พวกเราคงเคยได้ยินคำว่า “ฉี่” ซึ่งหมายถึง “ปัสสาวะ” กันมาแล้ว ต่อไปนี้จะให้เด็กๆ ได้รู้จักโรค ซึ่งอาจติดต่อจากสัตว์สู่คน ที่ขึ้นต้นว่า ฉี่ คือ “โรคฉี่หนู”
โรคนี้ได้ชื่อว่า “ฉี่หนู” เพราะส่วนมากคนเป็นโรคนี้จากการได้รับเชื้อก่อโรคที่ปนเปื้อนมากับปัสสาวะของหนู ที่ผสมอยู่ในน้ำ เช่น ชาวนาที่แช่น้ำในนาข้าว ชาวบ้านที่จับปลา คนที่อยู่ในบริเวณที่น้ำท่วม ทั้งในเมืองและนอกเมือง
สาเหตุที่น้ำมีปัสสาวะหนูซึ่งมีเชื้อก่อโรค ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ทำให้ชะล้างปัสสาวะหนู ซึ่งคั่งค้างอยู่ตามที่ต่างๆ ปะปนมากับน้ำด้วย
เด็กๆ น่าจะทายถูกว่าโรค “ฉี่หนู” นี้ เป็นกันมากในฤดูฝน ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมของทุกปี เพราะมีฝนตกมาก มีโอกาสที่น้ำจะท่วมตามที่ต่างๆ ได้มากกว่าเดือนอื่น
ความจริงแล้วโรคฉี่หนูไม่ได้เกิดจากหนูเพียงอย่างเดียว สัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคนี้ที่สำคัญคือ สัตว์กัดแทะ เช่น กระรอก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น แมว สุนัข วัว ควาย แพะ สุกร กวาง รวมมากกว่า ๑๖๐ ชนิด
เมื่อคนได้รับเชื้อโรคฉี่หนู จะมีอาการต่างๆ กัน บางคนไม่แสดงอาการอะไร บางคนมีไข้และอาการอื่นๆ ที่โรคหลายๆ โรค ก็มีอาการเหล่านี้ เช่น ปวดศีรษะ ปวดตามเนื้อตามตัว ตาแดง ปวดท้อง บางคนมีอาการรุนแรงมาก หากรักษาไม่ถูกวิธี อาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อโรคฉี่หนูนี้จากสิ่งแวดล้อม เช่น เด็กๆ ไม่ควรเล่นกับสุนัขและแมว ที่มีเชื้อโรคนี้ เพราะอาจถูกกัด หรือไม่ลงเล่นน้ำหรือว่ายน้ำในแหล่งน้ำ เช่น คลอง ทะเลสาบ ที่อาจมีเชื้อ และไม่เดินเท้าเปล่าบนดินหรือดินโคลน หลังน้ำท่วม
สำหรับผู้ที่มีอาชีพซึ่งจำเป็นต้องแช่น้ำที่อาจมีเชื้อโรคนี้ เช่น ชาวนา ควรสวมรองเท้าบูตขณะดำนา ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ควรสวมถุงมือยาง เมื่อต้องสัมผัสสัตว์ที่อาจมีเชื้อโรคนี้ เช่น ขณะรีดนม หรือทำคลอดให้สัตว์ นอกจากสวมถุงมือแล้ว ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด สวมแว่นตา ป้องกันของเหลวต่างๆ ไม่ให้เปื้อนร่างกาย โดยเฉพาะเยื่อบุอวัยวะต่างๆ เช่น ปาก จมูก ตา ผิวหนังที่เป็นแผล
หากต้องสัมผัสน้ำหรือแช่ในน้ำที่สงสัยว่ามีเชื้อโรคฉี่หนูนี้ หรือถูกของเหลว เช่น ปัสสาวะ เลือด จากสัตว์ที่สงสัยว่า มีเชื้อโรคฉี่หนู ควรรีบทำความสะอาดร่างกายโดยเร็ว และหลังจากนั้น ๖ - ๓๐ วัน ถ้ามีอาการไข้สูงร่วมกับอาการอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว และต้องแจ้งแพทย์ว่า ได้ทำอะไร หรือเดินทางไปไหนมาบ้าง เพราะอาจติดโรคจากแหล่งอื่น ที่ไม่ได้อยู่ประจำก็ได้ เช่น ไปเที่ยวในป่า หรือตามแหล่งน้ำต่างๆ แม้แต่ในน้ำพุก็อาจมีเชื้อโรคนี้ ปนเปื้อนอยู่ ดังที่เคยมีการระบาดของโรคฉี่หนูในประเทศอิตาลี เพราะดื่มน้ำพุ
คนเราอาจเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์ได้หลายโรค ส่วนมากมีอันตรายถึงชีวิตได้ถ้ารักษาไม่ทัน หรือรักษาไม่ถูกต้อง เช่น โรคพิษสุนัขบ้า มาลาเรีย กาฬโรค ไข้หวัดนก ไข้เลือดออก รวมทั้งโรคฉี่หนูซึ่งเป็นโรคที่มีอันตรายถึงชีวิต เช่นเดียวกับโรคที่กล่าวมาข้างต้น และยังเป็นโรคจากสัตว์เป็นพาหะที่เกิดบ่อยที่สุด โดยมีสัตว์ที่เป็นพาหะประมาณ ๑๖๐ ชนิด เพราะมีการติดต่อกันได้ระหว่างสัตว์ชนิดต่างๆ และจากสัตว์สู่คน แต่โดยทั่วไปไม่ติดต่อจากคนสู่คน ยกเว้นเชื้ออาจผ่านเข้าสู่ทารกในครรภ์ หรือทารกติดเชื้อจากการดูดน้ำนมมารดาที่เป็นโรคฉี่หนู
โรคฉี่หนูมีชื่อว่า เลปโทสไปโรซิส การติดต่อของโรคมี ๒ แบบ คือ
๑. การติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อก่อโรค ในปัสสาวะหรือสิ่งที่เป็นของเหลว ที่ออกจากร่างกายของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น เลือด น้ำลาย น้ำนม ซึ่งมีทั้งสัตว์กัดแทะและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม หรือถูกสัตว์ที่เป็นพาหะกัด
๒. การติดต่อโดยอ้อม จากการสัมผัสกับแหล่งน้ำ หรือดิน หรือโคลนที่เปียกชื้น ที่มีเชื้อจากปัสสาวะและของเหลวอื่นๆ ซึ่งมีเชื้อก่อโรคฉี่หนู เชื้อสามารถเข้าทางผิวหนัง เยื่อบุอวัยวะต่างๆ เช่น ตา จมูก ปาก รวมทั้งการรับประทานอาหารดิบ ที่ปนเปื้อนเชื้อ ดื่มหรือสำลักน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ
โรคฉี่หนูมีเชื้อโรคมากกว่า ๒๕๐ ชนิด บางสายพันธุ์ยังไม่พบรายงานว่าก่อให้เกิดโรคในคน บางสายพันธุ์ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกในวัวควาย บางสายพันธุ์ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกในหนูแฮมสเตอร์ สิ่งที่น่ากลัวคือ ผู้ได้รับเชื้อโรคฉี่หนูไม่ทราบว่า มีเชื้อโรคนี้ เข้าสู่ร่างกาย เพราะขณะเชื้อไชเข้าตามผิวหนังที่เป็นแผล หรือเยื่อบุจะไม่รู้สึกคัน หรือเจ็บปวด ไม่มีบาดแผลหรือรอยให้เห็น จึงควรระวังไม่ให้เชื้อก่อโรคเข้าสู่ร่างกาย หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ต้องไปดำนาในที่น้ำท่วม ควรสวมรองเท้าบูต หรือใช้ถุงพลาสติกหนาๆ สวมทับรองเท้า ถ้ามีอาชีพที่ต้องสัมผัสสัตว์ที่อาจเป็นพาหะ เช่น สัตวแพทย์ คนรีดนม คนเพาะเลี้ยงสัตว์ หรือแม้แต่ไปเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในช่วงที่มีโอกาสเป็นโรคนี้สูง เช่น เล่นน้ำในทะเลสาบหรือลำคลอง นอนในป่า แม้แต่การตะลุยป่า โดยใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ ต้องหาทางป้องกันโดยวิธีต่างๆ ระวังไม่ให้เป็นแผลตามผิวหนัง เพราะมีโอกาสที่เชื้อก่อโรคจะไชเข้าร่างกายสูงกว่าผิวหนังที่ไม่มีแผล ระวังไม่ให้ของเหลวที่มีเชื้อก่อโรคถูกเยื่อบุต่างๆ ใช้สิ่งป้องกันไม่ให้สัมผัสน้ำ ของเหลว หรือดินโคลนที่อาจมีเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ตา ปาก จมูก หู เช่น ใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด สวมรองเท้าบูต สวมถุงมือยาง ใส่แว่นตา ใส่หน้ากาก หรือพันผ้าที่ใบหน้า และลำคอ แม้แต่อยู่ในบ้านก็ระวังอย่าให้สัตว์เลี้ยงกัด หรือถูกของเหลวจากสัตว์ ถ้าสงสัยว่า สัตว์นั้นจะเป็นพาหะ ควรทำความสะอาดผิวหนังด้วยสบู่ทันทีที่สัมผัสของเหลวจากสัตว์เลี้ยง
เมื่อคนได้รับเชื้อโรคฉี่หนูแล้ว บางคนไม่แสดงอาการ บางคนมีอาการเล็กน้อยหายเองได้ บางคนมีอาการรุนแรง เช่น เป็นไข้เฉียบพลัน และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ตาแดง ต้องรีบพบแพทย์ เพราะเชื้อมีผลทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ รวมทั้งการทำงานผิดปกติของอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต ระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อหัวใจ และระบบการไหลเวียนของเลือด ระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ซึ่งต้องรักษาไปตามอาการ ผู้ที่มีอาการรุนแรง และรักษาไม่ทัน มักเสียชีวิตภายใน ๒๔ - ๗๒ ชั่วโมง สาเหตุการตาย คือ เลือดออกในปอด ไตวายเฉียบพลัน การล้มเหลวของอวัยวะหลายอย่าง ระบบการหายใจล้มเหลว การช็อกที่แก้ไขไม่ได้
โรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายกับโรคฉี่หนูคือ มีอาการไข้เฉียบพลัน เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออก ไข้เด็งกี่ ไข้รากสาด บางคนก็มีโรคหลายโรคร่วมด้วย จึงจำเป็นต้องบอกรายละเอียดของกิจกรรมต่างๆ ที่ทำในช่วงก่อนเกิดอาการให้แพทย์ทราบ เพื่อง่ายต่อการวินิจฉัย ในการวินิจฉัย แพทย์จะดูจากกลุ่มอาการและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ส่วนการรักษามีหลายอย่าง เช่น รับประทานยาฆ่าเชื้อ และรักษาตามอาการ อาทิ เมื่อมีไข้ ก็ให้ยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ และให้น้ำเกลือในปริมาณที่พอเหมาะ เมื่อมีภาวะแทรกซ้อนทางไต ก็งดอาหารโปรตีนสูง หรือหลีกเลี่ยงยาที่อาจเป็นพิษต่อตับถ้ามีภาวะแทรกซ้อนทางตับ
การป้องกันสำคัญมาก นอกจากการป้องกันด้านร่างกายโดยตรงตามที่กล่าวแล้ว ควรป้องกันการระบาด โดยกำจัดเชื้อหรือสัตว์ ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และแพร่เชื้อ เช่น กำจัดหนู แยกสัตว์ที่ติดเชื้อ ทำความสะอาดบริเวณที่มีสัตว์เลี้ยง มีสถานที่ระบายสิ่งปฏิกูล และทำลายเชื้อในการเลี้ยงปศุสัตว์ การสำรวจโรคในสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า รวมทั้งแหล่งน้ำ ดินทราย ฉีดวัคซีนในสัตว์ ใช้ยาปฏิชีวนะป้องกันโรคสำหรับผู้ที่ต้องสัมผัสสิ่งปนเปื้อนเชื้อเป็นครั้งคราว เช่น ทหารที่เข้าไปฝึกในป่า ผู้ที่เล่นน้ำในแหล่งน้ำที่สงสัยว่า ปนเปื้อนเชื้อ ผู้ที่ไปเที่ยวป่า ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อควรรีบพบแพทย์ เมื่อมีกลุ่มอาการ ที่น่าสงสัย
หากสงสัยว่าจะสัมผัสเชื้อโรคฉี่หนูไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ควรรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาด หากถูกสัตว์กัดและมีแผล ให้รีบทำความสะอาดผิวหนังรอบแผลด้วยแอลกอฮอล์ และล้างแผลด้วยน้ำเกลือ หรือน้ำสะอาด หรือน้ำประปา แล้วล้างตามด้วยน้ำยาระงับเชื้อที่ใช้ล้างแผล จากนั้นรีบไปพบแพทย์ แต่ถ้าไม่สามารถพบแพทย์ได้ การกินยาต้านจุลชีพกลุ่ม doxycycline หรือ amoxicillin ร่วมกับ clavulanic acid จะช่วยได้ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ที่จะได้รับเชื้อโรคฉี่หนู เช่น ทหารที่ต้องสัมผัสน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเป็นประจำ หรือในกรณีที่เกิดอุทกภัยและต้องลุยน้ำบ่อย ควรกินยาต้านจุลชีพสัปดาห์ละครั้ง จะลดอัตราการเกิดโรคได้ แต่การกินยานั้น บางคนอาจแพ้ยาได้ ซึ่งอาการแพ้มีต่างๆ กัน เช่น ผื่นคัน จนถึงหายใจไม่ออก และเสียชีวิตได้ จึงควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรว่า เคยแพ้ยาใดมาก่อน และหากรับประทานยาแล้ว มีอาการผิดปกติ ควรแจ้งแพทย์โดยด่วน