ความประสงค์ในการสร้างจารึก แม้จะมิได้ตั้งใจบันทึกเหตุการณ์สำคัญของสังคม หรือเรื่องราวของบ้านเมือง ซึ่งเป็นเนื้อหาสาระที่นักประวัติศาสตร์ต้องการ แต่จารึกเป็นเอกสารที่บันทึกเรื่องราวตามความเป็นจริง โดยนักประวัติศาสตร์ ไม่อาจปฏิเสธว่า จารึกเป็นหลักฐานข้อมูลข้างต้น ที่ใช้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของสังคมในอดีตได้ โดยเลือกศึกษาเนื้อหาบางส่วนตามเป้าหมายที่ต้องการ ทั้งนี้เพราะผู้สร้างจารึกมีวัตถุประสงค์ในการสร้าง ไม่จำกัดเรื่องราวที่จะบันทึก เพียงแต่เน้นเฉพาะกิจกรรมส่วนบุคคลเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงสรุปได้ว่า การสร้างจารึกมีวัตถุประสงค์ดังนี้คือ
๑. เพื่อเป็นกิตติกรรมประกาศ
เช่น จารึก ปากน้ำมูล จังหวัดอุบลราชาธานี เนื้อความในจารึกกล่าวถึง พระเจ้าจิตรเสน ทรงสร้างรูปเคารพไว้ในสถานที่ต่าง ๆ ตามคตินิยมของลัทธิไศวนิกาย เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะของพระองค์ ภายหลังเมื่อเสวยราชย์แล้วได้เฉลิมพระนามว่า พระเจ้ามเหนทรวรมัน
๒. เพื่อให้ความรู้ทางศาสนาและสอนธรรม
เช่น จารึกวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย เนื้อความในจารึกกล่าวถึงประวัติส่วนตัวของสมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธา เมื่อยังเป็นฆราวาสทรงเป็นผู้มีความสามารถสูงส่ง ด้วยศิลปวิทยาการต่าง ๆ ต่อมาทรงเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงออกผนวช ได้บำเพ็ญกุศลสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ไว้กับพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก
๓. เพื่อบันทึกประวัติเรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ
เช่น จารึกสต๊กก๊อกธม จังหวัดปราจีนบุรี เนื้อความในจารึกกล่าวถึง พระเจ้าอาทิตยวรมันที่ ๒ ทรงปฏิสังขรณ์ปราสาทสต๊กก๊อกธมแห่งนี้ ทั้งยังได้บันทึกประวัติการสืบสายสกุลของพราหมณ์ปุโรหิต ประจำราชสำนักกษัตริย์กัมพูชาไว้ด้วย