โดยเหตุที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ภาษาที่ใช้ในการสั่งสอนพระพุทธศาสนา จึงเป็นภาษาพื้นเมืองของชาวอินเดียในสมัยนั้น ภาษาที่ปรากฎในพระไตรปิฎก หรือรองรับพระไตรปิฎกเดิมเรียกว่า "มาคธี" หรือ "ภาษาของชาวมคธ"เพราะแคว้นมคธเป็นแคว้นสำคัญ ทั้งในพุทธกาลคือ ในสมัยพระพุทธเจ้า และในสมัยต่อมา แต่เมื่อมีการศึกษาพระพุทธศาสนากันแพร่หลายขึ้น จึงเรียกภาษาที่รองรับพระไตรปิฎกว่า "ภาษาบาลี" คำว่า ภาษาบาลีหมายถึง ภาษาพระไตรปิฎก การที่เรียกอย่างนี้ เพราะนิยมเรียกพระไตรปิฎกว่า "บาลี" เรียกคำอธิบายพระไตรปิฎกว่า "อรรถกถา" เรียกคำอธิบายอรรถกถาว่า "ฎีกา" เรียกคำอธิบายฎีกาว่า "อนุฎีกา" แม้ว่าภาษาบาลีจะไม่มีการพูดการใช้ในสมัยปัจจุบัน แต่โดยเหตุที่เป็นภาษารองรับพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนา จึงได้มีการศึกษาภาษาบาลีกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศอินเดีย ประเทศศรีลังกา ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศอังกฤษ และประเทศสหรัฐอเมริกา ดังจะเห็นได้ว่า ในประเทศอังกฤษได้มีสมาคมบาลีปกรณ์ (Pali Text Society) ตั้งขึ้น เพื่อจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาบาลี และคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ รวมทั้งหนังสืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก ทั้งภาษาบาลี และที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ การตั้งสมาคมบาลีปกรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ (ค.ศ. ๑๘๘๑) ทำให้พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี และฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ แพร่หลายไปในวงการศึกษาพระพุทธศาสนาทั่วโลก ต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง และที่ควรทราบก็คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงมีส่วนสำคัญในการพระราชทานพระราชทรัพย์ ช่วยเหลือสมาคมบาลีปกรณ์ในประเทศอังกฤษ ให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษรวม ๓ เล่ม ซึ่งตรงกับพระไตรปิฎกเล่ม ๙, ๑๐ และ ๑๑ ที่พิมพ์ในประเทศไทย แม้ในปัจจุบันหนังสือพระไตรปิฎกทั้ง ๓ เล่มนั้น จะขาดคราว และต้องพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง ก็ยังพิมพ์ข้อความแสดงพระเกียรติยศของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงอุปถัมภ์การแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษนั้น จนถึงสมัยปัจจุบัน