คำว่า ญวน เป็นคำที่คนไทยในสมัยก่อนใช้เรียกชาวเวียดนามซึ่งเป็นชนชาติเพื่อนบ้านของเรา ในประเทศไทยเมื่อราว ๒๐๐ ปี มาแล้วชาวญวนอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทย ได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและมีวัดที่เรียกว่า วัดญวน
ชาวญวนนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานและมีความคิดความเชื่อตลอดจนลัทธิธรรมเนียมประเพณีทางศาสนาเหมือนอย่างจีน แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้มีการกำหนดระเบียบหลายอย่างให้สอดคล้องกับประเพณีการปฏิบัติทางศาสนาของไทย เช่น มีประเพณีการบวช การเข้าพรรษา การทอดกฐิน การทอดผ้าป่าการสรงน้ำพระพุทธรูปเหมือนอย่างไทย พระสงฆ์ญวนมีการบิณฑบาต การทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นและไม่ฉันอาหารเย็นเช่นเดียวกับพระสงฆ์ไทย แต่สิ่งที่ยังคงดำรงไว้ คือ การสวดมนต์เป็นภาษาญวน ประเพณีบางอย่างที่ถือปฏิบัติในวัดญวนนั้น เด็ก ๆ อาจเคยรู้จักหรือเห็นมาบ้าง เช่น การถือศีลกินเจเพื่อให้เกิดความสุขความเจริญ การทิ้งกระจาดเพื่อบริจาคทานและการทำพิธีกงเต๊กเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
ปัจจุบันวัดญวนในประเทศไทยมีหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด วัดญวนที่สำคัญในกรุงเทพฯ เช่น วัดอุภัยราชบำรุง (วัดญวนตลาดน้อย) วัดสมณานัมบริหาร (วัดญวนสะพานขาว) ส่วนวัดญวนที่สำคัญซึ่งตั้งอยู่ที่ต่างจังหวัด เช่น วัดถาวรวราราม และวัดถ้ำเขาน้อย จังหวัดกาญจนบุรี วัดเขตร์นาบุญญาราม จังหวัดจันทบุรี
วัดญวนถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อมีการตั้งหลักแหล่งของชาวญวนที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ปลายสมัยธนบุรี เป็นวัดทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานอย่างจีนเนื่องจากชาวญวนเคยอยู่ภายใต้การปกครองของจีนมานานนับพันปีจึงมีการนับถือศาสนาตลอดจนความคิดความเชื่อตามลัทธิอย่างจีนและมีพิธีกรรมทางศาสนาคล้ายจีน แต่เนื่องจากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นคณะสงฆ์ญวนในประเทศไทยไม่สามารถติดต่อกับคณะสงฆ์ญวนในเมืองญวนได้สะดวกนัก อิทธิพลวัฒนธรรมทางศาสนาด้านแบบแผนการปฏิบัติจากแหล่งเดิมจึงคลายความเคร่งครัดลง วัดญวนในประเทศไทยนับแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้ปรับระเบียบแบบแผนประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนวัตรปฏิบัติของสงฆ์ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมทางศาสนาในสังคมไทย เช่น มีการบิณฑบาต การทำวัตรเช้าเย็น การถือวิกาลโภชนา ทั้งยังมีการรับเอาประเพณีและพิธีกรรมแบบเถรวาทไปใช้หลายประการ เช่น การบวช การเข้าพรรษา การทอดกฐิน การทอดผ้าป่า แต่ยังคงสวดมนต์เป็นภาษาญวนเกิดเป็นอนัมนิกายในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุปถัมภ์และให้ความสำคัญแก่อนัมนิกายโดยโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดญวนตลาดน้อย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า วัดอุภัยราชบำรุงและให้พระสงฆ์ญวนร่วมปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของอนัมนิกายในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาด้วยซึ่งยังคงปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน
เป็นพิธีกรรมอันเนื่องด้วยความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าและคำสอนทางศาสนาที่มุ่งให้มีเมตตา เสียสละ สร้างกุศลกรรมเพื่อให้เกิดความสุขความเจริญ พิธีกรรมเหล่านี้ ได้แก่ การบูชาดาวนพเคราะห์ การสรงน้ำพระพุทธรูปและหล่อเทียนพรรษา การบริจาคทานทิ้งกระจาดและการถือศีลกินเจ
เป็นพิธีกรรมที่ยึดถือปฏิบัติในช่วงเวลาต่าง ๆ ของชีวิต เพื่อความเป็นสิริมงคลและประโยชน์สุข ได้แก่ การบวช การทำพิธีกงเต๊กอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
ได้แก่ การทอดกฐิน การทอดผ้าป่
วัดญวนในประเทศไทยมีหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ เช่น วัดอุภัยราชบำรุง (ที่ตลาดน้อย) วัดสมณานัมบริหาร (ที่สะพานขาว) วัดอนัมนิกายาราม (ที่บางโพ) ในต่างจังหวัด เช่น วัดเขตร์นาบุญญารามที่จังหวัดจันทบุรี วัดมหายานกาญจนมาสราษฎรบำรุงที่จังหวัดยะลา วัดถาวรวรารามและวัดถ้ำเขาน้อยที่จังหวัดกาญจนบุรี
วัดญวนในประเทศไทยมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่ผสมผสานระหว่างจีน ญวน และไทย วัดญวนไม่นิยมสร้างโบสถ์ที่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์อย่างไทย แต่มีการสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิ หอกลอง และหอระฆัง ซึ่งมีลักษณะคล้ายสถาปัตยกรรมจีนส่วนรูปเคารพที่เป็นสัญลักษณ์ของวัดญวน คือ รูปท้าวมหาชมพู