Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลูกผสมคนกับหมู

Posted By Plook Creator | 24 มิ.ย. 60
10,370 Views

  Favorite

เมื่อการรักษาโรคและการช่วยชีวิตด้วยยา รังสี หรือสารเคมีต่างๆ ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป หลายครั้งการเปลี่ยนชิ้นส่วนอวัยวะหรือปลูกถ่ายอวัยวะช่วยให้หลายๆ คนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เริ่มต้นจากการเอาเนื้อหนังของคนไข้มาปิดบริเวณที่สูญเสียไปจากไฟไหม้หรืออุบัติเหตุ แต่หากมันไม่ใช่แค่เนื้อหนัง มันเป็นอวัยวะหนึ่งชิ้นเหมือนกับนิ้ว มือ หู ตา จมูก แล้วเราจะสร้างมันขึ้นมาจากไหน เพราะแต่ละคนก็มีอวัยวะจำกัด ไม่เหมือนสัตว์บางชนิด เช่น จิ้งเหลน หรือดาวทะเล ที่สามารถสร้างอวัยวะบางชิ้นขึ้นมาทดแทนส่วนที่สูญเสียหรือหายไปได้ และนั่นคือหัวข้องานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์และแพทย์หลายคน ที่พยายามเพาะเลี้ยงอวัยวะคนเพื่อเป็นอะไหล่ ทำให้เรามีการรวมตัวกันของคนและหมู แม้จะฟังดูไม่ได้ใกล้เคียงกันทางชีววิทยาแม้แต่น้อย แต่หมูกับคนก็คล้ายกันมากกว่าที่เราคิด

 

การปลูกถ่ายอวัยวะมีความจำเป็นมากขึ้นแต่การหาอวัยวะมาเพื่อใช้ปลูกถ่ายเป็นเรื่องยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอวัยวะที่สำคัญๆ อย่างหัวใจและปอด ซึ่งคุณจะได้มันมาก็ต่อเมื่อผู้บริจาคเสียชีวิตแล้ว และมันยังยากขึ้นไปอีกที่จะหาอวัยวะที่เหมาะสมกับผู้รับ ยังไม่นับประเด็นเรื่องการเข้ากันได้หรือการปฏิเสธอวัยวะเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้น แม้ว่าปัจจุบันเราจะยังไม่สามารถเพาะอวัยวะของคนที่สามารถทำงานได้จริงบนตัวหมูได้ แต่งานวิจัยล่าสุดที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้ทำอยู่ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ทำให้เราใกล้ความฝันเข้าไปอีกนิด

ภาพ : Shutterstock

 

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเมืองเดวิสประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนของหมูซึ่งมีเซลล์อวัยวะของมนุษย์ติดอยู่ สิ่งนี้เกิดขึ้นโดยการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนหมูที่ได้รับการตัดต่อเอาเซลล์ตัวอ่อนบางส่วนออกไปและใส่เซลล์ต้นแบบอวัยวะของมนุษย์เข้าไปแทนที่ และเมื่อเพาะเลี้ยงตัวอ่อนให้โตขึ้น เราก็จะได้อวัยวะของมนุษย์ที่อยู่ในตัวอ่อนของหมูด้วย ผลการทดลองในครั้งนี้สำคัญมากในยุคที่ความต้องการการปลูกถ่ายอวัยวะมีสูงแต่ผู้บริจาคอวัยวะ รวมถึงอวัยวะที่สามารถนำมาใช้ได้นั้นมีปริมาณน้อย การเพาะเลี้ยงอวัยวะนี้จะสามารถแก้ปัญหาภูมิคุ้มกันของผู้รับอวัยวะปฏิเสธอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่ายใหม่ได้อีกด้วย เพราะว่าเซลล์ที่ใส่เข้าไปในตัวอ่อนของหมูเพื่อการเพาะเลี้ยงจะเป็นเซลล์จากผู้ที่ต้องการรับอวัยวะเองโดยตรง การทดลองขั้นแรกนี้เป็นการผ่าตัดเอาเซลล์ต้นแบบของตับอ่อนมนุษย์ใส่เข้าไปแทนที่เซลล์ที่กำลังจะโตไปเป็นตับอ่อนของหมู

 

Bioethics คือชีวจริยธรรมอันเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตอย่างมีคุณธรรม ก่อนหน้านี้อาจจะเป็นประเด็นแค่การปฏิบัติต่อสัตว์ทดลองหรือมนุษย์เพื่อการศึกษาเกี่ยวกับโรคและยา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง หากแต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เรามีการโคลนนิ่ง การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การปลูกอวัยวะไว้ในตัวสัตว์ นำมาซึ่งประเด็นเรื่องความเหมาะสม และคำถามที่ว่า ควรมีการให้สิทธิมนุษย์ในการสร้างคนโดยวิธีที่ไม่เป็นธรรมชาติได้หรือไม่ การสังเคราะห์อวัยวะคนที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับตัวอ่อนสัตว์ ท้ายที่สุดแล้วเมื่อเราเพาะอวัยวะออกมาเพื่อใช้ปลูกถ่ายลงไปในตัวคนแล้ว สัตว์ที่เป็น Host ในการเพาะอวัยวะนี้จะได้รับการปฏิบัติอย่างไร ในขณะนี้ยังไม่มีคำตอบและทางออกที่ชัดเจนในการปฎิบัติ ที่จะไม่ขัดขวางความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและไม่ขัดต่อข้อความเชื่อและศีลธรรม

 

ตัวอ่อนในการทดลองต่างๆ ที่กล่าวมาจะถูกกำจัดเมื่อมีอายุเพียงไม่กี่สัปดาห์ มันถูกสร้างหรือทดลองเพื่อทดสอบสมมติฐานถึงความเป็นไปได้ในการสังเคราะห์อวัยวะคนขึ้นในตัวหมูเท่านั้น ไม่มีการปล่อยให้ตัวอ่อนหมูที่ดัดแปลงแล้วเติบโตจนสมบูรณ์ ตัวอ่อนถูกทำลายทิ้งเพื่อนำเนื้อเยื่อมาวิเคราะห์ผลการทดลองเท่านั้น แต่ยังไม่มีการใช้งานจริงแต่อย่างใด แม้กระนั้นก็ยังเป็นที่ถกเถียงถึงสิทธิของมนุษย์ที่จะสร้างหรือกำจัดชีวิต หรือคำถามที่ว่าเซลล์ตัวอ่อนของมนุษย์ที่แพร่ไปในตัวของสัตว์ผ่านการปลูกถ่ายยีนส์หรือเซลล์ต้นกำเนิด จะทำให้สัตว์ตัวนั้นๆ มีความคล้ายมนุษย์มากขึ้นหรือไม่ หากเกิดการผ่าเหล่าขึ้นมาเราควรจะทำอย่างไร และสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้เป็นเพียงการดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ในขณะที่เบียดเบียนชีวิตอื่นหรือไม่ คิเมร่า (Chimera) ระหว่างคนกับหมู ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์หรือตำราสัตว์ประหลาดแห่งอดีตกาลอีกแล้ว เพราะมันใกล้ความจริง ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow