เด็ก ๆ เคยดูปลาทองกินอาหารหรือไม่ ปลาทองเป็นปลาที่ความจำไม่ดีความจำของมันจะสั้นมาก ปลาทองจะลืมว่ามันได้กินอาหารไปแล้วเพียงไม่กี่นาทีหลังจากที่มันได้กินอาหารนั้น คนบางคนก็มีความจำสั้นเหมือนกับปลาทอง ตอนที่เราเป็นเด็กหรือโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่สมองของเรายังแข็งแรงอยู่ความจำของเราจะดีมากสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย จดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้แม่นยำ แต่เมื่อเรามีอายุมากกลายเป็นคนแก่ สมองของเราจะเสื่อมทำให้ไม่อาจจำได้ดีเหมือนเดิม คนแก่บางคนมีความจำไม่ดีมาก ๆ จนอาจลืมชื่อตัวเอง ลืมทางกลับบ้าน หรือลืมเรื่องที่เพิ่งจะได้ยิน คนแก่ที่น่าสงสารเหล่านี้อาจจะเป็นโรคร้ายที่ชื่อว่า โรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์นั้นอันตรายมาก สมองของคนที่ป่วยเป็นโรคนี้จะเสื่อมสภาพและเสียไปทีละน้อย ทำให้เริ่มจำอะไรไม่ได้จนอาจจะลืมชื่อของเด็ก ๆ ได้ พอสมองของเขาเสื่อมสภาพมากขึ้นคนคนนั้นจะเริ่มมีนิสัยเปลี่ยนไปจากคุณปู่คุณย่าที่เรียบร้อยใจดี อาจกลายเป็นขี้หงุดหงิดหรือซึมเศร้าได้และภายในเวลาไม่กี่ปีสมองของผู้ป่วยคนนั้นจะหมดสภาพกลายเป็นคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้และต้องตายในที่สุด ถ้าบังเอิญเรารู้จักคนที่โชคร้ายป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์กลายเป็นคนสมองเสื่อมจำอะไรไม่ค่อยได้ เราก็ควรจะช่วยดูแลและให้กำลังใจเขาอย่างเต็มที่อย่าบ่นเวลาที่เขาจำชื่อเราไม่ได้หรือทำอะไรผิดพลาดต้องระวังไม่ให้เขาหงุดหงิดและคอยช่วยเหลือให้เขาอยู่ได้อย่างปกติ
ถึงแม้เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าโรคอัลไซเมอร์เกิดขึ้นจากอะไร แต่เด็ก ๆ สามารถป้องกันตนเองจากโรคสมองเสื่อมนี้ได้โดยการฝึกใช้สมองให้มาก ๆ อ่านหนังสือเรียนและทำการบ้านสม่ำเสมอจะช่วยให้สมองของเราได้พัฒนา เฉลียวฉลาด มีความจำที่แม่นยำ นอกจากการฝึกใช้งานสมองแล้วเด็ก ๆ จะต้องออกกำลังกายทุกวัน เพราะจะทำให้ร่างกายของเรามีสุขภาพดีเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงและมีรูปร่างดีอีกด้วย นอกจากนี้ควรจะต้องรับประทานอาหารให้ครบทั้ง ๕ หมู่ และคอยระวังไม่ให้หัวของเราไปกระแทกกับอะไรจะได้มีความจำดีไม่มีใครมาล้อเลียนว่า มีความจำสั้นเหมือนปลาทอง
ในบรรดาโรคร้ายต่าง ๆ ที่รู้จักกันดีว่ากำลังคร่าชีวิตของผู้คนทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดสมองแล้วนั้น โรคอัลไซเมอร์เป็นอีกโรคหนึ่งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ นอกจากจะเป็นโรคที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสุขภาพชีวิตและเศรษฐกิจแล้วโรคอัลไซเมอร์ยังเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจนอีกด้วย
โรคอัลไซเมอร์ มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่อายุเกินกว่า ๖๕ ปี ขึ้นไป โดยจะทำให้เซลล์สมองของผู้ป่วยเสื่อมสภาพถาวรทีละน้อยจนทำให้บุคคลนั้นสูญเสียความทรงจำและมีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไปไม่อาจคิดวิเคราะห์หรือจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ จนเมื่อถึงขั้นร้ายแรงแล้วผู้ป่วยอาจไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้และมักเสียชีวิตภายในระยะเวลาเพียงแค่ ๑๐ ปี หลังจากตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ สมองของคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะเสื่อมสภาพไปมากเมื่อเทียบกับสมองของผู้สูงอายุทั่วไป โดยในระยะแรกนั้นจะมีก้อนโปรตีนขนาดเล็ก ๆ รวมตัวกัน กระจายทั่วไปในสมองของผู้ป่วยทำให้เซลล์สมองถูกทำลายได้ง่ายและสมองเกิดการอักเสบ ขณะที่เส้นใยประสาทของเซลล์สมองที่ผิดปกติจะพันกันยุ่งเหยิงจนไม่อาจส่งสัญญาณประสาทเชื่อมโยงกันหรือซ่อมแซมตัวเองได้ ในระยะนี้จะเห็นว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการความจำสั้น จดจำสิ่งต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ และมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ลดลง การสูญเสียความทรงจำระยะสั้นนี้เกิดจากการที่สมองส่วนควบคุมการจดจำนั้นได้ถูกทำลายไป
เมื่อความผิดปกติมีมากขึ้นเซลล์สมองจะหยุดการทำงานและสูญเสียความสามารถในการประสานงานกับเซลล์สมองอื่น เนื้อสมองจะตายเป็นส่วน ๆ โดยจะสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยเริ่มมีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไปเนื่องจากเซลล์สมองส่วนควบคุมด้านภาษาและการใช้เหตุผลได้หยุดการทำงานจนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถตัดสินใจหรือใช้ภาษาได้ตามปกติ อาจมีบุคลิกก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย หรือมีอาการคล้ายเป็นโรคทางจิต ท้ายที่สุดแล้วทั่วทั้งสมองของผู้ที่เป็นโรคจะเกิดอาการเนื้อสมองฝ่อลีบลง สมองหมดสภาพอย่างเห็นได้ชัดทำให้ผู้ป่วยไม่อาจตอบสนองต่อสิ่งเร้าใด ๆ กลายเป็นอัมพาตและไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้แม้แต่การรับประทานอาหารหรือการขับถ่ายก็ตาม ยังไม่มีการระบุแน่ชัดว่าปัจจัยใดเป็นสาเหตุที่แท้จริงของโรคอัลไซเมอร์ เชื่อกันว่าความผิดปกติของยีนที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมเป็นปัจจัยที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ ขณะที่มีปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุรองลงมา เช่น การได้รับอุบัติเหตุทางสมอง โรคหลอดเลือดในสมองตีบ การมีโปรตีนที่ผิดปกติสะสมอยู่ในสมอง พิษจากสารกลุ่มอนุมูลอิสระ การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งการได้รับการศึกษาในระดับต่ำเกินไปจนทำให้สมองไม่ค่อยได้รับการกระตุ้นพัฒนา
การที่แพทย์จะวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นโรคอัลไซเมอร์นั้นจะต้องวิเคราะห์ก่อนว่ามีภาวะสมองเสื่อมจริงหรือไม่ แล้วจึงตรวจสอบว่าไม่ได้เป็นโรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมนั้น แพทย์จะวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมโดยการซักประวัติคนไข้เกี่ยวกับการใช้ยาต่าง ๆ ที่อาจทำให้สูญเสียความจำและการรับรู้ได้ จากนั้นจะตรวจร่างกายทั่วไปประกอบกับการทดสอบสมรรถภาพของสมอง ระบบประสาท และการประเมินสุขภาพจิต โดยอาจใช้การสอบถามเบื้องต้น เช่น ถามเกี่ยวกับวันที่ เดือน ปี เวลา สถานที่ หรือภาพที่ชี้ การทำตามคำสั่งหรือพูดตามประโยคที่บอก หรือวาดภาพให้เหมือนตัวอย่างมากที่สุด ถ้าได้คะแนนการทดสอบต่ำกว่าปกติถือว่าบุคคลนั้นอาจมีภาวะสมองเสื่อมได้
การรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์นั้นนอกจากจะอาศัยการดูแลผู้ป่วยในด้านอาหารและแนวการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมแล้ว แพทย์ยังอาจรักษาด้วยยาอีกด้วยโดยอาศัยทั้งยาที่สามารถเพิ่มการรับรู้ เช่น ยาที่เร่งการนำส่งสารสื่อประสาทในสมองให้เพิ่มขึ้น ยายับยั้งการทำลายสารสื่อประสาทในสมองเพื่อให้สารสื่อประสาทในสมองมีมากขึ้น ยาป้องกันการหลั่งสารที่เป็นพิษมาทำลายเซลล์สมอง รวมทั้งยาที่แก้ไขพฤติกรรมของผู้ป่วยได้ เช่น ยารักษาภาวะซึมเศร้า ภาวะโรคจิตเอะอะอาละวาด และภาวะกายใจไม่สงบ นอกจากนี้ยังมีการให้วิตามินอีเพื่อต้านอนุมูลอิสระรวมทั้งการคิดค้นพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันโรคอัลไซเมอร์โดยเฉพาะ เราสามารถป้องกันตนเองไม่ให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรค เช่น หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุเกี่ยวกับศีรษะ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีวิตามินและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนอกจากนี้ยังควรฝึกสมองให้ถูกกระตุ้นอยู่เสมอ
แม้ว่าโรคอัลไซเมอร์ไม่ใช่โรคที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักและคำนึงถึงมากนัก แต่โรคอัลไซเมอร์กำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ทางสาธารณสุขสำหรับประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากอัตราส่วนของจำนวนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วทำให้ผู้ที่อยู่ในวัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มีจำนวนมากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นที่รัฐจะต้องวางแผนการแก้ไขและการป้องกันโรคอัลไซ เมอร์อย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีในระยะยาวต่อไป