Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีบันทึกลายลักษณ์อักษรลงในจารึก

Posted By Plookpedia | 30 มิ.ย. 60
1,379 Views

  Favorite

วิธีบันทึกลายลักษณ์อักษรลงในจารึก 

 

วัตถุที่ใช้ทำจารึกมีหลายชนิด แต่มีลักษณะร่วมกันคือ แข็งแรง คงทนถาวร ฉะนั้นการบันทึกลายลักษณ์อักษรลงบนจารึก จึงต้องใช้เครื่องมือต่างกันไปตามชนิดของวัตถุที่นำมาใช้ทำจารึก แต่เครื่องมือนั้นต้องมีส่วนที่เหมือนกันประการหนึ่งคือ ความแข็งแรง และแหลมคม ในขณะจารึก การจารึกลายลักษณ์อักษรมีวิธีการดังนี้ 

 

๑. จารึกด้วยเหล็กสกัด 

ในสมัยแรก ๆ อุปกรณ์การสร้างงานจารึกทำขึ้นอย่างง่าย ๆ ไม่มีรูปแบบแน่นอน แต่วัตถุที่ใช้ทำจารึกส่วนใหญ่ใช้ศิลาเนื้อแข็งมาก ๆ ได้แก่ หินดินดาน หินทราย เป็นต้น เมื่อตัดแท่งศิลาให้ได้รูปร่างตามต้องการแล้ว ต้องขัดพื้นผิวหน้าให้เรียบ แล้วใช้เหล็กสกัด ที่มีปลายแบนและแหลมคม เป็นเครี่องมือตอกสกัดลงไปในเนื้อศิลา ให้เป็นรูปลายลักษณ์อักษร การจารึกอักษรอย่างนี้ทำได้ ๒ วิธี คือ 

๑.๑ จารึกโดยร่างข้อความไว้ก่อน จารึก โดยก่อนจารึกอักษร ต้องร่างข้อความที่จะจารึกบนแผ่นศิลาไว้ก่อน แล้วจึงสกัดด้วยเหล็ก ให้เป็นร่องลึกลงไปในเนื้อศิลา ให้เป็นรูปลายลักษณ์อักษร การจารึกด้วยวิธีนี้มีข้อสังเกตว่า บางส่วนของเส้นอักษรจะสูงเกินแนวเส้นบรรทัด ล้ำขึ้นไปถึงบรรทัดที่อยู่ตอนบน ซึ่งได้เว้นที่เป็นช่องว่างไว้ ไม่ให้เส้นอักษรจากบรรทัดล่างทับเส้นอักษรบรรทัดบน

 

 

ลายลักษณ์อักษรที่สกัดเป็นร่องลึกลงในเนื้อศิลา ในภาพเป็นรูปอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต

 

๑.๒ จารึกโดยไม่ร่างข้อความไว้ก่อน โดยใช้เหล็กสกัดตอกลงไปในเนื้อศิลาให้เป็นรูป ลายลักษณ์อักษรทันที การจารึกด้วยวิธีนี้มีข้อสังเกตได้ว่า บางส่วนของเส้นอักษรที่ยาวเลยเส้นบรรทัด ล้ำลงไปถึงบรรทัดที่อยู่ตอนล่างนั้น จะเว้นที่เป็นช่องว่างไว้ และถ้าไม่ยาวลงมามากนัก ก็จะเปลี่ยนตำแหน่งการวางรูปอักษร หรือลดขนาดตัวอักษรลง ให้อยู่ในระดับที่พอดีกับเส้นบรรทัด 

 

การจารึกโดยไม่ได้ร่างข้อความไว้ก่อน บางส่วนเส้นอักษรยาวเลยเส้นบรรทัดล้ำถึงบรรทัดล่าง

 

 

๒. จารึกด้วยเหล็กจาร 

กลุ่มจารึกทำจากวัตถุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ศิลา เช่น จารึกที่ทำจากไม้และโลหะชนิดต่างๆ เนื้อวัตถุไม่แข็งมาก และบางกว่าศิลา การบันทึกลายลักษณ์อักษร จึงไม่ใช้วิธีสกัด แต่จะใช้เหล็กที่มีปลายแหลมคม เรียกว่า เหล็กจาร เขียนลายลักษณ์อักษรลงบนแผ่นวัตถุนั้นทันที เช่น จารึกลานทอง จารึกพระพิมพ์ดินเผา เป็นต้น

 

จารึกบนแผ่นดินเผา ไม่ใช้เหล็กสกัดหรือเหล็กจารแต่ใช้วิธีเขียน


 

๓. จารึกด้วยวิธีอื่น ๆ 

เป็นการจารึกลายลักษณ์อักษรด้วยวิธีอื่น โดยไม่ใช้เหล็กสกัด และเหล็กจาร แต่บันทึกลายลักษณ์อักษร ด้วยวิธีเขียนหรือชุปลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏอยู่บนวัตถุ ได้แก่ ไม้ ดินเผา ฝาผนังพระอุโบสถ เป็นต้น จารึกเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่กับงานจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ ตู้ลายรดน้ำเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น ซึ่งอนุโลมเรียกว่า จารึก หรืออักษรจารึก เช่นเดียวกัน
 

 

การวางรูปอักษรในจารึก 

จะเริ่มต้นจาก ซ้ายไปขวา และเรียงตามลำดับจากข้างบนลงมา ข้างล่าง นอกจากนั้นยังพบว่า มีการตีเส้นบรรทัด เป็นแนววางตัวอักษร สมัยแรกวางตัวอักษรใต้เส้นบรรทัดมาตลอด ตัวอย่างเช่น จารึกเจดีย์ วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ปรากฏเส้นบรรทัด ขีดลึกลงไปในเนื้อศิลา เป็นแนวทุกบรรทัด ความนิยมในการเขียนอักษรใต้เส้นบรรทัดมีอยู่ตลอดมา จนถึงปลายรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อรูปแบบการเขียนอักษรโรมันของชาวยุโรป ได้เข้ามาแพร่หลายในประเทศ การเขียนอักษรบนเส้นบรรทัด ตามแบบอย่างอักษรโรมัน จึงได้เริ่มมีขึ้น และเป็นที่นิยมเรื่อยมา จนถึงปลายรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การเขียน อักษรใต้เส้นบรรทัดก็หมดไป ปัจจุบัน คนไทยไม่ใช้วิธีการเขียนอักษรใต้เส้นบรรทัด อย่างเดิมอีกแล้ว

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow