เด็ก ๆ คงเคยได้เห็นภาพไดโนเสาร์ในภาพยนตร์ โทรทัศน์ หรือหนังสือการ์ตูน เป็นสัตว์รูปร่างแปลกประหลาด คอยาว หางยาว เดิน ๔ เท้าบ้าง ๒ เท้าบ้าง บางตัวมีขนาดใหญ่มากกว่าช้างหลายเท่า บางตัวก็มีขนาดย่อมลงมา ในชีวิตจริงของโลกปัจจุบันไม่มีสัตว์ชนิดนี้หลงเหลืออยู่แล้วแต่นักวิทยาศาสตร์ทราบได้ว่าในยุคดึกดำบรรพ์เมื่อประมาณ ๒๐๐ ล้านปีมาแล้วไดโนเสาร์เป็นสัตว์ที่มีอยู่โดยทั่วไปในหลายทวีปก่อนที่มันจะสูญพันธุ์หมดสิ้นไปเมื่อประมาณ ๖๕ ล้านปีที่ผ่านมา
หลักฐานที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบว่าไดโนเสาร์เคยมีชีวิตอยู่ในโลกและมีรูปร่างลักษณะอย่างไรได้มาจากการศึกษาซากของมันที่ปรากฏอยู่ในที่ต่าง ๆ โดยเป็นชิ้นส่วนของโครงกระดูกบ้าง เป็นรอยเท้าที่ประทับอยู่บนแผ่นหินบ้าง หลังจากการศึกษาอย่างละเอียดแล้วนักวิทยาศาสตร์สามารถกำหนดรูปร่างลักษณะของไดโนเสาร์ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นอย่างไร และนำมาแสดงให้เราเห็นในพิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติวิทยาหรือในสิ่งพิมพ์และสื่อต่าง ๆ
นอกจากไดโนเสาร์ยังมีซากของสัตว์และพืชอีกนานาชนิดที่ครั้งหนึ่งเคยมีชีวิตอยู่บนโลก ปัจจุบันอาจสูญพันธุ์ไปแล้วหรือมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปจากเดิม ซากของสิ่งมีชีวิตในอดีตอันยาวนานที่ปรากฏหลักฐานหรือร่องรอยให้เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน เรียกกันว่า ซากดึกดำบรรพ์ ถือเป็นสิ่งมีค่าในการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในอดีต หากเราพบซากดึกดำบรรพ์ไม่ว่าจะเป็นเปลือกหอยหรือกระดองของสัตว์น้ำที่แทรกอยู่ในเนื้อของหินปูนหรือไม้กลายเป็นหินที่ทับถมอยู่ในชั้นหินควรดีใจว่า ราได้พบสมบัติล้ำค่าของโลกแล้วต้องรักษาไว้ให้ดีที่สุดและหากเราได้มีโอกาสศึกษาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของซากดึกดำบรรพ์ต่าง ๆ ด้วยแล้ว เราจะยิ่งตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ นักธรณีวิทยาของประเทศไทยได้พบกระดูกที่กลายเป็นหินขนาดใหญ่มากท่อนหนึ่งในเขตอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น จากผลการศึกษาทำให้ทราบว่าเป็นกระดูกของไดโนเสาร์พวกกินพืชพันธุ์ซอโรพอด ไดโนเสาร์พันธุ์นี้เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ ๑๕ เมตร มีคอยาว หางยาว เดิน ๔ เท้า นับเป็นการค้นพบซากไดโนเสาร์เป็นครั้งแรกในประเทศไทยต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๓๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรแหล่งที่พบซากไดโนเสาร์ คณะผู้ค้นพบและวิจัยได้กราบบังคมรายงานและได้ขอพระราชทาน พระราชานุญาตตั้งชื่อไดโนเสาร์พันธุ์นี้ว่า ภูเวียงกอซอรัส สิรินธรนี (Phuwiangosaurus sirindhornae) เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน หลังจากการพบซากไดโนเสาร์ที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น แล้วต่อมาก็ได้พบซากและรอยเท้าไดโนเสาร์ในที่อื่น ๆ อีกหลายแห่งในจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดเลยทำให้ทราบว่าในอดีตดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของไดโนเสาร์ ก่อนที่พวกมันจะสูญพันธุ์ไปเมื่อราว ๖๕ ล้านปีก่อน ซากของสิ่งมีชีวิตที่ยังคงปรากฏให้เห็นเป็นชิ้นกระดูก เปลือก หรือกระดองฝังอยู่ในเนื้อหินก็ดี เป็นรอยเท้า หรือร่องรอยการชอนไชบนแผ่นหินก็ดี เป็นซากของต้นไม้ที่กลายเป็นหินก็ดี เราเรียกรวม ๆ ว่า ซากดึกดำบรรพ์ โดยคำว่า ดึกดำบรรพ์ นั้นในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า "ลึกล้ำนมนานมาแล้ว" อีกนัยหนึ่ง คือ มีอายุเก่าแก่หรือนานมากนั่นเอง
การศึกษาเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์เป็นวิชาที่เรียกว่า บรรพชีวินวิทยา หรือ โบราณชีววิทยา วิชานี้เกี่ยวข้องกับวิชาธรณีวิทยามาก เนื่องจากสามารถช่วยให้นักธรณีวิทยาทราบอายุของชั้นหินบางชนิดว่ามีความเก่าแก่มากน้อยเท่าใดและจัดอยู่ในยุคหรือสมัยใด เนื่องจากแต่ละยุคแต่ละสมัยจะมีสิ่งมีชีวิตแตกต่างกันไปตามวิวัฒนาการของมันและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม
ซากดึกดำบรรพ์ที่นำมาศึกษาแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเล เช่น ฟองน้ำ ปะการัง หอยกาบคู่ หอยกาบเดี่ยว เม่นทะเล รวมทั้งแมลงชนิดต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้อาศัยอยู่ในทะเลด้วย
ได้แก่ ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
มีทั้งพืชน้ำและพืชบกชนิดต่าง ๆ
เช่น รอยเท้าหรือแนวทางเดิน รูหรือรอยชอนไช มูลของสัตว์ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในชั้นหิน
แหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ที่เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล เป็นซากดึกดำบรรพ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีอายุราว ๕๐๐ - ๔๗๐ ล้านปีมาแล้ว ส่วนแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุใหม่มาก คือ แหล่งซากหอยนางรมยักษ์ วัดเจดีย์หอย จังหวัดปทุมธานี มีอายุเพียง ๕,๕๐๐ ปี เท่านั้น แหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทย มี ๓ แห่ง คือ
ได้พบซากไดโนเสาร์ทั้งประเภทกินพืชและกินเนื้อ รวม ๓ ชนิด ที่ถือว่าเป็นต้นแบบของโลกและตั้งชื่อเพื่อใช้ในการอ้างอิงได้ ชนิดแรกเป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่มีชื่อว่า ภูเวียงกอซอรัส สิรินธรนี (Phuwiangosaurus sirindhornae) ซึ่งเป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี อีก ๒ ชนิด เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อชื่อว่า ไซแอมอซอรัส สุธีธรไน (Siamosaurus suteethorni) และ ไซแอมอไทรันนัส อีสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis) จะเห็นได้ว่าทั้ง ๓ ชื่อ มีชื่อภูมิศาสตร์ของประเทศไทยเป็นคำประกอบอยู่ด้วย คือ ภูเวียง สยาม และอีสาน ทั้งนี้เป็นการยืนยันว่าซากไดโนเสาร์ทั้ง ๓ ชนิด ได้พบในประเทศไทยเป็นแห่งแรกของโลก
มีลักษณะเป็นแผ่นหินปูนหนาระหว่าง ๐.๐๕ - ๑.๐ เมตร มีเปลือกหอยขมน้ำจืดจำนวนมากทับถมกันและเชื่อมประสานติดกันเป็นแผ่นวางซ้อนกันคล้ายลานซีเมนต์อยู่ที่บริเวณริมหาดเป็นแนวยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร จากการศึกษาตรวจสอบพบว่าชั้นสุสานหอยนี้มีอายุราว ๓๗ - ๓๓.๕ ล้านปี มาแล้ว
อยู่ในเขตป่าสงวนแม่สลิด-โป่งแดง มีลำต้นของไม้ที่กลายเป็นหินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๘ เมตร ยาว ๒๐ เมตรเศษ มีอายุประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ ปี จัดว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์พืชประเภทไม้กลายเป็นหิน (Petrified wood) ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย