เด็ก ๆ คงเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับพรรคการเมืองจากหนังสือพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์และได้เห็นป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองติดไว้ตามถนนหนทางเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เด็ก ๆ ทราบไหมว่า พรรคการเมือง หมายถึงอะไรและทำหน้าที่อะไร
ความหมายกว้าง ๆ ของพรรคการเมือง คือ กลุ่มบุคคลที่ต้องการเข้าไปทำงานเกี่ยวกับการควบคุมดูแลและพัฒนาประเทศตามแนวทางความคิดของพวกตน ส่วนหน้าที่ของพรรคการเมืองก็มีหลายอย่างที่สำคัญ คือ ส่งผู้แทนของพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวนมากก็ทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาลเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เพื่อบริหารบ้านเมือง นอกจากนี้ยังเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาออกกฎหมายและนำข้อเรียกร้องหรือปัญหาต่าง ๆ ของประชาชนไปแจ้งให้รัฐบาลทราบเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหานั้น ๆ ประเทศไทยเริ่มมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ปัจจุบันเรามีพรรคการเมืองมากมายหลายพรรคโดยบางพรรคก็มีอายุเก่าแก่และบางพรรคมีอายุใหม่ ทั้งนี้เพราะกฎหมายอนุญาตให้ตั้งหรือยุบเลิกพรรคการเมืองได้ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้
พรรคการเมือง คือ กลุ่มบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยมุ่งแสวงหาอำนาจในการปกครองรัฐเพื่อนำอุดมการณ์หรือแนวนโยบายของตนมาใช้ตอบสนองความต้องการของประชาชน แก้ปัญหาของสังคม และวางแนวทางในการพัฒนาประเทศ ทุกประเทศไม่ว่าจะมีการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยหรือเผด็จการล้วนมีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นเพื่อมาบริหารประเทศ
การจัดตั้งพรรคการเมืองในประเทศไทยมีขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยมีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ พรรคที่จัดตั้งเป็นพรรคแรก คือ พรรคก้าวหน้า ต่อมาจึงมีพรรคอื่น ๆ ตามมา เช่น พรรคประชาธิปัตย์ สหชีพ แต่พรรคการเมืองไทยที่จัดตั้งขึ้นในสมัยแรก ๆ ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างต่อเนื่องเพราะการชะงักงันของระบอบประชาธิปไตยเนื่องจากการยึดอำนาจรัฐโดยฝ่ายทหารหลายครั้ง มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองและยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง อย่างไรก็ดีการยึดอำนาจของฝ่ายทหารบางครั้งก็ยังเปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองเดิมอยู่ได้ เช่น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ พรรคประชาธิปัตย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้ในช่วงสั้น ๆ หรือ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ ฝ่ายทหารได้ให้มีการเลือกตั้งขึ้นจึงมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่ ๆ อีกหลายพรรค นอกเหนือจากพรรคเก่าอย่างประชาธิปัตย์ กิจสังคม ชาติไทย พรรคที่เกิดขึ้นใหม่บางพรรคประสบผลสำเร็จในการเลือกตั้ง เช่น พรรคประชากรไทย พรรคพลังธรรม พรรคความหวังใหม่
หลังสิ้นสุดการเข้ายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (ร.ส.ช.) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ แล้ว มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมืองในระยะต่อ ๆ มา จนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับซึ่งล้วนมีส่วนทำให้พรรคการเมืองได้พัฒนาตนเองและมีคุณภาพขึ้น พรรคการเมืองไทยจึงมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลอย่างต่อเนื่องและมีบทบาททางการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
กิจกรรมหลัก ๆ ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ของพรรคการเมืองมีหลายประการที่สำคัญ คือ การจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ การเป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐกับสังคมโดยนำข้อเรียกร้องหรือปัญหาของประชาชนไปแจ้งให้รัฐบาลทราบเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องนั้นหรือรายงานการดำเนินงานของรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อประชาชนให้ประชาชนได้ทราบและที่สำคัญ คือ การนำเสนอประเด็นปัญหา และแนวทางแก้ไขแก่สังคมเพราะในสังคมสมัยใหม่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะพิจารณาจากแนวนโยบายของพรรคมากกว่าตัวบุคคล
กระบวนการสำคัญในการจัดองค์การของพรรคการเมือง คือ
การรับสมาชิกพรรค โดยการรับสมาชิกซึ่งต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด เช่น มีอายุ ๑๘ ปีบริบูรณ์ และต้องจัดหาสมาชิกจากทุกภาคให้ได้ไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ คน ภายใน ๑๘๐ วัน นับแต่จดทะเบียนตั้งพรรค
การตั้งสาขาพรรค ต้องมีสาขาภาคละ ๑ สาขา เป็นอย่างน้อย
โครงสร้างของพรรค ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย ๓ ส่วน ได้แก่
(๑) ที่ประชุมใหญ่ของพรรค ทำหน้าที่เลือกผู้ดำรงตำแหน่งบริหารสำคัญ ๆ ของพรรค เช่น หัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค โฆษกพรรค ตลอดจน ลงมติเปลี่ยนแปลงแก้ไขนโยบายหรือข้อบังคับพรรค
(๒) คณะกรรมการบริหารพรรค และ
(๓) คณะกรรมการบริหารสาขาพรรค ที่จะดำเนินงานของพรรคให้เป็นไปตามนโยบายพรรค
การหารายได้ของพรรคโดยการเรียกเก็บเงินจากสมาชิกเป็นค่าบำรุงพรรค การรับบริจาคซึ่งต้องดำเนินการอย่างเปิดเผย การจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ปาฐกถา และการรับเงินสนับสนุนซึ่งรัฐจัดสรรให้ตามกฎหมาย
ส่วนการยุบเลิกพรรคการเมือง จะทำได้ก็โดยเหตุใดเหตุหนึ่งใน ๕ ประการ คือ
(๑) ยุบเลิกตามข้อบังคับพรรค
(๒) มีจำนวนสมาชิกไม่ถึง ๑๕ คน
(๓) ต้องการไปรวมกับพรรคอื่น
(๔) ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ
(๕) ไม่ดำเนินกิจการตามนโยบายพรรค
ทั้งนี้การยุบพรรคต้องมีคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญและต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ปัจจุบันพรรคการเมืองที่รู้จักชื่อกันดี ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถือเป็นพรรคเก่าแก่ที่สุดในขณะนี้โดยตั้งมานาน ๖๐ ปีแล้ว พรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคที่เติบโตอย่างรวดเร็วและได้อำนาจจัดตั้งรัฐบาลอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้นก็มีพรรคอื่น ๆ เช่น พรรคชาติไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคประชากรไทย พรรคมหาชน