เกสรที่ออกมาจากต้นไม้ ต้นหญ้า หรือวัชพืชต่างๆ มีโปรตีนที่ก่อให้เกิดอาการผื่นคัน คัดจมูก หรือมีน้ำมูกไหล ลักษณะคล้ายจะป่วยเป็นหวัดในทันทีที่สัมผัส เกสรจากพืชหลายชนิดที่ออกมาในแต่ละช่วงฤดูของปี กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ที่แตกต่างกันออกไป บางคนแพ้เกสรที่กระจายตัวออกมาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ในขณะที่บางคนแพ้เฉพาะช่วงฤดูใบไม้ร่วง
มีการศึกษาและจัดกลุ่มสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ พบว่าคนที่ถูกกระตุ้นหรือมีอาการแพ้ที่เกิดจากเกสรหรืออาหารบางชนิด จะมีอาการตอบสนองต่ออาหารหรือเกสรที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น หากระบบภูมิคุ้มกันของคุณถูกกระตุ้นด้วยเกสรหรือต้นหญ้าพันธุ์ Timothy ก็มักจะแพ้เมล่อน ส้ม และมะเขือเทศด้วย เป็นต้น แปลว่าเมื่อคุณกินส้ม หรือมะเขือเทศ คุณจะเกิดอาการคันปาก หากแพ้มากก็อาจจะระคายเคืองทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ หลังจากที่กินเข้าไปเพียงไม่กี่นาที อาการที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า OAS (Oral Allergy Symptom) บ้างก็เรียกว่า Pollen-Food Syndrome โดยปกติแล้วอาการจะคงอยู่ไม่เกิน 2-3 ชั่วโมงและจะหายไปเอง แต่ส่วนใหญ่แล้วคุณจะตระหนกหลังจากที่เริ่มคันและแทบจะลืมไปในทันทีที่อาการหายไปเพราะว่ามันหายไปเร็วมาก และไม่เป็นอันตรายเท่ากับอาการแพ้จากอาหารจำพวกถั่ว แป้ง หรืออาหารทะเล ที่เป็นอาการแพ้ชนิด Straight-up Food Allergies ซึ่งรุนแรงกว่า เพราะโปรตีนที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ไม่ถูกย่อยสลายไปในระบบย่อยอาหารของร่างกาย และนั่นทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเนื่องภายในร่างกาย
ระบบภูมิคุ้มกันของคุณเข้าใจผิดว่าโปรตีนที่มีอยู่ในพืช เกสร หรือผลไม้เป็นสิ่งที่เป็นภัยต่อร่างกายของคุณ ร่างกายของคุณจึงทำการป้องกันตัวเองโดยการขยายเส้นเลือดให้กว้างขึ้น เพื่อทำให้การเดินทางของเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งจะมาจัดการกับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมเดินทางไปยังบริเวณนั้นได้ง่ายขึ้น และนี่ทำให้ปากหรือจมูกซึ่งสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้แพ้เกิดอาการบวมแดง สารคัดหลั่งถูกขับออกมาในปริมาณมาก สารคัดหลังอย่างน้ำมูกจะมีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำและมีส่วนผสมของสารต้านแบคทีเรีย โดยพร้อมที่จะดักจับสิ่งแปลกปลอมบริเวณโพรงจมูกไม่ให้เคลื่อนตัวเข้าไปในร่างกาย ทำให้คุณมีน้ำมูกไหลออกมาแทบจะในทันที ความเชื่อมโยงระหว่างการแพ้เกสรและผลไม้เกิดขึ้นเมื่อคุณสัมผัสกับเกสรที่แพ้บ่อยๆ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นบ่อยๆ จนร่างกายเริ่มมึนงงและเหมารวมเอาผลไม้บางชนิดที่มีโปรตีนคล้ายกันเข้าไปด้วย อีกทั้งยังจะถูกกระตุ้นง่ายขึ้นด้วย
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าอาการแพ้ผลไม้จำพวกลูกพีชหรือเชอรี่นี้เป็นอาการแพ้ที่เล็กน้อย ใกล้เคียงกับอาการแพ้ดอกหญ้าหรือเกสร ซึ่งเมื่อโปรตีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้เข้าสู่ระบบทางเดินอาหารและเริ่มถูกย่อยแล้ว โปรตีนเหล่านั้นจะถูกแบ่งเป็นเอนไซม์ เป็นโมเลกุลที่เล็กลง และไม่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้อีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของอาหารรวมถึงการปรุงอาหารหรือผลไม้เหล่านั้นอย่างเช่น การปอกเปลือก หรือการทำให้สุกระหว่างการแปรรูปเป็นขนมอย่างการทำพายหรือแยม อาจทำให้ร่างกายคุณไม่แพ้อีกต่อไป มันทำให้เกิดความแตกต่างกันอย่างมากกับการกินแบบสดๆ อย่างไรก็ตามหากคุณกังวลเรื่องอาการแพ้และต้องการคำแนะนำที่แน่ชัด รวมถึงต้องการรู้ ระวัง และเตรียมตัวหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ การพบแพทย์คือทางออกที่ดีที่สุดในการรับมือกับเหตุการณ์นี้ ปัจจุบันมีกระบวนการทดสอบอาการแพ้เพื่อให้ทราบถึงชนิดของสิ่งที่ควรระวังหรือหลีกเลี่ยง เพื่อที่คุณจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่ต้องคันคอ คันปาก หรือจามโดยไม่ได้ตั้งใจอีกต่อไป