พลังงานเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ เพราะต้องใช้ในการผลิตสินค้าให้ได้มาก เพื่อให้มีต้นทุนต่ำ และทำกำไรสูงสุด นอกจากการอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้พลังงาน เพื่อผลิตสินค้าแล้ว การเกษตรกรรมแผนใหม่ยังหันมาพึ่งพาเครื่องทุ่นแรง เช่น รถแทรกเตอร์ ใช้สารเคมีต่าง ๆ มากกว่าเดิม และเพิ่มเติมกรรมวิธีเก็บรักษาถนอมอาหาร ตลอดจนบรรจุหีบห่อ เพื่อส่งไปขายในตลาด
ต่างประเทศ ดังเช่นในกรณีประเทศไทยส่งมะม่วงไปฮ่องกง เป็นต้น จึงเป็นอุตสาหกรรมเกษตรกลาย ๆ และอาศัยพลังงานมากยิ่งขึ้นไปอีก
ดังนั้นจึงต้องเสาะแสวงหาเชื้อเพลิง เพื่อผลิตพลังงานให้เพียงพอ และการก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนสืบเนื่องจาก
ก.การขนส่งน้ำมันดิบ
เมื่อเกิดอุบัติเหตุในระหว่างการขนส่งน้ำมันดิบ เชื้อเพลิงนับล้านๆ แกลลอนไหลทะลักลงสู่พื้นน้ำ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เรืออโมโคคาดิซ (Amoco Cadiz) ปล่อยน้ำมัน ๖๘ ล้านแกลลอนลงแถบชายฝั่งทะเลของฝรั่งเศส อีก ๑๑ ปีต่อมา เรือขนส่งน้ำมันดิบ เอกซอน วาลเดซ (Exxon Valdez) แล่นออกนอกเส้นทางเดินเรือ จนเกยหินโสโครก ระบายน้ำมัน ๑๑ ล้านแกลลอน ลงอ่าวในมลรัฐอลาสก้า สหรัฐอเมริกา น้ำมันบางส่วนลอยแผ่กระจายปกคลุมผิวหน้า แต่บางส่วนละลาย หรือจมลงสู่ท้องน้ำ ร้อยละ ๒๕ ของปริมาณทั้งหมด ระเหยเป็นไอ แสงแดดช่วยทำให้ร้อน น้ำมันจึงระเหยเร็วขึ้น และอาจเกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องต่างๆ คลื่นลมจะพัดปั่นฝ้าน้ำมันให้เข้ากับน้ำ จนฟูเป็นฟองฟอด ในชั้นนี้จะใช้แพลูกบวบ หรือทุ่นกวาด รวบรวม หรือกระจายออก ด้วยผงซักฟอกได้ยาก แต่เมื่อมีเศษเล็กเศษน้อยเข้าปะปน ฟองน้ำมันจะจมลงสู่พื้น แล้วคงตัวเช่นนั้นอยู่นานนับปี ส่วนที่เหลือจับเข้าเป็นก้อน (tarballs) ถ้าไม่จมลง กระแสลมจะพัดพาเข้าฝั่ง คาดว่า ในรัฐอลาสก้า น้ำมันดิบจาก
เรือเอกซอน วาลเดช ทำความเสียหายให้แก่ชายฝั่งทะเลยาว ๑,๒๐๐ ไมล์ นกตาย ๑๐๐,๐๐๐ ตัว
รวมทั้งนกอินทรีที่หาได้ยาก ๑๕๐ ตัว และนากทะเลไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ตัว ทำให้อุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะปลาแซลมอนตกอยู่ในภาวะล่อแหลม
ในอ่าวเปอร์เซียนั้น น้ำมันดิบอาจมีผลต่อป่าชายเลนอย่างกว้างขวาง คือ ทำลายบึงหญ้า สำหรับนก ตลอดจนแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง และแหล่งประมงของประเทศซาอุดิอาระเบีย มีรายงานว่า นกทะเลรับพิษภัย และตายไปหลายพันตัว ความเสียหายเหล่านี้ นับว่ารุนแรง มากกว่าสถานที่อื่น เพราะน้ำในอ่าวตื้นเพียง ๑๑๐ ฟุต โดยเฉลี่ย และกระแสน้ำหมุนเวียนอยู่ในเวิ้งจำกัดนั้นถึง ๒๐๐ ปี
ประเทศต่าง ๆ ใช้น้ำทะเลหล่อเย็น และทำเป็นน้ำจืด คราบน้ำมันอาจทำให้เครื่องจักร และอุปกรณ์เหล่านี้เสียหายได้
ข. การผลิตกระแสไฟฟ้า
การผลิตกระแสไฟฟ้านั้น หลายประเทศพึ่งพาพลังงานปรมาณ ูเพื่อการพัฒนา เมื่อโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในสหภาพโซเวียตเกิดระเบิดอย่างรุนแรง ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๒๙ นั้น ถือกันว่า เป็นอุบัติภัยร้ายแรงที่สุด แรงระเบิด และความร้อนขับมลพิษให้พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า สูงถึงห้ากิโลเมตร สารมลพิษเหล่านี้ ได้แก่ ยูเรเนียมออกไซด์ ซีเซียม ๑๓๗ และไอโอดีน ๑๓๑ เป็นต้น
อีกสิบวันต่อมา กลุ่มเมฆหมอกเคลื่อนตัวขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วย้อนลงทางทิศใต้ และทิศตะวันออก โปรยสารกัมมันตรังสีลงประเทศสวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ จนถึงกรีซ
ถึงแม้มีผู้เสียชีวิตทันทีเพียง ๓๑ ราย แต่ได้ประมาณการไว้ว่า ภายในสามสิบปีข้างหน้า ในรอบรัศมีชั้นใน ๓๐ กิโลเมตร ประชาชนจำนวน ๑๐๐- ๒๐๐ คน จะตายด้วยโรคมะเร็ง เลยอาณาบริเวณชั้นในนี้ออกไป เป็นภาคตะวันออกของรัสเซีย และทวีปยุโรป อาจจะมีผู้ล้มป่วยจนถึงแก่ชีวิตอีก ๕,๐๐๐- ๗๕,๐๐๐ ราย
ทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงปศุสัตว์ ย่อมได้รับกัมมันตรังสี สารมลพิษผ่านนมวัว ในรูปไอโอดีน ๑๓๑ เข้าสู่เด็ก ภายในสองสามวันต่อมา จึงตรวจพบรังสีเกินขนาดในต่อมไทรอยด์ ดังนั้นร่างกายจึงควบคุมการเปลี่ยนอาหารเป็นพลังงาน (หรือระบบเมตาโบลิซึม) ไม่ได้ดีเท่าที่ควร ไขกระดูกเป็นส่วนสร้างเม็ดเลือด เมื่อรังสีแกมมาทำลายส่วนสำคัญนี้ ระบบเลือดจึงผิดปกติ โดยทั่วไปแล้วรังสีสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ ทำลายโครโมโซม เซลล์เอนไซม์ ตลอดจนภูมิต้านทานโรค
พืชผล และเรือกสวนไร่นาโดยรอบถูกทอดทิ้ง เพราะมีรังสีปนเปื้อนเนื้อสัตว์ นม เนย และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากการเลี้ยงปศุสัตว์ก็เช่นกัน ในน้ำมีกัมมันตภาพรังสีเกินขนาด ไม่เว้นแม้แต่ น้ำบาดาล ดิน และอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิต พื้นที่นั้นจึงรกร้างตราบจนคนและธรรมชาติได้ร่วมกันฟื้นฟูบูรณะสภาพ ให้กลับดีได้อีกครั้งหนึ่งในอนาคต
เมื่ออิรักเผาบ่อน้ำมันในคูเวตทำให้ควัน และก๊าซพิษต่าง ๆ แพร่กระจายไปไกลถึงหลาย ๆ ประเทศในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ที่ได้รับก๊าซพิษเหล่านั้นและยังทำให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมของโลกด้วย
ค.การทำสงคราม
เมื่อกองทัพอิรักพยายามรุกราน และเผาทำลายบ่อน้ำมันทั่วประเทศคูเวต ใน พ.ศ. ๒๕๓๔
ได้เกิดเปลวไฟลุกโชติช่วงเหนือปากบ่อ ๖๐๐ บ่อ แพร่กระจายควันและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ ในควันดำมีเขม่าและสารประกอบอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นสารก่อมะเร็ง สารทำให้กลายพันธุ์ หรือสารทำให้ตัวอ่อนในครรภ์เกิดผิดปกติ ชาวคูเวต และบาห์เรน จึงล้มป่วยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็ก คนชรา และผู้ป่วย หรือผู้ที่มีอาการของโรคบางโรค เช่น โรคหัวใจ โรคภูมิแพ้ โรคหลอดเลือด โรงถุงลมโป่งพอง
โรคเกี่ยวกับหลอดลม และระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เป็นต้น ลมได้พัดพาสารมลพิษไปถึงประเทศปากีสถานคาดว่า อาจเกิดอาการผิดปกติ ในชนชาติตามทางที่ผ่านเช่นกัน
ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ อาจทำให้เกิดฝนกรด ถ้าฝุ่นในอินเดียไม่สามารถทำให้กลายเป็นกลางได้ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ มีอันตรายต่อคนและสัตว์ในทันทีทันใด และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้โลกร้อนขึ้น
ควันดำมืดบดบังแสงแดด ทำให้พื้นที่นั้นเย็นลงกว่าที่อื่น ๑๑ องศาเซลเซียส และกลางวันมืดเหมือนกลางคืน
ตามปกติแรงดันใต้ดินขับก๊าซและเชื้อเพลิงจำนวนมหาศาลขึ้นมาไม่ขาดสาย เพลิงจึงย่อมลุกโพลงอยู่ได้นานนับปี และดับลงยาก ก่อปัญหาต่อเนื่องในระยะยาว
ในสงครามอ่าวเปอร์เซียนี้ ทหารอิรักได้ระบายน้ำมันดิบประมาณ ๑๘-๑๐๘ ล้านแกลลอน
จากโรงกลั่น และคลังน้ำมันต่าง ๆ ของประเทศคูเวตลงทะเล
๑. เตรียมมาตรการฉุกเฉิน เพื่อควบคุมปัญหาได้ทันท่วงที หากปล่อยปละละเลย จะเกิดความสูญเสียเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
๒. ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความชำนาญการสูง จึงสามารถควบคุมป้องกันวินาศภัย และอุบัติภัยต่าง ๆ ได้ จึงต้องมีการฝึกฝนเป็นประจำ
๓. การป้องกันอุบัติภัยควรเป็นแนวทางที่ดีที่สุด จึงต้องมีกฎหมายควบคุม ป้องกันมิให้เกิดความบกพร่อง และครอบคลุมถึงการชดเชยค่าเสียหายทั้งสิ้น ที่เกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาว