Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุ

Posted By Plookpedia | 28 มิ.ย. 60
93,872 Views

  Favorite

การอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุ

 

ใครเคยเห็นหม้อบ้านเชียงที่เป็นหม้อดินปั้น มีลวดลายเป็นเส้นสีแดงสวยงามมาก อีกทั้ง
วัดใหญ่ชัยมงคล วัดมงคลบพิตร ที่จังหวัดอยุธยาอีกเล่า แล้วยังมีปราสาทหินพนมรุ้ง
ที่จังหวัดบุรีรัมย์อีก นี่เป็นเพียงตัวอย่างสองสามแห่งเท่านั้น ประเทศไทยยังมีของโบราณ ที่เก่าแก่อีกมากมาย ล้วนเป็นโบราณวัตถุ และโบราณสถาน ที่อายุกว่าร้อยปี หม้อบ้านเชียงกับ
ปราสาทหินพนมรุ้งนั้นมีอายุกว่าพันปี หรือไม่ก็เกือบพันปีด้วยซ้ำไป

 

 

นี่เป็นสมบัติเก่าแก่ ที่พวกเราทุกคนน่าจะภูมิใจมาก เพราะเป็นสิ่งแสดงว่า เมืองไทยของเรานี้
มีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมยาวนานสืบทอดต่อๆ กันมา จนถึงพวกเรารุ่นปัจจุบัน เราภาคภูมิใจ
เราชื่นชม เรารักสมบัติ ที่ปู่ย่าตาทวดบรรพบุรุษของเรารังสรรค์ไว้นี้ แขกไปใครมาจากต่างบ้านต่างเมือง เขาก็อยากจะมาชม เพราะเห็นเป็นของสวยงามแปลกแตกต่างกับของโบราณในบ้านเมืองของเขา

 

เราต้องช่วยกันอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุของเราให้อยู่กับเมืองไทยไปนานแสนนาน
ชั่วกัลปาวสาน จนเป็นที่กล่าวขานกันทั่วไปว่า คนไทยนั้นรักและหวงแหนสมบัติทุกชิ้น ที่บรรพบุรุษของเราสร้างสรรค์มา ไม่ยอมให้ผู้ใดมายื้อแย้ง หรือทำลายได้

 

 

-------------------------------------------------------------------------

 

โบราณสถาน และโบราณวัตถุ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทหนึ่ง ที่อาจบอกความเป็นมาของกลุ่มชน หมู่บ้าน เมือง และประเทศชาติ นับตั้งแต่อดีตกาลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันได้
เป็นหน้าที่ของชนรุ่นปัจจุบัน ที่จะต้องอนุรักษ์ทรัพยากรวัฒนธรรมประเภทนี้ไว้ และใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า "...โบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย" นี่คือ กระแสพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ ในวโรกาสที่เสด็จประพาสอยุธยา ย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันความสำคัญอย่างยิ่งของโบราณสถาน ที่มีต่อการพัฒนาประเทศชาติ โดยเฉพาะความสำคัญ ที่เป็นคุณค่าทางจิตใจ

 

ประโยชน์ของโบราณสถานและโบราณวัตถุ

อาจกล่าวได้ว่า โบราณสถาน และโบราณวัตถุนั้น มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติถึง ๒ นัย คือ

๑. นัยที่เกี่ยวเนื่องกับจิตใจของประชาชน 

กล่าวคือ โบราณสถานย่อมแสดงความเป็นมาของประเทศ เป็นเกียรติ และความภาคภูมิใจของคนในชาติ เป็นสิ่งที่โยงเหตุการณ์ในอดีต และปัจจุบันเข้าด้วยกัน และเป็นสิ่งที่เรานำมากระตุ้นจิตสำนึกของคนในชาติได้

 

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นวิธีหนึ่งที่รัฐใช้จัดการทรัพยากรวัฒนธรรมให้เป็นประโยชน์ทางด้านการศึกษา สร้างความภูมิใจให้คนในชาติ และหารายได้จากการท่องเที่ยว มาช่วยบำรุงโบราณวัตถุสถานและสร้างงานให้กับประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ
ชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมซึ่งแตกต่างไปจากประเทศของเขา และจะต้องจ่ายค่าเดินทางที่พัก อาหาร บางทีก็อาจจะซื้อสินค้าอื่น ๆ รวมทั้งของที่ระลึกติดตัวไปด้วย

 

การท่องเที่ยววัฒนธรรมนี้ ก่อให้เกิดธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายประการ เช่น ธุรกิจการค้าขายอาหาร ธุรกิจการโรงแรม ธุรกิจการจัดพาหนะเดินทาง และธุรกิจการผลิต และจำหน่ายของที่ระลึก เป็นต้น หากรัฐและประชาชนร่วมมือกันอนุรักษ์โบราณสถาน และโบราณวัตถุ ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ แก่ประเทศชาตินานัปการ แต่ก็ยังมิได้มีกฎหมาย กำหนดลงชัดเจนว่า ประชาชนทั่วไป มีหน้าที่ต้องช่วยอนุรักษ์ด้วยหรือไม่

 

ชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมซึ่งแตกต่างไปจากประเทศของเขา และจะต้องจ่ายค่าเดินทางที่พัก อาหาร บางทีก็อาจจะซื้อสินค้าอื่น ๆ รวมทั้งของที่ระลึกติดตัวไปด้วย

 

 

วิชาการอนุรักษ์นั้น เป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับวิชาโบราณคดี กรมศิลปากรนิยามคำ "การอนุรักษ์" ว่าหมายถึง"การดูแลรักษาเพื่อให้คงคุณค่าไว้ และให้หมายรวมถึงการป้องกัน การรักษา การสงวน การปฏิสังขรณ์และการบูรณะด้วย" ยิ่งกว่านั้นกรมศิลปากรยังนิยามคำ "การสงวนรักษา การปฏิสังขรณ์และการบูรณะ" ไว้อีกโสดหนึ่ง

 

การสงวนรักษา 

หมายถึง "การดูแลรักษาไว้ตามสภาพของเดิมเท่าที่เป็นอยู่ และป้องกันมิให้เสียหายต่อไป"

 

การปฏิสังขรณ์ 

หมายถึง "การทำให้กลับคืนสู่สภาพอย่างที่เคยเป็นมา" 

 

การบูรณะ 

หมายถึง "การซ่อมแซม และปรับปรุง ให้รูปทรงมีลักษณะกลมกลืนเหมือนของเดิมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้  แต่ต้องแสดงความแตกต่างของสิ่งที่มี อยู่เดิมและสิ่งที่ทำขึ้นใหม่"

 

ส่วนวิชาโบราณคดีก็คือ วิชาที่ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านกระบวนการเชิงช่าง หรือด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยศึกษาจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือดัดแปลงแล้ว ตกทอดเป็นหลักฐานให้เราศึกษาได้ เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุต่าง ๆ เป็นต้น โบราณสถาน คือ อสังหาริมทรัพย์ เช่น โบสถ์ วิหาร วัง ที่มีอายุกว่า ๑๐๐ ปีขึ้นไป ส่วนโบราณวัตถุ หมายถึง สังหาริมทรัพย์ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป ศิลาจารึก มีอายุกว่า ๑๐๐ ปีขึ้นไปเช่นกัน หลักฐานแห่งการประดิษฐ์ หรือหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของทั้งโบราณสถานก็ดี และโบราณวัตถุก็ดี จะต้องเป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี สำหรับศิลปวัตถุนั้นคือ สิ่งที่ทำด้วยฝีมือเป็นที่นิยมกันว่า มีคุณค่าทางศิลปะ

 

โบราณคดีใต้น้ำ เป็นกระบวนการเก็บข้อมูลศึกษาหลักฐานประวัติศาสตร์ที่จมอยู่ใต้น้ำ โดยเฉพาะแหล่งเรือจมสมัยโบราณที่เป็นแหล่งรวมหลักฐานหลายประเภท การทำงานภาคสนามต้องมีการดำน้ำ และมีอุปกรณ์สำหรับปฏิบัติงานใต้น้ำโดยเฉพาะอีกทั้งวิธีการรักษาโบราณวัตถุและหลักฐานอื่น ๆ ก็ต่างไปจากการทำงานโบราณคดีบนบก๑. สภาพสินค้าเครื่องปั้นดินเผาขนาดต่าง ๆ ในระวางสินค้าของซากเรืออับปางใกล้เกาะทะลุ อ.เมือง จ.ระยอง
๒. ภายหลังการขุดค้นแล้วนักโบราณคดีใต้น้ำ ทำการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุจากใต้ทะเลขึ้นสู่ผิวน้ำ

 

อนึ่ง ยังมีค่าสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนี้อีก ๔ คำ ที่ควรเอ่ยถึง คือ แหล่งโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์ อารยธรรม และวัฒนธรรม แหล่งโบราณคดีเป็นคำเกิดขึ้นมาใหม่หมายถึง บริเวณที่มีหลักฐานของพฤติกรรมมนุษย์ในอดีต ทั้งที่อยู่บนดิน ใต้ดิน และใต้น้ำ เช่น ที่อยู่อาศัย สุสาน ศาสนสถาน หรือสถานะที่ประกอบอาชีพ และแหล่งเรืออับปาง อุทยานประวัติศาสตร์ก็เป็นคำใหม่เช่นกัน หมายถึง บริเวณที่มีหลักฐานสำคัญ ทางประวัติศาสตร์สมัยใดสมัยหนึ่งของประเทศ หลักฐาน และความสำคัญดังกล่าวอาจเป็นทางวัฒนธรรม การเมือง และสังคมวิทยาก็ได้ ส่วนคำว่า อารยธรรม นั้นหมายเฉพาะ ความเจริญระดับเมือง แต่คำว่า วัฒนธรรม หมายถึง ชีวิตความเป็นอยู่ทุกแง่มุมของมนุษย์ ในกลุ่มสังคมต่าง ๆ เช่น วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมจีน เป็นต้น คุณลักษณะเด่นที่สุดของ วัฒนธรรมก็คือ เป็นมรดกทางด้านความคิด หรือปทัฏฐานที่สืบทอดกันต่อมา เป็นเครื่องแสดงถึงระดับสติปัญญา และความสามารถของมนุษย์ ที่ได้นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้สอยนานัปการ เช่น สามารถนำดินมาผลิตเป็นเครื่องปั้นดินเผาได้อย่างสวยงาม เป็นต้น

 

๓. เครื่องปั้นดินเผา จากแหล่งเตาแม่น้ำน้อย จ.สิงห์บุรี สินค้าส่งออกสมัยอยุธยากองทัพเรือยึดได้จากเรือออสเตรเลียไทด์ที่เข้ามาลักลอบงมจากซากเรือสำเภาโบราณ กลางอ่าวไทยก่อนที่จะส่งไปขายยังต่างประเทศ
ลูกปัดแก้วแบบต่าง ๆ ที่เป็นสินค้ามาจากประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนกว่าพันปีมาแล้วพบในแหล่งโบราณคดีภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานวัดคลองท่อม จังหวัดกระบี่)

 

สมบัติวัฒนธรรม
เมืองไทยของเรามีสมบัติวัฒนธรรมมากมาย ปรากฏย้อนหลังไปนับเป็นหมื่นเป็นแสนปี มีทั้งที่เป็นของที่คนสร้างหรือดัดแปลงขึ้นสำหรับใช้สอย เช่น ถ้วยชาม สำหรับเป็นเครื่องมือ หรืออาวุธ เช่น หวาน มีด หอก ค้อน เบ็ด ฉมวก ฯลฯ สำหรับเป็นเครื่องประดับ เช่น กำไล สร้อย ลูกปัด ต่างหู ฯลฯ วัสดุที่ใช้มีหลายหลากตั้งแต่ หิน โลหะ และไม้ นอกจากนี้ยังพบประติมากรรมอยู่ตามที่ต่าง ๆ โบราณสถานก็มี โดยเฉพาะโบราณสถานที่เป็นศาสนสถาน หรือปูชนียสถานหลายแห่ง ผู้คนยังใช้สอยสืบต่อกันมาแต่ต้น จนปัจจุบันนี้ นักโบราณคดีเรียกโบราณสถานประเภทนี้ว่า "อนุสาวรีย์ที่ยังมีชีวิต" ส่วนโบราณสถานที่เลิกใช้ประกอบพิธีแล้วเป็น "อนุสาวรีย์ที่ตายแล้ว"

 

ในการจัดประเภทของโบราณสถาน นักโบราณคดีมีระบบ ดังนี้ 

๑. จัดประเภทตามสมัยๆ หนึ่ง 

ได้แก่ ก่อนประวัติศาสตร์ เป็นเวลาที่มนุษย์ ยังไม่มีตัวหนังสือสำหรับบันทึกเรื่องต่างๆ เป็นลายลักษณ์อักษร อีกสมัยหนึ่งคือ สมัยประวัติศาสตร์ เมื่อมนุษย์บันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ และความรู้สึกนึกคิดเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว 

๒. จัดประเภทตามการใช้สอย แบ่งเป็นแหล่งโบราณคดี ๓ แหล่ง 

แหล่งที่หนึ่งคือ แหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งอาจจะมีคูคันดิน หรืออาจจะไม่มีก็ได้ แหล่งที่สองคือ แหล่งพิธีกรรม เช่น สุสาน และศาสนสถาน เป็นต้น แหล่งที่สามคือ แหล่งอุตสาหกรรมที่อาจจะพบเตาเผาถ้วยชาม มีแหล่งโลหะเหมืองแร่ หรือแหล่งสกัดหิน ฯลฯ

 

โบราณสถานในประเทศไทยกว่าหนึ่งพันแห่ง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคนที่มีคูและคันดินล้อมรอบ สามารถตรวจสอบได้จากภาพถ่ายทางอากาศในภาพเป็นบ้านหนองปรือ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
การอนุรักษ์โบราณสถานมีหลายวิธี วิธีหนึ่งเป็นการเสริมความมั่นคงและอีกวิธีหนึ่งคือการบูรณะบางส่วนหรือทั้งหมด การบูรณะทั้งหมดจะต้องรื้อออกเพื่อปรับฐานใหม่ไม่ให้ทรุดแล้วก่ออิฐหรือหินขึ้นไปใหม่ จึงแลเห็นเรียบ มองเป็นของใหม่ ไม่โบราณเหมือนที่เป็นซากปรักหักพัง ภาพนี้เป็นภาพการบูรณะที่วัดไชยวัฒนาราม จ.อยุธยา

 

วิธีอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุ 

กรมศิลปากร เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ การอนุรักษ์โบราณสถาน และโบราณวัตถุ การซ่อม บูรณะ หรือสงวนรักษานั้น จะต้องกระทำอย่างระวัง มิให้เสียหายไปกว่าเดิม ทั้งนี้เพื่อรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และความเป็นโบราณสถาน และโบราณวัตถุของสิ่งนั้น กรมศิลปากรนั้นได้วางระเบียบปฏิบัติหลายประการ ว่าด้วยการอนุรักษ์สมบัติวัฒนธรรมแต่ละข้อ ล้วนแต่เน้นเรื่องการรักษาให้คงคุณค่าของเดิม ให้ปรากฏเด่นชัดมากที่สุด เช่น ระเบียบข้อที่ ๑๔ ระบุว่า "โบราณสถานที่เป็นปูชนียสถานอันเป็นที่เคารพบูชา ซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันดีของประชาชนโดยทั่วไป จะต้องบูรณะไว้โดยไม่มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลงลักษณะ สี ทรวดทรง ซึ่งจะทำให้โบราณสถานนั้นหมดคุณค่า หรือเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ไป" เป็นต้น

 

การกำจัดวัชพืชและราที่ทำลายโบราณสถานด้วยสารเคมี

 

 

การอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุเป็นหน้าที่ของทุกคน 

แม้ว่าประเทศของเราจะมีพระราชบัญญัติโบราณวัตถุโบราณสถาน ฯลฯ มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ มีอนุสัญญาระหว่างประเทศ และทำสัญญากับบางประเทศ เพื่อป้องกันการนำเข้า-ส่งออกโบราณวัตถุที่ผิดกฎหมาย เช่น โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ที่เป็นหลักฐานความเป็นมาของประเทศชาติ จะซื้อขายได้ ก็เฉพาะสิ่งของที่เป็นสมบัติส่วนตัว ที่ได้รับเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษผู้สร้างขึ้นมาเท่านั้น แต่กระนั้นก็ยังมีการซื้อขายโบราณวัตถุ อันเป็นสมบัติของชาติกันอย่างกว้างขวาง มิได้เกรงกลัวอาญาของกฎหมายเลย วิธีเดียวที่อาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้คือ กระตุ้นจิตสำนึกของคนให้มีคุณธรรม ให้มีความรู้สึกผิดชอบ ที่จะร่วมแรงร่วมใจอนุรักษ์โบราณสถาน และโบราณวัตถุของประเทศ ให้เป็นสมบัติวัฒนธรรมของบ้านเมือง มิใช่เป็นสมบัติส่วนตน ทั้งนี้จะต้องรีบกระทำนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพราะพรุ่งนี้ก็อาจสายไปเสียแล้ว

 

-----------------------------------------------------------------------------

 

โบราณสถาน และโบราณวัตถุ ไม่ใช่ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นได้เอง แต่เป็นทรัพยากรวัฒนธรรมประเภทหนึ่ง ที่มนุษย์ใช้สติปัญญา และความรู้ความสามารถสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด หรือดัดแปลงจากทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ต่อตน และสังคมในสมัยนั้น ๆ 

สถานที่และสิ่งของเหล่านั้น เมื่อตกทอด เป็นมรดกมาถึงคนรุ่นเรา ก็กลายเป็นโบราณสถาน และโบราณวัตถุ เช่นเดียวกับอาคาร และวัตถุ ที่เราสร้างขึ้นสมัยนี้ ก็จะเป็นโบราณสถาน และโบราณวัตถุของคนในอนาคตสืบต่อไป แบบนี้ไม่ขาดตอน 

ฉะนั้น โบราณสถาน และโบราณวัตถุ จึงเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ประเภทหนึ่ง ที่บอกความเป็นมาของบรรพบุรุษ ที่อยู่ในสังคมระดับต่าง ๆ ตั้งแต่กลุ่มชนขนาดเล็ก จนถึงหมู่บ้าน เมือง และประเทศชาติ ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยเรา 

ประวัติศาสตร์ หรือความเป็นมาดังกล่าว แสดงพัฒนาการของผู้สร้างสมัยก่อน ส่วนการอนุรักษ์สิ่งเหล่านั้นไว้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เป็นหน้าที่ของคนรุ่นเรา และรุ่นต่อ ๆ ไป การ "อนุรักษ์" และการ "พัฒนา" จึงเป็นหลักการที่ต่อเนื่องกัน ไม่ใช่ "ปฏิปักษ์" กันอย่างที่บางคนเข้าใจ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow