Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก

Posted By Plookpedia | 30 มิ.ย. 60
8,266 Views

  Favorite

ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก

      ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๕๔ ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พ.ศ. ๒๐๓๔-๒๐๗๒) แห่งกรุงศรีอยุธยา โปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา วัฒนธรรมสำคัญที่พ่อค้าโปรตุเกสนำเข้ามาเผยแพร่ คือ คริสต์ศาสนา รัฐบาลไทยได้เปิดรับวัฒนธรรมของชาติตะวันตกและให้เสรีภาพในการนับถือและเผยแผ่ศาสนาแก่ชาวต่างประเทศอนุญาตให้สร้างโบสถ์คริสต์และมีบาทหลวงคาทอลิกคณะต่าง ๆ เช่น โดมินิกันและฟรานซิสกันเดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาแก่ชาวพื้นเมือง เช่น ไทย ลาว มอญ ญวน จีน ฯลฯ แต่ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธและไม่สนใจเรื่องศาสนาอื่น  ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกได้เจริญสูงสุด คณะบาทหลวงฝรั่งเศสนิกายเจซูอิตเข้ามามีบทบาทด้านการเผยแผ่ศาสนาและชักชวนให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส เปิดสัมพันธไมตรีกับไทย คณะบาทหลวงฝรั่งเศสได้นำศิลปวิทยาการต่าง ๆ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสำคัญ ๆ ของตะวันตกมาสู่สังคมไทย เช่น ระบบการศึกษาในโรงเรียน การแพทย์ สถาปัตยกรรม และวิชาการในแขนงต่าง ๆ เป็นต้นว่า ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์  อย่างไรก็ตามตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖) เป็นต้นมาสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับชาติตะวันตกได้เสื่อมลง  คณะบาทหลวงส่วนใหญ่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ศิลปวิทยาการตะวันตกต่าง ๆ จึงมิได้สืบทอดและแพร่หลายในหมู่ราษฎรยกเว้นศาสนาคริสต์ซึ่งยังคงเผยแผ่อยู่ในหมู่ชาวต่างชาติและชาวไทยบางส่วนที่เลื่อมใส มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวอย่างของวัฒนธรรมตะวันตกที่ปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ เทคโนโลยีด้านการก่อสร้าง เช่น การต่อเรือ การสร้างป้อมปราการ และเคหสถาน โดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกและเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น การหล่อปืนใหญ่และการสร้างหอดูดาว 

 

อู่ต่อเรือในสมัยรัชกาลที่ ๕
อู่ต่อเรือในสมัยรัชกาลที่ ๕ 


      วัฒนธรรมตะวันตกได้แพร่หลายมากขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา  ใน พ.ศ. ๒๓๗๑ ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้มิชชันนารีชาวยุโรป คือ คาร์ลกุสลาฟ (Karl Gutzlaff) และ เจคอบ ทอมลิน (Jacob Tomlin) เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์เป็นครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๔ เป็นต้นมา  มิชชันนารีอเมริกัน เช่น หมอบรัดเลย์ หมอสมิธ ฯลฯ ได้เข้ามารับผิดชอบการเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ต่อจากมิชชันนารีชาวยุโรปและมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมตะวันตกในสังคมไทยด้วยเนื่องจากมีโอกาสใกล้ชิดกับราษฎร สวนพวกคาทอลิกซึ่งเข้ามาสอนศาสนาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีก็ได้มีบทบาทมากขึ้นตั้งแต่สังฆราชปัลเลอกัวซ์ (Pallegoix) เข้ามาไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 
      ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประเทศไทยได้มีสัมพันธไมตรีกับนานาชาติเพิ่มมากขึ้นโดยได้ทำสนธิสัญญากับอังกฤษในสมัยที่เซอร์ จอห์น บาวริง เป็นราชทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตารีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ เรียกว่า สนธิสัญญาบาวริง (Bowring Treaty) และสนธิสัญญาบาวริงในเวลาต่อมาสนธิสัญญาเหล่านั้นได้อนุญาตให้ชาวต่างประเทศเข้ามาติดต่อค้าขายกับราษฎรโดยเสรี ชาวต่างประเทศจึงเดินทางเข้ามาอาศัยในประเทศไทยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน  จำนวนมิชชันนารีอเมริกันและคาทอลิกก็ได้เพิ่มขึ้นด้วยและกระจายกันเผยแผ่ศาสนาทั้งในเขตพระนครและหัวเมืองต่าง ๆ ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกแพร่หลายเข้าไปถึงชนบท  ในรัชกาลนี้ได้เริ่มมีการเรียนภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกโดยจ้างผู้หญิงชาวอังกฤษมาสอนในพระบรมมหาราชวัง  นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปประเทศและสนับสนุนให้นำศิลปวิทยาการตะวันตกแขนงต่าง ๆ เข้ามาเผยแพร่โดยเฉพาะการศึกษา การแพทย์ การคมนาคม การสื่อสาร เป็นต้น ยังทรงจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาความเจริญในด้านต่าง ๆ รวมทั้งทรงส่งนักเรียนไทยไปศึกษาในต่างประเทศเพื่อนำความรู้และวิทยาการต่าง ๆ มาช่วยสร้างความเจริญให้บ้านเมืองอีกด้วย  ดังนั้นวัฒนธรรมตะวันตกจึงได้ผสมผสานอยู่ในสังคมไทยมากขึ้นอย่างไรก็ตามในช่วงเวลานับตั้งแต่ไทยทำสนธิสัญญาบาวริงจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๐ ซึ่งเป็นปีที่ยกเลิกสนธิสัญญาซึ่งไม่เป็นธรรมทั้งหมดได้สำเร็จนั้น  วัฒนธรรมตะวันตกที่ผสมผสานอยู่ในสังคมไทยยังคงมีสภาพเป็น "ของฝรั่ง" อยู่มากและยังมิได้ผสมกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวไทยแต่หลังจาก พ.ศ. ๒๔๘๐ แล้ววัฒนธรรมตะวันตกได้หลั่งไหลเข้ามาสู่สังคมไทยมากขึ้นและได้ผสมผสานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยปัจจุบัน 

 

หญิงชาวต่างชาติเข้ามาสอนภาษาอังกฤษ
หญิงชาวต่างชาติเข้ามาสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนไทย


      การเผยแพร่วัฒนธรรมตะวันตกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนพ.ศ. ๒๔๘๐ ส่วนใหญ่เกิดจากความเห็นชอบและการสนับสนุนของรัฐบาลเนื่องจากได้พิจารณาแล้วว่าวัฒนธรรมเเหล่านั้นล้วนมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ  นอกจากนี้แล้วเจ้านายและขุนนางยังเป็นผู้นำในการรับวัฒนธรรมตะวันตกโดยเฉพาะรูปลักษณ์ภายนอก (appearance) เป็นต้นว่า การแต่งกาย การกีฬา นันทนาการการรับวัฒนธรรมตะวันตกจึงกลายเป็น "พระราชนิยม" ที่ผู้คนในสังคมไทยถือเอาเป็นแบบอย่างและถือเป็น "ความทันสมัย" ที่น่าภาคภูมิใจ  จึงอาจกล่าวได้ว่าการรับวัฒนธรรมตะวันตกเกิดจากเหตุผล ๒ ประการ คือ เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าและเพื่อพัฒนาให้ทันสมัย

วัฒนธรรมตะวันตกที่รับเข้ามาเพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า

      วัฒนธรรมตะวันตกที่รัฐบาลไทยเห็นชอบให้นำเข้ามาเผยแพร่ทั่วไปนั้นส่วนใหญ่จะเป็นวิทยาการที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ดังนี้ 
ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 
      มิชชันนารีได้นำความรู้ด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาลแบบตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ควบคู่กับการเผยแผ่ศาสตาจนกระทั่งมิชชันนารีอเมริกันกลายเป็น "หมอสอนศาสนา" ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ หมอบรัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley) และ หมอเฮ้าส์ (Dr. House) ได้ทำการปลูกฝี ผ่าตัด ทำคลอด และให้คำแนะนำด้านสุขอนามัยเพื่อป้องกันโรคระบาดร้ายแรง เช่น อหิวาตกโรค วิทยาการแพทย์แบบตะวันตกนี้ได้กลายเป็นรากฐานของการแพทย์และสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน เช่น การตั้งโรงพยาบาล 

 

มิชชันนารี
มิชชันนารีได้นำความรู้ทางด้านการแพทย์เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย


ด้านการศึกษา 
      มิชชันนารีอเมริกันได้นำการศึกษาในระบบโรงเรียนเข้ามาเผยแพร่โดยได้เปิดโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษและวิชาอื่น ๆ เช่น คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ให้กับบุคคลทั่วไป คือ โรงเรียนมัธยมสำเหร่ (หรือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กชายแห่งแรกและโรงเรียนกุลสตรีวังหลังสำหรับเด็กหญิง (หรือโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ แม้ว่าจุดประสงค์สำคัญของมิชชันนารีจะต้องการสอนศาสนาควบคู่ไปกับการศึกษา แต่การตั้งโรงเรียนได้กลายเป็นแบบอย่างที่รัฐบาลไทยเห็นความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของชาติจึงมีการตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับบุตรหลานของเจ้านายและข้าราชบริพารตลอดจนโรงเรียนสำหรับเด็กไทยทั่วไปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาครวมทั้งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา (พ.ศ. ๒๕๖๔) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีโอกาสได้รับการศึกษาดังเช่นประชากรของชาติอื่น ๆ ทั้งในระดับประถมศึกษาและอุดมศึกษา 

 

โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง
โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง (โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน)


ด้านการพิมพ์ 
      ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้อนุญาตให้มิชชันนารีนำแท่นพิมพ์มาใช้ในการพิมพ์เพื่อเผยแผ่ศาสนาและตั้งโรงพิมพ์  การพิมพ์ได้มีบทบาทสำคัญในด้านการประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชนและช่วยส่งเสริมการศึกษาประชาชนมีโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์เพื่อรับทราบข่าวสาร วรรณกรรม วรรณคดี ประวัติศาสตร์ ทำให้ได้รับความรู้สร้างสรรค์ขึ้นกว่าแต่ก่อนรวมทั้งมีโอกาสแสดงความคิดเห็นผ่านหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่ขณะนั้น เช่น บางกอกรีคอร์เดอร์และบางกอกคาเลนดาร์ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ใช้การพิมพ์เป็นสื่อในการเผยแพร่ข่าวสารของบ้านเมืองตลอดจนประกาศต่าง ๆ นับว่าการพิมพ์มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนวิถีชีวิตของสังคมไทยที่เคยเป็นสังคมปิดไม่ค่อยมีโอกาสรับทราบข่าวสารต่าง ๆ มากนัก 
การคมนาคมและการสื่อสาร 
      ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมารัฐบาลได้พัฒนาระบบการคมนาคมและการสื่อสาร  มีการสร้างทางรถไฟและถนนเพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางบกนอกเหนือจากการสัญจรทางน้ำซึ่งเป็นทางคมนาคมสำคัญที่ใช้ตลอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ นอกจากนี้ยังมีการนำระบบสื่อสารซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่จากตะวันตกเข้ามา เช่น ระบบไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ และยังได้นำรถยนต์ รถจักรยาน รถราง รถเมล์ เครื่องบิน มาใช้เป็นพาหนะในการคมนาคมอีกด้วย เทคโนโลยีด้านการสื่อสารและคมนาคมเหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการขยายตัวของชุมชนในทุก ๆ ภูมิภาคของประเทศ 

 

รถราง
รถราง


ความเจริญและเทคโนโลยีอื่น ๆ 
      สังคมไทยรับความเจริญต่าง ๆ และด้านเทคโนโลยีมาปฏิรูปประเทศหลายด้าน เช่น การฝึกหัดทหารแบบตะวันตก ระบบกฎหมาย และการศาล และระบบการเงินการคลัง การชลประทาน และการสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศในเวลาต่อมา

 

ประตูระบายน้ำที่สามเสนเพื่อจัดทำน้ำประปา
ประตูระบายน้ำที่สามเสนเพื่อจัดทำน้ำประปา

 

วัฒนธรรมที่รับมาเพื่อสร้างความทันสมัย

      ในการติดต่อกับชาวตะวันตกโดยทั่วไปเจ้านายและขุนนางได้ปรับตัวให้ทันสมัยเพื่อมิให้เป็นที่ดูถูกเหยียดหยามของชาวตะวันตก มีการรับแบบแผนประเพณีและค่านิยมแบบตะวันตกมาปรับปรุงการดำเนินชีวิตและมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว  เนื่องจากราษฎรทั่วไปได้ยึดถือเป็นแบบอย่างและหล่อหลอมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยในปัจจุบัน  อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกที่เห็นเด่นชัด ได้แก่ แนวความคิดแบบตะวันตก การแต่งกาย การตกแต่งบ้านเรือน เครื่องเรือน การรับประทานอาหาร การกีฬา และนันทนาการ
แนวคิดแบบตะวันตก 
      เมื่อมีการพัฒนาด้านการศึกษาและการพิมพ์  วรรณกรรมตะวันตกทั้งที่เป็นแนววิชาการและบันเทิงจึงได้แพร่หลายเข้ามาสู่สังคมไทยและมีอิทธิพลต่อการสร้างแนวคิดและสำนึกของไทย เช่น แนวคิดเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การเข้าใจถึงคุณค่าของมนุษย์และความทัดเทียมกัน แนวคิดต่าง ๆ  เหล่านี้ได้สะท้อนออกมาในรูปของวรรณกรรมที่ตีพิมพ์ในภาษาไทย เช่น งานเขียนของเทียนวรรณ ดอกไม้สด ศรีบูรพา และมาลัย ชูพินิจ
การแต่งกาย 
      ราชสำนักไทยและขุนนางเป็นกลุ่มแรกที่รับเอาวัฒนธรรมการแต่งกายแบบตะวันตกทั้งของหญิงและชายมาประยุกต์ใช้  เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป ถึง ๒ ครั้ง ก็ทรงฉลองพระองค์แบบตะวันตกต่อมาการแต่งกายแบบตะวันตกของเจ้านายก็กลายเป็น "พระราชนิยม" ที่คนทั่วไปยึดเป็นแบบอย่าง
การตกแต่งบ้านเรือน 
      นับตั้งแต่ชาวตะวันตกได้นำสถาปัตยกรรมการก่อสร้างอาคารและการตกแต่งภายในแบบตะวันตกมาสู่สังคมไทย  ราชสำนักและชนชั้นสูงก็เริ่มปรับวิถีชีวิตตามแบบวัฒนธรรมดังกล่าวจากเดิมที่เคยปลูกสร้างอาคารแบบเรือนไทยและค่อย ๆ รับรูปแบบสถาปัตยกรรมและการตกแต่งแบบจีนก็เริ่มเปลี่ยนเป็นแบบตะวันตก  มีการสร้างที่อยู่อาศัยและตกแต่งบ้านเรือนด้วยเครื่องเรือนแบบตะวันตก เช่น โต๊ะ ตู้ ภาพประดับ ของใช้ต่าง ๆ เช่น ช้อน ส้อม มีด ถ้วย ชาม ฯลฯ นอกจากนี้ยังเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหารด้วยมือมาเป็นการใช้มีด ช้อน และส้อม แทน วัฒนธรรมเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยในปัจจุบัน 
การกีฬาและนันทนาการ
      การกีฬาและนันทนาการแบบตะวันตกเริ่มเข้ามาแพร่หลายในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเมื่อมีชาวตะวันตกเข้ามาติดต่อค้าขายและพำนักอยู่ในเมืองไทย  การกีฬาแบบตะวันตกที่แพร่หลายในระยะแรก ๆ คือ การขี่ม้า ยิงปืน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกีฬาที่แพร่หลาย ได้แก่ ฟุตบอล รักบี้ เทนนิส แบดมินตัน แข่งม้า จักรยาน กรีฑา ยิมนาสติก ฟันดาบ ในราชสำนัก มีการเล่นกีฬาโครเกต์ (Croquet)  ต่อมาการกีฬาแบบตะวันตกได้แพร่หลายอยู่ในหลักสูตรพลศึกษาในโรงเรียน มีการแข่งขันกีฬานักเรียนประเภทต่าง ๆ ที่แพร่หลายได้แก่ กรีฑา ฟุตบอล มวยสากล และยิมนาสติก  นอกจากนี้แล้วยังทรงส่งเสริมให้ชาวไทยและชาวต่างประเทศจัดตั้งสถาบันที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนันทนาการ เช่น สโมสร บันเทิง สถานเมืองตรัง ราชกรีฑาสโมสร และสโมสรราชเสวกซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นสำหรับข้าราชบริพารในพระองค์ 
      จะเห็นได้ว่าการรับวัฒนธรรมตะวันตกทั้งเพื่อพัฒนาบ้านเมืองและเพื่อความทันสมัยล้วนมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไทยซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มีทั้งผลดี และผลเสียต่อสังคมไทย

 

การเล่นกีฬาโครเกต์
การเล่นกีฬาโครเกต์

 

การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลดีต่อสังคมไทย

ประการแรก 
      การรับความเจริญทางด้านการศึกษาและเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์  กล่าวคือสังคมไทยมีประชากรที่มีคุณภาพได้รับการศึกษา อ่านออก เขียนได้ รู้จักคิด และใช้เหตุผล ตลอดจนมีสุขภาพดีก็จะช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมอารยประเทศได้ 
ประการที่สอง 
      ความรู้และเทคโนโลยีของชาติตะวันตกมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่สังคมในด้านต่าง ๆ เช่น การเพิ่มผลิตผลทางด้านเกษตรและอุตสาหกรรมช่วยเพิ่มรายได้และความอยู่ดีกินดีให้กับพลเมือง นอกจากนี้แล้วการคมนาคมยังช่วยส่งเสริมให้มีการขยายตัวของชุมชนในส่วนภูมิภาคช่วยให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเติบโต มีการสื่อสารติดต่อกันได้สะดวกและรวดเร็ว 
ประการที่สาม 
      วัฒนธรรมตะวันตกมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างการเมืองการปกครอง เช่น การพัฒนาระบอบประชาธิปไตย การศาล การทหาร ฯลฯ ล้วนมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยยืนหยัดรักษาเอกราชมาได้ตราบเท่าทุกวันนี้

การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลเสียต่อสังคมไทย 

      การยึดถือเอาวัฒนธรรมตะวันตกไว้ในสังคมไทยโดยไม่กลั่นกรองก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านค่านิยมโดยเชื่อว่าวัฒนธรรมตะวันตกดีกว่าวิเศษกว่าวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม เห็นว่าวัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งล้าหลังและคร่ำครึค่านิยมเช่นนี้นับว่าเป็นผลเสียต่อบ้านเมืองเพราะก่อให้เกิดความหลงผิดและดูถูกวัฒนธรรมของตนเอง  นอกจากนี้แล้วบางครั้งยังยึดค่านิยมที่ผิด ๆ เช่น การยึดมั่นในวัตถุ จนละเลยทางด้านจิตใจและคุณธรรม การหลงใหลและชื่นชมวัฒนธรรมของชาติอื่น ๆ มากเกินไปก็ทำให้เกิดการครอบงำทางวัฒนธรรมจนกระทั่งขาดความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งนับว่าเป็นผลเสียต่อการพัฒนาสำนึกของความเป็นชาติในระยะยาว

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow