Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

นิยามต่างๆ

Posted By Plookpedia | 28 มิ.ย. 60
3,591 Views

  Favorite

นิยามต่างๆ

 

ความก้าวหน้าทางวิชาการ โลกทัศน์ และกาลสมัย เป็นปัจจัยที่ทำให้ศัพท์เปลี่ยนความหมายไปได้
คำ ๆ เดียวอาจมีความหมายได้หลายอย่าง และบางกรณีอาจขัดกันด้วย ฉะนั้น วิชาแต่ละสาขา จึงต้องบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใช้เอง ซึ่งบางทีก็สืบความหมายจากรากศัพท์ได้ แต่บางทีก็ไม่ได้ เพราะความหมายสั้น ๆ นิยามแล้วยาวกว่าเดิมมาก หรืออาจมาจากคำที่ใช้เปรียบเทียบ หรือคำที่แปลจากภาษาต่างประเทศ หรือความหมายที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย 

 

เริ่มต้นที่คำ "อนุรักษ์" กันก่อน ซึ่งแปลตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ว่า "ตามรักษา, ระวัง, ป้องกัน (ส.)." 

 

ปฏิสังขรณ์ (ตามพจนานุกรมฉบับที่อ้างแล้ว) หมายถึง การซ่อมแซม การตกแต่ง (ป.) และ

 

บูรณะ ซึ่งมาจากคำ "บูรณ์" แปลว่าเต็ม 

ซึ่งเมื่อมาใช้กับวิชาการอนุรักษ์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาใหม่ คำเหล่านั้นก็มีความหมายมากกว่าเดิม ขอยกตัวอย่างคำนิยามจากระเบียบของกรมศิลปากร ว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน ๒๕๒๘ ...ข้อ ๓ ในระเบียบนี้ 

 

(๑) "การอนุรักษ์" หมายความว่า การดูแล รักษา เพื่อให้คงคุณค่าไว้ และให้หมายรวมถึง การป้องกัน การรักษา การสงวน การปฏิสังขรณ์ และการบูรณะด้วย

ก. การสงวนรักษา หมายความถึง การดูแลรักษาไว้ตามสภาพของเดิมเท่าที่เป็นอยู่ และป้องกันมิให้เสียหายต่อไป

ข. การปฏิสังขรณ์ หมายความถึง การทำให้กลับคืนสู่สภาพอย่างที่เคยเป็นมา

ค. การบูรณะ หมายความถึง การซ่อมแซม การปรับปรุงให้มีรูปทรงลักษณะกลมกลืนเหมือนของเดิมมากที่สุด เท่าที่จะมากได้ แต่ต้องแสดงความแตกต่างของสิ่งที่มีอยู่เดิม และสิ่งที่ทำขึ้นใหม่ 

 

๑. ใช้แปรงขนอ่อนปัดฝุ่นเบา ๆ
๒. ลอกกระดาษสาที่ดูดซับคราบสกปรกออก

 

๓. ทำการเสริมความมั่นคงในชั้นปูนฉาบฝาผนังปูนรองพื้นและชั้นสีด้วยการฉีดกาวพี วี เอ และฉีดสารละลายพาราลอยด์ บี.๗๒
๔. หากยังมีคราบสกปรกตกค้างอยู่ ให้ใช้สารละลายแอมโมเนียผสมในเยื่อกระดาษ ปิดเฉพาะบริเวณที่เป็นคราบดำทิ้งไว้ครู่หนึ่ง
๕. การถือรองพื้น เพื่อประสานรอยชำรุด ที่ผิวจิตรกรรม ให้สนิทเป็นเนื้อเดียวกันโดยตลอด จะต้องให้ผิวได้ระดับกับของเดิม และเรียบร้อยมั่นคง

 

 

 

คำ "โบราณคดี" ก็เป็นคำหนึ่งที่มีความหมายเดิมอยู่บ้าง แต่ขอบเขตกว้างขวางกว่าเดิม ซึ่งหมายตามรูปคำว่า "เรื่องเก่า ๆ" แต่เมื่อเป็นวิชาโบราณคดี ก็หมายถึง วิชาที่ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ (เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ) ในอดีตจากสิ่งของที่มนุษย์สร้างหรือดัดแปลงขึ้น แล้วตกทอดเป็นหลักฐานให้เราศึกษาได้ 

