มลพิษในอากาศเกิดจากแหล่งกำเนิด ๒ ประเภทคือ แหล่งซึ่งเคลื่อนที่ได้ กับแหล่งซึ่งเคลื่อนที่ไม่ได้ ตามปกติยานยนต์ ทำให้เกิดมลพิษ ขณะเคลื่อนที่ จึงจัดรวมเป็นประเภทแรก เช่น รถยนต์
รถจักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง เครื่องบิน รถไฟ เรือหางยาว และเรือยนต์ต่าง ๆ ส่วนประเภทที่สอง ได้แก่ การอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งโรงจักรไฟฟ้า ฯลฯ แหล่งเหล่านี้ระบายสารพิษออกสู่บรรยากาศขณะอยู่กับที่
ยานยนต์ทำให้เกิดมลพิษจากการสันดาปเชื้อเพลิงภายในเครื่องยนต์เป็นหลัก แต่เชื้อเพลิงอาจรั่วไหลก่อนการสันดาปจากถังน้ำมัน ท่อส่ง และรูในคาร์บูเรเตอร์ ฯลฯ จึงเกิดมลพิษได้อีกเช่นกัน ในการอุตสาหกรรมนั้น จำเป็นต้องใช้พลังงาน ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าจากโรงจักร หรือความร้อนจากหม้อน้ำภายในโรงงาน ดังนั้นจึงเกิดมลพิษจากการสันดาป เพื่อผลิตพลังงาน ควบคู่ไปกับส่วนที่เกิดจากกระบวนการต่าง ๆ เพื่อผลิตสินค้า
การคมนาคมใช้เชื้อเพลิงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณเชื้อเพลิงทั้งประเทศ ใน พ.ศ. ๒๕๓๒ ในส่วนนี้รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถรับจ้าง (แท็กซี่) และรถบรรทุกขนาดเล็ก (ปิกอัพ) ทำให้เชื้อเพลิงหมดเปลืองไปเสียกึ่งหนึ่ง เมื่อลองคาดคะเนปริมาณสารมลพิษแต่ละชนิดของทั้งประเทศ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ พบว่า เกิดไฮโดรคาร์บอน ไนโตรเจนออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์ จากการขนส่งคมนาคมเป็นหลัก หรือคิดเป็นร้อยละ ๔๐, ๖๗ และ ๘๗ ตามลำดับ ภายในยี่สิบปีต่อจากนั้นคาดว่า อัตราส่วนเหล่านี้จะกลายเป็น ร้อยละ ๘๘, ๖๐ และเกือบ ๑๐๐ ตามลำดับ ส่วนสารตะกั่วในอากาศมาจากการขนส่งทั้งสิ้น จึงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของรถยนต์ต่าง ๆ ในเรื่องมลพิษทางอากาศ
ในเมืองใหญ่เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และนครราชสีมา เป็นต้น มักมีการจราจรติดขัดอยู่เนือง ๆ จะสังเกตเห็นฝุ่นฟุ้ง บางครั้งละอองเหล่านี้จับตัวเป็นกลุ่มควันลอยหนาตา ประกอบกับมีรายงานยืนยันว่า มีฝุ่นละอองเกินมาตรฐานอยู่มากมาย และมีแนวโน้มสูงขึ้นชัดเจน จึงสรุปได้ว่า
ในเมืองใหญ่ ๆ นั้น
ก. รถยนต์ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศอย่างรุนแรง และสารมลพิษสำคัญเหล่านี้คือ
ฝุ่นละออง คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน และตะกั่ว เป็นต้น
ข. จะมีมลพิษทางอากาศมากขึ้นอีกในอนาคต
ค. ควรควบคุม และแก้ไขปัญหาโดยด่วน
รถยนต์เคลื่อนที่ เพราะได้พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง แรงขับเคลื่อนเกิดขึ้นจากการจุดระเบิดน้ำมันในเครื่องยนต์ แล้วส่งกำลังไปกำกับล้อรถ ดังนั้น สารมลพิษส่วนใหญ่จึงเกิดจากการสันดาปในเครื่องยนต์ แล้วออกสู่บรรยากาศทางท่อไอเสีย ได้แก่
ก. ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์
ข. สารตะกั่วร้อยละ ๗๐-๘๐ ส่วนที่เหลือ ร้อยละ ๒๐-๒๕ ตกค้างอยู่ในท่อไอเสียและน้ำมัน หล่อลื่น
ค. ไฮโดรคาร์บอน (รวมทั้งเชื้อเพลิงที่ยัง ไม่ผ่านการสันดาป) ร้อยละ ๖๕ อีกร้อยละ ๒๐ เล็ดลอดในรูปไอน้ำมัน และไอเสียผ่านตัวเครื่อง ที่เหลือร้อยละ ๑๕ เป็นเชื้อเพลิงที่ระเหยออกจากถังน้ำมัน และคาร์บูเรเตอร์