Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลักษณะของหอยทะเล

Posted By Plookpedia | 07 มี.ค. 60
18,672 Views

  Favorite

ลักษณะของหอยทะเล

หอยทะเลส่วนใหญ่มีเปลือกหุ้มตัว พวกที่ไม่มีเปลือกจะถูกเรียกเป็นอย่างอื่น เช่น ทากทะเล หมึก ทากทะเลเป็นกลุ่มของหอยกาบเดี่ยวที่เปลือกลดรูปไป ส่วนหมึกนอกจากไม่มีเปลือกแข็งหุ้มตัวแล้ว ยังมีรูปลักษณะที่แตกต่างไป และจะไม่กล่าวถึงในที่นี้

 

ลักษณะเปลือกหอยชนิดต่างๆ

 

 

ลักษณะเปลือก  

หอยทะเลสามารถสร้างเปลือกได้อย่างน่าพิศวง มีรูปทรงที่หลากหลาย มีสีและลายสวยงาม และมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทราย ไปจนถึงขนาดที่มีความยาวเปลือกมากกว่า ๑ เมตร ตามแต่ชนิดของหอย เหตุที่หอยสร้างเปลือก ก็เพื่อใช้เป็นเกราะป้องกันภัยจากศัตรู และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เปลือกหอยประกอบด้วย สารจำพวกแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เหลือเป็นสารอื่นๆ เช่น แคลเซียมฟอสเฟต แมกนีเซียมฟอสเฟต โปรตีนประเภทคอนไคโอลิน เปลือกหอยแบ่งเป็น ๓ ชั้น ชั้นผิวนอกเรียกว่า ชั้นเพอริออสทราคัม (periostracum) ประกอบด้วย สารจำพวกโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ เป็นชั้นที่บางและหลุดง่าย หอยที่ตายแล้วและเปลือกตกค้างอยู่ตามชายหาด เปลือกชั้นนี้อาจหลุดหายไป จนไม่เหลือให้เห็น ชั้นกลางเรียกว่า ชั้นพริสมาติก (prismatic) เป็นชั้นที่หนาและแข็งแรงที่สุด ประกอบด้วย ผลึกรูปต่างๆ ของสารประกอบแคลเซียมซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของแคลไซต์ (calcite) ชั้นในสุด เรียกว่า ชั้นมุก หรือชั้นเนเครียส (nacreous) ประกอบด้วยผลึกรูปต่างๆ ของสารประกอบแคลเซียม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของอะราโกไนต์ (aragonite) เป็นชั้นที่เรียบ มีความหนาบางแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของหอย ชนิดที่มีชั้นมุกหนา จะเห็นเป็นสีมุก และมีความแวววาวสวยงาม เมื่อหอยตาย เปลือกจะถูกคลื่นซัดขึ้นมาติดอยู่ตามชายหาด

 

ด้านในเปลือกหอยมุก

 

ลักษณะตัว  

ตัวหอยมีเนื้อนุ่ม ลำตัวไม่แบ่งเป็นปล้อง ประกอบด้วยหัว ตีน แผ่นเนื้อแมนเทิล และอวัยวะภายใน หอยส่วนใหญ่ที่หัวมีหนวดและตา (ยกเว้นหอยแปดเกล็ดและหอยกาบคู่) ที่ใช้เป็นอวัยวะรับสัมผัส หอยกาบเดี่ยวอาจมีจะงอยปากหรืองวงสำหรับช่วยในการกินอาหาร ตีนเป็นกล้ามเนื้อแข็งแรง ใช้ในการคืบคลานหรือขุดพื้นเพื่อฝังตัว พวกที่เคลื่อนที่ได้จึงมีตีนขนาดใหญ่และแข็งแรง เช่น หอยแปดเกล็ด หอยงาช้าง หอยกาบเดี่ยว หอยกาบคู่ที่ฝังตัวอยู่ใต้พื้น ส่วนพวกที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ตีน เนื่องจากอยู่ติดกับที่ ตีนจะมีขนาดเล็กหรือไม่มีเลย เช่น หอยแมลงภู่ หอยนางรม สำหรับหอยงวงช้างกระดาษและหอยงวงช้างมุก ตีนเปลี่ยนรูป และอยู่รอบปาก มีลักษณะคล้ายหนวด ทำหน้าที่จับอาหารและช่วยในการพยุงตัว หอยมีแผ่นเนื้อแมนเทิลที่ห่อหุ้มอวัยวะภายในไว้ และขอบของแผ่นเนื้อนี้ทำหน้าที่สร้างเปลือก ระหว่างแผ่นเนื้อกับตีนเป็นช่องที่น้ำและอากาศผ่านเข้าออกได้เรียกว่า ช่องแมนเทิล ซึ่งมีเหงือกอยู่ภายใน

 

การหายใจ 

หอยทะเลมีระบบหายใจ ประกอบด้วยเหงือก หัวใจ เส้นเลือด และแอ่งเลือด เหงือกมีจำนวน ๑ - ๒ อัน ประกอบด้วย แกนเหงือก และซี่เหงือก หัวใจแบ่งเป็นหัวใจห้องต้นและหัวใจห้องปลาย เมื่อหัวใจบีบตัวทำให้เลือดไหลไปตามเส้นเลือด และแอ่งเลือด ที่กระจายอยู่ทั่วตัวหอย เลือดของหอยเป็นของเหลวใส ไม่มีสี ยกเว้นหอยบางชนิดที่มีสารเฮโมโกลบิน (haemoglobin) ในเลือด ทำให้เลือดมีสีแดง ตัวอย่างเช่น หอยแครง

 

หอยแทะกินสาหร่ายเป็นอาหาร

 

อาหารและวิธีการกินอาหาร 

หอยทะเลกินอาหารแตกต่างกันไป บางชนิดกินอาหารเฉพาะอย่าง บางชนิดกินอาหารได้หลายอย่าง สิ่งที่เป็นอาหาร คือ 

พืช พืชในทะเล ได้แก่ สาหร่ายทะเล ที่มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ สาหร่ายขนาดเล็กเกาะติดตามก้อนหิน ซากปะการัง ตามใบของหญ้าทะเล หลายชนิดล่องลอยอยู่ในมวลน้ำ ส่วนสาหร่ายขนาดใหญ่อยู่ตามพื้นท้องทะเล 

ซากพืชและสัตว์ที่เน่าเปื่อย เมื่อพืชและสัตว์ตายลง ซากจะถูกย่อยสลาย จนมีขนาดเล็กลง และเปลี่ยนสภาพเป็นสารอินทรีย์ และอนินทรีย์

สัตว์ที่ยังมีชีวิต ได้แก่ สัตว์ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่ลอยตัวอยู่ในมวลน้ำ หรืออาศัยอยู่ตามพื้นทะเล เช่น หนอนทะเล ปะการัง ดาวมงกุฎหนามหรือที่เรียกทั่วไปว่า ดาวหนาม รวมถึงสัตว์ที่ว่ายอยู่ในน้ำ เช่น ปลา 

จุลชีพ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาจอยู่ตามพื้นท้องทะเล ติดตามวัตถุต่างๆ หรือในมวลน้ำ เช่น จุลินทรีย์   

หอยทะเลเกือบทั้งหมด (ยกเว้นหอยกาบคู่) มีแผ่นขูด (radula) อยู่ภายในช่องปาก แผ่นขูดมีลักษณะเป็นแถบยาว มีฟัน (radula teeth) ขนาดเล็กเรียงเป็นแถวในแนวขวางจำนวนหลายแถว ทำหน้าที่ช่วยในการกินอาหาร ส่วนหอยที่เป็นนักล่า แผ่นขูดเปลี่ยนรูปเป็นลักษณะคล้ายลูกศร เพื่อใช้เป็นอาวุธในการล่าเหยื่อ หอยกาบเดี่ยวใช้จะงอยปาก งวง และแผ่นขูด ในการกินอาหาร หอยกาบคู่กินอาหารโดยใช้เหงือกกรองอาหารจากมวลน้ำแล้วส่งเข้าสู่ช่องปาก ส่วนหอยงาช้าง หอยงวงช้างมุก  และหอยงวงช้างกระดาษใช้หนวดช่วยในการจับอาหารส่งเข้าปาก อาหารจะผ่านจากช่องปากลงสู่หลอดอาหาร และย่อยในกระเพาะผ่านเข้าสู่ลำไส้ กากอาหารออกทางรูก้น 

การกำจัดของเสีย  

หอยมีไตเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ขับถ่ายของเสียออกจากตัว ของเสียส่วนใหญ่ถูกขับออกมาในรูปของกรดแอมิโน กรดยูริก และสารประกอบของแอมโมเนีย

 

หอยกระต่ายมีหนวดที่ใช้รับสัมผัสขณะเคลื่อนที่

 

 

การรับสัมผัสและระบบประสาท  

โดยทั่วไปหอยทะเลมีหนวดทำหน้าที่รับสัมผัสสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว มีกลุ่มเซลล์รับสัมผัสทางเคมีอยู่บริเวณเหงือก ซึ่งทำหน้าที่รับกลิ่น และตรวจสอบสภาพของน้ำเรียกว่า ออสฟราเดียม (osphradium) มีถุงทรงตัว (statocyst) ที่มักพบอยู่บริเวณตีน ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว มีตาทำหน้าที่รับสัมผัสความเข้มของแสง มีระบบประสาทที่ประกอบด้วยปมประสาทและเส้นประสาท โดยปมประสาทจะกระจายอยู่ตามตำแหน่งต่างๆ เช่น หัว ตีน ข้างลำตัว อวัยวะภายในระหว่างปมประสาท มีเส้นประสาทเชื่อมต่อถึงกัน และจากปมประสาทมีเส้นประสาทแตกแขนงสู่อวัยวะต่างๆ 

หอยจับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่

 

การแพร่พันธุ์และการเจริญเติบโต 

หอยทะเลแพร่พันธุ์โดยการวางไข่ มีระบบสืบพันธุ์แบ่งเป็น ๒ แบบคือ แบบแยกเป็นเพศผู้และเพศเมีย และแบบเป็นกะเทย คือ มีระบบสืบพันธุ์ของเพศผู้และเพศเมียอยู่ในตัวเดียวกัน ส่วนการปฏิสนธิมี ๒ ลักษณะ คือ การปฏิสนธินอกตัว และการปฏิสนธิในตัว การปฏิสนธินอกตัวนั้น หอยจะไม่มีการจับคู่ผสมพันธุ์ เพศผู้และเพศเมียต่างปล่อยอสุจิและไข่ในน้ำ การปฏิสนธิเกิดในน้ำ เมื่ออสุจิและไข่ มีโอกาสมาอยู่ในที่เดียวกัน ในกรณีนี้อาจมีไข่หอยจำนวนมากที่ไม่ได้รับการผสม เนื่องจากถูกกระแสน้ำพัดพาไปในบริเวณที่ไม่มีอสุจิ หอยที่มีการปฏิสนธิลักษณะนี้ ได้แก่ หอยแปดเกล็ด หอยกาบเดี่ยวบางชนิด เช่น หอยเป๋าฮื้อ หอยนมสาว หอยกาบคู่เกือบทุกชนิด หอยงาช้าง ส่วนการปฏิสนธิในตัว หอยจะจับคู่กัน จากนั้นเพศผู้ปล่อยน้ำอสุจิเข้าไปในท่อไข่ของเพศเมีย ไข่ได้รับการผสมในท่อไข่ ไข่ส่วนมากจะได้รับการผสม หอยที่เป็นกะเทย ถึงแม้จะสร้างอสุจิและไข่ในตัวเดียวกัน แต่จะสุกไม่พร้อมกัน จึงต้องมีการผสมข้ามตัว ไข่ที่อยู่ในท่อไข่จะค่อยๆ เคลื่อนตัวมาตามท่อ และก่อนที่แม่หอยจะวางไข่ จะมีการสร้างวุ้นหรือปลอกหุ้มไข่ไว้ก่อน จึงวางไข่ ภายในวุ้นและภายในแต่ละปลอกมีไข่จำนวนมาก ไข่มักถูกวางรวมกันเป็นกระจุก โดยอาจติดอยู่ตามสาหร่ายหรือวัตถุที่อยู่ในน้ำ เช่น ก้อนหิน ท่อนไม้ เปลือกหอยเก่า หอยที่มีการปฏิสนธิในตัว ได้แก่ หอยกาบเดี่ยวเกือบทั้งหมด ทากทะเล หอยงวงช้างมุก และหอยงวงช้างกระดาษ 

การเจริญเติบโตของตัวอ่อนอันเกิดจากการปฏิสนธิต่างแบบมีความแตกต่างกันไป หอยที่มีการปฏิสนธินอกตัวนั้น ตัวอ่อนเมื่อฟักออกจากไข่ มีรูปร่างคล้ายลูกข่าง มีขนเรียงเป็นแถบรอบตัวและไม่มีเปลือก เรียกว่า ตัวอ่อนโทรโคฟอร์ (trochophore) ซึ่งจะลอยตัวอยู่ในทะเล จากนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง โดยสร้างวีลัม (velum) ที่มีลักษณะเป็นแผ่นแบนบาง มีขนตามขอบ เพื่อใช้ในการช่วยพยุงตัวและว่ายน้ำ พร้อมๆ กับเริ่มสร้างเปลือกคลุมตัวเรียกว่า ตัวอ่อนเวลิเจอร์ (veliger) รูปร่างเปลือกของตัวอ่อนเวลิเจอร์ในหอยแต่ละกลุ่ม มีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น ตัวอ่อนเวลิเจอร์ของหอยเป๋าฮื้อ มีเปลือกรูปร่างกลม ส่วนหอยนางรมมีเปลือกรูปร่างคล้ายอักษรตัว D ในระยะแรก และเปลี่ยนเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยมในระยะต่อมา ตัวอ่อนเวลิเจอร์จะค่อยๆ เปลี่ยนรูปร่างไป โดยวีลัมมีขนาดเล็กลงและค่อยๆ หดหายไป เปลือกมีขนาดใหญ่ขึ้นและหุ้มตัวไว้ทั้งหมด จากนั้นจะค่อยๆ จมตัวลงสู่พื้น โดยอาจคืบคลานอยู่ตามพื้นใต้น้ำ หรือเกาะติดอยู่ตามก้อนหินและวัตถุอื่นๆ ระยะนี้มีลักษณะคล้ายพ่อแม่ จึงเรียกว่า ลูกหอย ซึ่งจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยต่อไป ส่วนหอยที่มีการปฏิสนธิในตัวนั้น เมื่อไข่ฟักตัวเป็นตัวอ่อน โทรโคฟอร์จะเจริญอยู่ภายในวุ้นหรือปลอกไข่ระยะหนึ่ง จนเมื่อเจริญเป็นตัวอ่อนเวลิเจอร์แล้ว จึงออกจากปลอกไข่ลอยตัวอยู่ในน้ำทะเล แล้วเจริญเติบโตเป็นลูกหอยและตัวเต็มวัย

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow