Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การรักษา

Posted By Plookpedia | 27 มิ.ย. 60
3,097 Views

  Favorite

การรักษา

      เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคเรื้อรังจึงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันยาวนาน  นอกจากนี้อาการต่าง ๆ ของโรคยังมีการเปลี่ยนแปลงไปได้เป็นครั้งคราวและมีการดำเนินโรค ไปในทางเลวลงเรื่อย ๆ  ดังนั้นการดูแลรักษาจึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลาเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหรือรักษาโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นมาใหม่ในแต่ละรายสำหรับวัตถุประสงค์หลักของการรักษา คือ การเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้กลับมาใกล้เคียงกับคนปกติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้โดยต้องคำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพด้านความจำ สติปัญญา อารมณ์ และบุคลิกภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก

 

การรักษา
การตรวจร่างกายทางระบบประสาทเป็นพื้นฐานให้กับผู้ป่วยทุกราย

 

      การรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีวิธีการสำคัญ ๒ ประการ คือ การใช้ยาและการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องใช้ยา  ปัจจุบันมีการพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่ายาที่ใช้รักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั้นมีประสิทธิภาพที่จะเพิ่มความสามารถในการรับรู้และแก้ไขพฤติกรรมของผู้ป่วยได้  แต่ควรจะเลือกใช้ยาหลังจากที่ใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล เพราะยาที่ใช้กับผู้ป่วยอาจมีผลแทรกซ้อนตามมาได้เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์มักเกิดกับผู้สูงอายุที่มักมีการทำงานของไตบกพร่องและการทำงานของตับในการขับสารต่าง ๆ เป็นไปได้ช้าจึงมีความโน้มเอียงสูงที่จะเกิดอันตรายจากการใช้ยา  นอกจากนี้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ มักมีโรคประจำตัวอยู่หลายอย่างจึงอาจได้รับยาหลายขนานร่วมกัน  ดังนั้นก่อนการใช้ยาใด ๆ จึงต้องพิจารณาปัญหาด้านปฏิกิริยาของการใช้ยาร่วมกันด้วย อนึ่งผู้สูงอายุยังมีปัจจัยด้านความตึงตัวของหลอดเลือดที่ลดลงจากเดิม  ดังนั้นการใช้ยาต่าง ๆ อาจมีผลทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำซึ่งทำให้หกล้มได้  การเริ่มใช้ยาในผู้ป่วยอัลไซเมอร์จึงนิยมใช้ในขนาดที่ต่ำที่สุดก่อนเพื่อจะได้มีผลแทรกซ้อนน้อยที่สุดรวมทั้งการใช้ยากลุ่มกล่อมประสาทจะต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งเพราะอาจทำให้เกิดการสับสนหรือมีอาการเลวลงในด้านปริชานได้  นอกจากนี้ยากลุ่มที่ไม่จำเป็นที่ผู้สูงอายุนิยมใช้กันเองซึ่งมีมากมายหลายขนาดนั้นสมควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก่อนที่แพทย์จะสั่งยาให้แก่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จำเป็นต้องได้ประวัติการใช้ยา ประวัติการเจ็บป่วยของโรคอื่น ๆ และมีการตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียดรอบคอบแล้วจึงพิจารณาปรับยาต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยได้รับดัดแปลงขนาดและจำนวนให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย  สำหรับแนวทางในการรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์นั้น มีหลักการดังนี้

๑. อาหารและแนวการดำเนินชีวิต

      การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ต้องประกอบด้วย การปรับสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย การดูแลจากครอบครัว และการป้องกันโรค หรือภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดตามมา เช่น หกล้ม อุบัติเหตุต่าง ๆ และการติดเชื้อ นอกจากนี้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่บ้านยังเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมจะทำให้ผู้ป่วยวุ่นวายและไม่สงบดังนั้นในด้านกิจวัตรประจำของผู้ป่วยควรมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากโดยจะต้องได้รับการดูแลอย่างดีและถูกต้อง  สำหรับปัญหาด้านการออกกำลังการเคลื่อนไหว อาหารการกิน การขับถ่าย และการป้องกันการขาดสารอาหารและน้ำ เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษพร้อมกับการดูแลความสะอาดของร่างกาย อนึ่ง การที่ผู้ป่วยได้รับกำลังใจและการสนับสนุนจากสมาชิกในครอบครัวอย่างดีและเพียงพอมีความสำคัญมาก เพราะผู้ป่วยโรคนี้มีความโน้มเอียงที่จะเกิดอาการซึมเศร้า วิตกกังวล และนอนไม่หลับ  ดังนั้นบทบาทของสมาชิกในครอบครัวต่อผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จำเป็นต้องได้รับการอธิบาย ส่งเสริม และร่วมมืออย่างดีเพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงกับคนปกติ

 

ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีจากครอบครัว
ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีจากครอบครัว

 

๒. การรักษาทางยา

      ปัจจุบันมียาที่ถือว่ามีประสิทธิผลดีต่อการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และเป็นที่ยอมรับในการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ คือ ยากลุ่ม acetyl cholinesterase inhibitor และยากลุ่ม NMDA receptor antagonist แต่เนื่องจากยาทั้ง ๒ กลุ่มนี้มีราคาแพงและเป็นยาใหม่จึงต้องมีความระมัดระวังในการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
ก. Acetyl cholinesterase inhibitor
      ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการทำลาย acetyl choline ในสมองซึ่งผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีการขาดสารนี้ทำให้การติดต่อประสานงานของเซลล์สมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับด้านความจำบกพร่องไป เมื่อมีการยับยั้งการทำลายก็จะทำให้ acetyl choline ในสมองมีปริมาณมากขึ้นได้ ยากลุ่มนี้ในปัจจุบันมีหลายชนิด ได้แก่

  • Tacrine เป็นยาชนิดแรกที่ได้รับการจดทะเบียนจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้สามารถนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้  ปัจจุบันความนิยมในการใช้ยาชนิดนี้ลดลงมากแม้จะมีประสิทธิผลดีก็ตามทั้งนี้เพราะมีปัญหาแทรกซ้อนด้านตับอักเสบตามมาสูง  โดยพบว่าราวร้อยละ ๓๐ ของผู้ใช้ยาอาจมีค่าเอนไซม์ตับ คือ transaminase ขึ้นสูงพร้อมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ราวร้อยละ ๑๐ ปัจจุบันยาชนิดนี้ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย
  • Donepezil เป็นยาชนิดที่ ๒ ที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้ใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ได้  ผลแทรกซ้อนของยาชนิดนี้ที่มีรายงาน คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาจพบสูงถึงร้อยละ ๑๐ - ๒๐ นอกจากนี้อาจมีชีพจรเต้นช้าและกระเพาะอาหารอักเสบร่วมด้วยได้แต่ไม่มีผลต่อการเกิดตับอักเสบแต่อย่างใด  ดังนั้นจึงมีความปลอดภัยสูงยาชนิดนี้มีคุณสมบัติเป็นตัวกระตุ้นเสริมปริชานในผู้ป่วยด้วยใช้สะดวกเพราะใช้รับประทานวันละครั้ง แต่ข้อเสียของยาชนิดนี้ คือ มีราคาแพงมาก ปัจจุบันยาชนิดนี้มีจำหน่ายแล้วในประเทศไทย
  • Rivastigmine เป็นยาชนิดที่ ๓ ที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้ใช้รักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้  ผลแทรกซ้อนของยาชนิดนี้ คือ ปวดศีรษะ คลื่นไส้วิงเวียน และท้องเสีย แต่ถ้าเริ่มให้ขนาดน้อย ๆ จะลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้  ยาชนิดนี้ก็สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีประโยชน์กับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในระยะแรกและระยะกลาง  แต่มีข้อเสียที่มีราคาแพงมากเช่นกัน ปัจจุบันยาชนิดนี้มีจำหน่ายแล้วในประเทศไทย
  • Galantamine เป็นยาใหม่ชนิดที่ ๔ ที่ได้จดทะเบียนแล้วกับองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา  ยาชนิดนี้มีคุณสมบัติช่วยเร่งการนำส่งสารโคลีน (choline) ในสมองเพิ่มขึ้น  ผลแทรกซ้อนของยาชนิดนี้ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย แต่ถ้าเพิ่มขนาดยาทีละน้อย ๆ และช้า ๆ จะแก้ไขปัญหานี้ได้  นอกจากนี้อาจมีปัญหาเรื่องเบื่ออาหารและน้ำหนักลดได้ ปัจจุบันยาชนิดนี้มีจำหน่ายแล้วในประเทศไทย

ข. NMDA receptor antagonist
      เป็นยากลุ่มใหม่ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ ให้สามารถนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ชนิดที่มีอาการรุนแรงมากถึงรุนแรงปานกลางได้ผลดี  ยาชนิดนี้มีจำหน่ายในท้องตลาดโดยมีชื่อเคมี คือ memantine hydrochloride และชื่อการค้า คือ Ebixa ในประเทศไทยได้จดทะเบียนให้จำหน่ายยาชนิดนี้ใน พ.ศ. ๒๕๔๗ ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งสารกลูทาเมต (glutamate) ซึ่งเป็นสารพิษทำลายเซลล์สมองดังนั้นจึงมีฤทธิ์เป็นสารป้องกันเซลล์สมองด้วย  สำหรับผลแทรกซ้อนของการใช้ยาชนิดนี้อาจเกิดได้บ้าง เช่น ประสาทหลอน สับสน มึนงง ปวดศีรษะ เมื่อยล้า

๓. การรักษาภาวะอื่นที่เกิดร่วม

      เป็นการรักษาอาการทางด้านจิตเวชของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ซึ่งมีอาการวุ่นวายทางพฤติกรรม (behavioral disturbance) อาการนี้อาจพบในระยะใดของโรคอัลไซเมอร์ก็ได้และไม่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางด้านปริชาน อาการวุ่นวายทางพฤติกรรมที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่
ก. ภาวะซึมเศร้า (depression)
      อาการซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ พบว่าอาจเกิดขึ้นราวร้อยละ ๖๐ ของผู้ป่วย โดยปกตินิยมให้ยาต้านการซึมเศร้า (antidepression) ในขนาดต่ำ ๆ ก่อนและเพิ่มขนาดขึ้นทีละน้อย นอกจากนี้ ในระยะท้ายของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อาจจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางเพื่อเป็นการรักษาแบบประคับประคองให้แก่ผู้ป่วย

 

การเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยอัลไซเมอร์
การเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยอัลไซเมอร์

 

ข. ภาวะโรคจิต (psychosis)
      ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเอะอะโวยวายหรืออาละวาด ยากลุ่มรักษาโรคจิต (neuroleptics) เป็นยาที่ได้ผลดีที่สุดที่จะทำให้ผู้ป่วยสงบ แต่การใช้ยาควรใช้ในขนาดต่ำก่อนเพราะจะมีผลแทรกซ้อนน้อยกว่าขนาดสูง
ค. ภาวะกายใจไม่สงบ (agitation)
      อาการนี้พบว่าเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราวในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และอาจเกิดเป็นพัก ๆ ยาที่มีรายงานว่าใช้ได้ผลดีมีหลายชนิด เช่น carbamazepine, sodium valproate, buspirone, trazodone และ risperidone

๔. การรักษาวิธีใหม่

ปัจจุบันมีข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับการใช้ยาที่อาจชะลอการดำเนินโรคอัลไซเมอร์ซึ่งมีหลายชนิด ดังนี้
ก. ฮอร์โมนเอสโทรเจน (estrogen)
     จากการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่า การให้ฮอร์โมนเอสโทรเจนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือนจะทำให้เพิ่มปริชานและอาจลดการเกิดโรคอัลไซเมอร์  นอกจากนี้เอสโทรเจนยังลดความเสี่ยง ในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ การเสียชีวิตฉุกเฉิน และการเกิดภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis) ได้ด้วย  ข้อห้ามในการใช้ยาฮอร์โมนชนิดนี้ คือ ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยเป็นมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม หลอดเลือดดำอุดตันและอักเสบ ข้อเสียของยาชนิดนี้ คือ อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เลือดออกทางช่องคลอด และอาการปวดศีรษะไมเกรนกำเริบได้  อย่างไรก็ตามข้อมูลล่าสุดพบว่าการใช้ยากลุ่มเอสโทรเจนไม่ได้ผลในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในปัจจุบันจึงลดความนิยมใช้กัน
ข. แอนติออกซิแดนต์ (antioxidants)
      มีข้อมูลว่าการใช้ยา MAO-B inhibitor เช่น selegiline สามารถช่วยชะลอการดำเนินโรคอัลไซเมอร์ได้แต่ยาชนิดนี้มีปัญหาด้านการให้ยาร่วมกัน ผลแทรกซ้อนของยาชนิดนี้ที่พบบ่อย ได้แก่ อาการปากแห้ง คอแห้ง คลื่นไส้ วิงเวียน ความดันโลหิตต่ำ และนอนไม่หลับ สำหรับวิตามินอีที่เป็นแอนติ-ออกซิแดนต์ที่นิยมใช้กันก็มีการศึกษาวิจัยว่าสามารถนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน แต่มีข้อห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคขาดวิตามินเค
ค. กลุ่มยาต้านการอักเสบไร้สารสเตียรอยด์
      (nonsteroidal anti - inflammatory agents : NSAID) ข้อมูลจากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า การใช้ยากลุ่มนี้สามารถชะลอการดำเนินของโรคอัลไซเมอร์ได้

ง. วัคซีน
      ปัจจุบันได้มีความพยายามในการหาทางป้องกันโรคอัลไซเมอร์  โดยการฉีดวัคซีนซึ่งได้มีการทดลองกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในสหรัฐอเมริกาบ้างแล้วโดยใช้วัคซีนที่ทำจากบีตา-แอมีลอยด์โปรตีน แต่ก็พบว่าวัคซีนชนิดนี้ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ เกิดเยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ (meningoencephalitis) เมื่อได้รับวัคซีนในอัตราที่สูง  ส่วนแนวคิดที่จะใช้วัคซีนชนิดที่ทำจากเทาโปรตีน กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยอยู่ในปัจจุบัน

 

ยาชนิดต่างๆ ที่ช่วยชะลอการดำเนินของโรคอัลไซเมอร์
ยาชนิดต่าง ๆ ที่ช่วยชะลอการดำเนินของโรคอัลไซเมอร์

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow