Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หอยกาบเดี่ยวและทากทะเล (Class Gastropoda)

Posted By Plookpedia | 07 มี.ค. 60
18,858 Views

  Favorite

หอยกาบเดี่ยวและทากทะเล (Class Gastropoda)

หอยกาบเดี่ยว (Snail) มีเปลือกต่อเป็นชิ้นเดียว ส่วนมากเปลือกจะมีลักษณะเวียนเป็นวงเกลียวรอบแกนกลาง โดยหอยจะเริ่มสร้างเปลือกจากจุดยอด ซึ่งเป็นวงเกลียวที่มีขนาดเล็กที่สุด วงเกลียวต่อมาจะมีขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ ตามขนาดของตัวหอยที่โตขึ้น เมื่อหอยโตเต็มที่แล้วจะหยุดสร้างเปลือก และอาศัยอยู่ในวงเกลียวสุดท้าย ซึ่งเป็นวงเกลียวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีช่องเปิดให้หอยยื่นหัวและตีนออกมานอกเปลือก เพื่อให้หอยสามารถเคลื่อนที่ และกินอาหาร ตลอดจนเป็นทางให้น้ำและอากาศผ่านเข้าออกได้ด้วย หอยส่วนใหญ่จะมีแผ่นปิด (operculum) สำหรับปิดช่องเปลือกไว้ เป็นการช่วยป้องกันอันตรายจากศัตรู และป้องกันไม่ให้น้ำระเหยออกมาจากตัวเมื่ออยู่พ้นน้ำ แผ่นปิดของหอยส่วนใหญ่เป็นพวกไคทิน มีส่วนน้อยที่เป็นสารประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนต

ทากเปลือยในแนวปะการัง

เปลือกของหอยกาบเดี่ยวมีลักษณะ สี ลวดลาย และรูปร่างแตกต่างกันไปตามแต่ชนิด เช่น รูปไข่ รูปกระสวย รูปฝาชี หอยกาบเดี่ยวและทาก มีจำนวนชนิดมากกว่าหอยในกลุ่มอื่นๆ เฉพาะพวกที่อาศัยในทะเล ทั่วโลกมีมากกว่า ๔๐,๐๐๐ ชนิด แบ่งเป็น ๒๓๕ วงศ์ ในที่นี้จะกล่าวถึงหอยกาบเดี่ยวและทากทะเลบางวงศ์ที่พบในทะเลไทย ดังนี้

 

หอยเป๋าฮื้อ

วงศ์หอยเป๋าฮื้อ (Family Haliotidae) 

หอยเป๋าฮื้อ (Abalone) มีชื่อเรียกอื่นๆ ว่า หอยโข่งทะเล หอยร้อยรู เปลือกแบนรูปรี มีสีแตกต่างไปตามชนิด เช่น สีเขียว สีน้ำตาลอมแดง ด้านในของเปลือกมีชั้นมุกหนา ทำให้เป็นมันแวววาว หอยเป๋าฮื้ออาศัยในทะเลโดยใช้ตีนยึดเกาะกับพื้นแข็ง เช่น โขดหิน ก้อนปะการัง แนวหิน ตั้งแต่เขตน้ำขึ้นน้ำลงจนถึงน้ำลึกประมาณ ๕๐ เมตร อาหารคือ สาหร่ายที่เกาะติดในบริเวณที่อาศัย

 

หอยฝาชี

 

วงศ์หอยฝาชี (Family Patellidae)

หอยฝาชี (True limpet) มีชื่อเรียกอื่นๆ ว่า หอยหมวกจีน หอยหมวกเจ๊ก เปลือกมีรูปคล้ายฝาชี มีสีน้ำตาลอมเทาหรือดำ และอาจมีลวดลายตามแต่ชนิด บางชนิดจากจุดยอดมีสันแผ่ไปในแนวรัศมี ด้านในเปลือกเป็นสีเงิน ช่องเปลือกกว้าง อยู่ทางด้านล่าง ไม่มีแผ่นปิด ตีนมีขนาดใหญ่และแข็งแรง อาศัยในทะเล โดยเกาะตามพื้นแข็ง เช่น โขดหิน ใต้ก้อนหิน ซอกหินในบริเวณเขตชายฝั่ง ที่มีน้ำทะเลท่วมถึง อาหารคือ สาหร่ายขนาดเล็กประเภทเกาะติดที่ขึ้นตามก้อนหิน

 

วงศ์หอยนมสาวและหอยทับทิม (Family Trochidae)

หอยนมสาว (Top shell) เปลือกขรุขระและมีสีเทาอมเขียวหรือม่วงอ่อน ด้านในมีชั้นมุกหนา หอยนมสาวอาศัยตามแนวปะการัง และบริเวณชายฝั่งที่เป็นหาดหิน กินสาหร่ายเป็นอาหาร เปลือกชั้นที่เป็นมุกนำไปตกแต่งและทำมุกประดับ หรือนำไปทำเครื่องประดับ เช่น กระดุมมุก ของที่ระลึก

 

หอยนมสาว

 

 

หอยทับทิม (Button top shell) เปลือกค่อนข้างบาง แต่ละตัวมีสีและลายแตกต่างกัน บางตัวมีลายเป็นแถบ บางตัวมีสีชมพูคล้ายสีทับทิม จึงเป็นที่มาของชื่อหอยทับทิม อาศัยตามชายหาดที่เป็นทรายและทรายปนโคลน โดยฝังตัวอยู่ใต้พื้น ในระดับที่น้ำท่วมถึง กินสารอินทรีย์และตะกอนตามพื้น

 

หอยตาวัว

 

 

วงศ์หอยตาวัว (Family Turbinidae)

หอยตาวัว (Turban shell) มีชื่อเรียกอย่างอื่นว่า หอยอูด หอยมุกไฟ หอยโข่งเขียว เปลือกค่อนข้างหนามีทั้งชนิดที่เปลือกขรุขระ หรือเรียบเป็นมัน อาจมีสีเขียวหรือมีลายสลับสี ด้านในของเปลือกมีชั้นมุกหนา ช่องเปลือกกลม แผ่นปิดเป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต ลักษณะเป็นแผ่นกลม หนา ด้านในแบน ด้านนอกโค้ง หอยตาวัวส่วนใหญ่อาศัยในเขตน้ำตื้นตามแนวปะการัง และบริเวณใกล้เคียง ตามชายฝั่งที่เป็นหาดหิน กินสาหร่ายทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่

 

วงศ์หอยกะทิและหอยถั่วเขียว (Family Neritidae)

หอยกะทิ (Nerite) มีชื่อเรียกอย่างอื่นว่า หอยดำ หอยน้ำพริก เปลือกค่อนข้างหนา ก้นหอยสั้น วงเกลียวสุดท้ายพองกลม บางชนิดเปลือกเรียบ บางชนิดมีสันเป็นวงรอบเปลือก ช่องเปลือกเป็นรูปครึ่งวงกลม ตามขอบมีหยักคล้ายฟัน แผ่นปิดแบนบาง เป็นสารประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนต พบในเขตน้ำตื้นบริเวณที่เป็นหาดหินและป่าชายเลน อาหารคือ สาหร่ายและสารอินทรีย์ ที่อยู่ตามพื้น 

 

หอยถั่วเขียว

 

หอยถั่วเขียว (Nerite) เป็นหอยที่มีขนาดเล็กกว่าหอยกะทิ ค่อนข้างกลม เปลือกเรียบเป็นมัน ถึงแม้จะเป็นชนิดเดียวกัน แต่หอยถั่วเขียวแต่ละตัว มีสีและลายที่แตกต่างกัน อาศัยตามชายฝั่งในเขตน้ำตื้น พบทั้งในบริเวณหาดทราย หาดหิน ป่าชายเลน และแนวหญ้าทะเล อาหารคือ สาหร่ายและสารอินทรีย์ ซึ่งมีหลายชนิด

 

หอยขี้นก

 

วงศ์หอยขี้นก (Family Cerithiidae)

หอยขี้นก (Sand creeper, Ceriths) เปลือกมีสีน้ำตาล น้ำตาลอมดำ หรือเทาอมดำ มีปมขนาดเล็กเรียงชิดกันเป็นแถว ในแนวเวียนก้นหอย หอยขี้นกมักอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก อาศัยอยู่ทั่วไปตามแหล่งน้ำกร่อยและน้ำเค็ม ในเขตน้ำตื้น พื้นเป็นทรายปนโคลนหรือโคลน ได้แก่ บริเวณปากแม่น้ำ ป่าชายเลน และแนวหญ้าทะเล ส่วนอาหารคือ สาหร่ายขนาดเล็ก และซากพืชซากสัตว์

วงศ์หอยขี้กาและหอยจุ๊บแจง (Family Potamididae)

 

เปลือกหอยขี้กา

 

 

หอยจุ๊บแจง (Horn shell) ลักษณะคล้ายหอยขี้นก เปลือกมีสีคล้ำ เช่น สีเทาหรือสีน้ำตาล เปลือกไม่เรียบ มีสันเล็กๆ ทั่วเปลือก อาศัยอยู่ในเขตน้ำตื้นที่พื้นเป็นโคลน โดยเฉพาะบริเวณป่าชายเลนและป่าจาก พบเกาะตามลำต้น กิ่ง ก้าน และรากต้นโกงกาง รวมทั้งต้นไม้อื่นๆ ในบริเวณดังกล่าว เมื่อหอยจุ๊บแจงยื่นหัวและตีนออกมานอกเปลือก ที่หัวและหลังมีจุดประสีแดงอมส้ม และที่ปลายสุดของตีนจะมีสีแดงอมส้ม อาหารคือ สาหร่ายขนาดเล็ก ซากพืช ซากสัตว์ จุลินทรีย์ และสารอินทรีย์
วงศ์หอยสีม่วง (Family Janthinidae)

หอยสีม่วง (Violet shell) เป็นหอยที่มีการดำรงชีพเป็นแพลงก์ตอน ลอยอยู่ตามผิวน้ำในทะเล มักพบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เคลื่อนตัวไปตามการพัดพาของกระแสน้ำ เปลือกเป็นรูปค่อนข้างกลม บาง เบา และเปราะ มีสีม่วงสด ในช่วงที่จะวางไข่ หอยสีม่วงสร้างทุ่นลอยที่เป็นฟองอากาศ เพื่อใช้สำหรับติดฝักไข่ อาหารคือ พืชและสัตว์ขนาดเล็กที่อยู่ในมวลน้ำ โดยหอยจะปล่อยเมือกเป็นสาย สำหรับดักจับอาหาร ในฤดูมรสุม มักถูกคลื่นซัดขึ้นมาติดตามชายหาดเสมอๆ


หอยขี้กา (Mud creeper, Telescope shell) เปลือกหนาแข็ง สีน้ำตาลเข้ม หรือสีเทาดำ ลักษณะเป็นทรงกรวยคว่ำ อาศัยอยู่ทั่วไป ตามแหล่งน้ำกร่อยและน้ำเค็มในเขตน้ำตื้นที่มีพื้นเป็นโคลน พบบริเวณป่าชายเลนและแนวหญ้าทะเล โดยฝังตัวอยู่ใต้ผิวโคลน กินสาหร่าย จุลินทรีย์ ซากพืชซากสัตว์ 

 

เปลือกหอยสีม่วง

 

 

วงศ์หอยแต่งตัวและหอยพระอาทิตย์ (Family Xenophoridae)

หอยแต่งตัว (Carrier shell) เปลือกเป็นรูปกรวยคว่ำค่อนข้างเตี้ย เปลือกเป็นสีครีมหรือสีน้ำตาลอ่อน บนเปลือกของหอยแต่งตัวมีก้อนหินขนาดเล็ก และเศษเปลือกหอยอื่นติดอยู่ ชิ้นส่วนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ตกอยู่ตามพื้นทะเล และหอยนำมาเชื่อมติดไว้กับเปลือก เพื่อเป็นการพรางตัว จึงเป็นที่มาของชื่อหอยแต่งตัว อาศัยตามพื้นทะเลที่เป็นกรวด ทราย หรือทรายปนโคลน ตั้งแต่น้ำตื้นถึงน้ำลึกประมาณ ๗๐๐ เมตร หอยบางชนิดในวงศ์นี้ มีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น หอยพระอาทิตย์ มีลักษณะที่แตกต่างไป คือ ไม่มีวัตถุอื่นติดบนเปลือก และที่รอยต่อระหว่างวงเกลียวและขอบของวงเกลียวสุดท้าย มีหนามเรียงเป็นวงรอบเปลือก

 

 

วงศ์หอยสังข์ หอยเล็บมือนาง และหอยฉมวก (Family Strombidae)

หอยสังข์ (Conch) หอยสังข์ส่วนใหญ่มีเปลือกค่อนข้างหนา ก้นหอยสั้น วงเกลียวสุดท้ายมีขนาดใหญ่ บริเวณขอบด้านนอกของช่องเปลือกแผ่ออก แต่ละชนิดมีสีและลายต่างๆ กันไป ส่วนใหญ่มีสีเหลืองเข้มหรือน้ำตาล ส่วนมากอาศัยในเขตน้ำตื้น พื้นที่เป็นทราย ทรายปนโคลน และในแนวปะการัง กินสาหร่ายเป็นอาหารหลัก ทั่วโลกพบประมาณ ๖๐ ชนิด หอยสังข์ที่พบในทะเลไทย เช่น สังข์ปีกนางฟ้า สังข์ปากดำ สังข์ปีกกว้าง หอยชักตีน

 

 

หอยเล็บมือนาง (Spider conch) หรือหอยแมงมุม หรือหอยแมงป่อง เป็นหอยขนาดใหญ่ เปลือกหนาหนัก วงเกลียวสุดท้ายมีขนาดใหญ่ ขอบนอกของช่องเปลือกมีหนามใหญ่ยาว จำนวน ๕ - ๙ อัน ตามแต่ชนิด เปลือกอาจเป็นสีครีม หรือสีน้ำตาลอ่อน มีลายสีน้ำตาลเข้ม อาศัยในเขตน้ำตื้น พื้นเป็นทราย หรือทรายปะการัง อาหารคือ สาหร่ายทะเล และสารอินทรีย์อื่นๆ 

หอยฉมวก (Spindle tibia) เปลือกเป็นรูปกระสวย ยอดแหลม ก้นหอยยาวมีหลายวงเกลียว ด้านหน้ามีร่องเปลือกยาว บริเวณขอบด้านนอกของช่องเปลือกมีหนามสั้นทู่จำนวน ๔ - ๖ อัน เปลือกเรียบเป็นมันมีสีเหลืองอ่อนหรือน้ำตาลอ่อน อาศัยในระดับน้ำลึก ๕ - ๕๐ เมตร พื้นท้องทะเลเป็นทราย กินสาหร่ายทะเลและสารอินทรีย์อื่น ๆ
วงศ์หอยเบี้ย (Family Cypraeidae)

หอยเบี้ย (Cowrie) มีชื่อเรียกอย่างอื่นว่า หอยหมู คำว่า cowrie เป็นภาษาละติน แปลว่า ลูกหมู หรือหมูตัวเล็กๆ เนื่องจากเปลือกมีรูปร่างพองกลม และเหตุที่เรียกว่า หอยเบี้ยนั้น เป็นเพราะในสมัยโบราณ ได้ใช้เปลือกหอยเบี้ยบางชนิด ในการแลกซื้อสิ่งของ เปลือกหอยเบี้ยอาจเป็นรูปกลม รูปไข่ หรือรูปทรงกระบอก ด้านท้องแบน ด้านหลังโค้งนูน คล้ายหลังเต่า เมื่อโตเต็มที่ไม่มีส่วนที่เป็นก้นหอย โดยวงเกลียวสุดท้ายคลุมก้นหอยไว้ทั้งหมด ช่องเปลือกอยู่ทางด้านท้อง มีลักษณะเป็นช่องแคบและยาว ตลอดความยาวของเปลือก ตามขอบมีสันละเอียดเรียงเป็นแถวในแนวขวาง ทำให้เกิดเป็นรอยหยัก หอยเบี้ยเมื่อโตเต็มวัยจะไม่มีแผ่นปิดช่องเปลือก ในสภาวะปกติ แผ่นเนื้อแมนเทิลจะแผ่คลุมด้านหลังของเปลือกไว้ และหดเข้าไปอยู่ในเปลือกได้ เมื่อมีภัยหรือถูกรบกวน การเลื่อนตัวเข้าออกของแผ่นเนื้อแมนเทิล มีผลให้เปลือกหอยได้รับการขัดถู จนเกิดเป็นมันสวยงาม หอยเบี้ยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแนวปะการัง และบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ ยังพบตามแนวหิน ตั้งแต่ชายฝั่ง ลงไปในทะเลลึก โดยมักซ่อนตัวอยู่ตามใต้ก้อนหิน ก้อนปะการัง หรือใต้พื้นทรายในเวลากลางวัน และออกหากินในเวลากลางคืน หอยเบี้ยบางชนิดกินสาหร่าย บางชนิดกินฟองน้ำ ปะการัง และสัตว์เกาะติดอื่นๆ หอยเบี้ยหลายชนิดกินทั้งพืชและสัตว์ เปลือกหอยเบี้ยมีสีและลายที่สวยงาม แตกต่างกันไปตามแต่ชนิด มีตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าเมล็ดข้าว และขนาดยาวถึง ๑๒ เซนติเมตร ทั่วโลกพบประมาณ ๒๐๐ ชนิด โดยในทะเลไทยสำรวจพบประมาณ ๕๕ ชนิด เช่น เบี้ยลายเสือ เบี้ยอาหรับ เบี้ยแก้ใหญ่หรือเบี้ยข้าวตอก เบี้ยแก้เล็กหรือเบี้ยหัวงู เบี้ยพันตา เบี้ยจั่น เบี้ยนางหรือเบี้ยแก้ว 

 

 

หอยเบี้ยที่มีแผ่นเนื้อแมนเทิลคลุมเปลือก

 

 

วงศ์หอยไข่และหอยคันธนู (Family Ovulidae)

หอยไข่ (Egg cowrie) มีเปลือกพองกลมคล้ายรูปไข่ มีลักษณะเหมือนหอยเบี้ย ช่องเปลือกอยู่ด้านล่าง ขอบช่องเปลือกด้านในเรียบ และไม่มีแผ่นปิด เปลือกด้านนอกเป็นมันมีสีขาว ด้านในเป็นสีน้ำตาลอมแดง ตีนสีดำ แผ่นเนื้อแมนเทิลสีดำจุดขาว อาศัยในแนวปะการัง และบริเวณใกล้เคียง โดยมักอาศัยอยู่กับปะการังอ่อน กัลปังหา ซึ่งหอยใช้เป็นอาหารหลัก 

 

หอยคันธนู

 

 

หอยคันธนู (Spindle cowrie) มีเปลือกเป็นรูปกระสวย ส่วนกลางพองรี ด้านหน้าและท้ายเรียวแหลม เปลือกเป็นสีขาว สีครีม หรือสีชมพูอ่อนทั้งด้านนอกและด้านใน อาศัยในแนวปะการัง และบริเวณที่พื้นเป็นทราย ทรายปนโคลน อาหารคือ สัตว์พวกไนดาเรีย เช่น กัลปังหา ปากกาทะเล

 

หอยขาวหรือหอยนางชี

 

วงศ์หอยวงพระจันทร์ (Family Naticidae)

หอยวงพระจันทร์ (Moon shell) เปลือกเรียบเป็นมัน อาจมีสีขาวล้วน หรือสีครีม และมีจุดมีลายตามแต่ชนิด อาศัยตามพื้นทะเลที่เป็นทราย ทรายปนโคลน และโคลน กินหอยกาบคู่ และหอยกาบเดี่ยวอื่นๆ โดยใช้แผงฟันเจาะเปลือก แล้วดูดกินเนื้อ บางชนิดมีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น หอยขาวหรือหอยนางชี
วงศ์หอยตีนช้าง (Family Cassidae)

หอยตีนช้าง (Helmet shell) มีเปลือกหนา หนัก และมีขนาดใหญ่ ก้นหอยสั้น วงเกลียวสุดท้ายพองกลม เปลือกเป็นสีน้ำตาลหรือสีครีม อาจมีแต้มสีเข้มกระจายอยู่ทั่วเปลือก ผิวเปลือกไม่เรียบ มีปุ่มทั้งขนาดเล็กและใหญ่เรียงตัวเป็นวงรอบเปลือก ช่องเปลือกยาว ตามขอบมีสันจำนวนมากทำให้มีลักษณะคล้ายรอยหยัก อาศัยบริเวณแนวปะการัง พื้นที่เป็นทราย และเศษปะการัง ที่ระดับน้ำลึก ๒ - ๓๐ เมตร กินเม่นทะเล ดาวทะเล และดาวหนามเป็นอาหาร เปลือกมีขนาดใหญ่และสวยงาม จึงมักนำมาเป็นของประดับตกแต่งบ้าน

 

 

เปลือกหอยตีนช้าง

 

วงศ์หอยสังข์แตร (Family Ranellidae)

หอยสังข์แตร (Tritonžs trumpet) เป็นหอยที่มีขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่โดยทั่วไป มีขนาดยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ขนาดใหญ่ที่สุดยาวถึง ๔๕ เซนติเมตร เปลือกหนา ประกอบด้วยวงเกลียวหลายวง สีและลายบนเปลือกสวยงามแปลกตา อาศัยอยู่ในเขตน้ำตื้น ตั้งแต่ชายฝั่งถึงน้ำลึกประมาณ ๓๐ เมตร พบมากตามบริเวณแนวปะการัง อาหารคือ สัตว์ในกลุ่มมีผิวหนาม เช่น ดาวหนาม เม่นทะเล ดาวทะเล ปัจจุบันหอยสังข์แตรมีเหลืออยู่น้อยมากและมีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์ จึงจำเป็นต้องมีการอนุรักษ์ โดยได้รับการขึ้นบัญชีในอนุสัญญา ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora : CITES) กับเป็นสัตว์น้ำสงวนและคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ ห้ามทำการซื้อขายหรือมีไว้ในครอบครอง

 

หอยสังข์แตรหาอาหารในแนวปะการัง

 

 

หอยสังข์แตรมีความสำคัญที่จะทำให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศของแนวปะการัง พบว่า เมื่อหอยสังข์แตรซึ่งกินดาวหนามเป็นอาหารมีเหลืออยู่น้อย มีผลให้เกิดการระบาดของดาวหนามในแนวปะการัง โดยที่ดาวหนามกินปะการังเป็นอาหารหลัก ปะการังและแนวปะการังจึงถูกทำลายไปด้วย ชาวพื้นเมืองแถบหมู่เกาะ ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ใช้หอยสังข์เป็นเครื่องเป่าในงานพิธีต่างๆ

 

 

 

วงศ์หอยหนาม (Family Muricidae)

หอยหนาม (Murex shell) เปลือกอาจมีรูปทรงคล้ายกระบวยตักน้ำ รูปกระสวย หรือรูปอื่นๆ ลักษณะเด่นคือ เปลือกไม่เรียบ มักมีหนามสั้น หนามยาว หนามใหญ่ มีปุ่ม ปม สัน แตกต่างกันไปตามแต่ชนิด หอยหนามบางชนิดจะมีชื่อเรียกเฉพาะชนิด ตามลักษณะปรากฏ เช่น หอยก้างปลา หอยหวี หอยหน้ายักษ์หรือหอยเงาะ หอยหนามดำ หอยหนามดอกไม้ พบอาศัยอยู่ทั่วไป ทั้งในเขตน้ำตื้นและน้ำลึก พื้นเป็นทราย โคลน แนวปะการัง ป่าชายเลนและแหล่งหญ้าทะเล อาหารคือ หอยกาบเดี่ยว หอยกาบคู่ เพรียง รวมถึงสัตว์ขนาดเล็กตามพื้นทะเล ทั่วโลกพบมากกว่า ๗๐๐ ชนิด
วงศ์หอยเทพรส (Family Buccinidae)

หอยเทพรส (Whelk) หรือมีชื่อเรียกอื่นๆ ว่า หอยตุ๊กแก หอยหวาน มีเปลือกเรียบ บางชนิดมีลายเป็นแต้มสีน้ำตาลบนพื้นสีครีม บางชนิดมีสีน้ำตาลทั่วทั้งเปลือก อาศัยตามพื้นที่เป็นทราย โดยซ่อนตัวอยู่ใต้พื้น ตั้งแต่เขตน้ำตื้นลงไปถึงน้ำลึกประมาณ ๒๐ เมตร กินหนอนและซากสัตว์ เช่น ปู ปลา 

 

 

 

 

วงศ์หอยจุกพราหมณ์และหอยทะนาน (Family Volutidae)

หอยจุกพราหมณ์ (Volute shell) เป็นหอยขนาดใหญ่ เปลือกหนาและหนัก เห็นเด่นชัดเฉพาะวงเกลียวสุดท้าย วงเกลียวยอดมีลักษณะเป็นปุ่มกลมคล้ายผมจุก จึงเป็นที่มาของชื่อ หอยจุกพราหมณ์ ช่องเปลือกยาวและกว้างไม่มีแผ่นปิด ส่วนที่เป็นด้านนอกของช่องเปลือกแผ่กว้าง ขอบด้านในมี ๓ - ๔ สัน เปลือกเรียบเป็นมัน มีลายเป็นเส้นหยักบนพื้นสีครีม อาศัยตามพื้นทะเลที่ตื้นเป็นทราย ทรายปนโคลน ตั้งแต่ชายฝั่ง จนถึงระดับน้ำลึกประมาณ ๘๐ เมตร อาหาร คือ สัตว์ทะเลขนาดเล็ก ที่อยู่ตามพื้นทะเล

 

 

 

หอยทะนาน (Melon shell) หรือมีชื่อเรียกอื่นๆ ว่า หอยตาล หอยสังข์เหลือง เปลือกค่อนข้างบางเมื่อเทียบกับขนาดตัว วงเกลียวสุดท้ายพองกลม และคลุมก้นหอยไว้ทั้งหมด ช่องเปลือกยาวและกว้าง ขอบในของช่องเปลือกมีสัน ๓ - ๔ สัน ไม่มีแผ่นปิด เปลือกมีสีเหลือง และอาจมีแต้มสีน้ำตาล ด้านในมีชั้นมุกบาง อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นโคลน ตั้งแต่ชายฝั่งจนถึงระดับน้ำลึกประมาณ ๒๐ เมตร กินสัตว์ขนาดเล็กที่ยังมีชีวิตและซากสัตว์ตามพื้นทะเล การที่เปลือกมีขนาดใหญ่และเบา ในสมัยก่อน จึงนำมาเป็นอุปกรณ์ใช้ตวงข้าวเปลือก

 

 

 

วงศ์หอยมะเฟือง (Family Harpidae)

หอยมะเฟือง หรือหอยพิณ (Harp shell) เปลือกเป็นมันวาวมีสันป้านจำนวนมาก เรียงเป็นแนวขนานกันตามความยาวเปลือกคล้ายกลีบมะเฟือง มีสีและลายสวยงาม มักมีพื้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีแถบสีน้ำตาลเข้มคาดอยู่บนสัน ระหว่างสันมีลายเป็นเส้นหยักสีขาว ช่องเปลือกกว้าง ไม่มีแผ่นปิด อาศัยโดยฝังตัวอยู่ใต้พื้นทราย ในระดับที่ไม่ลึกนัก และออกหาอาหารในเวลากลางคืน อาหารส่วนใหญ่คือ กุ้งและปูขนาดเล็ก หอยในวงศ์นี้มีเปลือกที่มีรูปทรง สีและลายที่จัดว่า สวยงามอย่างยิ่ง

 

วงศ์หอยกระดุม (Family Olividae)

หอยกระดุม (Olive shell) หรือหอยเม็ดขนุน มีเปลือกเป็นรูปทรงกระบอก ผิวเปลือกเป็นเงามัน แต่ละชนิดมีสีและลายสวยงาม แตกต่างกันไป หอยกระดุมอาศัยตามชายฝั่งที่เป็นหาดทรายและทรายปนโคลน ในเวลากลางวันจะซ่อนตัวอยู่ใต้พื้น แล้วยื่นงวงขึ้นมาเหนือพื้นเล็กน้อย ออกหาอาหารในเวลากลางคืน ตีนมีขนาดใหญ่จึงสามารถเคลื่อนที่ไปตามพื้นได้ค่อนข้างรวดเร็ว หอยกระดุมมีอวัยวะรับกลิ่นที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถได้กลิ่นอาหารหรือกลิ่นของศัตรู ที่อยู่ห่างออกไปหลายเมตร อาหารเป็นสัตว์ที่ยังมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น หอยกาบคู่ กุ้ง ปู และซากสัตว์ที่อยู่ตามชายหาดและพื้นทะเล ทั่วโลกพบหอยกระดุม ประมาณ ๒๐๐ ชนิด เปลือกของหอยกระดุมนำมาใช้ทำกระดุมและเครื่องประดับ
 

 

 

 

วงศ์หอยเต้าปูน (Family Conidae)

หอยเต้าปูน (Cone shell) มีเปลือกค่อนข้างหนา แข็ง ก้นหอยสั้น วงเกลียวสุดท้ายเป็นทรงกรวยสูง อาศัยในทะเล โดยฝังตัวอยู่ใต้พื้นทราย หรือทรายปนโคลน ตามแนวปะการัง และบริเวณใกล้เคียง หรือหลบซ่อนอยู่ใต้ก้อนหิน พบตั้งแต่น้ำตื้นถึงระดับลึกประมาณ ๙๐ เมตร หอยเต้าปูนเป็นหอยนักล่า กินสัตว์อื่นที่ยังมีชีวิต โดยมีวิธีการล่าเหยื่ออย่างมีประสิทธิภาพ อาวุธของหอยเต้าปูน คือ เข็มพิษ โดยมันจะฝังเข็มพิษลงไปในตัวเหยื่อ ทำให้เหยื่อเป็นอัมพาต แล้วจึงค่อยๆ กลืนเหยื่อเข้าไปทั้งตัว  หอยเต้าปูนชนิดที่ล่าปลาเป็นอาหาร จัดเป็นพวกที่มีพิษรุนแรงมาก ถึงขั้นทำให้คนที่ถูกเข็มพิษแทงเป็นอันตรายถึงชีวิต หอยเต้าปูนที่กินหนอน หรือกินหอยด้วยกันเอง จะมีพิษที่ไม่รุนแรงนัก พิษของหอยเต้าปูนมีผลต่อระบบประสาทและการหายใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจ และกล้ามเนื้อกะบังลมหมดความรู้สึก คนหรือเหยื่อที่ถูกแทงจะมีอาการชา บริเวณที่ถูกแทง จากนั้นจะรู้สึกปวดตามร่างกาย ริมฝีปากชา สายตาพร่ามัว หากได้รับพิษรุนแรงจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงาน ในกรณีที่มีพิษไม่รุนแรง จะมีอาการชา และปวดที่บริเวณแผล จากนั้นอาการจะค่อยๆ ทุเลาลง ทั่วโลกพบหอยเต้าปูนประมาณ ๓๐๐ ชนิด โดยในทะเลไทยสำรวจพบประมาณ ๑๐๕ ชนิด ชนิดที่มีพิษรุนแรง คือ เต้าปูนจีโอแกรฟัส เต้าปูนลายผ้า และเต้าปูนชนิดอื่นๆ ได้แก่ เต้าปูนเบงกอล เต้าปูนไทย เต้าปูนระนอง

 

หอยเต้าปูนขณะเคลื่อนที่ในแนวปะการัง

 

 

ทากทะเล (Sea Slug)  

เป็นหอยกาบเดี่ยวที่เปลือกลดรูปจนมีขนาดเล็กคลุมตัวไม่มิด หรือไม่มีเปลือกเรียกว่า ทากทะเล ทากทะเลส่วนใหญ่มีสีสวยสดงดงาม บางชนิดมีหลายสีบนตัวเดียวกัน และสามารถปรับสีของตัวให้เข้ากับสภาพของแหล่งอาศัย สีที่ฉูดฉาดของทากทะเลทำให้สัตว์อื่นหลีกเลี่ยงที่จะกินเป็นอาหาร พบว่า ทากทะเลยังสามารถสร้างสารเคมีที่เป็นพิษ สะสมไว้ตามผิว เพื่อป้องกันตัว บางชนิดมีอวัยวะช่วยหายใจอยู่ทางด้านบนของหัวหรือลำตัว ซึ่งอาจมีลักษณะเป็นเส้น เป็นกระจุก หรือเป็นแผ่น ส่วนมากอาศัยอยู่ในแนวปะการัง และบริเวณใกล้เคียง กินอาหารพวกสาหร่าย ฟองน้ำ ดอกไม้ทะเล ปะการังอ่อน กัลปังหา และเพรียงหัวหอม ทั่วโลกพบประมาณ ๒,๐๐๐ ชนิด ในทะเลไทยสำรวจพบประมาณ ๑๐๐ ชนิด เช่น ทากเปลือย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow