ปัจจุบันเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคอัลไซเมอร์ แต่ปัจจัยเสี่ยงโรคที่สำคัญของการเกิดโรคอัลไซเมอร์นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
๑. อายุ
๒. ประวัติครอบครัว
๓. พันธุกรรมชนิด Apolipo protein E-4 (APOE-4)
๔. กลุ่มอาการดาวน์ (Down's syndrome)
๑. เพศหญิง
๒. ระดับการศึกษาต่ำ
๓. ภยันตรายต่อศีรษะ
๔. โรคหลอดเลือดสมอง (cerebro-vascular disease)
๕. การได้รับพิษจากสารเคมีต่าง ๆ
๖. พันธุกรรมเสี่ยงโรคอื่น ๆ ที่กำลังศึกษาค้นคว้ากันอยู่
ปัจจัยเสี่ยงโรคที่กล่าวมานั้นบางอย่างเราไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น อายุและเพศ สำหรับปัจจัยทางพันธุกรรมนั้นในปัจจุบันได้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยกันมาก โดยพบว่าโครโมโซมที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ในคนที่มีอายุน้อยในครอบครัวเป็นผลมาจากการผ่าเหล่าทางพันธุกรรม (genetic mutation) ที่เกิดกับโครโมโซม ๑, ๑๔ และ ๒๑ ส่วนการพบ APOE-4 บนโครโมโซม ๑๙ ของผู้ใด จะทำให้ผู้นั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ เมื่อผู้นั้นมีอายุสูงกว่า ๖๕ ปี อย่างไรก็ตาม APOE-4 นี้ ก็อาจพบได้ในคนสูงอายุที่ไม่ได้เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกันและผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ก็ไม่จำเป็นต้องพบ APOE-4 เสมอไป ดังนั้นในปัจจุบันจึงยังไม่แนะนำให้ใช้การตรวจ APOE-4 ในการตรวจคัดกรองสำหรับผู้สูงอายุเพื่อดูว่าผู้ใดจะมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่
ในด้านระดับการศึกษาพบว่าผู้ที่มีการศึกษาสูงจะมีโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์น้อยกว่าผู้ที่มีระดับการศึกษาต่ำ ทั้งนี้เชื่อว่าอาจเป็นเพราะผู้ที่มีการศึกษาสูงมีปริชานสำรอง (cognitive reserve) คือ ความสามารถในการรับรู้ที่เตรียมเผื่อไว้มากกว่าหรือมีการกระตุ้นการพัฒนาของระบบประสาทติดต่อประสานงานมากกว่าและยาวนานกว่าจึงทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดพยาธิสภาพในสมอนอกจากนี้ผู้ที่มีการศึกษาสูงมักเป็นกลุ่มที่มีฐานะดีดังนั้นจึงมักมีภาวะโภชนาการดีกว่าและมีความเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษน้อยกว่าจึงทำให้โอกาสการเกิดโรคอัลไซเมอร์ลดลงกว่ากลุ่มที่มีการศึกษาต่ำ
ในด้านภยันตรายต่อสมองพบว่าเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์เพราะอุบัติเหตุกับสมองอาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติและเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีรายงานทางการแพทย์ว่าอาการซึมเศร้าในกลุ่มอาการดาวน์อาจพบได้ก่อนเกิดโรคอัลไซเมอร์จึงทำให้คิดว่าอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน