Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หอยกาบคู่ (Class Bivalvia)

Posted By Plookpedia | 02 มี.ค. 60
13,783 Views

  Favorite

หอยกาบคู่ (Class Bivalvia)

หอยกาบคู่ (Bivalves) มีเปลือก ๒ ชิ้นประกบกัน โดยยึดติดกันทางด้านบนบริเวณขั้วเปลือก ส่วนที่ยึดติดกันมีลักษณะคล้ายบานพับ ที่ทำให้กาบทั้งสองเปิดปิดได้ เปลือกอาจมีรูปกลม รูปรี รูปสามเหลี่ยม หรือรูปอื่นๆ หอยจะสร้างเปลือกบริเวณขั้วเปลือกขึ้นก่อน แล้วขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และจะหยุดสร้างเปลือกเมื่อโตเต็มที่ ตัวหอยซีกซ้ายและขวาสมมาตรกัน ลำตัวและตีนแยกจากกัน หัวลดรูป และไม่แยกจากลำตัว ไม่มีหนวด ไม่มีตา ในช่องปากไม่มีแผ่นขูด มีระยางค์ส่วนปาก ๒ คู่ เหงือกของหอยกาบคู่นอกจากทำหน้าที่หายใจแล้ว ยังทำหน้าที่กรองอาหารจากน้ำด้วย อาหารคือ จุลินทรีย์ พืชขนาดเล็ก เช่น สาหร่ายเซลล์เดียว สัตว์ขนาดเล็ก สารอินทรีย์ที่ลอยตัวในมวลน้ำ 

 

 

ทั่วโลกพบหอยทะเลกาบคู่มากกว่า ๘,๐๐๐ ชนิด แบ่งเป็น ๓๔ วงศ์ หอยกาบคู่ที่พบบ่อยในทะเลไทย ได้แก่

หอยแครง

 

วงศ์หอยแครง (Family Arcidae)

หอยแครง (Blood clam) มีเปลือกชั้นนอกเป็นสีน้ำตาลเข้ม เมื่อหอยตายลง เปลือกชั้นนอกจะหลุดร่อนไป เห็นเปลือกชั้นกลางเป็นสีขาว หอยแครงมีบานพับเป็นแนวยาว มีสันจากขั้วเปลือกเรียงขนานลงมาถึงขอบเปลือกทั่วทั้งเปลือก อาศัยตามพื้นทะเล บริเวณที่เป็นดินเลน เช่น อ่าวปากแม่น้ำ ปากคลอง ป่าชายเลน โดยมุดตัวลงไปอยู่ใต้พื้นเล็กน้อย มักจะอยู่รวมกันหนาแน่น หอยแครงมีสารเฮโมโกลบินในเลือด ทำให้เลือดมีสีแดงซึ่งแตกต่างจากหอยกาบคู่อื่นๆ โดยในทะเลไทยสำรวจพบ ๑๒ ชนิด บางชนิดมีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น หอยคราง หอยแครงมัน หอยแครงเบี้ยว

วงศ์หอยแมลงภู่และหอยกะพง (Family Mytilidae)

 

หอยแมลงภู่

 

 

หอยกะพง (Horse mussel) มีเปลือกบาง เปราะ สีเขียวอมเหลือง และมีลายเส้นสีน้ำตาลบริเวณขอบด้านบน มีขนาดเล็กกว่าหอยแมลงภู่ หอยกะพงอยู่รวมตัวกันเป็นกลุ่ม โดยยึดกันเองด้วยกระจุกเส้นใย อาศัยในเขตน้ำตื้น ทั้งในทะเล และบริเวณน้ำกร่อย ตามพื้นที่เป็นโคลนหรือโคลนปนทราย รวมถึงตามชายฝั่งของป่าชายเลน 
วงศ์หอยจอบ (Family Pinnidae)

หอยจอบ (Pen shell) หรือหอยซองพลู เปลือกรูปคล้ายสามเหลี่ยม ด้านหน้าแหลม และแผ่ขยายออกไปทางด้านท้าย บานพับเป็นแนวตรงยาว สีของเปลือกแตกต่างกัน ตามแต่ชนิด เช่น สีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลเข้ม เทา หรือดำ เปลือกอาจเรียบหรือมีสัน ตามความยาวของเปลือก ด้านในเปลือกมีชั้นมุกบางๆ อาศัยตามพื้นทะเล บริเวณที่เป็นพื้นอ่อน เช่น ดินเลน โคลน และโคลนปนทราย ตั้งแต่ชายฝั่งจนถึงระดับลึก ประมาณ ๕๐ เมตร รวมถึงแหล่งหญ้าทะเล โดยใช้ปลายด้านหน้าฝังลงไปในแนวตั้ง จนเกือบมิด ยื่นส่วนท้ายขึ้นมาเหนือผิวพื้นเพียงเล็กน้อย ที่ปลายด้านหน้ามีกระจุกเส้นใยสีดำเหนียวช่วยยึดกับพื้น ปกติหอยจะแง้มเปลือกไว้เล็กน้อย เพื่อใช้เป็นช่องทางเข้าออกของน้ำ และอาหาร

หอยแมลงภู่ (Green mussel) เปลือกมีสีเขียวเข้มหรือน้ำตาลอมเขียวตามแต่ชนิด ด้านในมีชั้นมุกบาง เมื่อพ้นระยะวัยอ่อน หอยแมลงภู่จะยึดติดอยู่กับหิน เสาท่าเรือ เสาโป๊ะ และวัตถุอื่นๆ โดยใช้กระจุกเส้นใยที่มีสีน้ำตาลเข้มหรือดำ ซึ่งเป็นสารประกอบไคทิน ที่หอยสร้างขึ้นเอง  

 

หอยจอบ

 

วงศ์หอยมุก (Family Pteriidae)

หอยมุก (Pearl oyster) เป็นหอยที่สร้างไข่มุกได้ เปลือกด้านนอกมีสีดำ เทาอมดำหรือน้ำตาลเข้ม ด้านในมีชั้นมุกหนา ในธรรมชาติ หอยผลิตไข่มุกได้เป็นจำนวนน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงมีการนำหอยในวงศ์นี้มาเลี้ยง เพื่อให้สร้างไข่มุกในอุตสาหกรรมการผลิตไข่มุก หอยมุกอาศัยในทะเลบริเวณที่มีน้ำค่อนข้างใส พื้นทะเลเป็นกรวดหรือทราย โดยใช้กระจุกเส้นใยยึดไว้กับก้อนหิน ก้อนกรวด กิ่งกัลปังหา ในระดับน้ำลึก ๕ - ๓๐ เมตร หอยมุกมีหลายชนิด และมีชื่อเรียกเฉพาะแต่ละชนิด เช่น ชนิดที่มีเปลือกกลมแบน ขนาดใหญ่ เรียกว่า หอยมุกจาน มีขนาดยาว ๑๐ - ๒๕ เซนติเมตร บางชนิดมีขนาดค่อนข้างเล็ก เช่น มุกแกลบ มีขนาดยาว ๓ - ๖ เซนติเมตร บางชนิดมีเปลือกเป็นรูปรี ที่ขั้วเปลือกมีปีกยื่นยาวออกไป ทั้งทางด้านหน้า และด้านท้าย มักจะยึดติดอยู่กับกิ่งกัลปังหา เรียกว่า หอยมุกกัลปังหา 

 

หอยมุกกัลปังหา

 

 

วงศ์หอยขวาน (Family Malleidae)

หอยขวาน (Hammer shell, Hammer oyster) เปลือกแคบยาวและแบน ที่บริเวณขั้วเปลือกมีปีกยื่นออกไปทั้งทางด้านหน้า และด้านท้าย ทำให้เปลือกมีรูปร่างคล้ายขวาน เปลือกมีสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลเข้ม ด้านในมีชั้นมุกบาง อาศัยตามพื้นทะเล โดยใช้เส้นใยยึดกับวัตถุแข็งที่อยู่ในน้ำ หรือฝังตัวอยู่ใต้พื้นในบริเวณที่เป็นทรายหรือทรายปนโคลน บางชนิดฝังตัวอยู่ในฟองน้ำ อาศัยในเขตชายฝั่งถึงระดับน้ำลึกประมาณ ๒๕ เมตร 

 

 

 

วงศ์หอยเชลล์ (Family Pectinidae)

หอยเชลล์ หรือหอยพัด (Scallop) เปลือกมีสีและลายแตกต่างกันตามแต่ชนิด และยังพบว่า หอยชนิดเดียวกันอาจมีสีและลาย ของแต่ละตัวที่ไม่เหมือนกัน เช่น เป็นสีน้ำตาล เหลือง ส้ม ม่วง ตามขอบของแผ่นเนื้อแมนเทิลมีหนวดเป็นเส้นยาว โดยมีตาที่มีลักษณะเป็นเม็ดกลมสีน้ำเงินจำนวนมากเรียงรายอยู่โดยรอบ ตาสามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงความเข้มของแสง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พบอาศัยตั้งแต่เขตน้ำตื้นชายฝั่งถึงที่ระดับความลึกมากๆ  บางชนิดอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นทรายหยาบ มีกรวด หิน และเศษปะการังที่ระดับน้ำลึก ๓ - ๒๐ เมตร โดยสร้างเส้นใยยึดติดกับวัตถุต่างๆ ในน้ำ แต่เมื่อถูกรบกวน ก็จะดึงเส้นใยจนขาด และว่ายน้ำหนี บางชนิดอาศัยอยู่ตามบริเวณพื้นที่เป็นทราย หรือทรายปนโคลน ที่ระดับน้ำลึก ๑๐ - ๘๐ เมตร โดยวางตัวอยู่บนพื้น และเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ และบางชนิดฝังตัวอยู่ในปะการัง

 

 

 

หอยนางรมหนามยึดติดกับซากปะการัง

 

งศ์หอยนางรมหนาม (Family Spondylidae)

หอยนางรมหนาม (Thorny oyster) เปลือกค่อนข้างหนา มีหนามแหลมยาวอยู่ทั่วทั้งเปลือก เปลือกมีสีแตกต่างกัน เช่น สีขาว เหลือง ส้ม แดง น้ำตาล ด้านในเปลือกเป็นสีขาวหรือสีเดียวกับด้านนอกแต่มีสีจางกว่า อาศัยในเขตน้ำตื้น บริเวณแนวปะการัง เป็นหอยที่อยู่ติดกับที่ เมื่อพ้นระยะวัยอ่อนและหาที่ยึดติดได้แล้ว จะเจริญเติบโตโดยไม่มีการเคลื่อนย้ายไปตลอดชีวิต
วงศ์หอยนางรมและหอยมือแมว (Family Ostreidae)

หอยนางรม (Oyster, True oyster) เปลือกขรุขระ บางครั้งมีเกล็ดตามขอบล่าง มีสีขาวคล้ำ เทา หรือเทาอมม่วง ด้านในเปลือกเป็นสีขาวหรือขาวอมม่วง พบอาศัยอยู่ทั่วไปตามชายฝั่งที่เป็นพื้นแข็ง ตั้งแต่ระดับที่น้ำทะเลท่วมถึง จนถึงระดับที่ลึกกว่า น้ำลงต่ำสุด เขตที่หอยนางรมอยู่อาศัยมักเป็นบริเวณที่ได้รับแรงกระแทกจากคลื่นลมอยู่เสมอ จึงป้องกันตัวเอง ไม่ให้หลุดลอยไปกับน้ำ โดยใช้เปลือกเชื่อมติดไว้กับโขดหิน หรือวัตถุแข็งอื่นๆ อย่างแน่นหนา หอยนางรมมีหลายชนิด ชนิดที่มีขนาดเล็กเรียกว่า หอยนางรมปากจีบ หรือหอยติบ ส่วนชนิดที่มีขนาดใหญ่เรียกว่า หอยตะโกรม

 

 

หอยมือแมวยึดติดกับหิน

 

 

หอยมือแมว (Cockžs comb oyster) หรือหอยเล็บเหยี่ยว เปลือกด้านนอกมีสีน้ำตาล ด้านในมีสีขาวอมเหลือง ตามขอบมีรอยหยักลึก บริเวณกลางเปลือกซีกซ้ายมีส่วนยื่นคล้ายตะขอ สำหรับยึดติดกับปะการังหรือกิ่งกัลปังหา

เปลือกหอยหัวใจ

 

วงศ์หอยหัวใจ (Family Cardiidae)

หอยหัวใจ (Heart cockles) เปลือกเป็นรูปคล้ายหัวใจ มีสีขาว อาศัยในทะเลเขตน้ำตื้น ที่พื้นเป็นทราย และบริเวณแนวปะการัง ตั้งแต่ชายฝั่งลงไปถึงระดับน้ำลึกประมาณ ๒๐ เมตร เปลือกหอยหัวใจมีรูปลักษณ์ที่สวยงามแปลกตา จึงนำมาใช้เป็นของประดับตกแต่งบ้าน
วงศ์หอยมือหมี (Family Gryphaeidae)

หอยมือหมี (Honeycomb oysters) เป็นหอยขนาดใหญ่ เปลือกหนา สีม่วงเข้ม เทาอมดำ หรือน้ำตาลเข้ม พบอาศัยในแนวปะการัง และบริเวณใกล้เคียง รวมถึงตามชายฝั่งของเกาะที่มีหน้าผา ตั้งแต่ชายฝั่งไปจนถึงระดับน้ำลึกประมาณ ๓๐ เมตร หอยมือหมีเชื่อมเปลือกให้ติดไว้กับหิน เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้หลุดลอยไปตามน้ำด้วยแรงกระแทกของคลื่น

 

 

หอยมือหมีบนหน้าผาหิน

 

วงศ์หอยมือเสือ (Family Tridacnidae)

หอยมือเสือ (Giant clam) เป็นหอยกาบคู่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เปลือกเป็นสีขาวหรือเหลืองอ่อน แต่อาจจะพบว่า มีสาหร่าย และไดอะตอมเกาะติดอยู่ ทำให้ไม่เห็นเป็นสีขาว พบอาศัยในแนวปะการังที่ระดับความลึกไม่เกิน ๒๐ เมตร โดยบางชนิดฝังตัวอยู่ในก้อนปะการัง บางชนิดใช้กระจุกเส้นใยยึดติดกับพื้น เป็นหอยกาบคู่ที่ดำรงชีวิตอยู่กับที่ โดยไม่มีการเคลื่อนย้าย หอยมือเสือมีความแตกต่างจากหอยกาบคู่วงศ์อื่นๆ คือ ตามขอบของแผ่นเนื้อแมนเทิลมีสาหร่ายเซลล์เดียว พวกซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) มาอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งสาหร่ายเหล่านี้สร้างอาหาร โดยการสังเคราะห์ด้วยแสง และมีการขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นผลให้หอยมือเสือได้รับอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน จึงพบหอยมือเสืออาศัยอยู่ในเขตที่มีน้ำใส เพื่อแสงจะได้ส่องผ่านได้ดี และในระดับความลึกที่แสงส่องถึงอย่างเพียงพอ หอยมือเสือมีการแพร่กระจายอยู่เฉพาะในมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกเท่านั้น มีประมาณ ๑๑ ชนิด ในทะเลไทยพบ ๕ ชนิด มีขนาดยาว ๑๕ - ๖๐ เซนติเมตร ชนิดที่มีขนาดใหญ่อาจยาวได้มากกว่า ๑ เมตร

 

หอยมือเสือมีแมนเทิลเป็นสีต่างๆ

 

การจับหอยมือเสือขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เพื่อประโยชน์ทางการค้าเป็นหลัก ทำให้หอยมือเสือมีปริมาณลดลง และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ หรือบางชนิดสูญหายไปจากแหล่งที่เคยพบ จึงจำเป็นต้องมีการอนุรักษ์ไว้ โดยหอยมือเสือได้รับการขึ้นบัญชีในอนุสัญญา ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) กับเป็นสัตว์น้ำสงวนและคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ห้ามทำการซื้อขาย หรือมีไว้ในครอบครอง
วงศ์หอยหลอด (Family Solenidae) 

หอยหลอด (Knife clam, Razor clam) หรือหอยมีดโกน เปลือกมีสีเขียว หรือเขียวอมเหลือง อาศัยอยู่ในเขตน้ำตื้น ที่พื้นเป็นทรายปนโคลน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ทรายขี้เป็ด รวมถึงบริเวณที่เป็นดินเลน ได้แก่ สันดอนบริเวณปากแม่น้ำและสันดอน ตามแนวชายฝั่งทะเล เช่น จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสงคราม เพชรบุรี ชุมพร ระนอง แหล่งที่มีหอยหลอดอยู่กันอย่างหนาแน่น จึงเรียกว่า ดอนหอยหลอด พื้นที่ดอนหอยหลอดจะเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างฝั่งตั้งแต่ ๕๐ - ๒,๐๐๐ เมตร หอยหลอดจะฝังตัวอยู่ใต้พื้นในแนวตั้ง โดยใช้ตีนขุด และฝังตัวลึกลงไปใต้ผิวดิน ในสภาวะปกติหอยอาจยื่นส่วนท้ายขึ้นมาเหนือพื้น เมื่อถูกรบกวน ก็สามารถดึงตัวกลับลงไปได้อย่างรวดเร็ว

 

หอยหลอด

 

วงศ์หอยเสียบ (Family Donacidae)

หอยเสียบ (Donax clam) เป็นหอยที่แต่ละตัวมีสีและลายที่ไม่เหมือนกันแม้จะเป็นชนิดเดียวกัน อาศัยอยู่ตามชายหาด ที่พื้นเป็นทราย ตั้งแต่ระดับที่น้ำท่วมถึงจนถึงระดับน้ำลงต่ำสุด โดยฝังตัวอยู่ใต้พื้นทรายจนมิด

 

หอยเสียบ

 

วงศ์หอยลาย และหอยตลับ (Family Veneridae)

หอยลาย (Venus clam) เปลือกเรียบเป็นมัน พื้นมีสีครีมหรือสีน้ำตาลอ่อน มีลายเป็นเส้นหยักทั่วทั้งเปลือก อาศัยตามพื้นท้องทะเล ที่เป็นทราย และโคลนปนทราย ในระดับความลึก ๕ - ๓๐ เมตร 

 

หอยลาย

 

หอยลาย

หอยตลับ (Hard clam) มีชื่อเรียกอื่นๆ คือ หอยกระปุก หอยหวาน หอยปะ บางชนิดเปลือกเรียบเป็นมัน และมีลายเป็นแถบสีน้ำตาล บนพื้นสีขาวหรือสีครีม บางชนิดไม่มีลาย แต่มีสันและร่องในแนวที่ขนานกับขอบเปลือกทั่วทั้งเปลือก อาศัยตามพื้นท้องทะเล ที่เป็นทราย และโคลนปนทราย ในเขตน้ำตื้น
วงศ์หอยพิม (Family Pholadidae)

หอยพิม (Angel wings, Piddock) หรือพิมพการัง หรือพิมการัง มีเปลือกบาง เปราะ เปลือกมีสีขาวทั้งด้านนอกและด้านใน ด้านนอกขรุขระ มีสันที่มีลักษณะเป็นเส้นเรียงขนานกับขอบเปลือกทั่วเปลือก หอยพิมใช้เปลือกเจาะเข้าไปฝังตัวอยู่ตามพื้นที่ค่อนข้างแข็ง เช่น ดินเหนียว หินปูน ท่อนไม้ มักพบอาศัยในระดับน้ำลึก ๕ - ๑๐ เมตร เป็นหอยที่มีรูปลักษณ์สวยงามแปลกตา

 

หอยพิม

 

 

วงศ์หอยเพรียงเรือ (Family Teredinidae)

เพรียงเรือ หรือหนอนเรือ (Shipworm) เป็นหอยที่มีลำตัวเรียวยาวคล้ายหนอน ไม่มีเปลือกหุ้มลำตัว เนื่องจากเปลือกมีขนาดเล็กมาก และคลุมอยู่เฉพาะที่ปลายด้านหน้า เป็นหอยที่เจาะเข้าไปอยู่อาศัยในไม้ที่แช่อยู่ในน้ำ รวมทั้งเรือที่สร้างจากไม้ ซึ่งส่วนท้องเรือต้องอยู่ในน้ำเป็นระยะเวลานาน เพรียงเรือจะเริ่มเจาะเข้าไปอาศัยในไม้ ตั้งแต่ยังมีขนาดเล็ก อาหารที่กินนอกจากการกรองกินพืชและสัตว์ขนาดเล็ก ตลอดจนสารอินทรีย์จากน้ำทะเลแล้ว ยังเจาะกินไม้ ที่อาศัยอยู่ด้วย ท้องเรือจึงมักถูกเพรียงเรือทำลายเสียหายอยู่เสมอ เพรียงเรืออาศัยในเขตน้ำตื้นทั้งในทะเลและบริเวณน้ำกร่อย มีหลายชนิด ที่มีขนาดความยาวเปลือก ๑ - ๒ เซนติเมตร ความยาวทั้งตัว ๒๐ - ๔๐ เซนติเมตร บางคนมีความเชื่อว่า การบริโภคเพรียงเรือสดๆ จะทำให้ร่างกายมีกำลังแข็งแรง

 

หอยเพรียงเรือ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow