ในการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานธนาคารนั้น แต่ละธนาคารอาจระบุวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไป เช่น บางธนาคารนำคอมพิวเตอร์มาใช้ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนต่อธนาคารนั้น จากธนาคารโบราณมาเป็นธนาคารทันสมัย บางธนาคารนำคอมพิวเตอร์มาใช้ เพื่อพยายามดำรงความเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี บางธนาคารนำคอมพิวเตอร์มาใช้ เพื่อให้สามารถขยายงานได้รวดเร็ว และควบคุมการบริหารงานให้รัดกุมขึ้น เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่า สถาบันการเงินต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ได้แข่งขันกันนำคอมพิวเตอร์มาใช้ เพื่อประโยชน์สำคัญ ๓ ประการ คือ
ประการที่หนึ่ง เพื่อช่วยให้บริการลูกค้าประจำได้สะดวกรวดเร็ว
ประการที่สอง เพื่อให้สามารถเสนอบริการใหม่ๆ ในรูปแบบ และเวลาที่ลูกค้าประจำต้องการ และให้ลูกค้าประจำสามารถเข้าใจได้โดยง่าย
และประการที่สาม เพื่อช่วยให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์สองข้อแรก โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมากเกินไป
งานสถาบันการเงินการธนาคารที่นำคอมพิวเตอร์มาช่วยนั้น นอกจากด้านการบัญชี และด้านการบริหาร ซึ่งอาจคล้ายคลึงกับการใช้คอมพิวเตอร์ในหน่วยงานอื่นๆ แล้ว ก็มีงานโดยตรง ของสถาบันการเงิน และการธนาคาร เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการฝากถอน หรือพนักงานรับและจ่ายเงิน (teller) ใช้คอมพิวเตอร์ในการโอนเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ การหักบัญชีอัตโนมัติ ด้านสินเชื่อ ด้านแลกเปลี่ยนเงินตรา บริการข่าวสารการธนาคารบริการฝากถอนเงินนอกเวลา และบริการอื่นๆ
การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในบริการฝากถอนนั้น อาจรวมการฝากถอนทุกประเภท เช่น เดินสะพัด เผื่อเรียก สะสม และประจำ เป็นต้น โดยมีเทอร์มินัลติดตั้งอยู่ที่โต๊ะพนักงานฝากถอน เมื่อลูกค้ามาฝากหรือถอน พนักงานก็สามารถใช้เทอร์มินัลสอบถามสถานภาพบัญชี และลงบัญชีได้สะดวกรวดเร็ว
การใช้คอมพิวเตอร์ในการโอนเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์มีประโยชน์สำคัญ ๓ ประการคือ ประการแรก เพื่อลดต้นทุน โดยตัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกระดาษ ประการที่สอง เพื่อความปลอดภัยในการโอนเงิน โดยป้องกันเช็คสูญหาย หรือการปลอมแปลงเช็ค และประการที่สาม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ โดยทำให้สามารถโอนเงินได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที แทนที่จะต้องเสียเวลานานเป็นวัน
การใช้คอมพิวเตอร์ในการโอนเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์นี้ อาจจะทำได้ทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ เช่น ระบบโอนเงินข้ามประเทศ หรือระบบสวิฟต์ (swift; society for worldwide interbank financial telecommunication) มีสมาชิกกว่า ๑,๑๐๐ ธนาคารในกว่า ๕๐ ประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการโอนเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ก็ยังมีผู้ใช้การโอนเงินแบบกระดาษเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก กระดาษที่ใช้นั้น อาจจะเป็นเช็คส่วนตัว บริษัท ธนาคารหรือดราฟต์ ต้องส่งทางไปรษณีย์หรือส่งด้วยมือ ต้องไปเข้าบัญชี แยกประเภท แยกธนาคาร แล้วส่งไปหักบัญชีจากธนาคาร ซึ่งเจ้าของเช็คบัญชีไว้ เมื่อมีเอกสารการเงินมากๆ ก็จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ช่วยจัดแยกประเภทเอกสาร แยกธนาคาร และหักบัญชีให้ได้ โดยรวดเร็ว และถูกต้อง เช่น ระบบหักบัญชีอัตโนมัติของอังกฤษ ช่วยหักบัญชี ๔๘๐ ล้านรายการต่อปี และสามารถจะขยายให้รับงานหักบัญชีแบบอัตโนมัติได้ถึง ๒,๐๐๐ ล้านรายการต่อปี
การใช้คอมพิวเตอร์ในด้านสินเชื่อ ช่วยให้สามารถวิเคราะห์สินเชื่อได้อย่างรวดเร็วว่า ควรให้ลูกค้ารายใดกู้หรือไม่ ช่วยให้สามารถบริหารงานด้านสินเชื่อได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เช่น ช่วยคำนวณดอกเบี้ย ออกใบกำกับสินค้า และออกใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น
การใช้คอมพิวเตอร์ในด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ก็อาจจะเริ่มด้วยการสอบถามอัตราแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ คำนวณเงินจากสกุลหนึ่งไปเป็นอีกสกุลหนึ่ง จัดทำบัญชีรายการแลกเปลี่ยน และบัญชีเช็คเดินทาง จนถึงการชี้แนะว่า ควรจะเก็บเงินสกุลใดไว้มากน้อยเท่าใด เป็นการเก็งกำไร ถ้าสามารถวิเคราะห์แนวโน้มของอัตราแลกเปลี่ยนได้ โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย
การใช้คอมพิวเตอร์ให้บริการข่าวสารการธนาคารนั้นเป็นการขยายข่าวสารการธนาคาร ด้านคอมพิวเตอร์ เช่น ข่าวสารเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย ข่าวการเงิน ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวตลาดการเงิน ข่าวตลาดหลักทรัพย์ ข่าวตลาดน้ำมัน และข่าวการเดินเรือ ตัวอย่างบริการข่าวสาร การธนาคารที่มีใช้กันทั่วโลก คือ รอยเตอร์มอนิเตอร์ (Reuter monitor)
การใช้คอมพิวเตอร์ในบริการฝากถอนเงินนอกเวลานั้น มีใช้กันทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทย ซึ่งเรียกชื่อกันว่า บริการเงินด่วน หรือบริการเอทีเอ็ม (ATM)
ส่วนการใช้คอมพิวเตอร์ในด้านอื่นๆ ของธนาคารก็มีอีกหลายอย่าง เช่น บริการโอนเงิน ณ จุดขาย บริการ ธนาคารในบ้าน และบริการธนาคารทางโทรศัพท์ เป็นต้น