กระแสพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และความคิดเห็นของ ม.ล. ปิ่น มาลากุล เกี่ยวกับประโยชน์ของโบราณสถาน และโบราณวัตถุ สรุปได้ดังนี้
๑. แสดงความเป็นมาของประเทศ
๒. เป็นเกียรติและความภาคภูมิใจของคนในชาติ
๓. เป็นสิ่งที่โยงเหตุการณ์ในอดีต และปัจจุบันเข้าด้วยกัน
๔. เป็นสิ่งที่ใช้อบรมจิตใจของคนในชาติได้
นั่นเป็นทัศนะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นนักพัฒนาเต็มพระองค์ ต่อการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ เมื่อเกือบ ๓๐ ปีมาแล้ว ในขณะที่พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ซึ่งยังใช้กันมาจนทุกวันนี้ ไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ชัดเจน อย่างที่ปรากฏในพระราชดำรัสเลยว่า โบราณสถาน และโบราณวัตถุสำคัญอย่างไร จึงต้องช่วยกันอนุรักษ์ และการอนุรักษ์นั้น เป็นหน้าที่ของประชาชนทั่วไปด้วยหรือไม่ เหมือนที่กฎหมายคุ้มครองสมบัติวัฒนธรรม ของประเทศอื่นบางประเทศ เขาระบุไว้
ในปัจจุบัน เมื่อทรัพยากรของโลกเหลือน้อยลง และวิชาการก้าวหน้าขึ้น สิ่งที่เคยคิดกันว่า มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ และอาจดีกว่า "สินค้า" บางประเภทด้วยซ้ำไป เพราะมีระยะเวลาใช้ประโยชน์ ที่เรียกกันว่า ชีวิตทางเศรษฐกิจ ยาวนานกว่าสินค้าประเภทอื่น ๆ
ตัวอย่างการสร้างสาธารณูปโภคบางอย่าง เช่น เขื่อน ซึ่งอาจต้องลงทุนหลายพันหลายหมื่นล้านในการก่อสร้าง และบำรุงรักษา ให้ใช้งานได้ไปตลอดชีวิตของมัน ประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ ปี ในขณะที่
โบราณวัตถุและโบราณสถาน มีอายุใช้งานได้เกือบตลอดไป ดังจะเห็นได้ว่า บางสถานที่ และวัตถุบางชิ้น มีอายุหลายร้อย ถึงหลายแสนปีมาแล้ว
ประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลก ได้หันมาฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมให้คงอยู่ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของประเทศ เป็นเกียรติและความภาคภูมิใจ ไม่ให้ประเทศอื่นๆ ดูถูกว่า เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน เพราะไม่มีประวัติศาสตร์ของตนเอง และเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ด้วยการจัดการโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ให้เป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง คือ "การท่องเที่ยววัฒนธรรม" ทำรายได้ให้แก่ท้องถิ่นที่มีมรดกวัฒนธรรมดังกล่าว และแก่ประเทศชาติโดยส่วนรวมเป็นอันมาก ทั้งนี้เพราะเหตุว่า การคมนาคมในโลกปัจจุบันดีมาก การติดต่อกันและกันสะดวกขึ้น รสนิยมในเรื่องเครื่องอุปโภคบริโภคจึงคล้าย ๆ กัน แต่มีสิ่งของประเภทเดียวที่ไม่เหมือนกันก็คือ "มรดกวัฒนธรรม" ที่แสดงเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ จึงเป็น "สินค้า" ที่ดึงดูดคนให้เข้าไปเยี่ยมชม
โบราณสถาน และโบราณวัตถุ เป็น "สินค้า" ที่มีคุณสมบัติล้ำเลิศกว่าสินค้าประเภทอื่น ๆ เพราะว่าเราจัดการให้คนจ่ายเงิน "ซื้อ" ความรู้อย่างเดียว เขาไม่ได้เอาตัวสินค้าไปด้วย ธุรกิจประเภทนี้จึงเป็นธุรกิจที่ทำรายได้เหนือกว่าธุรกิจประเภทอื่นๆ เพราะไม่ได้เบียดบังเอาโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมบัติของคนทุกคนในชาติไปขาย เอารายได้เป็นของตัวเอง อย่างธุรกิจค้าโบราณวัตถุที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย อย่างทุกวันนี้
รายได้จากการท่องเที่ยววัฒนธรรมมาจากกิจกรรมหลายอย่าง ไม่ใช่ค่าเข้าชมอย่างเดียว แต่เป็นค่าอาหาร ค่าพาหนะเดินทาง ค่าพักแรม ค่าซื้อของที่ระลึก และค่าบริการต่างๆ ซึ่งรวมแล้ว นักท่องเที่ยวแต่ละคนจะต้องใช้จ่ายไม่น้อยเลย แต่ละประเทศจึงระดมปรับปรุงโบราณสถาน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบอุทยานประวัติศาสตร์บ้าง หรือเป็นโบราณสถานโดด ๆ บ้าง จนเกิดปัญหาขึ้นในหลายประเทศที่ดำเนินการไป โดยที่ยังไม่มีความพร้อม ทั้งด้านบุคลากร และงบประมาณ ตลอดจนหลักการ และแนวทาง เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม ซึ่งต้องฝึกฝนเล่าเรียนให้เข้าใจถ่องแท้ก่อน ความไม่พร้อมทำให้โบราณสถานหลายแห่ง กลายเป็นปัจจุบันสถานไปอย่างน่าเสียดาย