Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ศิลาจารึก

Posted By Plookpedia | 30 มิ.ย. 60
27,737 Views

  Favorite

ศิลาจารึก

 

เด็ก ๆ เคยเข้าไปในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไหม ถ้าเข้าไปเด็ก ๆ คงจะเคยเห็นแท่งหินสีเทา ๆ
รูปร่างเหมือนเสาสี่เหลี่ยม ปลายโค้งมน เหมือนดินสอทื่อๆ มีรอยสลักแปลกๆ อยู่ทั้ง ๔ ด้าน


เด็ก ๆ ทราบไหมว่า แท่งหินนั้นคืออะไร ก็ศิลาจารึกอย่างไรล่ะ ศิลา แปลว่า หิน จารึก แปลว่า ขีด เขียน หรือสลักด้วยวัตถุแหลมคม ศิลาจารึก จึงแปลว่า แท่งหิน ที่มีรอยขีดเขียน สลัก ลายเส้น หรืออักษร หรือรูปภาพ ด้วยวัตถุแหลมคม

 

 

 

ในสมัยโบราณไม่มีกระดาษมาทำสมุดหรือหนังสืออย่างเดี๋ยวนี้ คนโบราณจึงต้องจารึกข้อความที่ต้องการจะสื่อความหมาย ลงไปบนศิลาหรือหิน เพื่อจะได้เก็บสิ่งที่เขียนไว้ให้อยู่ได้นาน ๆ สิ่งที่จารึกนั้นอาจจะเป็นภาพคน สัตว์ ต้นไม้ บ้านเรือน หรือลานเส้น ที่บอกให้รู้เหตุการณ์ต่าง ๆ แทนตัวหนังสือ บางครั้งก็สลักเป็นอักษรโบราณเล่าเรื่องที่ต้องการถ่ายทอดสู่ผู้อื่น หรือคนรุ่นหลัง

 

 


เราถือว่า ศิลาจารึกเป็นเอกสารโบราณอย่างหนึ่ง ที่คนโบราณสร้างขึ้น เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว
ด้วยลายเส้นหรือภาพเป็นสื่อแทนคำบอกเล่า ทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ในช่วงเวลาที่มีการจารึกศิลานั้น ๆ เช่น ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในสมัยสุโขทัย เป็นเมืองหลวง
ที่ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นต้น 

วิธีจารึก ก็คือ การใช้เหล็กแหลมตอกสลักให้เป็นร่องลึก ลงไปในเนื้อวัตถุ เหล็กที่ใช้จารึก เรียกว่า เหล็กสกัด หรือเหล็กจาร หรืออาจจะเป็นอย่างอื่น ที่มีลักษณะแข็งและคม เนื่องจากเป็นการจารึก บนแผ่นหรือแท่งศิลา เราจึงเรียกว่า ศิลาจารึก

 

---------------------------------------------------------------------------------

 

หนังสือที่ใช้อ่านศึกษาเล่าเรียนอยู่ทั่วไปในปัจจุบันทำด้วยกระดาษเป็นส่วนใหญ่ แต่กระดาษเป็นวัตถุที่ไม่มีความคงทนถาวร มักจะชำรุดฉีกขาดได้ง่าย เมื่อผู้เขียนหนังสือต้องการจะบันทึกเรื่องราวไว้ให้คงอยู่นาน ๆ จำเป็นต้องเขียนบนวัตถุ ที่มีความแข็งแรงคงทนถาวร เช่น แผ่นศิลา แผ่นไม้ ดินเผา หรือโลหะชนิดต่าง ๆ ได้แก่ แผ่นเงิน แผ่นทอง เป็นต้น

 

แผ่นที่ใช้จารึกนั้นมีรูปทรง และขนาดหลากหลายแตกต่างกัน ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ ความรู้ และความชำนาญของผู้สร้างศิลาจารึก บางชิ้นมีรอยชำรุด ร้าว แตก หรือหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ตามกาลเวลาที่ผ่านไป แต่นักโบราณคดีก็สามารถศึกษา และคาดเดาจากหลักฐานประกอบ และข้อมูลอื่น ๆ ได้ว่า แผ่นศิลาจารึกแต่ละแผ่นนั้น มีประวัติยาวนานเพียงใด

 

ศิลาจารึกบางชิ้นได้ถูกเปลี่ยนรูปทรงจนแทบจะไม่เหลือเค้าเดิม ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนในสมัยหลัง ที่นำศิลาจารึกนั้นมาใช้ในโอกาสอื่น เช่น นำมาสักการะบูชา ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และปิดทอง จนบดบังรูปเดิมเสียหมด หรือนำมาใช้ประโยชน์บางอย่าง เช่น ทำเป็นหินลับมีด หรือนำไปตกแต่งสถานที่บางแห่ง ทำให้คนรุ่นหลัง ๆ ต่อมา เข้าใจคลาดเคลื่อน ถึงที่มาอันแท้จริงของศิลาจารึกนั้น

 

วัตถุที่ใช้เป็นจารึกมีหลายชนิดดังได้กล่าวมาแล้ว แต่จะมีลักษณะตรงกัน คือ แข็งแรง คงทน และถาวร ส่วนเครื่องมือที่ใช้จารึก ก็จะแตกต่างกันไปตามลักษณะของวัตถุจารึก จึงแบ่งวิธีการจารึกออกเป็น ๓ แบบ ดังนี้

 

๑. จารึกด้วยเหล็กสกัด 

การจารึกแบบนี้จะทำบนแผ่นหรือแท่งหินเนื้อแข็ง เช่น หินดินดาน หรือหินทราย เมื่อตัดหินได้รูปทรงตามที่ต้องการแล้ว ก็จะขัดผิวหน้าด้านที่จะจารึกจนเรียบ แล้วลงมือจารึกสิ่งที่ต้องการสื่อความหมาย โดยการสลักให้เป็นรูปรอย หรือลายลักษณ์อักษรลงไป ด้วยเหล็กที่มีปลายแบนและคม
เรียกว่า เหล็กสกัด เช่นที่ปรากฎในศิลาจารึก

 

อุปกรณ์ที่ใช้ในการสกัดหิน 

 

๒. จารึกด้วยเหล็กจาร 

การจารึกแบบนี้จะใช้วัตถุอื่นที่ไม่ใช่หิน เช่น อาจจะเป็นไม้ หรือโลหะชนิดต่าง ๆ เนื้อวัตถุไม่แข็งมากอย่างหิน และบางกว่า เครื่องมือที่ใช้จารึกจะเป็นเหล็กแท่งกลมปลายแหลมคม เรียกว่า เหล็กจาร

 

อุปกรณ์ที่ใช้จารึก เช่น เหล็กจาร

 

๓. จารึกด้วยวิธีอื่น ๆ

เอกสารที่บันทึกลายลักษณ์อักษรบนแผ่นไม้ และแผ่นโลหะเหล่านี้ บางครั้งพบว่า มิได้จารึกด้วยเหล็กจาร แต่ใช้วิธีเขียนหรือชุบด้วยสีหรือหมึก ด้วยการใช้พู่กัน หรือปากกาจุ่มสีหรือหมึกเขียนตัวอักษร เอกสารดังกล่าวนี้เรียกว่า จารึกเช่นเดียวกัน ดังปรากฏบนฝาผนังพระอุโบสถ ตู้ลายรดน้ำ หรือเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น

 

จารึกบนแผ่นดินเผา ซึ่งเนื้อวัตถุจะไม่แข็งมากอย่างหินและบางกว่า

 

การวางรูปอักษรในจารึก จะเริ่มต้นจากซ้ายไปขวา และเรียงตามลำดับจากข้างบนลงมาข้างล่าง บางทียังพบว่า มีการตีเส้นบรรทัดเป็นแนววางตัวอักษร สมัยแรกการวางตัวอักษรจะอยู่ใต้เส้นบรรทัด เช่น จารึกเจดีย์วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย จะปรากฏเส้นบรรทัด เป็นรอยขีดลึกลงไปในเนื้อศิลาเป็นแนวทุกบรรทัด ความนิยมเขียนอักษรใต้เส้นบรรทัด มีหลักฐานปรากฏอยู่ตลอดมา จนถึงปลายรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อรูปแบบการเขียนอักษรโรมัน ของชาวยุโรปเข้ามาแพร่หลายในประเทศ การเขียนอักษรบนเส้นบรรทัด ตามแบบอักษรโรมัน จึงเริ่มมีขึ้น และเป็นที่นิยมเรื่อยมา จนถึงปลายรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การเขียนอักษรใต้เส้นบรรทัดก็หมดไป ปัจจุบันนี้เราจึงเห็นแต่การเขียนอักษรบนเส้นบรรทัดเท่านั้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow