อะไรเอ่ย ลูกเท่าผลแตง กลิ่นแรงมีหนาม เป็นพูงดงาม เนื้อเหลืองดังทอง เมล็ดสีน้ำตาล หอมหวานน่าลอง รับประทานแล้วต้อง ติดใจทุกคน
ตอบ ทุเรียน
กบอะไรเอ่ย อยู่บนต้นไม้ กระโดดไม่ได้ รูปลักษณะกลม เนื้อแน่นนุ่มนวล ชวนให้นิยม หนามแหลมโค้งคม กลิ่นแรงนักหนากบอายุมาก เอาชื่อมาฝาก เรียกขานกันมา อาหารชั้นดี ล้วนมีราคา เก่งจริงทายว่า กบจริงหรือปลอม
ตอบ ทุเรียนกบแม่เฒ่า
ทุเรียนเป็นไม้ผลไทยชนิดหนึ่ง ลำต้นสูงใหญ่ ใบเขียว ปลายใบเรียวแหลม ผลทุเรียนมีลักษณะกลมบ้างก็กลมรีรูปไข่ เปลือกหนามีหนามแหลม มีกลีบร่องตื้น ๆ เรียกว่า พู เมื่อผลแก่จัดมีกลิ่นแรง คนที่ชอบรับประทานทุเรียนบอกว่าหอมคนที่ไม่ชอบบอกว่าเหม็น เมื่อผลทุเรียนแก่ปลายหนามจะแห้งมีสีน้ำตาลเข้มเราใช้มีดแงะตรงปลายผลแล้วฉีกออกพูทุเรียนจะแยกตามรอยเห็นเนื้อทุเรียนสีเหลือง มีรสหวาน เนื้อละเอียดนุ่มนวล เมล็ดสีน้ำตาล เรารับประทานทุเรียนเป็นของหวาน เด็ก ๆ ไม่ควรรับประทานมากเพราะจะรู้สึกร้อนและอึดอัด ขนมไทยอย่างหนึ่งนำเนื้อทุเรียนมาผสมน้ำกะทิ และน้ำตาลปึกราดข้าวเหนียวมูน เรียกว่า ข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียน นอกจากนี้เรายังนำเนื้อทุเรียนมากวนเป็นทุเรียนกวนหรือนำมาปั่นผสมไอศกรีมเป็นไอศกรีมรสทุเรียนอร่อยมาก
ทุเรียนมีหลายพันธุ์แยกตามลักษณะใบ ผล และหนามผล ทุเรียนที่คนนิยมรับประทานและชาวสวนปลูกกันมากในอดีต ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์กำปั่น ลวง ก้านยาว กบ ชะนี แต่ปัจจุบันทุเรียนที่คนชอบกันมาก คือ ทุเรียนหมอนทองเพราะเมื่อผลแก่จัดแต่ละพูมีเนื้อมากเนื้อนุ่มไม่แฉะและมีจำนวนเมล็ดลีบมากเมื่อแกะพูทุเรียนออกมาเนื้อจะคงรูปน่ารับประทาน ทุเรียนมีราคาแพงเมื่อเทียบกับผลไม้ไทยประเภทอื่นและมีผู้ขนานนามทุเรียนว่า เป็นราชาแห่งผลไม้ แต่เดิมชาวสวนทุเรียนปลูกทุเรียนให้เติบโตตามธรรมชาติ ผลผลิตน้อย ปัจจุบันมีการเลือกพันธุ์ มีเทคนิคให้ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่ง ป้องกัน และกำจัดโรคแมลง ทุเรียนจึงให้ผลผลิตได้ดี แหล่งปลูกทุเรียนมีอยู่หลายจังหวัดในอดีตที่ปลูกมากและมีชื่อเสียง คือ จังหวัดนนทบุรี ปัจจุบัน มีปลูกมาก ที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด ชุมพร ปราจีนบุรี นครนายก สุราษฎร์ธานี ทุเรียนเป็นสินค้าส่งออกของไทยทั้งที่เป็นผลทุเรียนสุกผลและเนื้อทุเรียนแช่แข็งและทุเรียนทอดกรอบ ทุเรียนรสอร่อยรับประทานแต่น้อยพอเหมาะพอดี
ทุเรียนเป็นผลไม้รสดีราคาแพงมีความสำคัญทางเศรษฐกิจและชาวสวนปลูกแพร่หลาย ในประเทศไทยมีทุเรียน ๔ ชนิด คือ ทุเรียนปลูก ทุเรียนดอน ทุเรียนนก และทุเรียนป่า ต้นทุเรียนเติบโตได้ดีในแถบภูมิอากาศร้อน เกาะบอร์เนียวเป็นศูนย์กลางความหลากหลายของพืชสกุลทุเรียนและแพร่ขยายไปสู่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย บรูไนดารุสซาลาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย ทุเรียนปลูกเป็นทุเรียนเพียงชนิดเดียวที่มีการปลูกเชิงการค้าแพร่หลายในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนดารุสซาลาม ฟิลิปปินส์ และในบางส่วนของออสเตรเลีย แต่ละถิ่นเรียกชื่อทุเรียนต่างกันแต่ที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ ดูเรียน (durian) ในภาษามลายู อินโดนีเซีย ภาษาอังกฤษ และทุเรียนในภาษาไทย
เมื่อครั้งเมอร์ซิเออร์ เดอลาลูแบร์ หัวหน้าคณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสอัญเชิญพระราชสาส์นมาถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๒๓๐ เขาได้เขียนบันทึกไว้มีตอนหนึ่งที่กล่าวถึงทุเรียนโดยคนไทยสมัยนั้นเรียกชื่อว่า ทูลเรียน (Tourrion) แสดงว่าได้มีการปลูกทุเรียนมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา มีรายงานกล่าวถึงการนำพันธุ์ทุเรียนจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมาปลูกในกรุงเทพฯ ธนบุรี นนทบุรี แล้วขยายไปสู่จังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย เช่น จังหวัดอุตรดิตถ์ นครพนม ชุมพร ปราจีนบุรี นครนายก ระยอง จันทบุรี และตราด การขยายพันธุ์ทุเรียนในระยะต้นใช้วิธีเพาะเมล็ดไปปลูก ต่อมาพัฒนาเป็นการปลูกด้วยกิ่งตอนแต่เนื่องจากกิ่งตอนหาได้ยากชาวสวนส่วนใหญ่จึงปลูกด้วยเมล็ดเกิดเป็นทุเรียนพันธุ์ลูกผสมตามธรรมชาติมากมายมีเอกสารการเกษตรรายงานพันธุ์ต่าง ๆ ของทุเรียนไว้ว่ามีจำนวนมากถึง ๒๒๗ พันธุ์ แต่เดิมชาวสวนทุเรียนนิยมทำแปลงปลูกทุเรียนแบบสวนยกร่องและมักปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ ปัจจุบันวิทยาการทางการเกษตรช่วยให้ชาวสวนทุเรียนเลือกใช้พันธุ์ที่เหมาะสมใช้เทคนิคการจัดทรงพุ่ม ให้ปุ๋ย ให้น้ำ กระตุ้นระบบราก ตัดแต่งกิ่ง กำหนดปริมาณการไว้ผล มีการป้องกันและกำจัดโรคและแมลงต่าง ๆ ที่ทำให้ใบ ดอก และผลทุเรียนเหลือง หลุดร่วง ต้นและรากเน่า ในแหล่งปลูกดั้งเดิมที่จังหวัดนนทบุรีและธนบุรีเนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงชาวสวนทุเรียนจึงปลูกทุเรียนแบบสวนยกร่องและมีการปลูกพืชแซม เช่น หมาก มะพร้าว มะนาว มะกรูด มะม่วง ชมพู่ กระท้อน กล้วย ชาวสวนทุเรียนจึงมีรายได้จากไม้ผลประเภทอื่น ๆ ตามฤดูกาลตลอดปี
พันธุ์ทุเรียนที่ปลูกในประเทศไทยจำแนกได้เป็น ๖ กลุ่ม ตามลักษณะรูปร่างใบ ปลายใบ ฐานใบ ทรงผล และรูปร่างของหนามผล คือ
๑. กลุ่มกบ จำแนกพันธุ์ได้ ๔๖ พันธุ์ เช่น กบตาดำ กบทองคำ กบวัดเพลง กบก้านยาว
๒. กลุ่มลวง จำแนกพันธุ์ได้ ๑๒ พันธุ์ เช่น ลวงทอง ชะนี สายหยุด ชะนีก้านยาว
๓. กลุ่มก้านยาว จำแนกพันธุ์ได้ ๘ พันธุ์ เช่น ก้านยาว ก้านยาววัดสัก ก้านยาวพวง
๔. กลุ่มกำปั่น จำแนกพันธุ์ได้ ๑๓ พันธุ์ เช่น กำปั่นเหลือง กำปั่นแดง ปิ่นทอง หมอนทอง
๕. กลุ่มทองย้อย จำแนกพันธุ์ได้ ๑๔ พันธุ์ เช่น ทองย้อนเดิม ทองย้อยฉัตร ทองใหม่
๖. กลุ่มเบ็ดเตล็ด เป็นทุเรียนที่จำแนกลักษณะพันธุ์ได้ไม่แน่ชัด มีอยู่ถึง ๘๑ พันธุ์
ทุเรียนพันธุ์ดีที่นิยมกันมาก คือ พันธุ์หมอนทอง ชะนี ก้านยาว ในการเลือกซื้อทุเรียนควรดูว่าทุเรียนผลใดแก่จัดโดยดูได้จากก้านผลแข็งสีเข้ม ปลายหนามแห้ง เปราะ สีน้ำตาลเข้ม และมีร่องหนามห่าง รอยแยกระหว่างพูเห็นชัดหากลองเคาะดูเสียงจะดังหลวม ๆ โปร่ง ๆ หากตัดขั้วผลออกจะมีน้ำใส ๆ ซึ่งมีรสหวานที่สังเกตง่ายมาก คือ ทุเรียนที่ผลสุกรับประทานได้จะมีกลิ่นหอมแรงขึ้นตามลำดับ โดยทั่วไปทุเรียนดีจะมีลักษณะเนื้อมาก เนื้อละเอียดสีเหลืองเข้ม เกาะกันเป็นพู คงรูปไม่เละถึงสุกงอมก็ไม่แฉะ กลิ่นน้อย เมล็ดลีบ รสหวานอร่อย เนื่องจากทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจมีการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศและส่งออกในรูปผลไม้สดจำนวนมาก เกษตรกรผู้ผลิตและผู้ส่งออกจึงต้องแสวงหาวิธีการควบคุมการผลิตทุเรียนทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเกิดการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีการผลิตอย่างครบวงจรตั้งแต่การปลูก การเตรียมสภาพต้นทุเรียนให้พร้อมเพื่อการออกดอก การจัดการเพื่อส่งเสริมการออกดอกและติดผล รวมทั้งการป้องกันและกำจัดโรคและแมลงที่เหมาะสม ทำให้ทุเรียนที่ส่งออกจากประเทศไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศและมีราคาดี
ประเทศไทยมีผลไม้หลายชนิดผลิตผลออกตามฤดูกาลตลอดปีบางชนิดผลิดอกออกผลในฤดูกาลที่ตรงกัน เช่น มะม่วง ทุเรียน ทำให้ผลิตผลราคาต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีที่มีผลผลิตสูงวิทยาการทางการเกษตรได้ช่วยให้ชาวสวนสามารถขยายช่วงฤดูการผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดได้ประมาณ ๙ เดือน เริ่มจากเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนตุลาคมโดยแบ่งประเภทการผลิตเป็นทุเรียนก่อนฤดู ทุเรียนตามฤดูกาลปกติ ทุเรียนล่าและทุเรียนทวาย
ทุเรียนก่อนฤดู ผลิตได้ดีในบางพื้นที่ของจังหวัดระยองและจันทบุรี ผลผลิตก่อนฤดูออกสู่ตลาดระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน ทุเรียนตามฤดูกาลปกติ เริ่มจากเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ซึ่งเป็นผลผลิตที่ผลิตได้ในภาคตะวันออกและต่อช่วงด้วยผลผลิตจากภาคใต้ในระหว่างเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม บางพื้นที่ได้ใช้เทคโนโลยีการผลิตควบคุมให้ทุเรียนติดผลแก่และสุกช้าออกไปเรียกว่าการผลิตทุเรียนล่าให้ออกสู่ตลาดในเดือนกันยายน - ตุลาคม การยืดเวลาสุกแก่ของทุเรียนทำโดยการทำลายดอกทุเรียนรุ่นแรกแล้วรักษาดอกทุเรียน รุ่นที่ ๒ รุ่นที่ ๓ ไว้ หรือใช้วิธีเลื่อนการออกดอกรุ่นแรกให้ล่าช้ากว่าปกติโดยควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยและใช้สารควบคุมความเจริญเติบโตพืช การผลิตทุเรียนล่านิยมปฏิบัติกันในเขตพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อนจังหวัดจันทบุรีและในจังหวัดชุมพร นอกจากนี้เกษตรกรยังสามารถใช้เทคโนโลยีผลิตทุเรียนทวายซึ่งผลิตผลทยอยสุกแก่ออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปีนับเป็นความก้าวหน้าทางการเกษตรของไทย