สาเหตุของโรคพาร์กินสัน
ในทางการแพทย์ เมื่อพบว่ามีผู้ป่วยคนใดที่มีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ อาการหลัก หรืออาจพบอาการต่างๆ เหล่านี้ร่วมกัน ได้แก่ อาการสั่นขณะอยู่นิ่งๆ อาการเกร็งกล้ามเนื้อ อาการเคลื่อนไหวช้า และอาการเสียการทรงตัว แพทย์จะให้การวินิจฉัยว่า เป็นกลุ่มอาการพาร์กินสัน จากนั้นจึงแยกว่า มีสาเหตุมาจากอะไร ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่คือ
๑. โรคพาร์กินสัน
หมายถึง ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ซึ่งพบมากที่สุดราวร้อยละ ๗๐ - ๘๐ ของผู้ป่วยทั้งหมด
๒. กลุ่มอาการพาร์กินสันที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ
หมายถึง ผู้ป่วยที่มีอาการแสดงของโรคพาร์กินสันที่เกิดจากการทำลายของเซลล์สมองที่สร้างสารโดปามีน และทราบสาเหตุที่แน่ชัด อันได้แก่
ก. ผลของยาต่างๆ ที่ผู้ป่วยได้รับ ได้แก่
ข. ผลของสารเคมีที่มีต่อสมอง เช่น สารแมงกานีส ยาบ้า คาร์บอนมอนอกไซด์ ไซยาไนด์ เมทานอล คาร์บอนไดซัลไฟด์ ทองแดง ไดซัลฟิแรม
ค. ภาวะหรือการกระทบกระเทือนต่อสมองบ่อยๆ เช่น โรคเมาหมัดในนักมวย
ง. ภาวะโพรงสมองโตชนิดที่มีความดันของสมองปกติ
จ. เกิดขึ้นตามหลังโรคไข้สมองอักเสบ
ฉ. การติดเชื้อต่อสมอง เช่น เชื้อรา เชื้อวัณโรค โรคเอดส์ ไวรัส โรคพรีออน
ช. โรคเนื้องอกของสมอง
ซ. โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันหลายๆ ตำแหน่ง
ฌ. ภาวะสมองขาดเลือด
๓. กลุ่มอาการพาร์กินสันที่เป็นอาการหนึ่งในโรคทางระบบประสาทชนิดอื่นๆ
หมายถึง ผู้ป่วยที่มีอาการแสดงของโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นอาการหนึ่งในโรคทางระบบประสาท กลุ่มที่มีการเสื่อมสลาย ของเซลล์ประสาท หรือเซลล์สมองหลายๆ ตำแหน่ง เช่น
ก. โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimeržs disease)
ข. โรคสมองน้อยและก้านสมองฝ่อ (Olivopontocerebellar atrophy)
ค. โรคฮันติงตัน (Huntingtonžs disease)
ง. โรคเลวีบอดี (Diffuse Lewy body disease)
จ. กลุ่มอาการชาย-เดรเกอร์ (Shy-Drager syndrome)
ฉ. กลุ่มอาการสตีล-ริชาร์ดสัน (Steel-Richardson syndrome)
ช. โรคที่มีการฝ่อหลายระบบของสมอง (Multiple system atrophy)