Dynamic verb หรือเรียกอีกอย่างว่า Action verb เป็นคำกริยาแสดงอาการ การกระทำ มีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว คำกริยากลุ่มนี้มีมากมาย และเรารู้จักคุ้นเคยกันดีมาตั้งแต่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษเลยก็ว่าได้ เช่น eat, drink, run, walk, jump, speak, write เป็นต้น ซึ่งเราสามารถใช้ Dynamic verb ได้โดยผันไปตามโครงสร้าง Tense ของประโยค
Stative verb หรือ State verb คือ คำกริยาแสดงสภาวะที่เกี่ยวกับ ความรู้สึก, ความคิด, ความสัมพันธ์, ประสาทสัมผัส, สภาวะความเป็นอยู่ และ การวัดหรือการประมาณค่า เรียกได้ว่าเป็นกริยาที่เป็นนามธรรม หรือ Abstract verb ซึ่งคำกริยาในกลุ่มนี้โดยปกติแล้วจะใช้ใน Simple Tense เท่านั้น และจะไม่ใช้ในรูปเติม –ing ใน Continuous Tense
1. คำกริยาแสดงประสาทสัมผัสการรับรู้ เช่น Feel (รู้สึก, คิดว่า), Hear (ได้ยิน), See (เห็น), Smell (ได้กลิ่น), Sound (เกิดเสียง), Taste (ได้รส, รู้รส)
ตัวอย่าง
I don’t feel that this is a good idea.
(ฉันไม่คิดว่านี่เป็นความคิดที่ดี)
The spaghetti sauce smells so good.
(ซอสสปาเก็ตตี้กลิ่นหอมจัง)
Do you hear the noise?
(คุณได้ยินเสียงอะไรไหม?)
2. คำกริยาแสดงสภาวะทางความคิด เช่น Believe (เชื่อว่า), Doubt (สงสัย), Forget (ลืม), Know (รู้), Mean (มีความหมายต่อ..., มีความสำคัญต่อ...), Realize (รู้, สำนึก), Recognize (จำได้, รู้จัก), Remember (จำได้), Suppose (ทึกทักเอาเอง), Think (คิดว่า), Understand (เข้าใจ)
ตัวอย่าง
She doesn't believe me at all.
(เธอไม่เชื่อฉันเลย)
Tom recognized Pim as soon as she came into the room.
(ทอมจำพิมได้ทันทีที่เธอเข้ามาในห้อง)
He understands Japanese.
(เขาเข้าใจภาษาญี่ปุ่น)
3. คำกริยาแสดงความเป็นเจ้าของ เช่น Belong (เป็นของ), Own (มี, เป็นเจ้าของ), Have (มี), Possess (มี, เป็นเจ้าของ)
ตัวอย่าง
This book belongs to him.
(หนังสือเล่มนี้เป็นของเขา)
I don’t have a spare shirt.
(ฉันไม่มีเสื้อสำรองไว้น่ะ)
4. คำกริยาแสดงอารมณ์หรือความรู้สึก เช่น Adore (ชื่นชอบ), Astonish (ทำให้ประหลาดใจ), Enjoy (สนุก), Envy (อิจฉา), Fear (กลัว), Hate (เกลียด), Like (ชอบ), Love (รัก), Mind (รังเกียจ), Please (พอใจ), Prefer (ชอบ), Surprise (ประหลาดใจ), Wish (อยาก)
ตัวอย่าง
I adore you.
(ฉันชอบคุณนะ)
I don't mind sharing my room.
(ฉันไม่รังเกียจการแชร์ห้องของฉันหรอก)
My brother prefers reading books to watching television.
(น้องชายของฉันชอบอ่านหนังสือมากกว่าดูทีวี)
5. คำกริยาแสดงการวัดหรือการประมาณค่า เช่น Contain (บรรจุ), Cost (คำนวณราคา), Equal (ทำให้เท่ากัน, เท่ากับ), Measure (วัดปริมาณ), Weigh (น้ำหนัก)
ตัวอย่าง
That CD costs 500 Baht.
(ซีดีนั้นราคา 500 บาท)
I only weighed 45 kilograms when I was in high school.
(ฉันหนัก 45 กิโลกรัมเท่านั้น ตอนที่ฉันอยู่มัธยมปลาย)
6. คำกริยาแสดงสภาวะอื่น ๆ เช่น Be (is, am, are), Exist (มีอยู่), Owe (เป็นหนี้), Require (ต้องการ), Seem (ดูเหมือนว่า)
ตัวอย่าง
Life cannot exist without water.
(ชีวิตไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากน้ำ)
We owe her a lot.
(พวกเราเป็นหนี้เธอมากเหลือเกิน)
**อย่างไรก็ตาม มีคำกริยาบางคำที่เป็นได้ทั้ง Stative verb และ Dynamic verb ดังนั้นเวลานำไปใช้ต้องระวัง!! ต้องแยกว่าเป็นกริยาแบบไหน เพราะถ้าเป็น Stative verb จะนำไปใช้ใน Continuous Tense ไม่ได้ (เติม –ing ไม่ได้) แต่ถ้าเป็น Dynamic verb สามารถเติม –ing ได้ ซึ่งความหมายก็จะแตกต่างออกไป เช่น
I see something moving. (ฉันเห็นบางสิ่งกำลังเคลื่อนไหว)
I see what you mean. (ฉันเข้าใจว่าคุณหมายถึงอะไร)
I’m seeing Pim tomorrow. (พรุ่งนี้ฉันจะพบกับพิม)
I’m seeing someone. (ฉันกำลังคบหาใครบางคน)
I have a car. (ฉันมีรถ)
I’m having a good time. (ฉันรู้สึกสนุกสนาน)
และอย่าลืมว่า Have ยังแปลว่า กิน ได้อีกด้วยนะ เช่น I’m having lunch. (ฉันกำลังกินอาหารกลางวัน)
I think he is nice. (ฉันคิดว่าเขาเป็นคนดี)
I’m thinking about my next holiday. (ฉันกำลังคิดถึงวันหยุดต่อไปของฉัน)
I can’t stop thinking about her. (ฉันไม่สามารถหยุดคิดเกี่ยวกับเธอได้เลย)
I smell smoke. (ฉันได้กลิ่นบุหรี่)
She is smelling the soup. (เธอกำลังดมกลิ่นซุป)
ภาพปก : Shutterstock