Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มลพิษทางอากาศ

Posted By Plookpedia | 25 มิ.ย. 60
19,851 Views

  Favorite
oke

มลพิษทางอากาศ

 

        ในอากาศบริสุทธิ์ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา ประกอบไปด้วยก๊าซต่างๆ หลายชนิด ถ้านำอากาศมา
๑๐๐ ลิตร จะมีไนโตรเจนอยู่ประมาณ ๗๘ ลิตร มีออกซิเจนประมาณ ๒๑ ลิตร นอกนั้นมีคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซอื่นๆ นอกจากก๊าซแล้ว ยังมีไอน้ำ และฝุ่นละออง แต่บางครั้ง อากาศจะมีสิ่งอื่นๆ ปนอยู่ เช่น ควันและไอเสียจากรถยนต์ รถเมล์ รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก ในไอเสียนั้นมีสารที่เป็นอันตรายกับเราหลายอย่าง เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ตะกั่ว ไนทริกออกไซด์ ไอน้ำมัน นอกจากรถยนต์ต่าง ๆ แล้ว โรงงานยังระบายละออง และไอของเสียออกมา ทำให้อากาศไม่บริสุทธิ์

 

 

        บ้านเมืองเจริญขึ้น มีรถ มีโรงงานมากขึ้น อากาศก็ไม่บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ในบางแห่งมีสิ่งสกปรกในอากาศมาก จนเป็นอันตรายต่อคน สัตว์ และพืช

 

 

        บางครั้งสิ่งสกปรกเหล่านี้ ทำให้เกิดหมอกสลัว เราจึงมองเห็นได้ใกล้ ๆ เท่านั้น ถ้ามีหมอก
หนาทึบ จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้อย่างง่ายดายในเวลาเดินทาง เช่น เมื่อไฟไหม้ลุกลามทุ่งหญ้าแห้ง
ข้างถนน จนควันไฟก็จะลอยบังทิศทาง เป็นต้น 

        ถ้าช่วยกันดูแลเครื่องยนต์ และเครื่องจักรให้ดี อากาศย่อมไม่สกปรก หากหลีกเลี่ยงไม่ได้
ก็ต้องหาทางกำจัดสารที่มีพิษภัยนั้นเสียก่อน 

        อากาศสกปรกสามารถกัดกร่อนวัสดุที่ก่อสร้างบ้านเรือน วัดวาอาราม และอนุสาวรีย์ต่าง ๆ ให้เก่าผุพัง ก๊าซบางอย่างกัดสีให้ซีด และทำให้วัสดุที่เป็นยางเก่าเร็ว ถ้ามีควันมาก ละอองจะจับอาคาร อุปกรณ์ และเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ให้ดูสกปรก จึงต้องหมั่นชำระล้าง ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนเครื่องใช้บ่อย ๆ 

        ร่างกายของคนเราไม่เหมือนกับอาคาร หากเกิดชำรุดเสียหาย จะล้างซ่อม หรือเปลี่ยนได้ยาก เมื่อเราสูดหายใจอากาศเสียเข้าไป ปอด หัวใจ และอวัยวะต่าง ๆ ก็ต้องทำงานหนักมาก
ทำให้ทรุดโทรม ได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงอากาศสกปรก ที่อาจเลี่ยงได้ เช่น ไม่สูดดม ควันบุหรี่ หลีกหนีจากที่ซึ่งมีฝุ่นฟุ้ง หรือเมื่อสงสัยว่า มีก๊าซพิษ 

 

 

        ต้นไม้ช่วยกรองอากาศ ถ้าเราปลูกต้นไม้กันมากมาย โลกคง ร่มรื่น อากาศย่อมบริสุทธิ์ และสดชื่นสำหรับเราทุกคน

 

---------------------------------------------------------

 

        ในอากาศบริสุทธิ์ จะมีก๊าซต่าง ๆ โดยปริมาตรคือ ไนโตรเจน ประมาณร้อยละ ๗๘ ออกซิเจนประมาณร้อยละ ๒๑ ที่เหลือเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ และอื่น ๆ เช่น ฮีเลียม คริบตอน นอกจากนั้นก็มีไอน้ำ และฝุ่นละอองต่าง ๆ แต่ในบางสถานที่ บางเวลา มีสารอื่น ๆ ที่ มีพิษต่อร่างกายเจือปนในอากาศ หรือปริมาณของสารในอากาศมีสัดส่วนที่ต่างจากเดิมซึ่งไม่ เหมาะกับการหายใจ

       

        เมื่ออากาศมีสิ่งสกปรกผิดจากปกตินี้เรียกว่า เกิดมลพิษทางอากาศมีสาเหตุ ทั้งจากกระบวนการตามธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟระเบิด และจากมนุษย์


        มลพิษ ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้เชื้อเพลิงในชีวิตประจำวัน เช่น ในการหุงต้ม และการใช้รถชนิดต่าง ๆ ในการเผาไหม้เชื้อเพลิงซึ่งเป็นสารไฮโดรคาร์บอนนั้น ถ้าเกิดการสันดาปสมบูรณ์ และเชื้อเพลิงสะอาด จะเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ และไอน้ำ ถ้าเกิดการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ จะเกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซไฮโดรคาร์บอนด้วย แต่การสันดาปในเครื่องยนต์ของรถต่าง ๆ มักจะเกิดก๊าซไนทริกออกไซด์ เชื้อเพลิงโดยทั่วไปมักไม่สะอาด มีกำมะถันเจือปน ในน้ำมันเบนซินมีตะกั่วอินทรีย์ โรงกลั่นน้ำมัน เติมตะกั่วนี้ เพื่อปรับคุณภาพน้ำมันสำหรับใช้ในรถยนต์ ดังนั้นเมื่อเกิดการสันดาป จะเกิดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สารประกอบตะกั่ว และอื่น ๆ นอกจากนี้ก็มีน้ำมันส่วนที่ไม่ผ่านการสันดาป สารต่าง ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และอาจเป็นพิษต่อมนุษย์ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิด ปริมาณของสาร ระยะเวลาที่ได้รับ และความแตกต่างของแต่ละบุคคล นอกจากนั้นยังอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์และพืชด้วย

 

ภูเขาไฟ พินาทูโบ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ระเบิดขึ้นเมื่อเดือน มิถุนายน๒๕๓๔ ทำให้มีฝุ่นละอองและเถ้าถ่านฟุ้งกระจายอยู่ทั่วไป เกิดอากาศสกปรกผิดจากปกติเรียกว่า เกิดมลพิษทางอากาศ

 

        ควันบุหรี่ก่อให้เกิดมลพิษ ทั้งผู้สูบ และคนซึ่งอยู่ใกล้เคียง โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในครรภ์ด้วย เพราะเด็กจะได้รับออกซิเจนไปเลี้ยงสมองน้อยลง เช่นเดียวกับแม่ นอกจากนี้ ถ้าใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ถูกวิธี สารนั้นก็จะเป็นพิษต่อผู้เกี่ยวข้อง

        โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีส่วนทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น โรงงานโม่หิน ทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งในบริเวณใกล้เคียง หากสูดหายใจเข้าไป จะทำให้ถุงลมในปอดถูกอุดตันด้วยละอองฝุ่น โรงงานถลุงเศษเหล็ก ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไนทริกออกไซด์ การใช้เชื้อเพลิงที่ไม่สะอาด ซึ่งมีกำมะถันปนอยู่ ทำให้เกิดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แล้วกลายเป็นกรดกำมะถันในภายหลัง

 

โรงงานโม่หินทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งในบริเวณใกล้เคียง หากสูดดมหายใจเข้าไป จะทำให้ถุงลมในปอดถูดอุดตันด้วยละอองฝุ่น

 

        ไอเสียจากรถยนต์เป็นอันตรายมาก ถ้าอยู่ในที่ปิดมิดชิด เช่น โรงรถ ควันอาจรม จนเสียชีวิตได้ เพราะในไอเสีย มีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์อยู่ด้วย ก๊าซนี้ไม่มีกลิ่น คนจึงไม่รู้ตัวว่า กำลังรับก๊าซพิษ แต่จะรู้สึกงงงวย ปวดศีรษะ วิงเวียน และเปลี้ย เพราะสมองขาดออกซิเจนไปเลี้ยง หากยังฝืนอยู่ในที่นั้นต่อไป อาการจะทรุดลง จนสลบ ชัก และถึงตายได้ ในไอเสีย มีฝุ่นและตะกั่ว ปะปนอยู่ด้วย ละอองนี้เข้าสู่ระบบหายใจส่วนลึกได้ เพราะละอองมีขนาดเล็ก ตะกั่วมีพิษ ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง และโรคไต ถ้าร่างกายสะสมสารนี้ไว้นาน จะเกิดอาการสมองฝ่อ เห็นได้ว่า พิษจากสารมลพิษอาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หรือเรื้อรัง จึงไม่เห็นผลทันตาเสมอไป

        กิจกรรมที่ปฏิบัติ และสภาพของร่างกายมีความสัมพันธ์ กับความรุนแรงของผลจากมลพิษ เช่น การออกกำลังกาย ปกติเป็นสิ่งดี แต่ถ้าออกกำลังกายในที่ที่มีสารมลพิษ อาจเกิดโทษมากกว่าประโยชน์ เพราะสารมลพิษจะเข้าไปในร่างกายได้เร็วขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากการออกกำลังต้องการอากาศมากขึ้น จึงสูดหายใจแรงและลึก บางครั้งหากรู้สึกเหนื่อย อาจอ้าปากหอบ เพื่อรับอากาศมากขึ้น สารมลพิษจึงเข้าไปสู่ระบบหายใจส่วนลึก โดยจมูกไม่ได้กรอง จึงต้องเลือกสถานที่ออกกำลังกายให้เหมาะสม

 

การออกกำลังกายในบริเวณที่มีสารมลพิษ จะเกิดโทษมากกว่าประโยชน์เพราะสารมลพิษเข้าสู่ร่างกายได้เร็วกว่าสภาพปกติ

 

        สภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของแหล่งที่เกิดมลพิษ มีผลต่อสภาวะของพิษที่ เกิดในบริเวณนั้น ในเวลากลางวัน ที่มีแสงแดดส่องถึงพื้นดิน อากาศที่อยู่ใกล้พื้นดินจะร้อน ทำให้อากาศที่มีสารมลพิษกระจายตัวขึ้นสูงได้ดี จะมีพิษต่อผู้คนในบริเวณนั้นน้อยลง แต่ในเวลากลางคืน หลังเที่ยงคืน อากาศใกล้พื้นดินจะเย็น จึงทำให้สารมลพิษถูกเก็บกักเอาไว้ใกล้ ๆ กับพื้นดิน

        บริเวณชายฝั่งทะเล ที่มีลมบกลมทะเล ในเวลากลางวัน ลมพัดจากทะเลเข้าสู่ฝั่ง และในเวลากลางคืน มีลมพัดจากฝั่งออกสู่ทะเล แต่ลมจากทะเลเข้าสู่ฝั่งแรงกว่าลมจากฝั่งไปสู่ทะเล จึงทำให้สารมลพิษกระจายจากบริเวณฝั่งทะเลได้น้อย จึงมีการสะสมพิษไว้เรื่อย ๆ บริเวณที่ล้อมรอบด้วยหุบเขาก็เช่นเดียวกัน สารมลพิษจะถูกเก็บไว้ในบริเวณนั้น เพราะลมจากเชิงเขาขึ้นไปบนเขา อ่อนกว่าลมจากภูเขาลงสู่เชิงเขา ตัวอย่างเช่น นครลอสแองเจลีส ประเทศสหรัฐอเมริกา มีหุบเขาล้อมรอบ และอยู่ติดฝั่งทะเล สารมลพิษจากรถต่าง ๆ ไม่สามารถกระจายพ้นออกจากหุบเขาได้ จึงเกิดอันตรายต่อชาวเมืองในบางโอกาส ที่หุบเขาเมยุส ประเทศเบลเยียม ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมหลายแหล่ง
ก็มีคนแก่ และผู้ป่วยเสียชีวิต ๖๓ คน ในเวลาใกล้เคียงกัน

 

ภาพบน: ลมทะเล ภาพล่าง: ลมบก

 

        ประเทศไทยมีพื้นที่เป็นหุบเขาหลายแห่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม เช่น อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มีโรงจักรไฟฟ้า และเหมืองลิกไนต์ นอกจากนี้ก็มีโครงการขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีภูเขาตั้งกระหนาบแผ่นดินริมฝั่งทะเล ในภูมิประเทศเช่นนี้ ควรต้องป้องกันอย่างดี ไม่เช่นนั้นอาจมีปัญหาต่อผู้คน ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้

 

โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออกที่ อ.มาบตาพุดจ. ระยอง

 

        การใช้เชื้อเพลิงต่าง ๆ นั้น นอกจากจะทำให้เกิดสารมลพิษต่างๆ ซึ่งเป็นอันตราย โดยตรงต่อมนุษย์ สัตว์ และพืชแล้ว ยังมีผลต่อสภาวะทั่วไปของโลกด้วย เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ และไอน้ำ ซึ่งเกิดจากการสันดาปของเชื้อเพลิง เป็นตัวเก็บกักรังสีอินฟราเรด ซึ่งโลก แผ่กลับสู่บรรยากาศ ดังนั้นเมื่อมีความร้อนเกิดขึ้นมาก มีคาร์บอนไดออกไซด์ และไอน้ำ เกิดขึ้นมาก โลกจะเก็บความร้อนไว้มาก ทำให้โลกร้อนขึ้น

 

สถานีบริการน้ำมันที่ขายน้ำมันไร้สารตะกั่ว

 

        การควบคุม เพื่อลดการเกิดสารมลพิษ ซึ่งเกิดจากการใช้เครื่องจักร เครื่องยนต์ต่าง ๆ ทั้งจากการใช้รถ และในงานอุตสาหกรรม ตลอดจนกระบวนการต่าง ๆ ในงานอุตสาหกรรม นั้น มีหลักสำคัญ ๓ ประการ คือ 

        ๑. ใช้เชื้อเพลิงที่สะอาด มีสารปนเปื้อนน้อย 

        ๒. ควบคุมเครื่องจักรอุปกรณ์ และกรรมวิธีการผลิต หรือการสันดาปให้สามารถลดการผลิตสารมลพิษลง

        ๓. ลดสารมลพิษ ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ด้วยกระบวนการ ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ก่อนระบายออกสู่บรรยากาศ
 

        ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงการป้องกัน เพื่อลดสารมลพิษ ที่เกิดจากการใช้รถยนต์ ได้แก่ การใช้เชื้อเพลิงที่สะอาด มีการเตรียมการ ที่จะลดตะกั่วในน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษลง นอกจากนี้จะต้องปรับส่วนต่าง ๆ ของเครื่องยนต์ เช่น หัวเทียน คาร์บูเรเตอร์ และดูแลเครื่องกรอง อากาศให้สะอาด ทั้งนี้เพื่อควบคุมให้น้ำมันผสมกับอากาศ ในอัตราพอเหมาะ ทำให้รถยนต์เดินเรียบ เร่งได้ดี โดยไม่เกิดมลพิษเกินควร
 

        การดัดแปลงกระบวนการผลิต อาจช่วยลดมลพิษได้ เช่น โรงผลิตปูนซีเมนต์ ในบริเวณจังหวัดสระบุรี ใช้วิธีการแบบแห้งแทนแบบเปียก เช่นที่โรงผลิตปูนซีเมนต์บางซื่อเคยใช้
 

        ส่วนการลดสารมลพิษที่เกิดขึ้นแล้ว ทำได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำจับฝุ่น ใช้การดูดซับ เช่น ใช้ถ่านไม้ดูดกลิ่น หรือใช้ไฟฟ้าจับฝุ่นละออง

 

        ทุกคนมีส่วนทำให้เกิดมลพิษ เพราะใช้เชื้อเพลิงทางตรง หรือทางอ้อม ยกตัวอย่าง เช่น เวลาหุงข้าว โดยใช้ถ่านไม้ ถือเป็นการใช้เชื้อเพลิงโดยตรง ครั้นเมื่อเปลี่ยนเป็นหม้อหุง ข้าวไฟฟ้า เราใช้เชื้อเพลิงทางอ้อม เพราะโรงจักรไฟฟ้า ต้องใช้เชื้อเพลิงอย่างใดอย่างหนึ่งแทน ในทำนองเดียวกันข้าวและหม้อหุงข้าวเอง ก็ใช้เชื้อเพลิงมาก่อนแล้วไม่น้อย ถ้าคิดถึงว่า โรงสีข้าวอาศัยแรงจากแกลบ หรือน้ำมันเตา กว่าจะสีข้าวให้เป็นเม็ดสวย ส่วนหม้อหุงข้าวนั้น ต้องผ่านขั้นตอนมากมายในโรงงาน และแต่ละขั้นตอนนั้น ย่อมอาศัยเชื้อเพลิงเป็นหลักกันอยู่โดยมาก

 

ดังนั้นทุกคนจึงช่วยลดพิษภัยในอากาศลงได้ โดยรู้จักกินและใช้อย่างระมัดระวัง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow