ซากดึกดำบรรพ์ที่พบในประเทศไทยมีหลากหลายเกือบทุกประเภท ได้แก่ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น ปะการัง หอย ไทรโลไบต์ สัตว์มีกระดูกสันหลัง เช่น เต่า ไดโนเสาร์ ปลา จระเข้ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนซากพืชพบหลายชนิดมีทั้งส่วนของลำต้น ใบ และละอองเรณู นอกจากนี้ยังมีร่องรอยของสัตว์ดึกดำบรรพ์ เช่น รอยเท้าและรอยทางเดินของไดโนเสาร์ รูและรอยชอนไชของหนอน ซากดึกดำบรรพ์เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย คือ ซากไทรโลไบต์ มีอายุราว ๕๐๐ ล้านปี พบที่เกาะตะรุเตา ส่วนซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุใหม่ ได้แก่ ซากหอยนางรมยักษ์ ที่พบจากชุดดินกรุงเทพฯ มีอายุเพียง ๕,๕๐๐ ปี ในที่นี้จะกล่าวถึงซากดึกดำบรรพ์ที่พบในประเทศไทยเพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่าง โดยเรียงลำดับตามอายุทางธรณีวิทยาจากเก่าสุดไปหาใหม่สุด ดังนี้
แหล่งซากดึกดำบรรพ์เกาะตะรุเตาอยู่ห่างจากตัวจังหวัดสตูลไปทางทิศตะวันตก ราว ๔๕ กิโลเมตร เป็นบริเวณที่มีซากดึกดำบรรพ์อายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มีการสะสมตัวตั้งแต่ยุคแคมเบรียนตอนปลาย ต่อเนื่องมาจนถึงยุคออร์โดวิเชียนตอนต้น ราว ๕๐๐ - ๔๗๐ ล้านปี มาแล้วได้พบซากดึกดำบรรพ์ในชั้นหินดินดานและหินทรายจากหลายบริเวณบนเกาะตะรุเตา ได้แก่ อ่าวตะโละโต๊ะโป๊ะ อ่าวตะโละอุดัง และอ่าวมะละกา เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น ไทรโลไบต์ บราคิโอพอด นอติลอยด์ และร่องรอยสัตว์ดึกดำบรรพ์
ไทรโลไบต์
เป็นสัตว์ทะเลจัดอยู่ใน ไฟลัมอาร์โทรโพดา (Arthropoda) พวกเดียวกับกุ้ง ปู ที่เรียกชื่อว่า ไทรโลไบต์ เนื่องจากลำตัวแบ่งได้เป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนแกนลำตัว และอีก ๒ ส่วนด้านข้างลำตัว รูปลักษณะคล้ายกับแมงดาทะเลปัจจุบัน แต่มีขนาดเล็กกว่าตั้งแต่ขนาดไม่กี่มิลลิเมตร จนถึง ๙๐ เซนติเมตร ไทรโลไบต์อาศัยอยู่ในทะเลตื้นและตามแนวปะการัง พบแพร่หลายในมหายุคพาลีโอโซอิกตอนต้นสูญพันธุ์ไปเมื่อปลายยุคเพอร์เมียน ไทรโลไบต์ที่พบบนเกาะตะรุเตามีบางชนิดเป็นชนิดใหม่ที่เพิ่งพบในโลก เช่น Parakoldinioidia thaiensis, Thailandium solum และ Eosaukia buravasi
บราคิโอพอด
เป็นสัตว์ทะเลจัดอยู่ใน ไฟลัมบราคิโอโพดา (Brachiopoda) ส่วนใหญ่เป็นพวกเกาะติดที่ (sessile) ตามหินหรือวัตถุที่อยู่บนพื้นทะเลบริเวณน้ำตื้น มีลักษณะคล้ายหอยกาบคู่ เช่น หอยแครง แต่ต่างกันที่เปลือกทั้ง ๒ ฝา ที่มีขนาดไม่เท่ากัน แต่ฝาเดียวกันจะมีลักษณะด้านซ้ายและด้านขวาสมมาตรกัน เปลือกมีขนาดประมาณ ๒ - ๗ เซนติเมตร พบแพร่หลายมากในมหายุคพาลีโอโซอิก บราคิโอพอดที่พบบนเกาะตะรุเตามีไม่มากนักและมีขนาดเล็ก เช่น สกุล อะพีออร์ทิส (Apheorthis sp.)
นอติลอยด์
เป็นสัตว์ทะเลจัดอยู่ใน ไฟลัมมอลลัสกา (Mollusca) หรือสัตว์จำพวก หอย ชั้นเซฟาโลโพดา (Cephalopoda) กลุ่มเดียวกับปลาหมึกในปัจจุบัน พบแพร่หลายในมหายุคพาลีโอโซอิกปัจจุบันเหลืออยู่เพียงชนิดเดียว คือ หอยนอติลุส เป็นสัตว์กินเนื้อ ลำตัวแบ่งเป็นห้อง ๆ โดยมีผนังกั้นห้อง ส่วนใหญ่ลอยอยู่บนผิวน้ำทำให้พบได้ทั้งบริเวณทะเลตื้นและทะเลลึก
ร่องรอยสัตว์ดึกดำบรรพ์
คือ ร่องรอยที่เกิดจากการทำกิจกรรมของสัตว์ เช่น รูหรือรอยชอนไชของสัตว์ในดินเพื่ออยู่อาศัยหรือเพื่อหาอาหาร สัตว์ต่างชนิดกันจะขุดรูและมีแนวทางการชอนไชเพื่อหาอาหารที่ต่างกัน ที่เกาะตะรุเตา พบร่องรอยสัตว์ดึกดำบรรพ์หลายชนิดในหินทรายสีแดง เช่น รอยทางเดินของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและรอยชอนไชของหนอน สกุลGordia sp. ซึ่งเป็นรอยวนกลม ๆ
แหล่งซากดึกดำบรรพ์บ้านป่าเสม็ด อยู่ห่างจากตัวเมืองสตูลไปทางทิศเหนือประมาณ ๔๕ กิโลเมตร เป็นบริเวณที่ค้นพบซากดึกดำบรรพ์หลายชนิด ได้แก่ แกรปโทไลต์ (Graptolite) และเทนทาคูไลต์ (Tentaculite) อายุราว ๔๐๐ - ๓๘๕ ล้านปี ในยุคดีโวเนียน
แกรปโทไลต์
เป็นสัตว์ทะเลที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ ซากดึกดำบรรพ์ที่พบส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายรอยพิมพ์บาง ๆ บนหินดินดานสีดำหรือมีรูปร่างคล้ายกิ่งไม้ แกรปโทไลต์ถือเป็นซากดึกดำบรรพ์ดัชนีเนื่องจากพบมากในมหายุคพาลีโอโซอิกตอนต้น ตั้งแต่ยุคออร์โดวิเชียนถึงยุคดีโวเนียนซากดึกดำบรรพ์แกรปโทไลต์ที่พบในบริเวณนี้ ได้แก่ สกุล Diplograptus sp. และ Climacograptus sp. อยู่ในหินดินดานสีดำ
เทนทาคูไลต์
เป็นสัตว์ทะเลขนาดเล็กมีลักษณะคล้ายหอยขนาดเล็ก เป็นรูปกรวย ยาว มีโคนกว้าง และมียอดแหลม พบมากในมหายุคพาลีโอโซอิกตอนต้น ที่พบจำนวนมากในบริเวณนี้ ได้แก่ Nowakia sp. และ Styliolina sp.
แหล่งซากดึกดำบรรพ์เขาถ่านตั้งอยู่บริเวณชายทะเลบ้านเขาถ่าน อยู่ห่างจากตัวจังหวัดชุมพรไปทางทิศใต้ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร เป็นเขาหินปูนสลับกับหินดินดานมีอายุตั้งแต่ยุคคาร์บอนิเฟอรัสตอนปลายจนถึงยุคเพอร์เมียนตอนต้น ราว ๓๐๐ - ๒๗๐ ล้านปีมาแล้ว พบซากดึกดำบรรพ์หลายชนิด ได้แก่ หอยกาบคู่ ไบรโอซัว ไครนอยด์ บราคิโอพอด ฟองน้ำ และร่องรอยสัตว์ดึกดำบรรพ์
หอยกาบคู่
เป็นสัตว์ทะเลจัดอยู่ใน ไฟลัมมอลลัสกา หรือสัตว์จำพวกหอย ประกอบด้วย ฝาหอย ๒ ฝาที่มีขนาดฝาเท่ากันแต่มีด้านซ้ายและด้านขวาของฝาเดียวกันไม่สมมาตรกัน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่พื้นทะเลในบริเวณทะเลตื้น โดยพบตั้งแต่ยุคแคมเบรียนจนถึงปัจจุบัน หอย ๒ ฝาที่พบในบริเวณนี้ ได้แก่ Pecten sp.
ไบรโอซัว
เป็นสัตว์ทะเลจัดอยู่ใน ไฟลัมไบรโอซัว (Bryozoa) ชอบอาศัยอยู่เป็นกลุ่มในบริเวณทะเลตื้น น้ำใส แต่อาจพบบ้างในแหล่งน้ำจืด ส่วนใหญ่ยึดติดอยู่กับพื้นทะเลแต่สามารถเคลื่อนที่ช้า ๆ ได้โดยรอบ มีรูปร่างหลายแบบ บ้างเป็นแผ่นบาง ๆ ติดอยู่กับก้อนหินหรือเปลือกหอย บ้างมีรูปร่างคล้ายต้นไม้ขนาดเล็ก พบตั้งแต่ยุคออร์โดวิเชียนจนถึงปัจจุบัน แต่พบมากในยุคคาร์บอนิเฟอรัส ไบรโอซัวที่พบในบริเวณนี้ ได้แก่ Fenestella sp. และ Polypora sp.
ไครนอยด์
เป็นสัตว์ทะเลจัดอยู่ใน ไฟลัมเอคิโนเดอร์มาตา (Echinodermata) มีรูปร่างคล้ายต้นไม้ บางครั้งจึงมีผู้เรียกว่า พลับพลึงทะเล ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือ ส่วนหัวมีลักษณะคล้ายดอกเป็นพุ่ม ส่วนลำต้นประกอบด้วยแว่นหรือท่อนกลมมีรูตรงกลางซ้อนต่อกัน และส่วนล่างสุดคล้ายรากไม้แผ่กระจายออกไปทำหน้าที่ยึดเกาะกับพื้นทะเล พบแพร่หลายในมหายุคพาลีโอโซอิก ซากดึกดำบรรพ์ส่วนใหญ่พบเพียงชิ้นส่วนของก้านที่หลุดออกมาเป็นแว่น ๆ
ฟองน้ำ
เป็นสัตว์ทะเลจัดอยู่ใน ไฟลัมโพริเฟอรา (Porifera) มีพบอยู่บ้างในน้ำจืด มีลักษณะโครงสร้างประกอบด้วยรูพรุนทั้งลำตัวทำให้น้ำไหลผ่านเข้าสู่กลางลำตัวซึ่งมีลักษณะคล้ายถุงสามารถกรองอาหาร พบตั้งแต่ยุคแคมเบรียนจนถึงปัจจุบัน
ร่องรอยสัตว์ดึกดำบรรพ์
ที่พบในบริเวณเขาถ่าน ส่วนใหญ่เป็นร่องรอยการชอนไชของหนอนสกุล Helminthopsis sp.
แหล่งซากดึกดำบรรพ์วัดคีรีนาครัตนารามตั้งอยู่ที่ตำบลชอนสารเดช เป็นเขาหินปูนลูกโดดสูงประมาณ ๒๐ เมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดลพบุรีไปทางทิศเหนือประมาณ ๔๕ กิโลเมตร พบซากดึกดำบรรพ์หลายชนิด ได้แก่ ฟิวซูลินิด แอมโมไนต์ (ammonite) ปะการัง และสาหร่าย การค้นพบซากสัตว์ทะเลโบราณหลายชนิดบริเวณนี้แสดงว่าในยุคเพอร์เมียนตอนกลาง ราว ๒๗๐ ล้านปี มาแล้วบริเวณนี้เคยเป็นทะเลตื้นมาก่อน
ฟิวซูลินิด
เป็นสัตว์ทะเลเซลล์เดียวจัดอยู่ใน ไฟลัมโพรโทซัว อันดับฟอแรมมินิเฟอรา อาศัยอยู่ในเขตอบอุ่นและบริเวณน้ำตื้น ลักษณะภายนอกส่วนใหญ่มีรูปร่างยาว หัวท้ายแหลม ลักษณะคล้ายกับเมล็ดข้าวสารและมีขนาดเล็ก คือ ยาวประมาณ ๑ - ๑.๕ เซนติเมตร ทำให้คนทั่วไปคิดว่าเป็นข้าวสารหิน จึงนิยมเรียกว่า คตข้าวสาร พบมากในยุคคาร์บอนิเฟอรัสและยุคเพอร์เมียน สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ปลายยุคเพอร์เมียนจึงนิยมใช้เป็นซากดึกดำบรรพ์ดัชนีเนื่องจากแต่ละสกุลมีช่วงชีวิตสั้น เกิดแพร่หลายเป็นบริเวณกว้างมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสามารถกำหนดอายุได้แน่นอน ซากดึกดำบรรพ์ฟิวซูลินิดที่พบในบริเวณนี้ ได้แก่ Verbeekina verbeeki, Parafusulina gigantea, Pseudodoliolina pseudolepida และ Sumatrina annae
แอมโมไนต์
เป็นสัตว์ทะเลจัดอยู่ใน ไฟลัมมอลลัสกา ชั้นเซฟาโลโพดา กลุ่มเดียวกับปลาหมึกปัจจุบัน เปลือกขดเป็นวง ส่วนใหญ่ลอยอยู่บนผิวน้ำทำให้สามารถพบได้ทั้งบริเวณทะเลตื้นและลึกพบมากในมหายุคมีโซโซอิกและสูญพันธุ์เมื่อสิ้นยุคครีเทเชียส
ปะการัง
เป็นสัตว์ทะเลจัดอยู่ใน ไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) มีทั้งเป็นกลุ่มและเป็นตัวเดี่ยว ๆ อาศัยอยู่บริเวณทะเลตื้น น้ำอุ่น มีแสงแดดส่องถึงและน้ำค่อนข้างใส จึงพบได้โดยทั่วไปในภูเขาหินปูน พบแพร่หลายมากตั้งแต่มหายุคพาลีโอโซอิกจนถึงปัจจุบัน ซากดึกดำบรรพ์ปะการังที่พบในบริเวณนี้ ได้แก่ Ipciphyllum subelegans และMultimurinus khmerianus
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีศักยภาพของการค้นพบซากไดโนเสาร์ได้มากกว่าภาคอื่น ๆ เนื่องจากบริเวณที่ราบสูงโคราชประกอบด้วยหินในมหายุคมีโซโซอิกซึ่งมหายุคนี้ถือกันว่าเป็นระยะเวลาที่สัตว์เลื้อยคลานครองโลก โดยมีความหลากหลายของสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิดทั้งไดโนเสาร์ จระเข้ และเต่า ตะกอนที่พบทั่วไปเป็นตะกอนที่ตกทับถมในลุ่มแม่น้ำหรือในหนองน้ำจืดซึ่งเป็นแหล่งหาอาหารของสัตว์เลื้อยคลานเหล่านั้น
แหล่งซากไดโนเสาร์ภูเวียง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น
ภูเวียงตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเวียง ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่นไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๘๗ กิโลเมตร มีลักษณะภูมิประเทศเป็นสันเขาสูงประมาณ ๒๕๐ - ๗๕๐ เมตร โอบล้อมแอ่งที่ราบไว้ภายในภูเวียง เป็นบริเวณที่ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ พบอยู่ที่บริเวณภูประตูตีหมา เป็นกระดูกท่อนขาของไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ต่อมาได้มีการสำรวจพบไดโนเสาร์ ทั้งจำพวกกินพืชและกินเนื้อ ชนิดใหม่ของโลกหลายชนิด ได้แก่ ไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ซึ่งได้มีการขอพระราชทานพระราชานุญาตตั้งชื่อตามพระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (Phuwiangosaurus sirindhornae) ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็ก (Compsognathus sp.) ไดโนเสาร์กินเนื้อ (Siamosaurus suteethorni) และไดโนเสาร์กินเนื้อซึ่งคาดว่าเป็นบรรพบุรุษของไทรันโนซอรัส (Siamotyrannus isanensis) ทั้งหมดพบในหมวดหินเสาขัวอายุประมาณ ๑๓๐ ล้านปี นอกจากนี้ยังพบรอยเท้าไดโนเสาร์บริเวณหินลาดป่าชาดในหมวดหินพระวิหารซึ่งมีอายุประมาณ ๑๔๐ ล้านปี เป็นรอยพิมพ์นิ้ว ๓ นิ้ว คล้ายรอยเท้านกที่ปลายนิ้วมีร่องรอยของเล็บแหลมคม บ่งชี้ว่าเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็ก ไดโนเสาร์ที่ภูเวียงเป็นไดโนเสาร์สกุลและชนิดใหม่ซึ่งเป็นต้นแบบของโลกถึง ๓ ชนิด เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับเปรียบเทียบกับข้อมูลที่พบใหม่ทั่วโลก โดยหากพบไดโนเสาร์ที่ใดเหมือนกับที่ภูเวียงก็จะต้องเรียกชื่อตาม ดังนั้นจึงควรเก็บรักษาซากไดโนเสาร์ต้นแบบนี้ไว้ ให้คงอยู่ตลอดไป
แหล่งซากไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
ภูกุ้มข้าวตั้งอยู่ที่ตำบลโนนบุรี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดกาฬสินธุ์ไปทางทิศเหนือประมาณ ๒๙ กิโลเมตร เป็นเขาโดดสูงประมาณ ๓๐๐ เมตร พบซากกระดูกไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย อยู่ในชั้นหินทรายปนหินดินดานสีแดงของหมวดหินเสาขัวอายุประมาณ ๑๓๐ ล้านปี ที่หลุมขุดค้นไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าวได้มีการขุดพบกระดูกมากกว่า ๖๓๐ ชิ้น เป็นกระดูกส่วนคอ ขา สะโพก ซี่โครง และหางของไดโนเสาร์กินพืชไม่ต่ำกว่า ๖ ตัว ลักษณะกระดูกที่พบเป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ (Phuwiangosaurus sirindhornae) นอกจากนี้ยังพบฟันของไดโนเสาร์กินพืชและกินเนื้ออีกมากกว่า ๒ ชนิด
แหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ภูหลวง อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย
แหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ภูหลวง ตั้งอยู่บนยอดภูหลวงในบริเวณที่เรียกว่า ผาเตลิ่น ในเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง รอยเท้าที่ปรากฏอยู่บนชั้นหินทรายมีขนาดกว้าง ๓๕ เซนติเมตร ยาว ๓๑ เซนติเมตร ลึก ๓ - ๔ เซนติเมตร ปรากฏให้เห็นจำนวน ๑๕ รอย เป็นรอยเดินไปทางทิศใต้ ๑๐ รอย และรอยสวนกลับ ๒ รอย รอยเดินไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ๒ รอย และอีกรอยไม่ชัดเจนเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่เดินด้วยขาหลัง ๒ ข้าง เนื่องจากมีลักษณะแสดงรอยเล็บแหลมคม รอยเท้าดังกล่าวนี้อยู่ในหมวดหินภูพานอายุประมาณ ๑๒๐ ล้านปี
แหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ภูแฝก กิ่งอำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์
แหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ภูแฝกตั้งอยู่ในเขตวนอุทยานภูแฝก ตำบลภูแล่นช้าง ค้นพบโดย ด.ญ. กัลยามาศ สิงห์นาคลอง และ ด.ญ. พัชรี ไวแสน เมื่อปลายพ.ศ. ๒๕๓๙ รอยเท้าที่ปรากฏอยู่บนชั้นหินทรายในลำห้วยน้ำยังมีจำนวนมากกว่า ๑๐ รอย โดยปรากฏให้เห็นเป็นแนวทางเดิน ๓ แนว มีขนาดกว้าง ๔๐ เซนติเมตร ยาว ๔๕ เซนติเมตร รอยเท้าทั้งหมดเป็นรอยเท้าที่มี ๓ นิ้ว เป็นรอยเท้า ของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่เดินด้วยขาหลัง ๒ ข้าง เนื่องจากมีลักษณะแสดงรอยเล็บแหลมคม รอยเท้าดังกล่าวนี้อยู่ในหมวดหินพระวิหารอายุประมาณ ๑๔๐ ล้านปี
ตั้งอยู่ที่ภูน้ำจั้นใกล้วัดพระพุทธบุตร พบในชั้นหินทรายมีอายุตั้งแต่ปลายยุคจูแรสสิกถึงต้นยุคครีเทเชียส ราว ๑๓๐ ล้านปี มาแล้ว ซากดึกดำบรรพ์ปลาที่พบมีขากรรไกรซึ่งต่างจากปลาโดยทั่วไปคือ ขากรรไกรสั้นต้องดูดอาหารที่อยู่ใกล้ ๆ ปากเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเกล็ดแข็งเป็นเงาวาวเพื่อช่วยพยุงลำตัว เนื่องจากยังไม่มีการพัฒนากระดูกสันหลังเท่าที่ควร จากการศึกษาพบว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ปลาชนิดใหม่ของโลก ให้ชื่อว่า เลปิโดเทส พุทธบุตรเอนซิส (Lepidotes buddhabutensis) จัดอยู่ใน วงศ์ Semionotidae แหล่งซากดึกดำบรรพ์ปลาแห่งนี้มีซากปลาเลปิโดเทสที่สมบูรณ์มากกว่า ๑๐๐ ตัว ถือได้ว่าเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ปลาเลปิโดเทสที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นแอ่งน้ำจืดขนาดใหญ่มาก่อน
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจัดอยู่ใน ไฟลัมสัตว์มีกระดูกสันหลัง เริ่มมีแพร่หลายในมหายุคซีโนโซอิกซึ่งเราเรียกยุคนี้ว่าเป็น ยุคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในประเทศไทยซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพบได้ตามเหมืองถ่านหินและในบริเวณที่มีการสะสมตัวของตะกอนถ้ำทั่วประเทศไทย
แหล่งซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เหมืองถ่านหิน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่
เหมืองถ่านหินกระบี่ อยู่ห่างจากตัวเมืองกระบี่ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของแอ่งสะสมตัว ยุคพาลีโอจีน ตะกอนประกอบด้วยชั้นหินโคลน หินทรายแป้ง และหินทราย มีชั้นถ่านหินหนาประมาณ ๒๐ เมตร ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ขุดชั้นถ่านหินดังกล่าวไปใช้ผลิตไฟฟ้า ซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบในชั้นถ่านหินมีมากกว่า ๒๐ ชนิด ได้แก่ ไพรเมตซึ่งเป็นบรรพบุรุษของไพรเมตชั้นสูง (Siamopithecus eocaenus) สัตว์กินเนื้อ (Nimravus thailandicus) สัตว์กีบ (Siamotherium krabiense, Anthracotherium chaimanei) หนู นอกจากนี้ยังพบเต่า งู ปลา และจระเข้ รวมทั้งซากหอยน้ำจืด เช่น หอยขมและหอยกาบคู่จำนวนมากในชั้นหินโคลน เนื่องจากบริเวณแอ่งกระบี่นี้เป็นแอ่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่มีทางน้ำไหลผ่านและเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์จึงทำให้มีสัตว์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซากสัตว์เหล่านี้มีอายุประมาณ ๓๗ - ๓๓.๕ ล้านปี ในสมัยอีโอซีนตอนปลาย
แหล่งซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เหมืองถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
เหมืองถ่านหินแม่เมาะ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๒๖ กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของแอ่งสะสมตัวยุคนีโอจีน ตะกอนประกอบด้วย ชั้นหินโคลน หินทรายแป้ง และหินทราย มีชั้นถ่านหินแทรกสลับหลายชั้นซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ขุดชั้นถ่านหินดังกล่าวไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซากดึกดำบรรพ์ส่วนใหญ่พบในชั้นถ่านหินประกอบด้วย ซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด ได้แก่ สัตว์กินเนื้อ (Maemohcyon potisati) แรด หมู ช้างโบราณ และหนู นอกจากนี้ยังพบเต่า ตะพาบน้ำ ปลา งู และจระเข้ และการสะสมตัวของหอยน้ำจืด เช่น หอยขม ชั้นหนาที่สุดในโลกประมาณ ๑๒ เมตร วางตัวอยู่ระหว่างชั้นถ่านหินมีการพบซากดึกดำบรรพ์มากมายในบริเวณแอ่งแม่เมาะเนื่องจากเป็นแอ่งน้ำจืดขนาดใหญ่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ทำให้มีสัตว์อาศัยอยู่มากมาย แหล่งซากดึกดำบรรพ์นี้มีอายุประมาณ ๑๓ - ๑๐ ล้านปี ในสมัยไมโอซีนตอนกลาง
แหล่งซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เหมืองถ่านหินเชียงม่วน จังหวัดพะเยา
เหมืองถ่านหินเชียงม่วนตั้งอยู่บริเวณบ้านสระ ห่างจากตัวจังหวัดพะเยาไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของแอ่งสะสมตัวยุคนีโอจีน ตะกอนประกอบด้วยชั้นหินโคลน หินทรายแป้ง และหินทราย มีชั้นถ่านหินแทรกสลับหลายชั้น ซึ่งบริษัทเหมืองเชียงม่วนจำกัดได้ขุดชั้นถ่านหินไปใช้ประโยชน์ซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบในบริเวณเหมืองถ่านหินเชียงม่วน ได้แก่ ช้างมาสโตดอน กระจงหมู และหนู นอกจากนี้ยังได้ค้นพบซากเอปดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ Khoratpithecus chiangmuanensis หรือเอปเชียงม่วนในชั้นถ่านหินด้วย ซึ่งเป็นหลักฐานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์เอปขนาดใหญ่ที่เป็นบรรพบุรุษอุรังอุตังครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอายุประมาณ ๑๓.๕ - ๑๐ ล้านปีในสมัยไมโอซีนตอนกลาง
แหล่งซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม บ่อทราย อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา
บ่อทรายตั้งอยู่ที่ตำบลท่าช้างและตำบลช้างทองห่างจากตัวจังหวัดนครราชสีมาไปทางทิศตะวันออกราว ๑๙ กิโลเมตร เป็นบ่อขุดและดูดทรายริมฝั่งแม่น้ำมูลในปัจจุบันความลึกของบ่อทรายราว ๒๐ - ๔๐ เมตร ได้พบซากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น ซากช้างโบราณอย่างน้อย ๔ ชนิด ได้แก่ ช้างงาจอบ (Deinotherium sp.) ช้างสี่งา (Gomphotherium sp. และ Stegolophodon sp.) และช้างสเตโกดอน (Stegodon sp.) แรดโบราณ ม้าโบราณ และเอปโคราช (Khoratpithecus piriyai) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษอุรังอุตัง นอกจากนี้ยังพบเต่าโบราณขนาดใหญ่และจระเข้โบราณรวมถึงซากต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก ความหลากหลายของซากดึกดำบรรพ์ที่พบแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำมูลโบราณเมื่อประมาณ ๙ - ๗ ล้านปี ก่อนในสมัยไมโอซีนตอนปลายได้เป็นอย่างดี
สุสานหอยแหลมโพธิ์ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลบ้านแหลมโพธิ์ ตำบลไสไทย ห่างจากตัวจังหวัดกระบี่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว ๒๐ กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา และหมู่เกาะพีพี สุสานหอยมีลักษณะเป็นแผ่นหินปูนหนาตั้งแต่ ๐.๐๕ - ๑ เมตร มีเปลือกหอยขมน้ำจืดวางทับถมกันเป็นจำนวนมากและเชื่อมประสานด้วยน้ำปูนจนยึดติดกันเป็นแผ่นเรียงซ้อนกัน คล้ายลานซีเมนต์ ชั้นหินสุสานหอยโผล่ให้เห็นอยู่ตามริมหาดเป็นแนวยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร ซากหอยขมที่พบอยู่ใน วงศ์ Viviparidae เป็นหอยน้ำจืดสกุล Viviparus sp. และจากการค้นพบซากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดในบ่อเหมืองถ่านหินซึ่งอยู่ในแอ่งสะสมตะกอนเดียวกับชั้นสะสมตัวของหอยดังกล่าว ทำให้ทราบอายุที่แน่นอนของชั้นสุสานหอยว่าสะสมตัวเมื่อราว ๓๗ - ๓๓.๕ ล้านปี มาแล้ว
ตั้งอยู่บริเวณบ้านหนองปลา ตำบลน้ำเฮี้ย อยู่ห่างจากอำเภอหล่มสักไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๗ กิโลเมตร สถานที่พบเป็นบ่อขุดเพื่อเก็บน้ำชลประทานกว้างประมาณ ๔๐ เมตร ยาวประมาณ ๑๒๐ เมตร ลึกประมาณ ๔ เมตร เป็นหินโคลนสีเทาขาวอยู่ในยุคนีโอจีน ปัจจุบันน้ำท่วมหมดแล้วซากดึกดำบรรพ์ปลาที่พบในแหล่งนี้มีอย่างน้อย ๑๑ ชนิด คือLeiocassis siamensis, Mystacoleucus sp., Bangana sp. ในจำนวนนี้มี ๖ ชนิด ที่เป็นการค้นพบใหม่ในโลก คือ Hypsibarbus antiquus, Proluciosoma pasakensis, Hemibagrus major, Cetopangasius chaetobranchus, Parambassis goliath และ Parambassis paleosiamensis ทั้งหมดเป็นปลาน้ำจืดมีอายุสมัยไมโอซีนอาศัยตามหนองน้ำและบึงใกล้ฝั่ง
แหล่งไม้กลายเป็นหิน อำเภอบ้านตาก อยู่ห่างจากตัวจังหวัดตากไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ในพื้นที่เขตป่าสงวนแม่สลิด - โป่งแดง พบไม้ทั้งต้นกลายเป็นหินขนาดใหญ่หลายต้นอยู่ในชั้นกรวด ลำต้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๘ เมตร ยาวมากกว่า ๒๐ เมตร มีอายุประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ ปี ประเทศไทยพบไม้กลายเป็นหินจำนวนมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในมหายุคซีโนโซอิกและมีโซโซอิก ไม้กลายเป็นหินเป็นซากดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่งเกิดจากสารละลายแร่เข้าไปแทนที่เนื้อเยื่อและเส้นใยของซากต้นไม้ กิ่งไม้ที่ตกหรือทับถมรวมกับชั้นหินตะกอนและชั้นตะกอนประเภทน้ำพามักพบในชั้นหินทรายหรือในชั้นกรวดการแทนที่นี้บ่อยครั้งจะยังคงสภาพโครงสร้างภายในเนื้อไม้เดิม เช่น วงปี โครงสร้างเซลล์และรูปร่างภายนอกของต้นไม้ไว้อย่างสมบูรณ์ แร่หรือสารที่เข้าไปแทนที่นั้น โดยทั่ว ๆ ไป เป็นสารละลายอุณหภูมิปกติของสารประกอบซิลิกา (SiO2) ทำให้เกิดเป็นแร่ควอร์ตที่แสดงรูปผลึกหรือแร่โอพอล (opal) และแร่คาลซิโดนี (chalcedony) ที่มีเนื้อละเอียดมากไม่แสดงรูปผลึก กระบวนการแทนที่ของซิลิกาในเนื้อไม้ เรียกในภาษาอังกฤษว่า petrification นอกจากนั้นยังอาจมีกระบวนการธรณีเคมีในขั้นตอนต่าง ๆ เกิดร่วมด้วย เช่น เนื้อไม้บางส่วนที่กลายเป็นถ่านหินอาจมีแร่ไพไรต์ (FeS2) เกิดอยู่ด้วย
วัดเจดีย์หอยตั้งอยู่ที่ตำบลบ่อเงิน อำเภอลาดหลุมแก้ว อยู่ห่างจากตัวจังหวัดปทุมธานีไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๒๒ กิโลเมตร พบเปลือกหอยทะเลหลายชนิดสะสมตัวปนกับซากไม้ผุในตะกอนดินเหนียวทะเลที่มีลักษณะอ่อนนุ่มมีสีเทาถึงเทาปนเขียว ซากหอยที่พบมีหลายชนิด เช่น หอยแครง หอยกาบ หอยสังข์ และหอยลาย ซากหอยที่พบมากที่สุดเป็นหอยนางรมยักษ์มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Crassostrea gigas เมื่อนำซากหอยนี้ไปหาอายุด้วยวิธีกัมมันตภาพรังสีคาร์บอน ๑๔ พบว่ามีอายุประมาณ ๕,๕๐๐ ปี ซากหอยเหล่านี้เป็นหอยที่อาศัยอยู่ในทะเลใกล้ชายฝั่งในที่ราบน้ำขึ้นถึงหรือหาดเลนที่มีป่าชายเลนขึ้นปกคลุม น้ำกร่อยค่อนข้างตื้น และมีน้ำขึ้นน้ำลงประจำทุกวัน แสดงให้เห็นว่าในอดีตบริเวณวัดเจดีย์หอยเคยเป็นชายทะเลมาก่อน โดยพบว่าน้ำทะเลท่วมที่ราบลุ่มภาคกลางไปจนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อประมาณ ๖,๐๐๐ ปีที่แล้ว ต่อมาทะเลโบราณลดระดับลงและเริ่มถอยร่นออกไปในช่วงประมาณ ๕,๗๐๐ - ๕,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา เมื่อน้ำทะเลถอยร่นออกไปจึงพบซากหอยอยู่ในบริเวณนี้