Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พระไตรปิฎกมาสู่ประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 28 มิ.ย. 60
3,223 Views

  Favorite

พระไตรปิฎกมาสู่ประเทศไทย

 

การจะพิจารณาว่า พระไตรปิฎกภาษาบาลีมาสู่ประเทศไทยเมื่อไร จำเป็นต้องศึกษาว่า พระพุทธศาสนามาสู่ประเทศไทยเมื่อไร 

กล่าวตามประวัติที่พอสืบค้นได้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่อง ตำนานพระพุทธเจดีย์ พอสรุปได้ว่า พระพุทธศาสนามาสู่ประเทศไทย
รวม ๔ ครั้งด้วยกัน คือ

ครั้งแรก 

ก่อน พ.ศ. ๕๐๐ พระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมมาสู่ประเทศไทย ที่นครปฐม ตามหลักฐานที่ว่า พระเถระชื่อ พระโสณะ และพระอุตตระ เป็นหัวหน้าคณะนำพระพุทธศาสนามาสู่สุวรรณภูมิ เป็นสมณทูตจากประเทศอินเดีย 

ครั้งที่สอง 

ประมาณ พ.ศ. ๑๓๐๐ พระพุทธศาสนาแบบมหายานมาสู่ประเทศไทย ทางภายใต้จากอาณาจักรศรีวิชัย 

ครั้งที่สาม 

ประมาณ พ.ศ. ๑๖๐๐ พระพุทธศาสนาแพร่เข้ามาสู่ภาคเหนือของประเทศไทยจากประเทศพม่า 

ครั้งที่สี่ 

ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ พระพุทธศาสนามาสู่ประเทศไทยทางนครศรีธรรมราช จากประเทศศรีลังกา

 

จากหลักฐานดังกล่าวข้างต้น ทำให้สันนิษฐานว่า ในครั้งแรก และครั้งที่สอง ที่พระพุทธศาสนามาสู่ประเทศไทยนั้น ยังไม่มีพระไตรปิฎกมาด้วย เพราะในครั้งแรกยังไม่มีการจารึกพระไตรปิฎก ส่วนครั้งที่สองเป็นพระพุทธศาสนาแบบมหายาน พระพุทธศาสนาแบบที่ไทยนับถือ เป็นพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม ที่เรียกว่า เถรวาท พระไตรปิฎกภาษาบาลีที่มาสู่ประเทศไทย น่าจะมาในสมัยที่พระพุทธศาสนาแพร่มาจากประเทศพม่า สู่ภาคเหนือ ประมาณ พ.ศ. ๑๖๐๐ กับในสมัยที่แพร่มาจากประเทศศรีลังกา สู่นครศรีธรรมราช ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ แล้วทางกรุงสุโขทัยรับมา

 

เมื่อเป็นเช่นนี้พระไตรปิฎกที่ไทยเรารับมา และถ่ายทอดเป็นอักษรที่ใช้กันอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ จึงน่าจะเป็นอักษรลานนา หรือล้านนา ในกรณีที่รับมาจากประเทศพม่า ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๖๐๐ และน่าจะเป็นอักษรขอม ในกรณีที่รับมาจากลังกา ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๐๐ สภาพการปกครองประเทศในสมัยนั้น เชียงใหม่กับสุโขทัยมิได้ปกครองรวมกัน ต่างมีเจ้าผู้ครองนครเป็นอิสระของตนในแต่ละเมือง โดยเฉพาะในเมืองเชียงใหม่ พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๐๐๐ เป็นต้นมา มีการทำสังคายนา ชำระพระไตรปิฎก เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าติโลกราช หลังจากนั้นก็มีนักปราชญ์ภาษาบาลีผู้ยิ่งใหญ่คือ พระสิริมังคลาจารย์ แต่งตำราภาษาบาลี อธิบายพระพุทธศาสนาไว้หลายเล่ม เช่น คำอธิบายมงคลสูตร ที่เรียกว่า "มังคลัตถทีปนี" เป็นต้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการทำสังคายนาครั้งนั้น ประมาณ ๒๐-๔๐ ปี ส่วนในกรุงสุโขทัย ตั้งแต่ก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง มาถึงสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง มีการแต่งหนังสือเรื่อง ไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง อ้างอิงเรื่องราวจากพระไตรปิฎก และคำอธิบายพระไตรปิฎก มีการให้รายชื่อหนังสืออ้างอิงไว้หลายสิบเรื่อง อันแสดงให้เห็นความคิดนำสมัยของ พระมหาธรรมราชาลิไท ในการแต่งหนังสือ แล้วแสดงรายชื่อหนังสือที่ได้ค้นคว้าอ้างอิงไว้
เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ ๖๐๐-๘๐๐ ปีมาแล้ว

 

พระสถูปที่เมืองกุสินาราสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow