Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

บรรณาธิการ

Posted By Plookpedia | 30 มิ.ย. 60
3,134 Views

  Favorite

บรรณาธิการ

 

บุคคลสำคัญในการผลิตหนังสือทางด้านความคิด ได้แก่ ผู้เขียน หรือผู้ประพันธ์ ซึ่งเป็นผู้ที่ถอดความนึกคิดออกเป็นตัวหนังสือ ผู้ที่จะเป็นผู้เขียน หรือผู้ประพันธ์หนังสือได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ในเรื่องที่จะเขียน และมีความสามารถในการเขียน คุณสมบัติสองอย่างนี้ต้องอยู่ในคน ๆ เดียวกัน จึงจะเขียนหนังสือขึ้นมาได้ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้บางครั้ง ก็หาได้ยาก ที่จะอยู่ในบุคคลเดียว บางคนอาจมีความรอบรู้ในเรื่องราวบางเรื่องอย่างดียิ่ง แต่ไม่มีความสามารถที่จะประพันธ์เป็นหนังสือได้ คุณสมบัติในการเขียนเป็นเรื่องที่สามารถจะเล่าเรียน และฝึกฝนได้ ผู้สร้างหนังสือบางครั้ง ก็ต้องจัดให้ผู้เขียนกับผู้รู้ได้มาพบกัน และร่วมมือกันจัดเขียนเป็นหนังสือขึ้น หนังสือบางเรื่องจะต้องใช้ความรู้จากผู้รู้หลาย ๆ คน ร่วมกันเขียน หนังสือบางเล่มจะต้องใช้ผู้รวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง แล้วระดมผู้รู้ ผู้เขียน ร่วมมือช่วยกันเขียน การผลิตหนังสือทางด้านความคิด จึงได้มีการจัดขึ้นเป็นระบบการดำเนินการ มีผู้รับผิดชอบที่เรียกกันว่า บรรณาธิการ

การถ่ายทอดความคิดทางหนังสือนั้น นอกจากการเขียนด้วยตัวหนังสือแล้ว ก็อาจใช้ภาพ ถ่ายทอดความคิดให้เกิดความเข้าใจได้ดีกว่า บางครั้งควรต้องใช้ทั้งภาพและตัวหนังสือประกอบกันไป การสร้างภาพขึ้นมา มีวิธีทำได้หลายอย่าง อาจเป็นภาพวาด ซึ่งใช้บุคคลเป็นผู้วาดขึ้น ซึ่งเรียกว่า ผู้เขียนภาพ ภาพวาดมีวิธีวาดหลายแบบ เช่น วาดเป็นภาพ ลายเส้น ภาพการ์ตูน ภาพสีน้ำมัน ภาพวาด ด้วยพู่กันลม ในปัจจุบันอาจใช้คอมพิวเตอร์ วาดก็ได้ นอกจากภาพวาดแล้วอาจใช้ภาพถ่าย มาเป็นภาพประกอบในหนังสือ การถ่ายภาพ เพื่อนำมาใช้ประกอบในหนังสือมีเทคนิควิธี การสร้างภาพมากมายหลายแบบ ภาพที่นำ มาใช้พิมพ์นอกจากภาพขาวดำโดยทั่วไปแล้ว ยังสามารถนำสีมาใช้ประกอบกับภาพเพื่อเรียก ความสนใจจากผู้อ่านให้มากขึ้น สามารถสร้าง จินตนาการและความคิดของผู้อ่านได้กว้างไกล การสร้างภาพก็เป็นงานผลิตหนังสือทางด้าน ความคิด มีหน่วยงานเรียกว่าหน่วยศิลป์หรือ ฝ่ายศิลป์ ซึ่งมีบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ดูแลรับผิดชอบ การสร้างภาพประกอบในหนังสือแต่ละภาพ จะมีบุคคลที่ทำหน้าที่ศึกษาค้นคว้า และออกความเห็นว่า ควรมีภาพอะไร และมีลักษณะรายละเอียดอย่างใด เพื่อให้ช่างเขียน หรือช่างถ่ายภาพ ไปสร้างภาพขึ้นมา ตามแนวความคิดนั้น หรือมีบุคคลที่จะคัดเลือกบรรดาภาพที่มีอยู่มาพิมพ์ก็ได้ การนำเอาภาพและตัวหนังสือมารวมกันเป็นหน้า และจัดรูปหน้าหนังสือแต่ละ หน้าเข้าเป็นเล่ม ก็ต้องมีบุคคลที่จะรับผิดชอบ ดำเนินการ เรียกว่า ผู้ออกแบบเล่มหนังสือ (Book designer) ซึ่งเป็นงานที่รวมอยู่ในการผลิต หนังสือทางด้านความคิดเช่นกัน

 

 

การถ่ายภาพนิ่ง

 

 

การผลิตหนังสือทางด้านความคิด อาจเริ่มจากผู้ประพันธ์เป็นผู้ริเริ่มเขียน และจัดพิมพ์ออกจำหน่ายเอง ถือว่า ผู้ประพันธ์เป็นทั้งผู้จัดพิมพ์ และบรรณาธิการเอง บางครั้งผู้ประพันธ์ เมื่อประพันธ์เรื่องขึ้นมาแล้ว ก็นำไปเสนอให้สำนักพิมพ์พิจารณา สำนักพิมพ์ก็จะมีระบบในการพิจารณารับจัดพิมพ์หนังสือเรื่องต่าง ๆ ปกติจะมอบให้ผู้อ่านได้อ่านตรวจต้นฉบับที่ ผู้ประพันธ์เสนอมาโดยพิจารณาว่าเป็นหนังสือ น่าสนใจเพียงใด ตรงกับวัตถุประสงค์ และนโยบายของการจัดพิมพ์ของสำนักพิมพ์นั้น ๆ เพียงใด จะได้รับความสนใจจากผู้อ่าน ผู้ซื้อ มากน้อยเพียงใด ต้นฉบับหนึ่งอาจมีผู้อ่าน ๆ คนเดียว หรือหลายคนก็ได้ โดยสำนักพิมพ์จะรับฟังความคิดเห็นจากผู้อ่าน ก่อนรับจัดพิมพ์ ทั้งนี้ตามแต่ระบบที่สำนักพิมพ์แต่ละแห่งกำหนด บางครั้งผู้อ่านอาจแนะนำให้มีการปรับปรุงก่อน ที่จะให้สำนักพิมพ์รับจัดพิมพ์ แต่สำหรับผู้ประพันธ์ที่รู้จักกันทั่วไป หรือผู้จัดพิมพ์ให้ความเคารพเชื่อถืออยู่แล้ว ก็อาจรับจัดพิมพ์ได้เลย โดยไม่ต้องอ่านตรวจก่อนก็ได้

ในบางกรณีผู้จัดพิมพ์เป็นผู้ริเริ่มการผลิต โดยติดต่อขอเรื่องที่ผู้ประพันธ์ได้ประพันธ์ไว้ แล้วนำมาจัดพิมพ์ หรือขอให้ผู้ประพันธ์เขียนเรื่องขึ้นมา เพื่อจัดพิมพ์ การพิมพ์หนังสือบางประเภท ผู้จัดพิมพ์จะตั้งบรรณาธิการขึ้นทำหน้าที่สร้างต้นฉบับ เพื่อจัดพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์รายวัน บรรณาธิการจะต้องจัดให้มีผู้สื่อข่าวหาข่าวในด้านต่าง ๆ เป็นรายวัน เพื่อป้อนให้ทางกองบรรณาธิการ และจัดให้มีผู้คัดข่าว ผู้เขียนข่าว จัดหาบทความ และเรื่องราวประกอบ โดยให้เนื้อหาเป็นไปในแนวทางของการจัดทำหนังสือพิมพ์นั้น เพื่อให้มีต้นฉบับมาจัดพิมพ์ติดต่อกันได้ทุกวัน สำหรับหนังสือนิตยสาร ก็มีบรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบติดต่อกับผู้เขียน หรือผู้ประพันธ์ และรับเรื่องราวต่างๆ มาจัดพิมพ์ตามกำหนดระยะเวลา ให้นิตยสารนั้นออกวางจำหน่ายได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

โครงสร้าง และระบบการผลิตหนังสือ ทางความคิดของหนังสือประเภทใดควรจะเป็นอย่างใด ขึ้นอยู่กับลักษณะของหนังสือที่ผลิตว่า มีลักษณะใด หนังสือบางประเภท การผลิตเป็นการระดมเอาวิชาความรู้จากบุคคลเป็นจำนวนมาก ถอดความคิดจากแต่ละบุคคลมารวบรวม เขียนเป็นหนังสือขึ้น การจัดทำหนังสือลักษณะนั้น อาจทำเป็นระบบการตั้งคณะกรรมการทางวิชาการ ดำเนินการเขียน หรือจัดประชุม หารายละเอียดในเนื้อหาของเรื่อง หาข้อยุติ ทางปัญหาต่าง ๆ ในทางวิชาการ และมีคณะผู้เขียนทำหน้าที่เขียนเป็นหนังสือขึ้นมา

เมื่อผู้เขียนเขียนต้นฉบับหนังสือขึ้นมาแล้ว ก็มักจะพิมพ์ดีดให้เป็นต้นฉบับพิมพ์ดีดก่อน แล้วมีการตรวจทานแก้ไข ถ้ามีการแก้ไข หรือปรับปรุงใดๆ ก็จะต้องแก้ไขปรับปรุงให้เป็นต้นฉบับพิมพ์ดีด ที่เรียบร้อย พร้อมที่จะส่งไปเรียงพิมพ์ จะทำให้การเรียงพิมพ์ทำไปได้รวดเร็ว ไม่ผิดพลาด การส่งต้นฉบับที่ไม่เรียบร้อยไปโรงพิมพ์ ถ้ามีข้อผิดพลาด การแก้ไขการเรียงพิมพ์ย่อมเสียค่าใช้จ่ายสูง และเสียเวลามาก

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow