เนื่องจากเนื้อหาสาระของเรื่องในจารึก จะผูกพันอยู่กับผู้สร้างจารึก ซึ่งส่วนใหญ่คือ กษัตริย์ ผู้นำ หรือหัวหน้าท้องถิ่น เรื่องราวที่บันทึก จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้ตัวผู้บันทึก จารึกเป็นการบอกกล่าวสิ่งที่ผู้สร้างจารึกได้กระทำขึ้น เป็นเรื่องเฉพาะส่วนบุคคล หรือกลุ่มชนกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งไม่อาจจะนับเป็นตัวแทนของสังคมในยุคสมัยนั้นได้ แต่สาระของเรื่องในจารึกก็น่าเชื่อถือ เพราะการกล่าวถึงนามบุคคล เช่น พระนามของกษัตริย์ ชื่อสถานที่ ชื่อเมือง ชื่อหมู่บ้าน หรือศักราช สิ่งเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงทั้งสิ้น เพราะบุคคลในสมัยนั้น ก็น่าจะได้มีส่วนรู้เห็นเหตุการณ์ หรือเรื่องราวที่จารึกด้วย จารึกเหล่านั้นสร้างขึ้นพร้อมเหตุการณ์ หรือในเวลาใกล้เคียงกับเหตุการณ์ เพื่อปักวางไว้ในที่สาธารณะให้ประชาชนได้รู้เห็นกันทั่ว เรื่องในจารึกเป็นความจริงตามทัศนะของผู้สร้างจารึกนั้น ๆ
เนื่องจากจารึกส่วนใหญ่สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะบันทึกกิจกรรมของตนทางศาสนา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพบูชา ดังนั้นจึงบันทึกเรื่องราวตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นด้วยความเสื่อมใสศรัทธา หรือเพราะความเกรงกลัวต่อความผิดหรือบาป อันจะทำให้เกิดความเดือดร้อนภายหลังก็ตาม อย่างไรก็ดีสาระของเรื่องในจารึกแต่ละยุคสมัย ย่อมเป็นไปตามความนิยมของสังคมในสมัยต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งมีทั้งแตกต่างกัน และเหมือนกันจำแนกได้ดังนี้
๑. เรื่องเกี่ยวกับหลักธรรมะ หรือหัวข้อธรรมะซึ่งเป็นหัวใจของศาสนา ทั้งพระพุทธศาสนา และลัทธิศาสนาฮินดู
เช่น จารึกเยธมฺมาฯ จังหวัดนครปฐม และจารึก หุบเขาช่องคอย จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น
๒. เรื่องกิจกรรมของกษัตริย์ ผู้นำ หรือหัวหน้าท้องถิ่น ในเรื่องต่าง ๆ เช่น
๒.๑ การสร้างเมือง สร้างรูปเคารพ และศาสนสถาน
เช่น เนื้อหาของเรื่องในจารึกบน ฐานพระพุทธรูปยืนวัดมหาธาตุ เมืองลพบุรี กล่าวถึงอธิบดีแห่งชาวเมืองตังคุระได้สร้าง พระพุทธรูปยืนนี้
๒.๒ การสร้างกฎหมาย ระเบียบการ ปกครองในสังคม
เช่น เนื้อหาของเรื่องในจารึก วัดตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวถึงพระราชโองการ ห้ามพวกข้าราชการ ที่ออกไปปฏิบัติงานตามชนบท จับกุมคุมขังชิงทรัพย์สินของชาวบ้าน
๒.๓ การเผยแพร่และทำนุบำรุงศาสนา
เช่น เนื้อหาของเรื่องในจารึกแผ่นทองแดงอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวถึง พระเจ้าศรีหรรษวรมัน โปรดฯ ให้ส่งสีวิกาพร้อมด้วยคนฟ้อนรำ และดนตรี เป็นทักษิณาถวายแด่พระศิวลึงค์ รูปสัญลักษณ์แทนองค์พระอิศวร
๒.๔ การเผยแพร่อำนาจการปกครอง
ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘ เป็นยุคสมัยที่อาณาจักรกัมพูชาได้ขยายอิทธิพลเข้ามาอยู่ในบางส่วนของพื้นที่ ซึ่งเป็นประเทศไทยปัจจุบัน จารึกส่วนใหญ่มีส่วนสัมพันธ์กับศาสนสถาน และบางครั้งจะพบว่า จารึกไว้ที่เสา ผนังข้าง ขอบประตู หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวอาคาร สาระของเรื่องในจารึกจะเน้นหนักไปในด้านการแสดงความยิ่งใหญ่ กำลัง และอำนาจของกษัตริย์หรือผู้นำชุมชน โดยมีส่วนสัมพันธ์กับศาสนา และประชาชน เช่น เรื่องในจารึกเมืองเสมา จังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงพระราชประวัติของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ และพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติ รวมทั้งการสร้างเทวรูป และพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก เพื่อถวายเป็นเครื่องสักการะแต่ศาสนสถาน
๒.๕ การสร้างสัมพันธภาพระหว่างรัฐ
สาระของเรื่องในจารึกจะกล่าวแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลระหว่างเมือง เช่น คำ สาบาน หรือคำสัญญา เช่น เนื้อความในจารึก วัดพระธาตุศรีสองรัก จังหวัดเลย เป็นการ ประกาศความสัมพันธ์ในฐานะมิตรประเทศ ระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ แห่งอาณาจักรศรีอยุธยากับพระไชยเชษฐาธิราช แห่งอาณาจักรศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) ซึ่งได้ร่วมกัน สร้างพระเจดีย์ศรีสองรักขึ้นเป็นสักขีพยานว่า กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงรักใคร่สนิทสนมกัน ดุจเดียวกับนามของพระเจดีย์นั้น
๓. เรื่องเกี่ยวกับการเผยแพร่ความรู้ ด้านต่างๆ เช่น
๓.๑ ตำรายา
กลุ่มจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งบันทึกเรื่องความรู้เกี่ยวกับตำรายารักษาโรคชนิดต่าง ๆ ตำรานวด และตำราฉันทลักษณ์ เป็นต้น
๓.๒ ดวงชะตา
จารึกบางชิ้นมีข้อความ ขึ้นต้นด้วยรูปดวงชะตา ส่วนใหญ่เป็นดวงชะตาของวัด หรือถาวรวัตถุที่ผู้สร้างจารึกเป็นผู้มีส่วนในการสร้างหรือปฏิสังขรณ์ โดยจะบอกวัน เดือน ปี เวลา ฤกษ์ ในการประกอบพิธีนั้น เช่น จารึกวัดใต้เทิง จังหวัดอุบลราชธานี ขึ้นต้นข้อความด้วยดวงชะตาวันเดือนปี สร้างถาวรวัตถุไว้กับพระพุทธศาสนา
๓.๓ การสอนอักขรวิธี
จารึกบางชิ้น บันทึกแบบอักษร และการสะกดคำ มีลักษณะเป็นแบบเรียนหนังสือชั้นต้น เช่น จารึกวัด ตระพังนาค จังหวัดสุโขทัย และจารึกแม่อักษร ขอมขุดปรอท พระราชนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐสุริยวงศ์
๓.๔ การติดต่อสื่อสาร
จารึกที่บันทึกเรื่องราว เพื่อการติดต่อสื่อสารในลักษณะจดหมาย โต้ตอบ เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ เช่น จารึกพระราชสาส์นสุพรรณบัฏ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไปยังพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ แห่งประเทศฝรั่งเศส