด ในผู้ป่วย ๔ รายที่มีไข้สูง ตาเหลือง ตัวเหลือง และไตวายเฉียบพลัน หลังจากนั้นกลุ่มอาการของโรคนี้ ก็เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายจนเรียกโรคนี้ว่า โรคของไวล์ (Weil’s disease) หรือ กลุ่มอาการไวล์ (Weil’s syndrome) อาการดังกล่าวจัดเข้ากันได้กับโรคเลปโทสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน เนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์ในสมัยนั้น ยังไม่พบสาเหตุหรือเชื้อก่อโรค ดังนั้น เมื่อนักวิทยาศาสตร์ในอดีตได้สังเกตเห็นความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ระหว่างโรคนี้ กับสิ่งแวดล้อม หรือฤดูกาล จึงนำมาตั้งเป็นชื่อโรค เช่น ชาวยุโรปตั้งชื่อว่า โรคของคอกหมู (swineherd’s disease) หรือโรคน้ำท่วมขัง (swamp fever) หรือโรคจากการลุยโคลน (mud fever) ส่วนในประเทศจีนและญี่ปุ่น ก็รู้จักโรคนี้มานานเช่นกัน แต่มีแนวคิดที่ต่างกัน สำหรับประเทศจีนมีข้อสังเกตว่า ชาวนาที่ต้องลุยน้ำเกี่ยวข้าว มีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ง่าย จึงเรียกโรคนี้ว่า โรคของชาวนา ส่วนประเทศญี่ปุ่นสังเกตว่า พบโรคนี้บ่อยขึ้นในฤดูใบไม้ร่วง จึงเรียกโรคนี้ว่า อะกิยะมิ (akiyami) ซึ่งหมายถึง ไข้ฤดูใบไม้ร่วง (autumn fever) บางคนตั้งชื่อโรคตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งมีดีซ่าน และเลือดออกว่า โรคดีซ่านตกเลือด (haemorrhagic jaundice) หรือโรคดีซ่านติดเชื้อ (infectious jaundice) และเรียกตามอาการที่เหมือนไข้หวัดใหญ่ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ในผู้ที่ปฏิบัติงานล้างท่อระบายน้ำเสียว่า ไข้หวัดใหญ่ของคนล้างท่อ (sewerman’s flu)

 

โรคของคอกหมู เป็นอีกชื่อหนึ่งของโรคฉี่หนู เพราะสาเหตุหนึ่งของโรคนี้เกิดจากการเลี้ยงหมูด้วย

 

 

ผู้ที่ได้แสดงให้เห็นรูปร่างของเชื้อก่อโรคฉี่หนูเป็นครั้งแรกคือ เอ.เอ็ม. สติมสัน (A.M. Stimson) ซึ่งได้ผ่าศพผู้ป่วยที่คาดว่า เสียชีวิตด้วยไข้เหลือง (yellow fever) และเมื่อย้อมชิ้นเนื้อไตด้วยวิธีการตกตะกอนเงิน (silver staining) ปรากฏว่า พบกลุ่มของเชื้อหลายตัว ซึ่งยาวขดม้วนในหลอดไต จึงตั้งชื่อเชื้อดังกล่าวว่า สไปโรคีตาอินเทอร์โรแกนส์ (Spirochaeta interrogans) เนื่องจากเชื้อมีรูปร่างเป็นเส้นเกลียว ปลายขดงอเหมือนเครื่องหมายคำถาม (spiro แปลว่า เป็นเกลียว chaeta แปลว่า เส้น interrogan แปลว่า คำถาม) อย่างไรก็ดี เขาก็ยังไม่สามารถเพาะแยกเชื้อที่มีชีวิตออกมาได้ ต่อมา นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ๒ คน ชื่ออินะดะ (Inada) และ อิโดะ (Ido) ได้ตรวจพบเชื้อสไปโรคีต (spirochete) ในเลือดของคนงานเหมืองแร่ ที่มีอาการไข้และตาเหลือง นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่า เลือดของผู้ป่วยสร้างภูมิต้านทาน ต่อเชื้อสไปโรคีตนี้ ทำให้เชื่อว่า เชื้อที่พบเป็นเชื้อก่อโรคของไวล์ หรือโรคฉี่หนู ทั้ง ๒ คน ได้รายงานถึงวิธีการติดต่อ และการรักษาโรคไว้ในวารสารภาษาอังกฤษ ที่มีชื่อเสียง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ และตั้งชื่อโรคว่า สไปโรคีโทซิสอิกเทอโรเฮมอร์ราจิกา (spirochaetosis icterohaemorrhagica) และในเวลาใกล้เคียงกัน แพทย์ชาวเยอรมัน ๒ กลุ่ม กลุ่มแรก ได้แก่ อูห์เลนฮุท (Uhlenhuth) และฟรอมเม (Fromme) และกลุ่มที่๒ ได้แก่ ฮูเบแนร์ (Hubener) และไรแทร์ (Reiter) ได้ศึกษาถึงสาเหตุของไข้ ที่เกิดกับทหารเยอรมัน ขณะประจำการอยู่ในเขตพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งโรคนี้รู้จักกันในขณะนั้นว่า โรคฝรั่งเศส (French disease) เมื่อฉีดตัวอย่างเลือดของทหารที่ป่วยเข้าไปในเลือดของหนูตะเภา แล้วตรวจพบเชื้อสไปโรคีตในเลือดหนูตะเภาในเวลาต่อมา จึงทราบว่า ทหารป่วยเพราะเชื้อชนิดนี้ แต่แพทย์ชาวเยอรมันทั้ง ๒ กลุ่ม มุ่งสนใจแต่เรื่องการอ้างเป็นผู้ค้นพบเชื้อก่อนเป็นครั้งแรก จนลืมตรวจดูในวารสารว่า นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น คือ อินะดะ และอิโดะ ได้รายงานผลการค้นพบเรื่องนี้ไว้แล้ว เมื่อเชื้อก่อโรค และวิธีการแยกเชื้อเริ่มเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป การศึกษาในเวลาต่อมา ก็พบว่า หนูเป็นพาหะของโรคและปล่อยเชื้อไปตามน้ำ อีกไม่นานก็พบว่า สุนัขก็ติดเชื้อชนิดนี้ได้เช่นกัน โรคนี้จึงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในเวลาต่อมา

 

ผู้ที่ต้องปฏิบัติงานล้างท่อระบายน้ำเสียมีความเสียงที่จะเกิดโรคฉี่หนู

 

 

การระบาดของโรคฉี่หนูมีหลายครั้งในภูมิภาคหลายแห่ง แต่มีอุบัติการณ์สูงในประเทศแถบเขตร้อน เช่น ประเทศบราซิล เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ และประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ สำหรับประเทศไทย ก็มีการระบาดหลายครั้ง โดยเกิดตามหลังฤดูฝนหรือภาวะน้ำท่วม โรคฉี่หนูถือเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ที่พบบ่อยที่สุดในโลก และมีกลุ่มอาการหลากหลาย ตั้งแต่ไม่มีอาการ จนถึงมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งๆ ที่โรคนี้ เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาด หรือป้องกันอย่างได้ผล ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงถือว่า โรคฉี่หนูเป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ ทางด้านสาธารณสุขโรคหนึ่ง

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow