Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเผาไหม้เชื้อเพลิงทำให้เกิดมลพิษ

Posted By Plookpedia | 25 มิ.ย. 60
8,177 Views

  Favorite

การเผาไหม้เชื้อเพลิงทำให้เกิดมลพิษ

 

        การเผาไหม้เชื้อเพลิง ทำให้เกิดการสันดาป ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษในลักษณะต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับ
องค์ประกอบต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อเพลิง ที่ใช้ปฏิกิริยาพื้นฐานของการสันดาปสมบูรณ์
เมื่อมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่สะอาด คือ 

 

ปฏิกิริยาพื้นฐานของการสันดาปสมบูรณ์

 

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และไอน้ำ เป็นผลจากการเผาไหม้ และเป็นตัวการดูดซึมรังสีอินฟราเรด (คลื่นยาว) ซึ่งโลกแผ่รังสีกลับสู่บรรยากาศ ดังนั้นถึงแม้การสันดาปจะดำเนินไปอย่างสมบูรณ์
แต่ก็ย่อมทำให้โลกเก็บงำความร้อนมากยิ่งขึ้น ตามกำลังการใช้เชื้อเพลิง

 

แต่การสันดาปส่วนใหญ่จะมีผลิตผล นอกเหนือจากคาร์บอนไดออกไซด์ และไอน้ำ เพราะ
สาเหตุหลายประการ คือ 


ก. เชื้อเพลิงมีสารเจือปน
        เช่น มีซัลเฟอร์ปนเปื้อนในน้ำมันดิบ หรือถ่านหินอยู่ตามธรรมชาติ ในบางกรณีผู้ผลิตมีเจตนาเติมสารบางอย่างลงในเชื้อเพลิง เช่น การเติมตะกั่วอินทรีย์ลงในน้ำมันเบนซิน เพื่อเพิ่มออกแทนสำหรับเครื่องยนต์ ดังนั้นจึงเกิดสารประกอบซัลเฟอร์ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เมื่อใช้ถ่านหิน หรือน้ำมันเตา และมีตะกั่วออกไซด์ ซัลเฟต และคาร์บอเนต ระบายออกสู่บรรยากาศจากท่อไอเสียของรถยนต์ ซึ่งใช้น้ำมันเบนซินแบบพิเศษ 

 

ข. ลักษณะเฉพาะของการสันดาป 
        ยานยนต์ทั่วไปใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engine) ในทางวิชาการ
อาจจำแนกเป็นเครื่องยนต์แบบสี่จังหวะ ซึ่งนิยมใช้ในรถยนต์ทั่วไป และเครื่องยนต์แบบสองจังหวะ
ในรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ในประเทศไทย หรือจำแนกเป็นเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งรถบรรทุก
และรถโดยสารส่วนใหญ่นิยมใช้ และเครื่องยนต์แบบใช้น้ำมันเบนซินในรถยนต์นั่งต่าง ๆ เครื่องยนต์เหล่านี้มีการจุดระเบิดภายใต้ความกดดัน ซึ่งสูงพอเหมาะ จึงก่อให้เกิดพลังงานมากเพียงพอในการขับเคลื่อนยานพาหนะ ตามเส้นทางคมนาคมทางบก น้ำ และอากาศ ตามต้องการ

 

เครื่องยนต์สันดาปภายในปล่อยมลสารจากส่วนของรถยนต์ ก.ระเหยจากถังน้ำมัน ข.ระเหยจากคาร์บูเรเตอร์ ค.ไอเสียลอดเข้าเสื้อสูบและออกทางรูระบาย

 

ค.การสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ 
        ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ น้ำมันดิบ และเขม่าควัน ซึ่งประกอบไปด้วยเถ้าถ่าน และเชื้อเพลิงตกค้าง เป็นต้น 

 

        นอกจากนี้มลพิษในอากาศ ยังเกิดจากกระบวนการผลิตต่าง ๆ ในการอุตสาหกรรม เช่น การทำเหมืองถ่านลิกไนต์ การเปิดหน้าดิน ตลอดจนการขนถ่ายดิน และถ่านลิกไนต์ ทำให้มีฝุ่นละอองฟุ้งในบริเวณใกล้เคียง หากสูดหายใจเข้าไป จะเป็นสาเหตุให้ถุงลมในปอดถูกอุดตันด้วยละอองหิน เรียกว่า โรคซิลิโคซีส การถลุงเศษเหล็กในโรงงาน ซึ่งใช้เตาหลอมไฟฟ้า นอกจากจะเกิดควันและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์แล้ว อุณหภูมิในขณะที่เกิดประกายไฟจ้าระหว่างขั้วนั้น ต้องสูงพอที่จะทำให้เหล็กหลอมละลาย (เกินกว่า ๑,๓๐๐ องศาเซลเซียส) และย่อมก่อให้เกิดก๊าซไนทริกออกไซด์ เช่นเดียวกันกับเครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

 

ความสัมพันธ์ระหว่างก๊าซไฮโดรคาร์บอนและโอโซน

 

        สภาวะต่าง ๆ ในอากาศ จะทำให้สารมลพิษเปลี่ยนรูปต่อไปได้อีก เช่น ที่กรุงลอนดอน
ในสมัยหนึ่งใช้ถ่านหิน เพื่อทำความอบอุ่นภายในอาคาร ประกอบกับสภาพทางภูมิศาสตร์
และภูมิอากาศของเกาะอังกฤษ ทำให้มีหมอกปกคลุมอยู่เป็นประจำ จึงมีการรวมตัวระหว่างหมอกและเขม่าควัน เกิดเป็นหมอกควันหรือสม็อกขึ้น (fog + smoke = smog) เมืองลอสแองเจลีส มีรถยนต์จำนวนมากมาย จึงเกิดก๊าซไฮโดรคาร์บอนขึ้น ในชั่วโมงที่มียวดยานพาหนะเดินทาง โดยเร่งด่วน
ภายในสามชั่วโมงหลังจากนั้น จะเกิดก๊าซโอโซน เนื่องจากปฏิกิริยา โดยอาศัยแสงแดดที่เรียกว่า
โฟโตเคมิคัล ทำให้มีสม็อก (ลักษณะแบบเดียวกัน) จะสังเกตได้ว่า กรุงเทพมหานครมีสภาพการจราจร และแสงแดด ใกล้เคียงกับเมืองลอสแองเจลีส แต่จะเป็นเหตุให้เกิดมลพิษแบบเดียวกันหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow