วัตถุดิบและกรรมวิธี
เครื่องจักสานเป็นงานหัตถกรรมเก่าแก่อย่างหนึ่งที่มนุษย์ทำขึ้น เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ โดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นวัสดุ สร้างเป็นเครื่องจักสานประเภทต่างๆ
ประเทศต่างๆ ในเอเชียเป็นแหล่งผลิตเครื่องจักสานที่สำคัญของโลก ทั้งนี้เพราะภูมิภาคนี้ มีพืชพันธุ์ไม้นานาชนิด ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะนำมาทำเป็นเครื่องจักสาน นอกจากนี้ประชากรส่วนใหญ่ ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ยังไม่ได้พัฒนาเป็นการเกษตรอุตสาหกรรม ที่ใช้เครื่องจักรกล ดังนั้น เครื่องมือเครื่องใช้ที่เกษตรกรในภูมิภาคนี้ ใช้ในการประกอบอาชีพ จึงยังเป็นเครื่องมือพื้นบ้าน มากกว่าที่จะใช้เครื่องมือที่มีเทคโนโลยีสูง โดยเฉพาะประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเอเชียอาคเนย์ เช่น ประเทศไทย ในอดีตประชากร ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม และเป็นเกษตรแบบดั้งเดิม ที่ใช้เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้แล้วประชาชนที่อาศัยอยู่ในชนบท ยังดำรงชีพตามสภาพสังคมเกษตรกรรม ที่ยังใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่ผลิตขึ้นเองจากวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น การทำภาชนะดินเผาด้วยดินที่หาได้ในท้องถิ่น การทำเครื่องจักสาน ด้วยเถา ใบ และต้นไม้ชนิดต่างๆ ดังนั้นเครื่องจักสานจึงเป็นเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน ที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดในทุกภาคของประเทศ
มนุษย์มีความเฉลียวฉลาดในการเลือกสรรวัตถุดิบแต่ละชนิดจากธรรมชาติ มาทำเป็นเครื่องจักสาน ให้สอดคล้องเหมาะสมกับการใช้สอย เช่น นำกิ่งไม้มาสอดขัดกันอย่างง่ายๆ เป็นรั้ว เพื่อแสดงอาณาเขตของตน นำใบไม้ที่มีลักษณะเป็นเส้นแบนๆ อย่างใบตาล ใบมะพร้าว ใบลาน ใบลำเจียก มาจักเป็นเส้น แล้วสานเป็นเครื่องจักสานประเภทต่างๆ นำไม้ไผ่และหวาย มาจักเป็นเส้น เพื่อสานเป็นเครื่องจักสาน
ไผ่ เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ที่จะนำมาแปรรูปเป็นวัสดุ สำหรับทำเครื่องจักสานมากที่สุด จึงเห็นได้ว่า เครื่องจักสานไม้ไผ่ เป็นเครื่องจักสานที่นิยมใช้ และผลิตกันแพร่หลายในภูมิภาคเอเชีย เฉพาะประเทศไทยนั้น ไผ่หลายพันธุ์มีคุณสมบัติเหมาะสม ที่จะนำมาทำเครื่องจักสาน กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ และไผ่ที่นำมาทำเครื่องจักสานได้ดี มีหลายพันธุ์ ได้แก่ ไผ่สีสุก ไผ่รวก ไผ่เฮี้ยะ ไผ่ข้าวหลาม เป็นต้น
ไผ่
พรรณไม้ชนิด Bambusa spp. ในวงศ์ Poaceae เป็นกอลำต้น สูงเป็นปล้องๆ มีหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะนำมาใช้ทำเครื่องจักสานแตกต่างกันไป
เช่น
ไผ่สีสุก (Bambusa blumeana Schult.)
ขึ้นทั่วไปตามหัวไร่ปลายนาทุกภาคของประเทศ แต่พบมากในภาคกลาง และภาคใต้ ชอบดินเหนียวปนทราย หรือดินร่วนในที่ราบต่ำๆ ตามริมแม่น้ำลำคลอง ไผ่ชนิดนี้ กล่าวกันว่า มาจากหมู่เกาะชวา สุมาตรา และบอร์เนียว ลำมีสีออกเหลือง จึงเรียกว่าไผ่สีสุก เป็นไผ่ที่มีลำสูงใหญ่ ไผ่ชนิดนี้ใช้ ประโยชน์ได้หลายอย่าง ชาวบ้านจึงมักปลูกไว้เป็นรั้วบ้านเพื่อ ช่วยกำบังลม และนำหน่อมาเป็นอาหาร นำต้นมาใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น ทำพะอง บันได และทำเครื่องจักสานนานาชนิด
ไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis Gamble)
เป็นไผ่ที่กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในบริเวณประเทศพม่า จึงพบไผ่ชนิดนี้มากในบริเวณภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันตกบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ไผ่รวก เป็นไผ่ที่มีความสวยงาม เป็นกอชิดทึบ พุ่มเตี้ย ลำต้นเล็กและเปลา สูงประมาณ ๒-๗ เมตร มีกิ่งเล็กๆ ไผ่รวกเป็นไม้ที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ปลูกตกแต่งบริเวณบ้าน ทำรั้ว ใช้เป็นวัสดุประกอบการก่อสร้าง การประมง ทำเยื่อกระดาษ และใช้ทำเครื่องจักสาน
ไผ่เฮี้ยะ (Cephalostachyum virgatum Kurz)
เป็นไม้ที่รู้จักกันดีในภาคเหนือ ขึ้นทั่วไปใน บริเวณป่าดงดิบหรือป่าผสมผลัดใบที่มีไม้สัก เฉพาะตามริมห้วยต่างๆ ลักษณะเด่นของไผ่ชนิดนี้คือ เนื้อลำบางมาก ตั้งแต่โคนถึงยอด มีขนาดปล้องยาวมาก ประมาณ ๕๐-๗๐ เซนติเมตร สูง ประมาณ ๑๘ เมตร ไม้เฮี้ยะเป็นไม้ขนาดย่อม ลำเรียวเปลา ชาวบ้านในภาคเหนือนิยมนำมาทำฝาบ้าน เครื่องมือจับปลา กระบอกใส่น้ำ และเครื่องจักสาน
ไผ่ข้ามหลาม (Cephalostachyum pergracile Munro)
มีมากในบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นกระจายเป็นกลุ่มๆ ในป่าผสมผลัดใบ ชื่อพื้นเมืองอาจเรียก ไม้ข้ามหลาม ไม้ป้าง เป็นไม้ขนาดกลาง ชูลำสวยงาม กอไม่แน่นจนเกินไป ลำต้นตรงสีเขียวนวล เนื้อบาง ไผ่ชนิดนี้ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ตั้งแต่ใช้เผาข้าวหลาม และเครื่องจักสาน ใช้ก่อสร้างบ้านเรือน ทำฟาก ฝา เพดานบ้าน ทำโรงเรือนสำหรับเลี้ยงสัตว์จนถึงนำไปทำเป็นตะแกรงแทนเหล็กสำหรับยึดคอนกรีตในงานก่อสร้าง
นอกจากไผ่หลายชนิด ซึ่งเป็นไม้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการนำมาทำเครื่องจักสานได้ดีแล้ว ยังมีวัตถุดิบจากธรรมชาติอีกหลายชนิด ที่นำมาใช้ทำเครื่องจักสานได้ดี เช่น
หวาย
พรรณไม้หลายชนิด Calamus spp. ในวงศ์ Palmae ลำต้นยาว ผิวเกลี้ยง เหนียว ขึ้นเป็นกอ มีหลายชนิด เช่น หวายตะค้าทอง หวายโป่ง
ซึ่งเป็นพรรณไม้อีกชนิดหนึ่ง ที่ใช้ทำเครื่องจักสานได้ดี อาจจะสานด้วยหวายทั้งหมด หรือใช้หวายผสมกับวัสดุชนิดอื่น เช่น ไม้ไผ่ ใบตาล ใบลาน ฯลฯ
ย่านลิเภา
เฟินชนิดหนึ่ง Lygodium flexuosum Sw. ในวงศ์ Schizaeaceae ลำต้นเป็นเถา
ในประเทศไทยมีมากในบริเวณภาคใต้ ชาวบ้านเรียก ย่านลิเภาบองหยอง หรือย่านบองหยอง การนำมาทำเครื่องจักสาน จะลอกเอาเฉพาะเปลือก มาจักเป็นเส้น แล้วสานหุ้มโครง ที่ทำด้วยหวายหรือไม้ไผ่
กระจูด
พรรณไม้ชนิดหนึ่ง Lepironia articulata Domin ในวงศ์ Cyperaceae
ลำต้นกลมในกลวงและมีเยื่ออ่อนหยุ่นคั่นเป็นข้อๆ ใช้สานเสื่อและกระสอบ มีมากตามหมู่เกาะต่างๆ ของประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ในประเทศไทยมีมากในบริเวณทะเลสาบสงขลา ในเขตจังหวัดพัทลุง การนำกระจูดมาทำเครื่องจักสาน จะต้องทุบให้แบน แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง ก่อนที่จะสานเป็นเครื่องจักสาน
นอกจากการใช้ต้นหรือเถาของพืชพันธุ์ไม้บางชนิดมาทำเครื่องจักสานแล้ว คนไทยยังนำใบไม้บางชนิด มาทำเครื่องจักสานด้วย เช่น ใบไม้ใน ตระกูลปาล์ม พรรณไม้ในวงศ์ Palmae ได้แก่ ใบตาล ใบมะพร้าว ใบลาน ใบลำเจียก หรือ ปาหนัน (พรรณไม้ชนิดหนึ่ง Pandanus odoratissimus Linn. f. ในวงศ์ Pandanaceae ขอบใบและกลีบ ดอกมีหนามมีกลิ่นหอม) เตย (พรรณไม้สกุล Pandanus spp. เกิดเป็นกอก็มี เกิดเดี่ยวๆ ก็มี ใบเรียงสลับ เวียนเป็นเกลียวขึ้นไป จนถึงยอดใบ เป็น ทางยาวมีหนาม) จาก (พรรณไม้ชนิดหนึ่ง Nipa fruticans Wurmb. ในวงศ์ Palmae) ขึ้นเป็นกอตาม ชายเลน หรือดินโคลน ตามริมฝั่งน้ำตื้นๆ ใบนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำเป็นเครื่องมุงหลังคา ใช้สานเปี้ยวหรืองอบของภาคใต้ ทำหมาตักน้ำ ฯลฯ
การนำวัตถุดิบธรรมชาติเหล่านี้มาทำเป็นเครื่องจักสานนั้น มนุษย์ค่อยๆ เรียนรู้คุณสมบัติของวัตถุดิบแต่ละชนิด แล้วเลือกสรรนำมาแปรรูปวัตถุดิบ ให้มีลักษณะเหมาะสม ในการนำมาสานเป็นเครื่องจักสาน เช่น การนำไม้ไผ่มาผ่าเป็นซีกๆ แล้ว "จัก" เป็นเส้นๆ เรียก "ตอก" เฉพาะตอกไม้ไผ่นั้น โดยทั่วไปมักจักเป็นตอกสองชนิดคือ ตอกที่จักขนานกับผิวไผ่ เรียก "ตอกปื้น" ตอกชนิดนี้อาจจะจักเอาผิวไผ่ไว้เรียก "ตอกผิว" ชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงจักเฉพาะเนื้อไผ่เป็นชั้นๆ ลงไป ตอกผิวนี้ เมื่อนำไปทำเครื่องจักสาน จะมีความคงทนกว่าตอก ที่มีเฉพาะเนื้อไม้ ตอกอีกชนิดหนึ่ง เป็นตอกที่จักขวางผิวไผ่ มีผิวติดที่สันด้านหนึ่งเรียก "ตอกตะแคง" ตอกชนิดนี้จะมีผิวไผ่ที่สันทุกเส้น ใช้สานเครื่องจักสานได้หลายชนิดเช่นเดียวกัน
การทำเครื่องจักสานเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านโบราณอย่างหนึ่ง ที่ทำสืบทอดกันมาช้านานแล้ว เครื่องมือที่ใช้ทำเครื่องจักสาน ก็เป็นเครื่องมือพื้นบ้านเพียงไม่กี่ชิ้น ที่ชาวบ้านมักทำขึ้นใช้เอง เครื่องมือสำคัญที่ใช้ทำเครื่องจักสานของไทย ได้แก่
มีด
เครื่องมือสำหรับแปรรูปวัตถุดิบจากธรรมชาติ มาเป็นวัสดุสำหรับทำเครื่องจักสาน มีดที่ใช้กันทั่วไป เป็นมีดเหล็กกล้า เนื้อแกร่ง มี ๒ ชนิดคือ
มีดสำหรับผ่าและตัด มักเป็นมีดขนาดใหญ่ สันหนา เช่น มีดโต้ หรือมีดอีโต้ ใช้ตัดและผ่าไม้ไผ่ หวาย หรือไม้อื่นๆ ที่จะใช้ทำเครื่องจักสานให้มีขนาดตามต้องการ ก่อนที่จะนำไป เหลา จัก เป็นตอก หรือเป็นเส้นต่อไป
มีดตอก มีดชนิดนี้มีประโยชน์ใช้สอยตามชื่อคือ ใช้สำหรับจักตอก หรือเหลาหวาย เป็นมีดปลายเรียวแหลม ปลายและด้ามงอน ส่วนมากตัวมีดจะสั้นกว่าด้าม เพราะในการจักหรือเหลาตอก จะใช้ด้ามสอดเข้าไประหว่างแขนกับลำตัว เพื่อให้จักหรือเหลาตอกได้สะดวก มีดชนิดนี้ จะมีสันบาง เพื่อให้จักได้ดี ส่วนปลายที่งอนแหลมนั้น จะใช้เจาะหรือคว้านได้ด้วย มีดตอกทั่วไปจะมีรูปร่างคล้ายคลึงกันดังกล่าว แล้วแต่อาจะมีรูปร่างพิเศษแตกต่างกันบ้าง ตามความนิยมของแต่ละถิ่น และช่างจักสานแต่ละคน
เหล็กหมาด
เหล็กปลายแหลม ใช้สำหรับ เจาะ ไช งัด แงะ มี ๒ ชนิดคือ
เหล็กหมาดปลายแหลม เป็นเหล็กปลายกลมแหลม มีด้ามทำด้วยไม้ ใช้สำหรับไชหรือแกะ มักทำด้วยเหล็กก้านร่ม หรือซี่ลวดรถจักรยาน ฝนปลายให้แหลม ใช้ไชหรือแงะเครื่องจักสาน เพื่อร้อยหวาย ผูกโครงสร้าง ผูกขอบ หรือเจาะหูกระบุง ตะกร้า เป็นต้น
เหล็กหมาดปลายหอก เป็นเหล็กแหลมปลายแบนอย่างปลายหอก ใช้เจาะหรือไชไม้ให้เป็นรู มักใช้เจาะรูเครื่องจักสาน เมื่อต้องการผูกหวาย เสริมโครงสร้างให้แข็งแรง
คีมไม้
เป็นเครื่องมือจำเป็นในการทำเครื่องจักสาน รูปร่างคล้ายคีมทั่วไป แต่มีขนาดใหญ่ และทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน ไม้มะค่า แก่นไม้มะขาม คีมจะใช้หนีบปากภาชนะจักสาน เพื่อเข้าขอบ เช่น ใช้หนีบขอบกระบุง ตะกร้า กระจาด ขณะเข้าขอบปาก เพื่อผูกหวาย ที่ขอบให้แน่น คีมจะช่วยให้ช่างจักสานเข้าขอบภาชนะจักสานได้สะดวก โดยไม่ต้องใช้ผู้ช่วย
นอกจากเครื่องมือสำคัญในการทำเครื่องจักสานดังกล่าวแล้ว การทำเครื่องจักสานยังอาจจะมีเครื่องมืออย่างอื่นอีก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาทำเครื่องจักสาน เช่น การเหลาหวายที่จักเป็นเส้นแล้ว ให้เรียบเสมอกัน ช่างจักสานจะใช้ฝากระป๋อง หรือสังกะสี มาเจาะรูให้มีขนาดต่างกัน จากรูใหญ่ไปเล็ก แล้วสอดเส้นหวายเข้าไปในรู แล้วชักผ่านออกไป ความคมของสังกะสีจะครูด ให้ผิวเส้นหวายเรียบและมีขนาดเสมอกัน เรียกว่า "ชักเลียด" การชักเลียดนั้นจะต้องชักจากรูใหญ่ ไปหารูเล็ก การทำเครื่องจักสานย่านลิเภาก็ใช้ เครื่องมือชนิดเดียวกันนี้ แต่เรียกว่า "ชักแป้น" นอกจากเครื่องมือเหล่านี้แล้ว ช่างจักสานบางท้องถิ่นอาจจะมีเครื่องมือพิเศษเฉพาะตัวแตกต่างกันไปอีกก็ได้ ในปัจจุบันมีผู้ประดิษฐ์เครื่องจักและ เหลาตอกด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขึ้นใช้ ช่วยให้จักและ เหลาตอกได้รวดเร็วขึ้น แต่กระนั้นก็ตาม ตอกที่จักและเหลาด้วยมือ จะเรียบและประณีตกว่า เมื่อได้ตอกแล้ว จึงนำตอกไป "สาน" เป็นเครื่องจักสานให้มีรูปทรง และลวดลาย ตามความต้องการ การจัก หรือการทำไม้ไผ่เป็นตอก แล้วสานเป็นภาชนะเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เป็นขั้นตอนสำคัญ คนไทยจึงเรียกหัตถกรรมที่ทำขึ้นด้วยวิธีการนี้ว่า "เครื่องจักสาน"
การทำเครื่องจักสานของไทย ก็ทำขึ้นตามกระบวนการดังกล่าว เริ่มจากการ "จัก" คือ การเอามีดผ่าไม้ไผ่ หวาย หรือวัตถุดิบอื่นๆ ให้แตกแยกออกจากกันเป็นเส้นบางๆ แล้ว "สาน" เป็นเครื่องจักสานประเภทต่างๆ ให้มีรูปทรงสอดคล้อง กับการใช้สอย และขนบนิยมของท้องถิ่น การใช้เส้นตอก หรือวัสดุที่มีลักษณะเป็นเส้นอื่นๆ มาขัดกัน เริ่มจากการสานอย่าง่ายๆ ด้วย "ยก" ขึ้นเส้นหนึ่ง แล้ว"ข่ม" ลงเส้นหนึ่งสลับกันไป เรียกว่า ลายขัด หรือลายหนึ่ง จนถึงการสอดและขัด แปลกออกไปเป็นลายที่ยากขึ้น เช่น ลายสอง ลาย สาม จนถึงลายที่มีลักษณะพิเศษออกไปอย่าง ลายเฉลว หรือลายตาเข่ง ลายดอกพิกุล และลายอื่นๆ ที่ช่วยให้เครื่องจักสานมีความสวยงาม ควบคู่กับประโยชน์ใช้สอย
การสาน เป็นขั้นตอนสำคัญในการทำเครื่องจักสาน โดยนำวัตถุดิบที่แปรรูปแล้ว มาสานเป็นรูปทรงต่างๆ กรรมวิธีในการสานแบ่งออกเป็นแบบต่างๆ ได้ดังนี้
ลายขัด
เป็นวิธีการสานแบบพื้นฐานที่เก่าแก่ที่สุด ลักษณะของลายขัด เป็นการสร้างแรงยึดระหว่างตอก ด้วยการขัดกัน เป็นรูปมุมฉาก ระหว่างแนวตั้งกับแนวนอน โดยใช้ตอกยืน หรือตอกแนวตั้ง หรือตอกยืน สอดขัดกับตอกแนวนอน โดยยกขึ้นเส้นหนึ่ง ข่มหรือขัดลงเส้นหนึ่ง สลับกันไป อย่างที่เรียกว่า ลายหนึ่ง จากลายหนึ่งได้ พัฒนามาเป็นลายสอง ลายสาม และลายอื่นๆ ที่ยังคงรักษาลักษณะการสอด และการขัดกันเช่นเดิม แต่ใช้เส้นตอกในแนวตั้ง และแนวนอนมากกว่าหนึ่งเส้น และสอดขัดกันให้สลับไปสลับมา เกิดเป็น ลายสอง ลายสาม และลายอื่นๆ อีกมาก ลายขัดนี้ใช้สานเครื่องจักสานได้หลายชนิด และมักใช้ร่วมกับลายชนิดอื่น เพื่อให้ได้รูปทรงตามต้องการ
ลายทแยง
เป็นวิธีสานที่ใช้ตอกสอดขัดกันในแนวทแยง (diagonal) ไม่มีเส้นตั้ง และเส้นนอนเหมือนลายขัด แต่จะสานสอดขัดกัน ตามแนวทแยง เป็นหกเหลี่ยมต่อเชื่อมกันไปเรื่อยๆ คล้ายรวงผึ้ง ลายชนิดนี้จึงมักสานโปร่ง เช่น ลาย ตาเข่ง ลายชะลอม ลายหัวสุ่ม ลายเกล็ดเต่า และลายเฉลว ลายชนิดนี้มักใช้สานภาชนะโปร่ง เช่น เข่ง ชะลอม หรือใช้สานประกอบกับลายอื่น เช่น สานเป็นส่วนบนของหมวก หรือหัวสุ่ม เพราะ สามารถสานกระจายออกจากศูนย์กลางได้ดี ก่อนที่จะสานลายขัดหรือลายอื่นประกอบเป็น ส่วนของเครื่องจักสานต่อไป
ลายขดหรือถัก
เป็นการสานที่ใช้กับวัสดุที่ไม่สามารถคงรูปอยู่ได้ด้วยตนเอง เช่น หวาย ย่านลิเภา ปอ ผักตบชวา วัสดุเหล่านี้ต้องสานด้วยการขดหรือถัก ได้แก่ การถักเป็นเส้น แล้วขดเป็นวง กระจายออกจากศูนย์กลาง แล้วถักเชื่อมกันเป็นชั้นๆ ให้ได้รูปทรงตามต้องการ หรือสานโดยใช้วัสดุอื่นเป็นโครงก่อน แล้วถักหรือสานพันยึดโครงเหล่านั้น ให้เป็นรูปทรงตามโครงสร้างที่ขึ้น เช่น การสานเครื่องจักสานย่านลิเภา จะต้องใช้โครงหวายหรือไม้ไผ่ มาทำเป็นโครงตามรูปภาชนะ ที่ต้องการจะสานก่อน แล้วจึงใช้ย่านลิเภาที่จัก เป็นเส้นแล้วสอดพันเชื่อมระหว่างโครงแต่ละชิ้น เข้าด้วยกัน จนเป็นภาชนะเครื่องใช้ที่มีรูปทรงตาม ต้องการ เช่น การสานกระเป๋า กล่อง ตะกร้าหิ้ว การสอดขัดนี้อาจจะทำให้เป็นลวดลายเพื่อความ สวยงามด้วย
ลายอิสระ
เป็นการสานที่ไม่มีแบบแผนตายตัว ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้สาน ที่จะคิดประดิษฐ์ขึ้นเอง ให้สอดคล้องกับความต้องการของตน ลายประเภทนี้มักสานขึ้นตามความต้องการของผู้สาน และแบบแผนที่สืบทอดกันมา ในแต่ละท้องถิ่น เช่น การสานของเล่นด้วยใบตาล ใบลาน ใบมะพร้าว เป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ปลา ตะเพียน ตั๊กแตน นก หรือสานเป็นของเล่น ประเภทเครื่องประดับของเด็ก เช่น สานเป็น เข็มขัด แหวน กำไล นอกจากนี้ การสานแบบ อิสระนี้ บางทีใช้เศษตอกสานเป็นดอกไม้หรือ พวงมาลัยเป็นเครื่องบูชาสิ่งที่เคารพนับถือก็มี นอกจากกรรมวิธีการสานเครื่องจักสานดังกล่าวแล้ว คนไทยยังมักรวมเอาการ "ถัก" เข้าไว้ในกระบวนการของการทำเครื่องจักสานด้วย เพราะเครื่องจักสานหลายชนิดต้องใช้หวาย เชือก ป่าน ปอ ฯลฯ มาถักประกอบด้วย เช่น การใช้เชือกหรือ หวายถักขอบหรือชายเสื่อ ฯลฯ เพื่อให้ใช้ได้ทน ทานและสวยงามด้วย ดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่า เครื่องจักสานเป็นหัตถกรรม ที่ทำขึ้นจากวัตถุดิบธรรมชาติ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ นำมาแปรรูปให้มีลักษณะเหมาะสม แล้วสานเป็นเครื่องจักสาน ที่มีรูปทรงธรรมดา จนพัฒนามาเป็นเครื่องจักสาน ที่มีรูปร่างสวยงาม และมีลวดลายละเอียดประณีต
ปัจจุบัน มีผู้นำเถาองุ่น กาบกล้วย ผักตบชวา มาทำเครื่องจักสานประเภทต่างๆ มากมาย โดยประยุกต์รูปทรงให้สวยงามตามความต้องการ ในการใช้สอย เครื่องจักสานเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ที่มนุษย์ประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้น จากวัตถุดิบพื้นบ้าน เท่าที่จะหาได้ในท้องถิ่นต่างๆ แล้วพัฒนารูปแบบให้เหมาะสมกับความต้องการในการใช้สอย เรื่อยมาจากอดีตจนปัจจุบัน เครื่องจักสานมากมาย หลายอย่างที่ทำขึ้นในภาคต่างๆ ของไทย มีรูปแบบ และประโยชน์ใช้สอยแตกต่างกันอย่างน่าสนใจยิ่ง