 

สิ่งของที่มนุษย์สร้างหรือดัดแปลงใช้ คือ โบราณวัตถุ โบราณสถาน ในความหมายของวิชาโบราณคดีนั่นเอง บางชิ้น บางแห่ง อาจเป็นศิลปวัตถุ หรือศิลปสถาน (คำนี้ไม่มีใช้กัน) ด้วยก็ได้ 

 

 

มาตรา ๔ ของพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ มีคำจำกัดความของโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ดังนี้ 

"โบราณสถาน" หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโดยอายุ หรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลปะประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี 

"โบราณวัตถุ" หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์ หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุ หรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์ หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลปะประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี 

"ศิลปวัตถุ" หมายความว่า สิ่งที่ทำด้วยฝีมือ และเป็นสิ่งที่นิยมกันว่า มีคุณค่าในทางศิลปะ 

แต่ปัจจุบันนี้มีคำใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลายคำ หากแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๔ คงต้องบรรจุนิยามใหม่ๆ เข้าไปอีก เช่นคำ "แหล่งโบราณคดี" และ "อุทยานประวัติศาสตร์" ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เป็นโบราณสถานด้วย คำจำกัดความทางวิชาการของคำทั้งสองเป็นดังนี้ 

"แหล่งโบราณคดี" หมายถึง บริเวณที่มีหลักฐานของพฤติกรรมมนุษย์ในอดีต ทั้งที่อยู่บนดิน ใต้ดิน และใต้น้ำ เช่น ที่อยู่อาศัย สุสาน ศาสนสถาน หรือสถานที่ประกอบอาชีพและแหล่งเรืออับปาง 

"อุทยานประวัติศาสตร์" หมายถึง บริเวณที่มีหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์สมัยใดสมัยหนึ่งของประเทศ หลักฐาน และความสำคัญดังกล่าว อาจเป็นทางวัฒนธรรม การเมือง และสังคมวิทยาก็ได้ 

และคำ "วัฒนธรรม" สมัยก่อนแปลกันตรงตัวตามรูปศัพท์ว่า "ธรรมะอันเจริญ"เหมือนกับ "อารยธรรม" ทุกประการ ทั้ง ๆ ที่ทางวิชาการนั้น ให้ความหมายต่างกัน กล่าวคือ "อารยธรรม" หมายถึง ความเจริญระดับเมือง ส่วน "วัฒนธรรม" เป็นคำที่ใช้หมายถึง ชีวิตความเป็นอยู่ทุกแง่มุมของมนุษย์ ในฐานะที่เป็นสปีซีส์ (species) หนึ่ง และแคบเข้ามาก็เน้นวิถีชีวิตของกลุ่มสังคมในกลุ่มสังคมหนึ่ง เช่น วัฒนธรรมจีน วัฒนธรรมไทย หรือแคบเข้ามา อีก เช่น ไทยลื้อ ไทยเขิน ไทยในประเทศไทย และอื่น ๆ แต่คุณลักษณะที่เด่นที่สุดก็คือ เป็นมรดกทางด้านความคิด หรือปทัฏฐานที่สืบทอดกันต่อมา ไม่ใช่การสืบทอดทางพันธุกรรม

 

ในสังคมมนุษย์ สิ่งที่ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรม เป็นผลิตผลของความคิดด้วย เพราะการที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้บอกถึงระดับสติปัญญา และความสามารถของมนุษย์ จนกว่าจะได้นำทรัพยากรเหล่านั้นมาจัดการให้เป็นประโยชน์ต่อคน ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ไม่เช่นนั้น ดินก็ยังเป็นดินไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เซรามิก หรือเครื่องปั้นดินเผา และแร่ก็ยังเป็นสินแร่อยู่ในน้ำ และในดิน ไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อมนุษย์ด้วยกันใช้สอยนานัปการ ดังเช่นทุกวันนี้

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow