Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การใช้บริการสำหรับนิติบุคคล

Posted By Plookpedia | 08 มี.ค. 60
4,569 Views

  Favorite

การใช้บริการสำหรับนิติบุคคล

ธุรกรรมธนาคารที่นิติบุคคลหรือบริษัทต่างๆ กระทำขึ้น มักมีคนมากกว่า ๑ คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงินของบริษัท แต่ละคนมักมีบทบาทที่ต่างกัน บางคนอาจดูเพียงยอดบัญชี บางคนอาจเป็นพนักงานพิมพ์ข้อมูล เพื่อเตรียมเอกสารให้ผู้บริหารลงนาม ในการทำธุรกรรม และอาจมีผู้บริหารมากกว่า ๑ คน ที่จะอนุมัติการทำธุรกรรม ในนามของบริษัทได้ 

ดังนั้น การสมัครใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งในระดับนิติบุคคลจึงจำเป็นต้องมีการกรอกใบสมัคร มีการลงนามข้อตกลง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในด้านความรับผิดชอบของธนาคาร และความรับผิดชอบของบริษัท บริษัทหนึ่งๆ อาจมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งหลายคนได้ ดังนั้น การสมัครใช้บริการจึงต้องระบุรายชื่อบุคคลเหล่านี้ พร้อมกำหนดสิทธ ิในการทำธุรกรรมของแต่ละคน ที่แตกต่างกันไป 

ธุรกรรมของนิติบุคคลมีหลากหลาย ตัวอย่างธุรกรรมหลักๆที่ธนาคารให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต ได้แก่ 

การโอนเงินเพื่อจ่ายค่าสินค้าและค่าบริการ 

๑. การจ่ายภายในประเทศ

ถ้าเป็นการโอนจ่ายเงินในประเทศ เช่น การที่บริษัทผู้แทนจำหน่ายสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ผลิต ธนาคารสามารถอำนวยความสะดวก โดยให้บริการแก่บริษัทผู้ผลิต ในการจัดส่งใบเรียกเก็บเงินกับบริษัทผู้แทนจำหน่ายผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ส่วนบริษัทผู้แทนจำหน่าย ก็สามารถโอนเงินจากบัญชีของตน เข้าบัญชีบริษัทผู้ผลิตผ่านอินเทอร์เน็ตได้ โดยที่ผู้ทำธุรกรรมมักมีมากกว่า ๑ คน คนแรกอาจเป็นพนักงานที่ต้องมีรหัสประจำตัวและรหัสผ่านที่อนุญาตให้กรอกข้อมูลเตรียมพร้อมให้ผู้บริหารอนุมัติได้ ส่วนการจ่ายเงินจะเกิดขึ้น เมื่อผู้บริหารใช้รหัสประจำตัวและรหัสผ่านเข้ามาอนุมัติการโอนจ่ายเงินดังกล่าว

๒. การจ่ายให้ต่างประเทศ

ถ้าผู้ซื้อผู้ขายทำธุรกิจกันมานานจนไว้วางใจกัน ผู้ขายจะส่งสินค้ามาให้และผู้ซื้อก็จะจ่ายเงินให้ โดยไม่ต้องกังวลว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะคดโกง การจ่ายเงินค่าสินค้าและค่าบริการมี ๒ แบบหลักๆ ได้แก่

  • การซื้อดราฟต์ ดราฟต์เป็นเอกสารที่นำไปขึ้นเงินในต่างประเทศได้คล้ายๆ กับเช็ค บริการของอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งสามารถให้บริษัทสั่งซื้อดราฟต์ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ แล้วจึงส่งพนักงานไปรับดราฟต์ จากสาขาของธนาคารในภายหลัง เพื่อส่งให้แก่บริษัทคู่ค้าในต่างประเทศทางไปรษณีย์ต่อไป
  • การโอนเงินไปต่างประเทศ นอกจากต้องระบุว่าจะโอนจากบัญชีใดไปเข้าบัญชีของบริษัทใด ในธนาคารใด และในประเทศใดแล้ว ผู้โอนยังต้องส่งเอกสารชี้แจงเหตุผลของการโอนเงินตามกฎระเบียบ ของธนาคารแห่งประเทศไทยอีกด้วย ธนาคารจึงจะดำเนินการโอนให้ได้ ระบบการโอนเงินข้ามประเทศเรียกว่า สวิฟต์ (SWIFT)

หากบริษัทโอนจากบัญชีที่เป็นสกุลเงินบาท บริษัทจะมีโอกาสต่อรองอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ดีกว่าอัตรา ที่ธนาคารให้แก่บุคคลทั่วไป แต่หากบริษัทมีบัญชีเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ที่เป็นสกุลเดียวกับบัญชีของผู้รับ บริษัทจะสามารถโอนได้ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนนี้

 

ตัวอย่างดราฟต์ที่สั่งซื้อผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อจ่ายเป็นค่าสินค้าและบริการ

 

 

ธุรกรรมด้านการส่งออก  

การส่งออกเป็นการขายสินค้าให้ต่างประเทศ ในการทำธุรกรรมนี้มักเกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างคู่ค้าในหลายๆ กรณี เช่น ผู้ซื้อจะจ่ายเงินหรือไม่ หรือสินค้าที่ส่งให้จะมีคุณภาพและปริมาณตามที่ตกลงกันหรือไม่ ดังนั้น แทนที่ผู้ซื้อจากต่างประเทศจะส่งเงินให้แก่ผู้ขายโดยตรง ธนาคารของผู้ซื้อและธนาคารของผู้ขายมักเข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลาง ในการซื้อขาย 

 

ใบแอลซีผ่านระบบสวิฟต์


 

 

สำหรับวิธีการที่ผู้ซื้อจะสั่งซื้อสินค้าข้ามประเทศนั้น การสั่งสินค้ามักมาพร้อมกับจดหมายรับรองเครดิตของผู้ซื้อ (letter of credit) หรือที่เรียกกันว่า แอลซี (L/C)  อันเป็นเอกสารที่ใช้ยืนยันว่า ถ้าผู้ขายทำตามเงื่อนไข ที่ธนาคารซึ่งออกแอลซี (ธนาคารของผู้ซื้อ) กำหนดไว้ ธนาคารของผู้ซื้อจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ส่งออก เงื่อนไขดังกล่าวจะระบุชนิดของสินค้า ปริมาณสินค้า วิธีการส่งสินค้า กำหนดเวลาที่สินค้าต้องมาถึงผู้ซื้อ และวิธีการชำระเงิน แอลซีนี้จะถูกส่งผ่านระบบสวิฟต์จากธนาคารของผู้ซื้อ มายังธนาคารของผู้ขาย แต่หากผู้ขายใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ผู้ส่งออกจะสามารถรับแจ้งว่า ผู้ซื้อเปิดแอลซีส่งมาให้จากต่างประเทศ ผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งได้เป็นขั้นตอนแรก นอกจากนี้ผู้ขายยังสามารถนำแอลซีดังกล่าว ไปขอกู้เงินจากธนาคาร เพื่อจัดผลิตหรือจัดหาสินค้าที่จะส่งไปให้ลูกค้า 

ขั้นตอนต่อมา เมื่อผู้ขายส่งสินค้าออกตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในแอลซีแล้ว ผู้ขายสามารถนำแอลซีมาที่ธนาคารของตนเอง พร้อมกับเอกสารอื่นๆ ที่ระบุไว้ตามเงื่อนไขในแอลซี อาทิ ใบกำกับสินค้า แล้วนำมายื่นที่ธนาคารของตน เพื่อให้เรียกเก็บเงินจากธนาคารของผู้ซื้อต่อไป ต่อมา เมื่อผู้ขายได้รับเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อแล้ว ก็จะนำเงินดังกล่าวมาชำระคืน ที่กู้มาจากธนาคารได้

ธุรกรรมด้านการนำเข้า

การนำเข้า คือ การสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ผู้ซื้อสามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง เพื่อเปิดแอลซีที่จะส่งไปให้แก่ธนาคาร ของผู้ขาย ในต่างประเทศ โดยระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งจะส่งแอลซีผ่านระบบสวิฟต์ไปให้ธนาคารของผู้ขาย หากผู้ขายต้องการปรับแก้เงื่อนไขในแอลซี  ธนาคารของผู้ขายก็สามารถแจ้งกลับมา ผู้ซื้อจะสามารถแก้ไขแอลซี ผ่านบริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งได้ ก่อนส่งกลับไปให้พิจารณาอีกครั้ง

เมื่อตกลงเงื่อนไขในแอลซีได้แล้ว ผู้ซื้อก็จะรอรับสินค้าและเอกสารตามที่ระบุในแอลซี ธนาคารของผู้ขายจะส่งเอกสารและติดต่อ เรียกเก็บเงินมายังธนาคารของผู้ซื้อ ถ้าผู้ซื้อได้รับทั้งสินค้าและเอกสารแล้วตรวจสอบว่า ถูกต้อง ธนาคารของผู้ซื้อก็จะสั่งจ่ายเงิน ผ่านระบบสวิฟต์ไปยังธนาคารของผู้ขายต่อไป

วิธีการทำธุรกรรมนำเข้าและส่งออกที่กล่าวมานี้เป็นการอธิบายโดยสังเขปเท่านั้น ในกระบวนการปฏิบัติจริง จะมีรายละเอียดมากกว่านี้ การทำธุรกรรมนำเข้าและส่งออกผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งต้องอาศัยความพร้อมด้านเทคโนโลยี ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงธนาคารของผู้ซื้อ ธนาคารของผู้ขาย บริษัทขนส่ง บริษัทประกันภัย กรมศุลกากร หรือหน่วยราชการอื่นๆ รวมทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย 

นอกจากนี้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งยังต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลของการทำธุรกิจต่างประเทศผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow