Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประวัติการศึกษาจารึกในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 30 มิ.ย. 60
1,898 Views

  Favorite

ประวัติการศึกษาจารึกในประเทศไทย 

 

ประเทศไทยเริ่มรู้จัก และให้ความสนใจจารึก เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยที่ยังดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ขณะทรงผนวชอยู่ในปีพุทธศักราช ๒๓๓๖ ได้เสด็จจาริกธุดงค์ไปยังหัวเมืองมณฑลฝ่ายเหนือของประเทศไทย เสด็จถึงเมืองสุโขทัย ทรงพบศิลาจารึก ๒ หลัก คือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ภาษาไทย และศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร พร้อมด้วยพระแท่นศิลาบาตร ที่บริเวณเนินปราสาท ในวัดมหาธาตุ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า เป็นโบราณวัตถุสำคัญ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำลงมาที่กรุงเทพฯ และทรงเป็นพระองค์แรก ที่ทำให้คนไทยเห็นคุณประโยชน์ของจารึก และทรงเป็นนักอ่านจารึกพระองค์แรก ของประเทศไทยอีกด้วย 

 

รัชกาลที่ ๔ ทรงเป็นพระองค์แรกที่ทำให้คนไทยเห็นคุณประโยชน์ของจารึกและทรงเป็นนักอ่านจารึกพระองค์แรกของประเทศไทย

 

นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงเป็นพระองค์แรกที่เริ่มอ่าน และศึกษาศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นครั้งแรก และทรงพยายามอ่าน จนได้ความตลอดสำเร็จ ในปีพุทธศักราช  ๒๓๗๙ เนื้อหาของเรื่องในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง กล่าวถึงพระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งอาณาจักรสุโขทัย พร้อมทั้งพระราชกรณียกิจ
และพระปรีชาสามารถของพ่อขุนรามคำแหง ที่ได้ทรงคิดประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้น เมื่อ พุทธศักราช ๑๘๒๖ ซึ่งเป็นรูปอักษรไทยแบบแรก ที่ได้วิวัฒนาการมาเป็นอักษรไทย และใช้เป็นอักษรประจำชาติสืบมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นความในจารึกยังกล่าวถึงสภาพบ้านเมือง ขนบธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งความเจริญของพระพุทธศาสนา ในอาณาจักรสุโขทัยอีกด้วย

 

ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยอ่านและศึกษาศิลาจารึกนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ก็ทรงเป็นแม่กองควบคุมคณะนักปราชญ์ราชบัณฑิต คัดลอกอักษรจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงด้วย 

 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นแม่กองควบคุมคณะนักปราชญ์ราชบัณฑิตคัดลอกอักษรจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง


 

ในปีพุทธศักราช ๒๓๙๘ เซอร์ จอห์น บาวริง (Sir John Bowring) ราชทูตอังกฤษ ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานสำเนา คัดอักษรพิมพ์หิน พร้อมด้วยลายหัตถ์คำแปล เป็นภาษาอังกฤษบางคำให้แก่ เซอร์ จอห์น บาวริง ซึ่งในปีพุทธศักราช ๒๔๐๐ เซอร์ จอห์น บาวริง ก็ได้นำตัวอย่างสำเนาจารึกที่ได้รับพระราชทานนั้น พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในหนังสือ The Kingdom and people of Siam นอกจากนี้ยังได้พระราชทานสำเนาจารึกให้แก่ราชทูตฝรั่งเศสอีกชุดหนึ่งด้วย

 

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๐๖ นาย อดอล์ฟ บาสเตียน (Adolf Bastian) ชาวเยอรมัน เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ และได้แปลจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นภาษาอังกฤษ และได้พิมพ์ เผยแพร่ในวารสารชื่อ Journal of the Royal Asiatic Society of Bengal ใช้ชื่อเรื่องว่า On some Siamese Inscriptions 
 

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ประมาณระหว่างพุทธศักราช ๒๔๒๕ - ๒๔๒๘ นายพันตรี เอโมนิเอ (Aymonier) ชาวฝรั่งเศส ผู้สำเร็จราชการ กรุงกัมพูชา ได้เที่ยวตรวจหาจารึกของกัมพูชา และได้พบจารึกของไทยโดยบังเอิญ จึงรวบรวมไว้ด้วย เช่น จารึกศาลเจ้าเมืองลพบุรี พบที่จังหวัดลพบุรี เป็นต้น นับว่าเป็นชาวยุโรปคนแรก ที่เสาะหา รวบรวมจารึก และได้คัดลอกทำสำเนาจารึกที่รวบรวมได้ ส่งไปเก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของจารึกในการให้ความรู้ เกี่ยวกับเรื่องราวของบ้านเมืองในอดีต และทรงเกรงว่า จะถูกทำลาย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ และข้าหลวงมณฑลต่าง ๆ แสวงหารวบรวมจารึก เก็บไว้ในพระนคร 

 

ต่อมา นายออกูสท์ ปาวี (Auguste Pavie) ชาวฝรั่งเศส ได้เป็นผู้รวบรวมจารึกของไทย โดยได้คัดลอกทำสำเนาจารึกที่เก็บรักษาอยู่ในกรุงเทพฯ รวมทั้งจารึกที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และหลวงพระบาง จำนวน ๓๑ หลัก และได้มอบสำเนาจารึกที่คัดลอกนั้นให้แก่ บาทหลวง สมิธ (Pere Schmitt) ที่เมืองฉะเชิงเทรา แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส นับเป็นชาวยุโรปคนแรก ที่อ่านแปลจารึกของไทย พิมพ์เผยแพร่ ในหนังสือ Mission Pavie, Indo - China 1879 - 1895 ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๓๔ นายฟูร์เนอโร (fournereau) ช่างเขียนชาวฝรั่งเศส ได้ นำสำเนาจารึก ๑๖ หลักไปพิมพ์ในหนังสือ Le Siam ancient ในปีพุทธศักราช ๒๔๓๘ (ค.ศ. ๑๘๙๕)

 

ขั้นตอนการทำสำเนาจารึกบนแผ่นศิลา :๑. ทำความสะอาดหลักศิลาจารึกด้วยน้ำ
๒. วางกระดาษทำสำเนา ฉีดน้ำให้เปียก และใช้แปรงตบให้เนื้อกระดาษฝังจมไปตามรูปลายเส้นอักษร

 

๓. เมื่อกระดาษแห้งพอหมาดแล้ว ใช้ลูกประคบชุบหมึกจีนตบเบา ๆ
๔. รูปอักษรจะปรากฏบนแผ่นกระดาษที่ทำสำเนา

 

 

ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ มีชาวต่างประเทศที่สนใจค้นหาจารึกในประเทศไทยรวม ๒ คน คือ พันตรี ลูเนต์ เดอ ลายงเกียร์ (Commt. Lunet de Lajonquiere) ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้เอาใจใส่ค้นหาจารึก และได้พบจารึกสำคัญๆ หลายหลัก ทำสำเนาคัดลอกส่งไปยุโรป และพันตำรวจตรี ไซเดนฟาเดน (Commt. E. Seiden- faden) ชาวเดนมาร์ก เป็นผู้เอาใจใส่ค้นหาของโบราณ ในเขตภาคอีสาน ได้พบโบราณสถาน และโบราณวัตถุจำนวนมาก 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระยุพราช ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๑ ได้เสด็จไปจังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย และสวรรคโลก ทรงค้นหาสถานที่ต่าง ๆ โดยสอบกับข้อความในจารึก พบที่จังหวัดสุโขทัย พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์ เรื่อง เที่ยวเมืองพระร่วง
 

ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๒ โปรเฟสเซอร์ คอร์นีเลียส บีช แบรดเลย์ (Cornelius Beach Bradley) ชาวอเมริกัน ได้ชำระ และพิมพ์คำแปล จารึกพ่อขุนรามคำแหง ในหนังสือThe Oldest Known Writing in Siamese 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องราวทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ ทรงเห็นความสำคัญของจารึก ในด้านที่เป็นแหล่งข้อมูลเรื่องราวในอดีต เมื่อเสวยราชย์แล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมจารึกจากที่ต่างๆ มารวมไว้ ณ หอพระสมุดสำหรับพระนคร ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการสำรวจ และรวบรวมจารึกครั้งนั้นคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้น ทรงเป็นสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร ทรงขวนขวายแสวงหาจารึกจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร ได้ทรงศึกษาวิธีทำสำเนา จารึก และให้เขียนคำแนะนำวิธีทำสำเนาจารึกแจกไปตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อให้ช่วยทำสำเนาจารึก ส่งมาไว้ที่หอพระสมุดฯ ทำให้รวบรวมจารึกได้เป็นจำนวนมาก ศิลาจารึกใดที่ยังไม่อาจเคลื่อนย้ายมาได้ ก็ให้ทำบัญชีไว้ว่า จารึกหลักใด เก็บอยู่ที่ไหนบ้าง มีรายละเอียดเกี่ยวกับจารึกบอกไว้ด้วย จารึกที่รวบรวมได้ในครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบรรณารักษ์ใหญ่ประจำ หอพระสมุดวชิรญาณขณะนั้นอ่านและอธิบาย ความหมายข้อความในจารึกต่างๆ ที่รวบรวมมาไว้ และจัดพิมพ์คำอ่านจารึกขึ้น เป็นหนังสือชุด เรียกว่า ประชุมศิลาจารึก

 

นับตั้งแต่มีการจัดพิมพ์หนังสือประชุม ศิลาจารึกภาคที่ ๑ ครั้งแรก เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๗ ก็ได้มีการพิมพ์หนังสือประชุมศิลาจารึกอีกหลายครั้ง เนื่องจากมีผู้สนใจศึกษาจารึกเพิ่มขึ้น และได้มีการค้นคว้าหาหลักฐานใหม่ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาถ้อยคำ และข้อความ ในจารึกมากขึ้นโดยลำดับ จนถึงปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ วิชาการอ่านจารึกก็ได้จัดเข้าไว้ในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จนถึงปัจจุบัน 

 

การศึกษาจารึกในประเทศไทย เป็นที่เอาใจใส่สนใจในหมู่นักการศึกษาของชาติทุกระดับชั้น จะเห็นได้ว่า นับจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา และพระบรมวงศานุวงศ์แล้ว ในปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ทรงสนพระราชหฤทัยในวิชาการอ่านจารึกอย่างมาก เห็นได้จากวิทยานิพนธ์ที่ทรงพระราชนิพนธ์ เพื่อรับพระราชทานปริญญามหาบัณฑิตในสาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร คือเรื่อง จารึกพบที่ปราสาทหินพนมรุ้ง นอกจากนั้นประชาชนทั่วไป ทั้งคนไทย และชาวต่างประเทศ ต่างก็ให้ความสนใจเอาใจใส่มาโดยตลอด

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow