Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รูปแบบคูคันดินรอบชุมชนโบราณ

Posted By Plookpedia | 24 มิ.ย. 60
2,561 Views

  Favorite

รูปแบบคูคันดินรอบชุมชนโบราณ

 

        ชุมชนโบราณในประเทศไทย จากหลักฐานในภาพถ่ายทางอากาศ เท่าที่ได้มีผู้รวบรวมไว้
มีจำนวน ๑,๒๐๘ แห่ง ในจำนวนนี้ประมาณ ๙๕๔ แห่ง จัดเป็นแหล่งชุมชนที่มีคูคันดินล้อมรอบ
โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว เป็นที่เข้าใจว่า การขุดคูคันดินล้อมรอบแหล่งชุมชน มีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลาย ๆ อย่างรวมกัน ได้แก่ 

        ๑) เพื่อเป็นการกำหนดขอบเขตบริเวณแหล่งชุมชน หรือบริเวณที่มีความสำคัญโดยเฉพาะ 
        ๒) เพื่อเป็นการป้องกันศัตรูจากภายนอก 
        ๓) เพื่อความสะดวกในการคมนาคมเชื่อมโยงกับทางน้ำ หรือเส้นทางออกสู่ทะเล 
        ๔) เพื่อกักเก็บน้ำใช้ประโยชน์สำหรับชุมชน 

        ลักษณะการใช้ประโยชน์คูคันดินรอบชุมชนโบราณดังกล่าวนี้ สามารถพิจารณาได้จากลักษณะภูมิประเทศ และสภาพแวดล้อมของบริเวณที่ชุมชนนั้นตั้งอยู่ และลักษณะเฉพาะของคูคันดินเหล่านั้น เช่น รูปร่าง ขนาด และทิศทางของคูคันดิน เป็นต้น

 

ชุมชนโบราณที่ห้วยเวียงหวาย อ.แม่จัน จ.เชียงราย เป็นคูคันดินที่ขุดล้อมรอบเนิน

 

 

        เราอาจจำแนกลักษณะของคูคันดินรอบชุมชนโบราณในประเทศไทยได้ ในลักษณะของ 
"กลุ่มรูปแบบ" โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ ของรูปร่างคูคันดินกับลักษณะภูมิประเทศ ได้แก่ "กลุ่มรูปแบบที่ไม่ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ" และ "กลุ่มรูปแบบที่ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ" 
ในแต่ละกลุ่มรูปแบบ ยังสามารถแบ่งย่อยออกเป็นรูปแบบประเภทต่าง ๆ โดยอาศัยรูปร่าง และลักษณะเฉพาะของชุมชนแต่ละแห่ง การจัดแบ่งกลุ่มและประเภทคูคันดินรอบชุมชนโบราณ
ที่สำรวจพบในประเทศไทย นับเป็นหลักฐานที่น่าภาคภูมิใจสำหรับประเทศเรา ที่มีชุมชนโบราณ ที่ขุดคูคันดินล้อมรอบจำนวนมาก และมีรูปแบบหลากหลาย สามารถนำมาจัดเป็นระบบได้ จะเป็นตัวอย่างสำหรับการศึกษาอย่างมีระบบ โดยนำไปใช้เปรียบเทียบแหล่งชุมชนโบราณในภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไป
ในรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบคูคันดิน รอบชุมชนโบราณ พอจะอธิบายได้ดังนี้

 

๑. กลุ่มรูปแบบที่ไม่ขึ้นกับลักษณะภูมิประเทศ 
        รูปแบบคูคันดินในกลุ่มนี้ มีลักษณะรูปร่าง ที่ไม่สัมพันธ์กับภูมิประเทศ ส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณที่ราบมีระดับไม่แตกต่างกัน มีการระบายน้ำมากักเก็บไว้ในคู และมีการเชื่อมโยงติดต่อกับทางน้ำภายนอก อาจเป็นทางน้ำตามธรรมชาติ หรือคูคลองที่ขุดขึ้น คูคันดินในกลุ่มนี้สามารถแบ่งย่อยออกเป็นรูปแบบประเภทต่าง ๆ โดยพิจารณาตามรูปร่างทางเรขาคณิต ได้แก่ 

        ๑.๑ รูปแบบอิสระ คือ คูคันดินที่ไม่มีรูปร่าง แน่นอนในทางเรขาคณิต 

 

กลุ่มรูปแบบคูคันดินที่ไม่ขึ้นกับลักษณะภูมิประเทศ :รูปแบบอิสระ

 

        ๑.๒ รูปแบบวงกลม คูคันดินประเภทนี้ พบว่า มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก ส่วนใหญ่มีขนาด
เส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า ๕๐๐ เมตร และมักพบว่า เป็นคูคันดินสร้างซ้อนอยู่ภายในคูคันดินรูปแบบอื่น 

        ๑.๓ รูปแบบวงรี คูคันดินรอบชุมชนโบราณประเภทนี้มีรูปร่างคล้ายรูปไข่ หรือเป็นวงรี
ขนาดของชุมชนโบราณจัดอยู่ในประเภท มีขนาดปานกลาง หรือขนาดใหญ่ 

 

กลุ่มรูปแบบคูคันดินที่ไม่ขึ้นกับลักษณะภูมิประเทศ :รูปแบบวงรี

 

        ๑.๔ รูปแบบมุมมน คูคันดินรอบชุมชนโบราณประเภทนี้ มีรูปร่างเกือบเป็นเส้นตรงคล้าย
รูปสี่เหลี่ยม โดยตามมุมต่าง ๆ จะมีลักษณะมนโค้ง 

        ๑.๕ รูปแบบมุมเหลี่ยม คูคันดินรอบชุมชนโบราณประเภทนี้ จะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม
มีด้านต่าง ๆ เป็นเส้นตรงตัดกันเป็นมุม ส่วนใหญ่จะมีรูปร่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
และรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เป็นต้น

 

กลุ่มรูปแบบคูคันดินที่ไม่ขึ้นกับลักษณะภูมิประเทศ :รูปแบบมุมเหลี่ยม


 

๒. กลุ่มรูปแบบที่ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ 
        คูคันดินที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ มีรูปร่างเป็นไปตามภูมิประเทศที่ขุดคูคันดินล้อมรอบ
มีลักษณะเป็นเนินสูงกว่าพื้นที่รอบข้าง คูคันดินในกลุ่มนี้ สามารถจัดแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ดังนี้ 

        ๒.๑ ประเภทรูปแบบคูคันดินขุดล้อมรอบตีนเนิน ชุมชนโบราณที่จัดอยู่ในรูปแบบนี้ สำรวจพบแต่เฉพาะในที่ราบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่เรียกกันว่า "อีสาน"เป็นบริเวณที่ราบสูง รองรับด้วยชั้นหินทราย และชั้นหินที่มีเกลือ ชั้นหินเกลือที่แทรกอยู่นี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริเวณอีสานในช่วงฤดูแล้งขาดแคลนน้ำ และมีดินเค็มเกิดขึ้นเป็นแห่ง ๆ ทั่วไป แหล่งชุมชนโบราณที่สำรวจพบ
ในบริเวณอีสาน จะเลือกสร้างอยู่ในบริเวณที่มีสภาพธรรมชาติ สามารถกักเก็บน้ำได้ โดยขุดคูคันดินล้อมรอบตีนเนิน เพื่อเก็บน้ำใช้สำหรับชุมชน 

 

บ้านแสลงโทน ต.แสลงโทน อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ เป็นคูคันดินล้อมรอบชุมชนโบราณ

 

        ๒.๒ ประเภทรูปแบบคูคันดินขุดล้อมบนเนิน ลักษณะคูคันดินตามรูปแบบนี้ พบว่า คูคันดินขุดตามขอบสันเนิน ซึ่งสูงกว่าที่ราบโดยรอบ คูมีลักษณะแคบและสูงชัน มีคันดินอยู่ภายใน ทำให้ลำบากต่อการปีนป่ายเข้าไปในบริเวณที่ขุดคูคันดินล้อมรอบ คูที่ขุดมีระดับแตกต่างกัน และไม่แสดงลักษณะของการกักเก็บน้ำ ตลอดจนไม่มีความสัมพันธ์กับทางน้ำธรรมชาติ หรือคลองชลประทานในบริเวณนั้น บริเวณที่ขุดคูคันดินล้อมรอบจะอยู่บนที่สูง ประมาณ ๒๐-๔๐ เมตร จากพื้นที่ราบโดยรอบ
ที่ต่ำลงมา ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ลาดเชิงเนิน อยู่ระหว่างคูคันดินกับที่ราบลุ่มทำนา
บริเวณที่ลาดเชิงเนินนี้ ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับการตั้งถิ่นฐานในปัจจุบัน ส่วนบริเวณที่ขุดคูคันดินล้อมรอบ ทำหน้าที่เสมือนป้อมป้องกันศัตรู ผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเชิงเนิน เมื่อมีศัตรูก็จะเข้าไปอยู่ในบริเวณบนเนิน ที่มีคูคันดินขุดล้อมรอบ ใช้เป็นที่ป้องกันศัตรูจากภายนอก ชุมชนโบราณที่มีคูคันดินดังกล่าว มีลักษณะคล้ายกับเป็นเมืองป้อม และพบอยู่แต่เฉพาะบริเวณภาคเหนือของไทย
ที่เรียกว่า "ล้านนา" เท่านั้น ลักษณะรูปแบบคูคันดินที่สำรวจพบ มีหลายรูปแบบ บางบริเวณขุดคูล้อมรอบบริเวณเนินอิสระต่อกัน บางแห่งจับเป็นกลุ่ม และบางแห่งขุดคูคันดินต่อเชื่อมกันคล้ายลูกโซ่ และบางแห่งมีขนาดใหญ่ ขุดคูคันดินเชื่อมต่อกันเป็นส่วน ๆ แสดงให้เห็นวิวัฒนาการการขุดคูคันดินให้สอดคล้องกับขนาดของชุมชน ที่ขยายตัวใหญ่ขึ้น 

        ๒.๓ ประเภทรูปแบบคูคันดินขุดล้อมรอบทั้งบนเนินและที่ราบ คูคันดินที่ขุดต่อเชื่อมกัน จะล้อมรอบบริเวณทั้งบนเนิน และที่ราบ คูในบริเวณที่ลุ่มจะมีน้ำขัง มีคันดินภายในสูงชัน และส่วนที่เป็นเนินเขา คูมีลักษณะแคบและชัน เปลี่ยนแปลงระดับไปตามลักษณะภูมิประเทศ ไม่สามารถใช้ในการกักเก็บน้ำ มีลักษณะเช่นเดียวกับคูคันดินขุดล้อมรอบบนเนิน ชุมชนโบราณที่มีคูคันดินล้อมรอบประเภทนี้ มักมีขนาดใหญ่ และพบอยู่แต่เฉพาะในภาคเหนือของไทยที่เรียกว่า "ล้านนา" เท่านั้น
ดังตัวอย่างชุมชนโบราณ ที่ตัวอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow