เครื่องยนต์เผาไหม้เชื้อเพลิงที่อุณหภูมิสูง และมีอากาศมากพอควร จึงเกิดก๊าซไนทริกออกไซด์ การลดสารมลพิษนี้จึงมีหลักการ ๒ อย่าง คือ
ก. หมุนเวียนไอเสียกลับเข้าไปเผาไหม้ใหม่
ดังที่ได้อธิบายไว้ในตอนต้น ไอเสียจะช่วยลดอุณหภูมิลง
ข. เพิ่มอากาศในระหว่างการเผาไหม้
จะทำให้ไอน้ำมันเจือจางลง จะเห็นได้ว่า ใช้หลักการนี้ลดไฮโดรคาร์บอน
และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ด้วย การปรับเครื่องหรือออกแบบเครื่องยนต์ใหม่ จึงนิยมใช้แนวทางนี้ เพราะเป็นวิธีที่สามารถลดมลพิษทั้งสามคือ ไฮโดรคาร์บอน
ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ได้พร้อมกัน แต่มีข้อจำกัดอยู่ว่า
หากปรับไอน้ำมันให้เจือจางมากเกินไปนั้น เครื่องยนต์จะเดินสะดุด
ในประเทศไทยเริ่มนิยมใช้ก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง แทนน้ำมันเบนซิน เชื้อเพลิงในสภาพก๊าซจะสามารถผสมผสานกับอากาศได้ดีกว่า หากก๊าซนั้นมีสิ่งสกปรกเจือปนมาน้อย ย่อมเกิดสารมลพิษน้อยลงตามไปด้วย
การควบคุมมลพิษจากเครื่องจักรและเครื่องยนต์
มีหลักการสำคัญ ๓ ประการคือ
๑) ใช้เชื้อเพลิงที่สะอาด มีสารปนเปื้อนน้อย เช่น มีซัลเฟอร์น้อย เป็นต้น
๒) ควบคุมเครื่องจักรอุปกรณ์ และกรรม วิธีการผลิต หรือการสันดาปให้สามารถลดการผลิตมลพิษลง
๓) ลดมลพิษซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ด้วยกระบวนการ ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ก่อนระบายออกสู่บรรยากาศ